อโหสิกรรม

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2558

 

อโหสิกรรม

 ความหมายของอโหสิกรรม

            อโหสิกรรม คือ อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือเป็นกรรมที่รอให้ผลอยู่ แต่ไม่มีโอกาสให้ผล หากว่าล่วงเลยเวลาในการให้ผลก็จะเป็นอโหสิกรรมไป คือ เลิกให้ผล เพราะไม่มีโอกาสให้ผลได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 

ลักษณะของอโหสิกรรม

            จากความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอาจเปรียบอโหสิกรรมเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไปหรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟแล้ว เมล็ดพืชนั้นเมื่อนำไปปลูกก็ไม่สามารถเจริญงอกงามขึ้นได้แม้ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใดก็ตาม อโหสิกรรมก็เช่นกันไม่สามารถจะให้ผลได้ หรือหยุดการให้ผล เพราะอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมนั้นได้ให้ผลไปแล้ว หรือเพราะไม่สามารถให้ผลได้ หรือเพราะไม่มีโอกาสที่จะให้ผล ซึ่งในหนังสืออภิธรรมปริจเฉทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องวิถีมุตตสังคหวิภาค ได้อ้างถึงอโหสิกรรมในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคบาลี16) ที่แสดงไว้ว่า

1.อโหสิกมฺมํ นาโหสิกมฺมวิปาโก กรรมที่ได้ให้ผลแล้ว คือผลกรรมในอดีตชาติที่ให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมนั้นให้ได้รับทุกข์สุขแล้ว เช่น ได้ตกนรกไปแล้ว หรือไปเกิดบนสวรรค์แล้ว กรรมนั้นย่อมเป็นอโหสิกรรม หรือเมื่อกรรมที่มีกำลังมากกว่าให้ผลแล้ว กรรมที่มีกำลังน้อยรองลงมาก็เลิกให้ผล เช่น ได้ตติยฌานกุศลกรรม ปฐมฌานกุศลกรรม และทุติยฌานกุศลกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่มีกำลังน้อยกว่าก็ไม่สามารถให้ผลได้ จึงเป็นอโหสิกรรมไป

2.อโหสิกมฺมํ นตฺถิกมฺมวิปาโก กรรมที่ไม่ให้ผล คือผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้แล้วในชาติปัจจุบัน แต่ไม่สามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมให้ได้รับทุกข์สุข เช่น กิริยาจิต แม้จะกระทำสักเท่าใดก็ตาม ก็เป็นกิริยาทั้งหมด ไม่ทำให้เกิดวิบาก และไม่สามารถให้ผลได้ จึงเป็นอโหสิกรรม หรือในบางครั้งมีกรรมอื่นที่มีโอกาสได้ช่องในการให้ผล หมายถึง กุศลกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้หยุดให้ผลชั่วคราว เนื่องจากเขาได้กระทำอกุศลกรรมที่ร้ายแรงมาก จึงเปิดโอกาสให้อกุศลกรรมที่มีกำลังแรงให้ผลก่อน กุศลกรรมที่บุคคลกระทำไว้จึงกลายเป็นอโหสิกรรม หรือถ้าขณะที่อกุศลกรรมกำลังให้ผลอยู่ก็จะหยุดให้ผลชั่วคราว เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำกุศลกรรมที่มีกำลังแรง จึงเปิดโอกาสให้กุศลกรรมที่มีกำลังแรงให้ผลก่อน อกุศลกรรมที่กำลังให้ผลอยู่จึงกลายเป็นอโหสิกรรม

3.อโหสิกมฺมํ นภวิสฺสติกมฺมวิปาโก หมายถึง ผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมในชาติอนาคตไม่มีแล้ว เช่น องคุลิมาลฆ่าคน ผลของกรรมที่ฆ่ามนุษย์นั้น ไม่สามารถให้ผลได้ เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว ทำให้สิ้นภพสิ้นชาติ กรรมที่ทำเอาไว้นั้นตามให้ผลไม่ได้อีก คือไม่ต้องเกิดอีก กรรมนั้นไม่มีผู้รับสนอง จึงเป็นอโหสิกรรมไป เปรียบเหมือนบุคคลวิ่งหนีสุนัข สามารถข้ามไปอีกฝั่งได้แล้ว ซึ่งเหลือวิสัยที่สุนัขจะไล่ตามได้ เมื่อบุคคลผู้นั้นไม่กลับมาฝั่งนี้อีก สุนัขซึ่งเฝ้าคอยอยู่ก็จะตายไปเอง

