กรรมและการให้ผลกรรมในทางปฏิบัติ

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2558

 

กรรมและการให้ผลกรรมในทางปฏิบัติ

            ในการศึกษาเรื่องการให้ผลของกรรมในภาคปฏิบัติ ก่อนอื่นต้องทบทวนความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุของกรรมและทำให้เกิดวิบากในเบื้องต้นก่อน จากที่ได้ศึกษาเรื่องกิเลสนักศึกษาพอจะทราบแล้วว่า รากเหง้าของกิเลสเริ่มต้นมาจากอวิชชา แล้วขยายกว้างออกมาเป็นสังโยชน์ร้อยไส้อยู่ตลอดสาย ทั้งกายในภพและกายนอกภพ ตั้งแต่กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี ยกเว้นกายธรรม พระอรหัต หลังจากนั้นจะแตกแขนงกลายเป็นกิเลสตระกูลต่างๆ ตามอาการ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง กิเลสทั้ง 3 ตระกูลจะหุ้มซ้อนอยู่ภายใน เห็น จำ คิด รู้ ของแต่ละกาย เมื่อใจออกจากศูนย์กลางกายไปรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสหรือธรรมารมณ์ ตามฐานต่างๆ แล้วกลับมากระทบ เห็น จำ คิด รู้ ทำให้กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสฟูขึ้น เรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งยังเป็นกรรมในระดับมโนกรรม เมื่อถูกกระทบมากขึ้นจึงบังคับให้ เกิดการกระทำออกมาทางกาย วาจา แล้วก็กลายเป็นวีติกกมกิเลส

            วีติกกมกิเลสทำให้เกิดการกระทำทางกายและวาจา ซึ่งเป็นส่วนของกรรม และกรรมที่คนเราแต่ละคนทำนั้น จะไปปรากฏเป็นดวง ซึ่งมีทั้งดวงบุญและดวงบาป ดวงไม่บุญไม่บาป ปรากฏอยู่ที่กลางจุดกำเนิดเดิม ซึ่งอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ จุดกำเนิดเดิมนี้มีขนาดเล็กเท่าปลายเข็ม หรือที่บอกว่ามีขนาดเท่าปลายของขนเนื้อทรายเส้นหนึ่งที่เขาจุ่มในน้ำมันงาใสแล้วยกขึ้น เป็นจุดเล็กนิดเดียว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดมีชีวิตขึ้น ตอนที่พ่อแม่ประกอบธาตุธรรม แล้วมีปฏิสนธิวิญญาณมาอยู่ จุดกำเนิดนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นกลลรูป คือ ส่วนของกายหยาบขึ้นจุดกำเนิดนี้เปรียบเหมือนเมล็ดโพธิ์ เมล็ดไทร ที่ทำให้เติบโต เป็นต้นไม้ใหญ่ได้

 

พระมงคลเทพมุนีได้อธิบายไว้ในคู่มือสมภารว่า

“    ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของแต่ละกาย มีดวงกลมซ้อนกันอยู่ 3 ดวง ดวงแรกมีสีเทาๆ อยู่ข้างนอก ได้แก่ ดวงอพยากฤตหรือธรรมกลาง ถัดเข้าไปในกลางดวงของธรรมกลางมีอีกดวงหนึ่งสีดำดุจนิล นั่นคือธรรมดำหรืออกุศลธรรม ส่วนดวงที่ 3 ซึ่งซ้อนอยู่กลางดวงธรรมดำมีสีขาวใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก นั่นคือธรรมขาวหรือกุศลธรรม

ธรรมขาวนี้ ก็คือ ดวงบุญ

ธรรมดำ คือ ดวงบาป

ธรรมกลาง คือ ดวงไม่บุญไม่บาป

ดวงบุญ ดวงบาป และดวงไม่บุญไม่บาปนี้ มีขนาดของดวงไม่คงที่ บางคนก็มีดวงบาปโต บางคนก็มีดวงบุญโต ส่วนผู้ที่ไม่นิยมทำบุญทำบาป ก็มีดวงไม่บุญไม่บาปโต มีบุญมาก บาปและ ไม่บุญไม่บาปก็มีน้อย ถ้ามีบาปมาก บุญและไม่บุญไม่บาปก็ย่อมจะมีน้อย ดังนี้เป็นต้น”15)

 

