วิธีการล้างบาปด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2558

 

 วิธีการล้างบาปด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

            นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องการล้างบาปมาตามลำดับแล้ว ในหัวข้อนี้ นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการ ล้างบาปตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มุ่งหมายเพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อความบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจ เป็นบุคคลผู้พ้นทุกข์ มีชีวิตที่สมบูรณ์ และมิต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป คำสอนในพระพุทธศาสนา มุ่งเน้นให้ผู้ประพฤติกระทำตนให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ด้วยการกำจัดกิเลสอาสวะ ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เมื่อสรุปย่อคำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์แล้ว มีหลักปฏิบัติที่เป็นแม่บทสำคัญ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วย

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในเบื้องต้น หมายถึง เห็นถูกในเรื่อง พ่อแม่มีพระคุณจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นรกสวรรค์มี โลกนี้โลกหน้ามีจริง และความเห็นถูกเบื้องสูง คือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก หมายถึง มีความคิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน คิดไม่ทำร้ายให้ใครเดือดร้อน

3. สัมมาวาจา คือ วาจาถูก หมายถึง ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ให้เขาแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมผู้อื่น

4. สัมมากัมมันตะ การงานถูก หมายถึง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการเสพเมถุน

5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตถูก หมายถึง เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก

6. สัมมาวายามะ ความเพียรถูก หมายถึง เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

7. สัมมาสติ ความระลึกถูก หมายถึง ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวอยู่เสมอหมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เสมอ

8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูก หมายถึง มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุฌานขั้นต่างๆ ไปตามลำดับ จากสมาธิที่เป็นโลกิยะไปสู่สมาธิที่เป็นโลกุตตระ อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นคำสอนเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง หรือเป็นวิธีการปฏิบัติสำคัญเพื่อการล้างบาป ซึ่งยังสามารถสรุปย่อลงมาเป็นหลักปฏิบัติ 3 ข้อ ที่เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้

  • สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดอยู่ใน ศีล
  • สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดอยู่ใน สมาธิ
  • สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ใน ปัญญา

 

            หรืออีกนัยหนึ่งที่รู้จักกันทั่วไปในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ไตรสิกขานี้ถือว่า เป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา เป็นสุดยอดการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำให้พระภิกษุใคร่ครวญศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ และถือว่าเป็นข้อปฏิบัติเพื่อการล้างบาปดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะผลสุดท้ายของการปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ กำจัดกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุเกิดบาปได้หมดสิ้น วิธีการปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ ต่อเนื่องถึงกันไปตามลำดับ จะต้องทำให้สมบูรณ์ทุกข้อ ซึ่งสามารถสรุปเป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อการล้างบาปได้ดังนี้

 

ข้อปฏิบัติในการล้างบาป

1. รักษาศีลยิ่งชีวิต หมั่นฝึกฝนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการควบคุมกาย วาจา และใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หากคนทั่วไปก็รักษาศีล 5 หรือศีล 8 ในวันพระ สามเณรรักษาศีล 10 และพระภิกษุรักษา ศีล 227 โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการรักษาศีล เพราะศีล เป็นประดุจลู่ชีวิตที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้มุ่งตรง สู่จุดหมายปลายทาง

หลักการของศีล คือ ความสะอาด

ความสะอาดของศีลตามหลักของพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ความสะอาดแบบตื้นๆ แต่เป็นความสะอาดในระดับลึก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า บุคคลแม้จะอาบน้ำวันละร้อยหน แต่ถ้ายังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม บุคคลนั้นยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้สะอาดกาย และแม้บุคคลใดแปรงฟัน วันละพันหน แต่ยังกล่าวคำโกหก พูดเพ้อเจ้อ นินทาชาวบ้าน พูดส่อเสียด บุคคลนั้นก็ยังไม่ชื่อว่า มีปากที่สะอาดแล้ว เพราะฉะนั้น ความสะอาดตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ความสะอาดทั้งกาย ทั้งวาจา และใจที่เกิดจากการรักษาศีล เป็นความสะอาดที่ไม่ทำให้กาย วาจา ใจ ของเราต้องไปติดบาปใดๆ ทั้งสิ้น