 

ดังนั้น กรรมทั้งหลายที่บุคคลกระทำไว้ ถ้าล่วงเลยเวลาในการให้ผลของกรรมแต่ละกรรมดังที่กล่าวมาแล้ว กรรมเหล่านั้นย่อมไม่มีโอกาสที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมได้ กรรมทั้งหลายนั้นก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป ดังนัยที่แสดงไว้ใน สัมโมหวิโนทนี ว่า

“    ก็บรรดากรรมทั้งหลายแม้มาก มีทิฏฐธัมมเวทนียกรรม เป็นต้นนั้น กรรมอย่างหนึ่งให้ผลในภพปัจจุบันแล้ว กรรมที่เหลือย่อมไม่ให้ผล กรรมอย่างหนึ่งให้ผลเป็นอุปปัชชเวทนียะให้ปฏิสนธิแล้ว กรรมที่เหลือทั้งหลายย่อมไม่ให้ผล กรรมอย่างหนึ่งให้เกิดในนรกด้วยอนันตริยกรรมหนึ่งแล้ว กรรมทั้งหลายที่เหลือย่อมไม่ให้ผล บรรดาสมาบัติ 8 สมาบัติหนึ่งให้ผลเกิดในพรหมโลก กรรมที่เหลือย่อมไม่ให้ผล ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า กัมมวิบากไม่ได้มีแล้ว”17)

 

           เพราะฉะนั้น อโหสิกรรม จึงได้แก่ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอุปปัชชเวทนียกรรม และอปรปริยายเวทนียกรรม ทั้งฝ่ายกุศลกรรมและฝ่ายอกุศลกรรมซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้โดยไม่มีโอกาสที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมได้คือเป็นกรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็นฝ่ายอกุศลกรรมหรือฝ่ายกุศลกรรมก็ตามหากว่าล่วงเลยเวลากำหนดที่จะให้ผลแล้วก็จะไม่มีโอกาสที่จะให้ผลอีกต่อไป อีกประการหนึ่งแม้ว่ากรรมนั้นยังไม่ให้ผลแต่หากว่าเจ้าของกรรมได้เข้าสู่พระนิพพานแล้วกรรมนั้นก็จะไม่มีโอกาสให้ผล กลายเป็นอโหสิกรรม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย คือ

1)อโหสิกรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือ อกุศลกรรมทุกชนิดที่บุคคลกระทำไว้แล้ว เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนดในการให้ผลแล้ว โดยที่ไม่มีโอกาสจะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมได้ อกุศลกรรมนั้นจัดเป็นอโหสิกรรมฝ่ายอกุศลกรรม ดังกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องพระมาลกติสสะ18)

พระมาลกติสสะเกิดในครอบครัวพรานมีบ้านอยู่ในเส้นทางที่พระภิกษุแห่งคเมณฑวาสีวิหารในโรหณชนบท ออกบิณฑบาต เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครองเรือนและมีอาชีพเป็นนายพรานทำบ่วงสำหรับดักสัตว์ และฝังหลาวไว้ในที่ต่างๆ อย่างละ 100 ได้สั่งสมบาปเป็นอันมาก วันหนึ่งเขาถือไฟและเกลือออกจากบ้านเข้าไปในป่า ฆ่าเนื้อที่ติดบ่วง ทำให้สุก แล้วบริโภค รู้สึกกระหายน้ำจึงเข้าไปในคเมณฑวาสีวิหาร แต่ไม่ได้น้ำดื่มเลย ทั้งที่ในโรงน้ำสำหรับดื่มมีหม้อน้ำราว 10 หม้อ จึงโกรธและกล่าวโทษว่ามีพระภิกษุอยู่ตั้งมาก แต่ไม่มีน้ำดื่มเพียงบรรเทาความกระหาย สำหรับผู้มาเพื่อหวังจะดื่ม พระจูฬบิณฑปาติกติสสเถระฟังถ้อยคำของเขาแล้วจึงเข้าไปหาเขา เห็นหม้อน้ำดื่มที่มีอยู่ประมาณ 10 หม้อ มีน้ำอยู่เต็มหม้อ จึงคิดว่า สัตว์นี้ชะรอยจะเป็นชีวมานเปรต จึงกล่าวว่า