            ในแต่ละดวงที่เป็นดวงบุญ ดวงบาป หรือดวงไม่บุญไม่บาป จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกรรม อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของวิบาก ส่วนที่เป็นกรรมจะมีภาพแห่งการกระทำที่เป็นเหตุที่ทำให้ดวงนั้นบันทึกอยู่ ส่วนของวิบากจะมีภาพที่เป็นผลของการกระทำบันทึกอยู่ โดยเวลาทำกรรมก็จะเกิดโปรแกรมขึ้นทั้ง 2 ส่วนทันทีและซ้อนละเอียดอยู่ภายใน ดวงบุญบาปและมีขนาดเท่ากัน เมื่อใดก็ตามที่กรรมยังไม่ส่งผลก็ยังเป็นดวงกรรม แต่เมื่อใดที่ส่ง ผล ก็เป็นส่วนของวิบาก เมื่อส่งผลก็จะส่งออกไปเป็นสายเหมือนการไหลออก ในส่วนของกุศล ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีกุศลเข้ามาบังคับจิตใจจึงอยากทำความดี เช่น การทำทาน เมื่อทำทานแล้ว ก็จะเกิดภาพติดเป็นโปรแกรมทั้ง 2 ส่วนลงไปในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ทันที

 

            กรรมทั้ง 12 อย่างนั้นอยู่ในตัวเราทั้งหมด ในทางปฏิบัติ การให้ผลของกรรมนั้น ก็อาศัยดวงบุญ ดวงบาป เป็นผู้กำหนด ในที่นี้จะได้ยกตัวอย่างที่พระมงคลเทพมุนีได้กล่าวถึงลักษณะของบุญที่เป็นชนกกรรมนำไปเกิดดังนี้ ว่า

“    เมื่อรู้บุญติดอยู่เช่นนี้แล้ว เราจะไปทุกข์ยากอะไร แตกกายทำลายขันธ์ไป ก็เป็นหน้าที่ของบุญ เพราะบุญของเรามากอยู่แล้ว บุญจะจัดเป็นชนกกรรมนำไปเกิด ใครจะเป็นคนนำไปเกิด? ในเมื่อกายมนุษย์แตกดับไปแล้ว กายมนุษย์ละเอียดยังเหลืออยู่ อย่างเรานอนฝันไป ตายก็เหมือนกับนอนหลับฝันไป กายมนุษย์ละเอียดออกจากกายมนุษย์ไป เพราะกายมนุษย์นี้แตกดับเสียแล้ว

 

            ดวงบุญในกายมนุษย์นี้ก็แตกดับหมด ดวงธรรมที่ให้เป็นกายมนุษย์ก็แตกดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำลายหมดไม่มีเหลือ แต่ว่าในกลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้น มีดวงบุญอีกดวงหนึ่งดวงบุญดวงนั้นแหละจะนำไปเกิดในตระกูลสูงๆ มีกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์สมบัติบริวาร นับจะประมาณไม่ได้ เศรษฐีมหาศาล พราหมณ์มหาศาล มีทรัพย์สมบัติบริวารนับประมาณไม่ได้คหบดีมหาศาลมีทรัพย์สมบัติบริวารนับประมาณไม่ได้ ให้เกิดในตระกูลสูงๆ อย่างเช่นนั้น ทว่าในมนุษย์โลกไม่พอรับบุญขนาดใหญ่ๆ ขนาดนี้ ก็ให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามาพิภพ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดีและชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ให้เกิดในกายทิพย์สูงขึ้นไป กายทิพย์ในชั้นจาตุมหาราช กายทิพย์ในชั้นดาวดึงส์ กายทิพย์ในชั้นยามาพิภพ กายทิพย์ในชั้นดุสิต กายทิพย์ในชั้นนิมมานรดี กายทิพย์ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ในกามภพนี้อย่างใด อย่างหนึ่ง

            กายมนุษย์ละเอียดพอส่งขึ้นไปถึงกายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียดก็ดับเหมือนกัน ใน ดวงกายทิพย์ละเอียดก็ดับหมด ในดวงกายทิพย์ละเอียดก็ใช้ไปตามหน้าที่ นี่เขาเรียกว่า กมฺมวิปาโก อจินฺตโย ลักษณะที่แสดงบาปกรรมที่บุญส่งผลให้เป็นไปเป็นชั้นๆ ยังไม่มีใครแสดงให้รู้ เพราะไม่ใช่เป็นของธรรมดาสามัญทั่วไป พวกมีธรรมกายเขาเห็นปรากฏชัดเจน เป็นชั้นๆ เป็นกายๆ ไปดังนี้”16)

 

------------------------------------------------------------------------

15) น.ส. ฉลวย สมบัติสุข, คู่มือสมภาร, กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พรินท์, 2545, หน้า 51-52.
16) วัดปากน้ำภาษีเจริญและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2537, หน้า 373.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022516365845998 Mins