ความสำคัญของอัตถัญญู

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2558

ความสำคัญของอัตถัญญู


 นัยของพุทธภาษิตสำคัญอย่างไร

            ภายหลังจากตรัสรู้ได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้มานั้นว่า"บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้ว ไม่ตรัสรู้ได้ง่ายสัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้งยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือ พระนิพพาน"

            จากพุทธพจน์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงธรรมชาติของพระธรรมว่า มีความละเอียดลุ่มลึก เกินกว่าที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ด้วยตนเอง อุปมาเหมือนมหาสมุทรที่ลึกและกว้างใหญ่ เกินกว่าที่สัตว์เล็กๆ เช่นหนูหรือกระต่ายจะหยั่งเท้าลงไปถึงแต่เพราะอาศัยพระปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแยกแยะธรรมะมาเทศนาให้เข้าใจตามได้ง่าย จนบางครั้งขณะที่ศึกษาธรรมะไป อาจรู้สึกเหมือนธรรมะไม่ได้ยากอะไรเลย หากรู้สึกอย่างนั้น ขอให้ระลึกเสมอว่านั่นเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวของเราเอง จะได้ไม่ประมาทพลาดพลั้ง เพราะบางทีในความง่ายนั้นอาจแฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งที่เรายังไม่เข้าใจ อย่างเช่น พระอานนท์ได้กล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรมเข้าใจง่าย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเตือนไม่ให้ท่านกล่าวเช่นนั้นตามธรรมดา ธรรมะที่พระองค์ตรัสไว้อาจมีนัยหรือความหมายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นกับบริบท หรือความประสงค์ของพระองค์ที่แตกต่างกันไป ตามแต่เหตุการณ์ หรือบุคคลที่พระองค์ตรัสด้วย ดังตัวอย่างคำในพระไตรปิฎกบางคำ ที่มีนัยแตกต่างกันไป เช่น คำว่า "หยุด" ที่ทรงกล่าวกับองคุลิมาล ก็มีความหมายที่ลุ่มลึกถึง 3 ระดับด้วยกัน 

 

 ผลดีของการเข้าใจนัยถูก
            การเข้าใจนัยหรือความหมายถูกมีผลเป็นอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่การปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนเองที่ถูกต้อง ซึ่งการปฏิบัติที่ถูกต้องจะทำให้คุณธรรมภายในเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเนื่องจากธรรมะมีหลายนัยดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นเมื่อได้ศึกษา ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจนัยทั้งหมด หรือบางครั้งก็อาจเข้าใจแต่เพียงบางส่วน เมื่อเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างอย่างนั้น การนำไปฝึกฝนตนเองก็อาจไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ถูกต้อง ผลจากการปฏิบัติที่ได้ ก็อาจเร็วช้าต่างกันไป เหมือนดังเรื่องของพระโสณโกฬิวิสะผู้มีความเพียรกล้า แต่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะปฏิบัติด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเกิดความเข้าใจ ท่านจึงสามารถบรรลุธรรมได้อย่างสบายๆ ภายในเวลาไม่นาน

 ผลเสียของการเข้าใจนัยผิด
            การเข้าใจความหมายผิด ย่อมมีผลต่อการฝึกฝนอบรมตนเอง และคุณธรรมที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่นอาจทำให้ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเต็มที่ ผลการปฏิบัติก็จะไม่มีความสมบูรณ์ และบางครั้งความเข้าใจผิดก็นำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดทำนองคลองธรรม แทนที่กุศลธรรมจะเกิด กลับกลายเป็นเกิดอกุศลธรรมขึ้นแทน ดังเช่นพระอริฏฐะ ผู้มีความเห็นผิดไปจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทำอย่างไรจึงจะไม่เข้าใจผิด
            วิธีการที่จะไม่ให้เข้าใจผิด ก็คือ การหมั่นเข้าไปสอบถามกับครูบาอาจารย์ ที่ท่านผ่านการฝึกฝนอบรม
ตนเองมาก่อน จนเป็นผู้มีคุณธรรมความดี และมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง พระภิกษุจึงควรอาศัยท่านเป็นกัลยาณมิตรให้ เพื่อคอยชี้แนะแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรมการที่มีโอกาสใกล้ชิดพระอุปัชฌาย์ หรือครูบาอาจารย์ที่ดี จะทำให้พระภิกษุมีโอกาสพันาคุณธรรมให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้นอกจากจะได้ฟังธรรมและสอบถามให้เกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว ยังจะได้อาศัยท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตไปด้วยในตัว เช่น ได้แบบอย่างในการบริหารเวลา ข้อวัตรปฏิบัติในการทำกิจวัตร กิจกรรม หรือศีลาจารวัตรที่งดงาม ซึ่งจะเป็นการเพาะนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้น เพราะการได้อยู่ใกล้ชิด มีความสำคัญกับชีวิตการฝึกตัวของพระภิกษุอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ได้อาศัยท่านเป็นแบบอย่างแล้ว ยังได้ท่านเป็นผู้ให้กำลังใจ การฝึกฝนอบรมตนเองก็จะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสุญญตสูตร

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013298511505127 Mins