ศีลนี้ มีความสะอาดเป็นเบื้องต้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความสะอาดกาย ความสะอาดวาจา ความสะอาดใจ เป็นเครื่องปรากฏย่อมถึงการนับว่า ปรากฏโดยความเป็นของสะอาด (อรรถกถาสีลมยญาณนิทเทส ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) หมายถึงการละชั่วจากบาปอกุศลทั้งปวงโดยมีศีลเป็นกรอบของการดำเนินชีวิต จัดว่าเป็นความดีขั้นต้นที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่มีจุดด่างพร้อย เป็นชีวิตที่สะอาดจากบาปอกุศล การรักษาศีล เรียกว่าเป็นการล้างบาปในขั้นต้น

 

2. ฝึกจิตเจริญสมาธิภาวนา คือ ฝึกควบคุมจิตใจ ด้วยการทำใจให้สงบเป็นอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ หมั่นพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนเกิดผลของการปฏิบัติไปตามลำดับกระทั่งเกิดความรู้แจ้งในหลักพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า วิชชา เหตุที่ต้องฝึกควบคุมใจเพราะพฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น มาจากความตั้งใจเป็นสำคัญ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงามแล้ว ก็จะสามารถควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย

หลักการของสมาธิ คือ ความสว่าง

สมาธิเป็นเรื่องของความสว่าง ถ้าความสว่างภายในไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถมองเห็นหนทางอริยมรรค อันเริ่มต้นจากดวงปฐมมรรคไปจนถึงพระธรรมกายได้ ถ้าจะเปรียบว่า จะต้องสว่างในระดับไหน สามารถอุปมาได้ว่า ต้องสว่างเท่ากับพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน แต่ถ้าจะให้สว่างจนสามารถมองเห็นอดีตชาติได้ก็ต้องอุปมาความสว่างนั้น เหมือนกับนำพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์มาเรียงกันเต็มท้องฟ้า เป็นร้อยเท่า พันเท่า อสงไขยเท่า เพราะความสว่างนี้ยิ่งสว่างมาก ก็จะนำไปสู่ปัญญาอันบริสุทธิ์ ดังพุทธพจน์ที่กล่าวถึงความสว่างจากสมาธิ ที่มีปรากฏใน อุปักกิเลสสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า

“    ดูก่อนอนุรุทธะ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธิ นิดหน่อย สมัยนั้น เราก็มีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย เรา นั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้ สมัยนั้น เราก็มีจักษุหา ประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้เรานั้นจึงรู้สึกแสง สว่างหาประมาณมิได้ แลเห็นรูปหาประมาณมิได้ ตลอดกลาง คืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้างตลอดทั้งกลางคืน และกลางวันบ้าง”

การนั่งสมาธิ จัดเป็นความดีขั้นกลาง ที่จะเป็นต้นทางนำชีวิตของเราให้อยู่ในกรอบแห่งศีลได้อย่างบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น เพราะใจจะรักษาความประพฤติทางกาย และวาจาให้เรียบร้อยดีงามได้ดียิ่งขึ้น การรักษาศีลที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นการควบคุมกาย วาจา ซึ่งส่งผลถึงใจให้หยุดนิ่งได้ในระดับหนึ่ง เมื่อได้นั่งสมาธิมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้ใจหยุด ใจสว่างได้ง่าย ได้ดีขึ้น ศีลและสมาธิมีส่วนในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การนั่งสมาธิจัดว่าเป็นการล้างบาปในขั้นกลางก็ได้

 

3. พัฒนาปัญญาให้รู้แจ้ง คือ ปัญญาเป็นตัวนำทางที่ถูกต้องตามความเป็นจริง และควบคุมพฤติกรรมทั้งหมด เป็นตัวปลดปล่อยจิตให้หลุดพ้นจากความไม่รู้(อวิชชา) จิตใจจะสงบโล่งและเป็นอิสระ ปัญญาพัฒนาต่อจากการทำสมาธิ เมื่อทำสมาธิได้ดีจนเกิดความสว่างในใจ ยิ่งสว่าง ปัญญาก็ยิ่งเพิ่มพูนมาก ความรู้เห็นตามความเป็นจริงก็มากขึ้นตามลำดับ