“    อุบาสก ถ้าท่านกระหายน้ำ ก็จงดื่มเถิด แล้วยกหม้อขึ้นรดลงที่มือของเขา แต่เพราะกรรมของเขา น้ำดื่มที่เขาดื่มแล้ว ก็ระเหยเหมือนน้ำที่ใส่ลงในกระเบื้องร้อน เมื่อเขาดื่มน้ำในหม้อทั้งหมด ความกระหายก็ไม่หายขาด”

พระเถระจึงกล่าวกับเขาว่า

“    ดูก่อนอุบาสก ท่านทำกรรมหยาบช้าเพียงไรไว้ ท่านจึงเกิดเป็นเปรตในปัจจุบันทีเดียว วิบากจักเป็นเช่นไร”

เขาฟังคำของพระเถระแล้ว เกิดความสังเวช ไหว้พระเถระ แล้วรื้อเครื่องมือสำหรับดักสัตว์ทิ้ง กลับไปที่บ้านตรวจดูบุตรและภรรยา แล้วทำลายหอก ทิ้งประทีป เนื้อ และนกไว้ในป่า กลับไปหาพระเถระ และขอบรรพชา พระเถระให้ตจปัญจกกรรมฐานแล้วให้เขาบวช เมื่อบวชแล้ว ยินดีเรียนพุทธพจน์ วันหนึ่งได้ฟังเทวทูตสูตร ซึ่งกล่าวถึงการเสวยทุกข์ในนรก จึงเกิดความกลัว ได้ถามธุระในพระศาสนากับพระเถระ เมื่อพระเถระตอบว่าธุระในพระศาสนามี 2 อย่าง คือ วิปัสสนาธุระ และคันถธุระ ท่านกล่าวว่าคันถะเป็นภาระของผู้สามารถ แต่ศรัทธาของท่านอาศัยทุกข์เป็นเหตุ จะขอบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ แล้วขอกรรมฐาน

พระเถระบอกกรรมฐานแก่ท่าน เมื่อรับกรรมฐานแล้วกระทำกรรมในวิปัสสนา และบำเพ็ญวัตรโดยกระทำวัตรที่จิตตลบรรพตมหาวิหารวันหนึ่ง ทำที่คเมณฑวาสีมหาวิหารวันหนึ่ง ทำที่โคจรคามมหาวิหารวันหนึ่ง พอถีนมิทธะครอบงำ จึงทำใบไม้ให้ชุ่มน้ำวางไว้บนศีรษะ นั่งเอาเท้าแช่น้ำ เพราะกลัววัตรจะเสื่อม วันหนึ่งทำวัตรตลอด 2 ยาม ที่จิตตลบรรพตวิหาร เมื่อเริ่มจะหลับ ในเวลาใกล้รุ่งจึงนั่งวางใบไม้สดไว้บนศีรษะ เมื่อสามเณรกำลังท่องบ่นอรุณวติสูตรอยู่ ได้ยินว่า จงพากเพียร พยายามบากบั่นในพระพุทธศาสนาจงกำจัดกองทัพของมฤตยูเหมือนกุญชรกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทในพระธรรมวินัยนี้อยู่ จักละชาติสงสาร ทำที่สุดทุกข์ได้ ท่านจึงเกิดปีติขึ้นว่า คำนี้จักเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสโปรดภิกษุผู้ปรารภความเพียรเช่นกับเรา ดังนี้แล้วทำฌานให้บังเกิด กระทำฌานนั้นให้เป็นบาทแล้วดำรงอยู่ในอนาคามิผล พยายามสืบๆ ไป ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

กรรมที่พระมาลกติสสะได้เคยฆ่าสัตว์เอาไว้มากมายในครั้งที่เป็นนายพรานล่าเนื้อนั้นได้กลายเป็นอโหสิกรรมฝ่ายอกุศลกรรม เนื่องจากไม่มีโอกาสที่จะส่งผลได้ เพราะท่านได้เจริญกรรมฐานจนได้ฌานบรรลุเป็นพระอนาคามี ซึ่งกุศลกรรมนี้เป็นกรรมแรง มีกำลังมาก จึงมีโอกาสในการส่งผลก่อนและทำให้กรรมที่เคยฆ่าสัตว์เอาไว้มากมายในอดีตไม่มีโอกาสในการส่งผล จึงกลายเป็นอโหสิกรรม

