การเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก

วันที่ 17 ตค. พ.ศ.2558

การเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก


          เมื่อพระภิกษุสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองได้แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่นด้วยต่อไป ทั้งนี้เพราะสาธุชนเป็นผู้มีคุณ ที่คอยช่วยสนับสนุนปัจจัย 4 และสิ่งที่จำเป็น ทำให้พระภิกษุไม่ต้องกังวลกับการเลี้ยงชีพใดๆ จึงมีเวลาที่จะศึกษาตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มากกว่า ดังนั้นเมื่อถึงเวลา ก็ควรต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ทางธรรมกลับคืนไปยังสาธุชน มดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิดดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฆราวาสและบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยซึ่งกันและกันด้วยอำนาจอามิสทานและธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการ ลัดโอฆะ เพื่อจะทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบด้วยประการอย่างนี้..."

 

           หน้าที่ของพระภิกษุในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแก่ญาติโยมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้แล้วในสิงคาลกสูตร ว่า
"ดูก่อนคฤหบดีบุตรสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร 6 ประการเหล่านี้ คือ
1. ห้ามจากความชั่ว
2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
3. อนุเคราะห์ด้วยใจงาม
4. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
5. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
6. บอกทาง วรรค์ให้"


          กล่าวโดยสรุป ก็คือ พระภิกษุจะต้องเทศน์สอน โดยเฉพาะต้องสอน ต้องแนะนำห้ามไม่ให้ญาติโยมทำความชั่ว และสอนให้ตั้งมั่นในความดีด้วยจิตที่เมตตา ซึ่งการที่จะเทศน์สอนให้ได้ดีนั้น จะสามารถทำได้ ก็ต่อเมื่อพระภิกษุนั้นมีความพร้อมความพร้อมนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการฝึกฝน ไม่ได้เกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีเหตุผล พระภิกษุจะมีความพร้อมในการแสดงธรรมอย่างองอาจได้ ก็ต่อเมื่อฝึกฝนตนเองมาอย่างดี คือ ใช้เวลาที่ไม่ได้ไปประกอบอาชีพอย่างฆราวาสให้หมดไปกับการศึกษาหาความรู้ การทำความเข้าใจในธรรม หมั่นตรวจสอบ พัฒนาตนเองทั้งยังรู้จักประมาณในปัจจัยสี่ และรู้จักบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพได้ เป็นต้น

 

         เมื่อพระภิกษุเป็นผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม ก็สามารถทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ญาติโยมได้เป็นอย่างดีเพราะได้ฝึกฝนตน จนรู้จัก เข้าใจในตนเอง เมื่อเข้าใจตนเองเสียแล้ว ย่อมเข้าใจผู้อื่นไปด้วย เพราะทุกคนล้วนมีกิเลสที่ซุกซ่อนในใจเหมือนกัน และมีเชื้อแห่งการทำความดี อยากที่จะเป็นคนดีเหมือนๆ กันด้วย แต่บางคนไม่รู้วิธีว่าคนดีคือใคร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรสังคมจึงมีทั้งคนดี และไม่ดีปะปนกัน หากคนเหล่านี้ได้กัลยาณมิตรที่ฝึกฝนตนเองมาอย่างดี คอยแนะนำชี้แนะ ก็ย่อมมีโอกาสเป็นคนดีได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาตัวเองเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยในการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนั้น พระภิกษุสามารถอาศัยวิธีการจากธัมมัญญูสูตร 2 ประการคือ "ปริสัญญ" ความเป็นผู้รู้จักกลุ่มคน และ "ปุคคลปโรปรัญญู" การรู้จักเลือกคน มาใช้ ซึ่งรายละเอียดได้อธิบายไว้แล้วในบทที่ผ่านมา

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011648615201314 Mins