ลักษณะการแสดงปฏิจจสมุปบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

ลักษณะการแสดงปฏิจจสมุปบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

           จากที่ผ่านมา นักศึกษาได้เห็นความเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ อวิชชาเป็นจุดเริ่มต้น และชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นจุดสุดท้าย ที่ยกอวิชชาขึ้นแสดงก่อน เป็นเพียงการอาศัยอวิชชาเป็นจุดเริ่มต้น เพื่ออธิบายกระบวนของปฏิจจสมุปบาท หรืออาจเป็นได้ว่า อวิชชาเป็นกิเลส เป็นตัวเด่นในวัฏฏะ จึงยกขึ้นแสดงเป็นอันดับแรก แต่ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทนั้น พระพุทธองค์มีวิธีการแสดงได้หลายวิธี ทรงแสดงเทศนาปฏิจจสมุปบาท เป็น 4 นัย ดังปรากฏในสังยุตตนิกาย คือ

1.อาทิปริโยสานอนุโลมเทศนา เป็นการแสดงองค์ของปฏิจจสมุปบาท ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ ตั้งแต่อวิชชาไปตามลำดับ จนถึงชรามรณะเป็นที่สุด เพื่อชี้แจงถึงการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลายว่า การเกิดของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมอาศัยเหตุโดยเฉพาะของตนๆ อย่างหนึ่ง และเพื่อให้ทราบถึงการเกิดขึ้นของเหตุต่างๆ เหล่านั้น ว่าจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ

2.มัชฌปริโยสานอนุโลมเทศนา เป็นการแสดงองค์ปฏิจจสมุปบาทจากตอนกลางไปถึง ที่สุด คือ ตั้งแต่เวทนาไปตามลำดับ จนถึงชรามรณะ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลบางพวกที่ไม่เชื่อว่า โลกหน้ามีจริง จะได้ทราบถึงปัจจุบันเหตุ 5 อย่าง คือ ตัณหา อุปาทาน กรรมภพ อวิชชา และสังขาร ที่กำลังเกิดอยู่กับเรา และเมื่อมีปัจจุบันเหตุแล้ว ผลในอนาคตก็จะต้องมีแน่นอน คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ที่เรียกว่า รูปนามขันธ์ 5 ของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

3.ปริโยสานอาทิปฏิโลมเทศนา เป็นการแสดงองค์ปฏิจจสมุปบาท จากตอนปลายสุด ย้อนทวนไปถึงตอนต้น คือ ตั้งแต่ชรามรณะ ย้อนทวนไปตามลำดับ จนถึงอวิชชาเป็นที่สุด23) เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นธรรมที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ตามลำดับ ตั้งแต่ชาติจนถึงอวิชชา คือ ให้รู้ว่าความทุกข์ อุปายาส เหล่านี้ ปรากฏขึ้นได้โดยอาศัยชาติเป็นเหตุ ถ้าไม่มีชาติ(ไม่มีการเกิด) ทุกข์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเห็นชาติแล้ว ก็จะทำให้เห็นเหตุที่ทำให้ชาติเกิด คือ กรรมภพ เมื่อ แลเห็นกรรมภพแล้ว ก็ย่อมเห็นเหตุที่ทำให้กรรมภพเกิด คือ อุปาทาน เมื่อเห็นอุปาทานแล้ว ก็ให้เห็นเหตุสืบเนื่องกันตามลำดับไปจนถึงอวิชชา เมื่อเห็นอวิชชาแล้วก็จะได้รู้ว่า อวิชชา นี้แหละ เป็นหัวหน้าแห่งเหตุทั้งปวง

4.มัชฌอาทิปฏิโลมเทศนา เป็นการแสดงองค์ปฏิจจสมุปบาท จากตอนกลางย้อนทวนไป ถึงตอนต้น คือ ตั้งแต่ตัณหา ย้อนทวนไปตามลำดับ จนถึงอวิชชาเป็นที่สุด เช่น ในอาหารสูตร

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร 4 เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิดอาหาร 4 เป็นไฉน คือ 1)กวฬิงการาหารหยาบหรือละเอียด 2)ผัสสาหาร 3)มโนสัญเจตนาหาร 4)วิญญาณาหาร อาหาร 4 เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร 4 เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด อาหาร 4 เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็นกำเนิดมีผัสสะเป็นแดนเกิด ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิดมีอะไรเป็นแดนเกิด สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณ เป็นที่ตั้งขึ้น มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด ก็วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นที่ตั้งขึ้น มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด ก็สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ… ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้”24)

 

            การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทโดยมีจุดเริ่มที่แตกต่างกันนี้ ก็เป็นการแสดง ให้เหมาะสมกับเทศนาที่แสดงให้แต่ละบุคคล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการกำจัดทุกข์ ตัดวงจร สังสารวัฏเช่นกัน อุปมาเหมือนการหาเถาวัลย์ของคนหนึ่ง เมื่อพบเถาวัลย์ตรงโคนเถาก่อนจึงตัดเถาวัลย์ตรงโคนเถานั้น แล้วจึงดึงออกมาทั้งเถานำไปใช้ตามต้องการ คนหนึ่งพบเถาวัลย์ ตรงกลางเถาก่อนจึงตัดตรงกลางเถา แล้วดึงเอาท่อนปลายนำไปใช้ตามต้องการ คนหนึ่งพบเถาวัลย์ตรงปลายเถาก่อน จึงจับปลายเถาสาวเข้าไปหาโคน แล้วตัดที่โคนดึงออกมา นำไปใช้ตามต้องการ คนหนึ่งพบเถาวัลย์ตรงกลางเถาก่อน จึงตัดที่โคน แล้วดึงเอาท่อนต้นทั้งหมดนำไปใช้ตามต้องการ

 

------------------------------------------------------------

23) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่มที่ 26 ข้อ 60 หน้า 96.
24) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่มที่ 26 ข้อ 28-29 หน้า 49-50.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013398782412211 Mins