 

2)อโหสิกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กุศลกรรมทุกชนิดที่บุคคลกระทำไว้แล้ว เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้ผลไว้ โดยไม่มีโอกาสที่จะให้ผลให้แก่บุคคลที่กระทำกุศลกรรมได้ กุศลกรรมนั้นจัดเป็นอโหสิกรรมฝ่ายกุศลกรรม ดังกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องกาฬเทวิลดาบส

กาฬเทวิลดาบสผู้ได้ฌานสมาบัติที่ 8 ท่านเป็นอาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาของ เจ้าชายสิทธัตถะ การที่ท่านกาฬเทวิลดาบสได้บรรลุฌานสมาบัตินั้น ทำให้ต้องไปสู่พรหมโลก ซึ่งมีอายุขัยที่ยาวนานมาก และการบรรลุฌานก็เป็นครุกรรม แม้ว่าท่านกาฬเทวิลดาบสจะได้บรรลุฌานที่ 1 จนถึงฌาน ที่ 7 ซึ่งถือว่าเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมที่สามารถส่งผลได้ แต่ก็ต้องกลายเป็นอโหสิกรรม เพราะฌานสมาบัติ ที่ 8 เพียงฌานเดียวเท่านั้นที่เข้าทำหน้าที่ส่งผลให้ท่านไปบังเกิดเป็นพรหม เปรียบเสมือนกับว่าท่านดาบสมีข้าวอยู่ 8 คำ เมื่อบริโภคไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกอิ่มที่คำที่ 8 ซึ่งเป็นคำสุดท้ายพอดี ส่วนคำที่ 1-7 ก็เป็นตัวช่วย เสริม จึงกลายเป็นอโหสิกกรรม

จากการศึกษาในบทเรียนนี้ พอจะสรุปได้ว่า กรรมแต่ละชนิดนั้นให้ผลในลักษณะใด ดังนี้

ปากกาลจตุกกะ คือ กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ซึ่งเป็นกรรมในหมวดที่ 3 โดยมีเนื้อหาที่ต่อจากกิจจจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ และปากทานปริยายจตุกกะที่กล่าวถึงหมวดของกรรมที่ให้ผลตามลำดับ ซึ่งกรรมให้ผลตามกาลเวลานี้มีอยู่ 4 ประเภท คือ

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ ซึ่งเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีอายุน้อย ยืนต้นอยู่ได้ไม่นานประเภทที่ 1 เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน ไม่สามารถที่จะให้ผลข้ามชาติได้ มีกำลังให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น เมื่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม ย่อมได้รับผลทั้งที่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขในปัจจุบันชาตินี้ โดยไม่ต้องรอจนถึงชาติหน้า

 

อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า ซึ่งเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีอายุน้อย ยืนต้นอยู่ได้ไม่นานประเภทที่ 2 เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน แต่ก็มีกำลังที่มากกว่าประเภทแรก เนื่องจากกรรมประเภทนี้ให้ผลเฉพาะในชาติหน้าเท่านั้น เมื่อให้ผลแล้วก็หมดกำลังในการให้ผลเพียงแค่นั้น ถ้าบุคคลใดก็ตามที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมประเภทนี้แล้ว ย่อมทำให้บุคคลที่กระทำกรรมไปเกิดในทุคติภูมิหรือสุคติภูมิในชาติหน้า ซึ่งจะต้องไปเกิดต่อจากปัจจุบันชาตินี้อย่างแน่นอน

อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป คือ ตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไป ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ได้นานกว่าต้นไม้ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังมากกว่ากรรม 2 ประเภทข้างต้น จึงสามารถให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมได้ตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไป และเมื่อถึงกำหนดเวลาการให้ผลก็จะยังให้ผลไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าได้โอกาสเมื่อไรก็จะให้ผลเมื่อนั้น ต่อเมื่อหมดกิเลสบรรลุพระอรหันต์เข้าพระนิพพาน กรรมประเภทนี้จึงเป็นอันสิ้นสุดการให้ผลเมื่อนั้น ซึ่งถ้าบุคคลใดกระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมประเภทนี้แล้ว ย่อมทำให้บุคคลที่กระทำกรรมได้รับความทุกข์หรือความสุขได้ในชาติที่ 3 เป็นต้นไป

