อัธยาศัยของพระโพธิสัตว์

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2558

 

อัธยาศัยของพระโพธิสัตว์

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้รับคำสรรเสริญจากสรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดทั่วทั้งภพ 3 อย่างมากมายว่า เป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้เลิศกว่าบุคคลอื่น เป็นเอกบุคคลที่ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือน เป็นต้น ซึ่งการที่พระองค์ได้รับคำสรรเสริญเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงได้ฝึกฝนตนเองมาอย่างยิ่งยวด โดยมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดี ด้วยการวางแผนสร้างบารมีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างบารมีอย่างยาวนาน ด้วยความเพียรพยายามและด้วยความอดทนอย่างสูงสุด ยากที่บุคคลใดจะทำได้ จึงทำให้พระองค์ได้กำจัดนิสัยที่ไม่ดีหรือความคุ้นในสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากตัวได้ในแต่ละชาติที่เกิดมาสร้างบารมี จนเมื่อนิสัยที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดีในตัวได้ถูกกำจัดออกไปได้หมดแล้ว ประกอบกับบารมีที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ก็ทำให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

 

            ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับตนเองมาตลอดเส้นทางในการสร้างบารมี ซึ่งนิสัยที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา ก็จะทำให้พระสัมมาสัมโพธิญาณแก่กล้ายิ่งขึ้น นิสัยนี้เรียกว่า อัธยาศัย คือ นิสัยที่คิดจะสร้างบารมี และนิสัยนี้ก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาด ด้วยการทำอกุศลกรรมในระหว่างการสร้างบารมี ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 ประการ คือ

1.เนกขัมมัชฌาสัย หมายถึง มีความพอใจที่จะออกบวชตลอดทุกชาติ รักในเพศบรรพชิตเป็นอย่างยิ่ง มีปกติเห็นโทษในกาม รู้ว่าสุขยิ่งกว่ากามคุณ 5 นั้นยังมีอยู่ เป็นสุขจากการเข้าถึงพระนิพพาน

2.วิเวกัชฌาสัย หมายถึง มีความพอใจอยู่ในที่เงียบสงัด วิเวกผู้เดียว ที่ใดสงบสงัดปราศจากความอึกทึกครึกโครม ย่อมพอใจในสถานที่นั้นยิ่งนัก มีปกติเห็นโทษในการคลุกคลีกด้วยหมู่คณะ ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัดเหมาะสมต่อการทำใจให้สงบ

3.อโลภัชฌาสัย หมายถึง มีความพอใจในการบริจาคทาน หากมีช่องทางใดที่จะบริจาคทานได้แล้ว จะไม่ละเว้นเลย จะทำอย่างเต็มที่เต็มกำลัง และยินดีพอใจที่จะคบหากับบุคคลผู้ปราศจากความโลภ ไม่มีความตระหนี่ยิ่งนัก

4.อโทสัชฌาสัย หมายถึง มีความความพอใจในความไม่โกรธ พยายามหักห้ามความโกรธอยู่ตลอดมา เจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงด้วยความปรารถนาให้เขาพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารเป็นยิ่งนัก

5.อโมหัชฌาสัย หมายถึง มีความพอใจในการทำลายโมหะ พยายามบำเพ็ญภาวนา เพื่อให้เกิดดวงปัญญา พิจารณาเห็นบาปบุญคุณและโทษตามความเป็นจริง และพอใจในการคบหาคนดี มีสติปัญญายิ่งนัก

6.นิสสรณัชฌาสัย หมายถึง มีความพอใจที่จะยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เพราะเห็นโทษในภพทั้งหมด ทั้งกามภพ รูปภพและอรูปภพ โดยมีจิตที่มุ่งตรงต่อพระนิพพานเพียงอย่างเดียว อันเป็นเอกันตบรมสุขอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้เป็นอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ หรือเรียกว่า นิสัยรักการสร้างบารมี ซึ่งจะเป็นไปเพื่อบ่ม พระสัมมาสัมโพธิญาณให้แก่รอบ โดยอัธยาศัยเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่อัธยาศัยเช่นนี้ท่านได้สั่งสมแก้ไขเรื่อยมาตลอดในทุกชาติที่เกิดมาสร้างบารมีไม่ว่าจะเกิดมาในกำเนิดใดก็ตาม ก็ได้แก้ไขปรับปรุง ฝึกฝนตนเองจนทำให้มีอัธยาศัยทั้ง 6 ประการนี้เกิดขึ้นมาในใจ เพราะฉะนั้นทุกคนควรพิจารณาไตร่ตรองดูว่า ตนเองมีจริตอัธยาศัยเหมือนอย่างกับพระบรมโพธิสัตว์ในช่วงที่ยังสร้างบารมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังไม่มีก็ฝึกให้มีขึ้นมา โดยการน้อมนำคุณธรรมของพระองค์มาฝึกฝนอบรมตนจนคุ้นเคยกลายเป็นนิสัยที่ดี และปรับปรุงแก้ไขตนเองให้สมบูรณ์ขึ้นเฉกเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เรามุ่งมั่นตั้งใจก้าวตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อภพชาติหน้าที่สมบูรณ์กว่า และเพื่อเป้าหมายอันสูงสุด คือ พระนิพพาน

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001126233736674 Mins