หลักการของปัญญา คือ ความสงบ

ความสงบ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากความจำ หรือปัญญาที่เกิดจากความคิด แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการเห็นสภาวธรรมภายใน ปัญญาที่เกิดจากการเห็นสภาวธรรมนี้เอง ทำให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง ยิ่งรู้เห็นมากเพียงใด ใจก็ยิ่งสงบเพียงนั้น เพราะรู้เท่าทันทุกอย่าง เห็นอะไรก็รู้ทันหมด เพราะโลกทั้งโลกยังเล็กกว่าใจคน เพราะสายตาคนมีมุมมองได้ในระดับ 180 องศา แต่ถ้าหลับตาภายนอกเปิดตาภายในขยายใจให้คลุมโลก แล้วมองเข้าไปข้างในตัวก็จะเห็นความเป็นจริงทั้งหมดโดยมิต้องลืมตา โลกก็จะเล็กเท่าลูกมะขามป้อม มีพุทธวจนะที่กล่าวถึงความสงบใน ปฐมโรหิตัสสสูตร ว่า

“    ที่สุดแห่งโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วยการเดินทางไปในกาลไหนๆ แต่ว่า ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้เป็นไม่มี เพราะ เหตุนั้นแล ท่านผู้มีปัญญาดี รู้แจ้งโลก ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบ พรหมจรรย์ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว เป็นผู้สงบ ย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้ และโลกอื่น”

เมื่อมีศีลบริสุทธิ์มากเข้า จิตใจก็ผ่องใส ดวงปัญญาก็สว่างไสว ทำให้มองเห็นความเป็นจริงของชีวิต เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ เห็นความดับทุกข์ และเห็นวิธีการดับทุกข์ ทำให้ใจสงบจากกิเลสอาสวะ งดเว้นจากการทำบาปทั้งปวง และสามารถนำพาชีวิตให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะอันเป็นต้นเหตุของการทำบาปทั้งปวง ไปสู่ฝั่งแห่งนิพพานได้ในที่สุด ในเรื่องของการทำปัญญาให้แจ้ง จะถือว่าเป็นการล้างบาปในระดับลึก ในขั้นสูงสุดก็ว่าได้

สรุปว่า การอธิบายเรื่องการล้างบาปที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก อาจจะไม่สามารถอธิบายให้สมบูรณ์ทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นใหม่ที่แตกต่างจากแนวคิดอื่นๆ แต่ก็พอเป็นแนวทางให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจเรื่องการล้างบาปในพระพุทธศาสนา ถึงแม้พระองค์มิได้ใช้คำโดยตรง แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้ตามหลักคำสอน ที่มุ่งการกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากใจ เป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะแล้วดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อของความหมายของการล้างบาป

นอกจากนี้นักศึกษายังได้ทำความเข้าใจวิธีการล้างบาปด้วยการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ที่สรุปลงเหลือหลักในการปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มตั้งแต่มีความสะอาดกาย วาจา ที่ส่งผลถึงใจ จนเกิดมีความสว่างทั้งภายนอกและภายใน แล้วผลจากความสะอาดกาย วาจา ที่เกิดจากการรักษาศีล และความสว่างที่เกิดจากการทำสมาธินี้ จะกลายเป็นความสงบอย่างยิ่งด้วยปัญญา ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล จึงทำให้รู้เท่าทันกิเลสตัวก่อบาปอกุศล เมื่อมองเห็นรู้เท่าทันตลอดเวลา บาปก็ถูกกำจัดขัดเกลาออกไปจากใจ จนใจเกลี้ยงเกลาปลอดจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเป็นการล้างบาป กำจัดบาปให้หมดไป ความบริสุทธิ์ก็จะเกิดอย่างถาวร ไม่กลับมาทำบาปอีก ดังเช่นพระอรหันต์ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น เรื่องกฎแห่งกรรม เป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง เพราะมีผลต่อการดำเนินชีวิต หากเผลอทำผิดทำชั่วเข้า ก็จะเป็นอันตรายได้รับความทุกข์ทรมานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทางที่ดี หากได้ทำผิดพลาดไว้มากในอดีตก็ควรจะสั่งสมความดีเพื่อเป็นการละลายบาปให้เจือจาง และทางที่ดีควรจะรีบกำจัดบาป ล้างบาปให้หมดสิ้นไป เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏและเพื่อความดับทุกข์ มุ่งไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ พระนิพพานหลังจากนักศึกษาได้ศึกษาบทที่ 6 ทรรศนะเรื่องการล้างบาปในพระพุทธศาสนา จบโดยบริบูรณ์แล้ว

-------------------------------------------------------------------

 

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011487166086833 Mins