 

อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล เพราะไม่มีโอกาสให้ผลได้ทั้งอดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล ซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่เก็บไว้นานเกินไป หรือถูกคั่วให้สุกด้วยไฟแล้ว เมล็ดพืชนั้นเมื่อนำไปปลูกก็ไม่สามารถเจริญงอกงามขึ้นได้แม้ว่าได้ดินได้น้ำดีเพียงใดก็ตาม เพราะอโหสิกรรมนี้ถึงแม้จะสำเร็จเป็นตัวกรรมก็ตาม แต่ไม่มีโอกาสให้ผล เนื่องจากมีกรรมอื่นที่มีกำลังแรงมากกว่ามาให้ผลก่อน จึงกลายเป็นกรรมที่หมดประสิทธิภาพที่จะให้ผลทันทีไม่ว่าจะเป็นอโหสิกรรมฝ่ายกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม

ดังนั้น เมื่อศึกษาการให้ผลของกรรมแล้ว จะเห็นว่าการให้ผลของกรรมมีความซับซ้อนมาก ซึ่งเป็นการยากมากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย และด้วยเหตุที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการให้ผลของกรรม จึงทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบแล้วก็น้อยใจในโชคชะตาชีวิตของตนที่เกิดมามีชีวิตที่ลำบาก กระทั่งเกิดการประชดประชันชีวิตคิดว่า “    ทำดีไม่ได้ดี ” ซึ่งการคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดและเป็นอันตรายกับชีวิต เพราะในความเป็นจริงนั้นกรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่กำลังรอการให้ผลอยู่กับทุกการกระทำที่บุคคลกระทำขึ้น

 

จากการที่ได้ศึกษาเรื่องของกรรมในแต่ละหมวดที่ผ่านมาตั้งแต่ในบทที่ 3 จนกระทั่งมาถึงบทนี้ จะเห็นว่ากรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่กำลังทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรรมแต่ละหมวดก็มีหน้าที่ มีลำดับและมีระยะเวลาในการให้ผลที่ชัดเจน เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ที่กว่าต้นไม้ชนิดนั้นๆ ที่ปลูกขึ้นมาจะเจริญเติบโตขึ้นมาให้ร่มเงา แผ่กิ่งก้านสาขาได้นั้นต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตเป็นเดือนเป็นปี กรรมก็เช่นกัน มีหน้าที่ มีลำดับและมีระยะเวลาในการให้ผลแก่บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมให้ได้รับทุกข์หรือสุขอย่างแน่นอน ไม่มีใครสามารถที่จะหนีกรรมที่ตนกระทำไว้ได้ ดังเช่นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“    น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ

น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส

น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส

ยตฺรฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา.

บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้

หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอก

แห่งภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ)เขาอยู่แล้วในประเทศแห่ง

แผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่”19)

 

เพราะฉะนั้น เมื่อได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นอัตภาพที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างความดี จึงไม่ควรน้อยใจในโชคชะตาที่ตนเองได้รับในปัจจุบัน แต่ควรที่จะหมั่นสั่งสมบุญทุกๆ บุญอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตละบาปอกุศลทุกชนิด และทำใจของตนให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดบุญกุศลที่กระทำเอาไว้ได้ช่องสบโอกาสในการให้ผล ก็จะทำให้ชีวิตของเราได้รับแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงแม้จะได้ทำบาปอกุศลมาในอดีตก็ตาม บาปอกุศลนี้ก็จะไม่มีโอกาสในการให้ผลอีกต่อไป

-------------------------------------------------------------------

16) ขุนสรรพกิจโกศล, ปริจเฉทที่ 5 วิถีมุตตสังคหวิภาค, (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2534), หน้า 55.
17) กรรมในปฏิสัมภิทามรรค, อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก วิภังค์, มก. เล่ม 78 หน้า 732.
18) นีวรณปหานวรรค อรรถกถาสูตร, อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่ม 32 หน้า 58.
19) เรื่องชน 3 คน, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 54.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014580686887105 Mins