วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สืบทอดพุทธธรรม... จากพุทธกาล สู่โลกปัจจุบัน

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

สืบทอดพุทธธรรม...
จากพุทธกาล
สู่โลกปัจจุบัน

 

 

    ณ ดินแดนชมพูทวีป ย้อนไปเมื่อ ๒,๖๐๐ กว่าปีก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า           ได้ตรัสรู้ธรรมและทรงเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ แม้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่แสงแห่งธรรมยังคงสืบทอดและปักหลักในดินแดนต่าง ๆ จวบจนปัจจุบัน โดยเหล่าพุทธบริษัท ๔ ได้สืบทอดและเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากวิธีสืบทรงจำ  แบบมุขปาฐะในสมัยพุทธกาลสู่การจารจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรและก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน


    คัมภีร์พระไตรปิฎกอักษรบาลีถือเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่สืบทอดคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีมาตั้งแต่ราว ๆ พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ณ ประเทศศรีลังกา และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในยุคต่อมา ที่สร้างคัมภีร์ใบลานด้วยความเคารพศรัทธา เพื่อเผยแผ่หรือทดแทนของเดิมที่สูญหายหรือถูกทำลาย

 

 

    ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ หรือเก็บเป็นคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งต่อได้ฉับไวไร้พรมแดนเพียงปลายนิ้วสัมผัส การศึกษาค้นคว้าคำสอนทางพระพุทธศาสนาจึงขยาย   วงกว้างจากโลกตะวันออกไปรุ่งเรืองยังดินแดนอื่นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย นักวิชาการต่างประเทศต่างให้ความสนใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มุ่งเรียนรู้และค้นคว้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แต่ด้วยมุมมองวัฒนธรรมและความเข้าใจที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยค้นคว้าที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุม เป็นการเปิดโลกทัศน์จากยุคพุทธกาลสู่ปัจจุบันในแง่วิชาการที่อิงอยู่บนพื้นฐานของคำสอนดั้งเดิม เป็นการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ากับหลักฐานปฐมภูมิ   อายุหลายร้อยปี เพื่อต่อยอดไปสู่อนาคต ก่อ     ให้เกิดโครงการวิจัยต่าง ๆ มากมาย ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของอักษรโบราณทุกตัวอักขระและเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ทุกช่วงตอน

 

    “โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ” (DTP) จัดตั้งขึ้นโดยดำริของ พม.ดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่ออนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานของ ๔ สายจารีตหลักในพุทธศาสนาแบบเถรวาท ได้แก่ คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า อักษรสิงหล อักษรขอม และ  อักษรธรรม โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการสำรวจรวบรวมและศึกษาค้นคว้า        โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเสาะแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีเพื่ออนุรักษ์และศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็พัฒนาศักยภาพบุคลากรและเทคนิคต่าง ๆ จนผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักและประจักษ์แก่สายตานักวิชาการและผู้สนใจ

 

  การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานโดยโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ เริ่มจากการสำรวจ ทำความสะอาด และถ่ายภาพเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล

 

    ซึ่งการทำงานจะได้มาตรฐานและสามารถสร้าง   ผลงานที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับเวทีโลก  ได้ จำเป็นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้และประสบการณ์อันเป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้าของวงการวิชาการพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งโครงการฯ ได้รับความเมตตาจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ    ทั้งในประเทศและต่างประเทศคอยให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางในการดำเนินงานเรื่อยมา หนึ่งในคณะที่ปรึกษาจากต่างประเทศผู้มีความรู้ความสามารถระดับแนวหน้าของวงการวิชาการบาลีโลก คือ Prof. Dr. Oscar von Hin?ber ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน เป็นบุคคลหนึ่งที่คอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งต่อโครงการฯ มาโดยตลอด และในโอกาสที่โครงการฯ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Intensive Workshop) เกี่ยวกับการศึกษาพระไตรปิฎกบาลีขึ้น ท่านได้ให้เกียรติเดินทางมาเป็น  ที่ปรึกษาหลักให้แก่นักวิชาการของโครงการฯ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายนักที่จะมีนักวิชาการระดับโลก ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักในวงการบาลีอย่างกว้างขวางเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม         อย่างต่อเนื่องกับคณะนักวิชาการประจำของโครงการฯ ได้เช่นนี้ 

 


    งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดขึ้น ณ ศูนย์บริการข้อมูลวิจัยพระไตรปิฎก ตั้งแต่วันที่ ๘-๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมระยะเวลา ๑๐ วัน ซึ่งตลอดการสัมมนา นักวิชาการชาวอังกฤษ     เมียนมาร์ ศรีลังกา และไทย ได้รายงานความคืบหน้าการทำงานในแต่ละส่วนงาน เริ่มจาก              การบรรยายภาพรวมกว้าง ๆ จากนั้นจึงเจาะลึกในเนื้องานเป็นลำดับ ๆ อาทิเช่น การวิเคราะห์การจัดสายคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกบาลีในแต่ละสายอักษร ได้แก่ อักษรสิงหล พม่า ธรรมล้านนา ธรรมอีสาน และอักษรมอญ โดยการศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอันถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิประกอบกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูมิหลังของอาณาจักรโบราณที่ใช้อักษรนั้น ๆ ด้วย

 

ตัวอย่างการวิเคราะห์ระดับคำที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหล

 

คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า


    ในช่วงวันท้าย ๆ ได้ลงลึกถึงประเด็นทางวิชาการและการวิเคราะห์ในระดับคำที่มีประเด็นถกกันในแง่สัทศาสตร์และอักษรศาสตร์บาลีไวยากรณ์ สันสกฤต ที่พบต่างกันในคัมภีร์ใบลาน     ต่างจารีตกัน ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ของ Prof. Dr. Oscar von Hin?ber และความรู้ที่ท่านสั่งสมในวงการเป็นเวลาหลายสิบปี รวมทั้งประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และการลงมือปฏิบัติภาคสนามในหลายประเทศ ทำให้นักวิชาการได้รับคำอธิบายที่กระจ่างชัด  จากท่าน และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานด้านวิชาการในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  


    เจ้าหน้าที่โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ จะนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจาก           งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ไปพัฒนาวิธีการอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน เพื่อเผยแผ่พระสัทธรรมแห่งยุคพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน ให้หยั่งรากลึกต่อไปในอนาคต เพื่อยังประโยชน์ให้แก่วงการวิชาการพระพุทธศาสนาสืบไป

 

ตัวอย่างการศึกษาวิวัฒนาการอักษรพม่าโดยใช้อักขระบนจารึกมาศึกษาประกอบ

 

ขณะนี้โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ได้จัดนิทรรศการ “เล่าเรื่องใบลาน สืบสานพุทธธรรม” ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ สภาธรรมกายสากล เสา ฒ๒๔ (N24) ทุกวันอาทิตย์

 


สัมภาษณ์ Prof. Dr. Oscar von Hinuber


    “ผมมีโอกาสเดินทางมาร่วมงานกับโครงการพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ ๓ และได้เห็นความคืบหน้าของโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะช่วง ๒ ปีหลังนี้ เห็นได้ชัดว่างานหลายด้านก้าวหน้า   ไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพียงการจัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกฉบับทีฆนิกายเท่านั้น แต่ผมได้เห็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ซึ่งออกจะเป็นเรื่องที่ยาก รวมถึงแนวทางในการคัดเลือกคัมภีร์ใบลานที่ดีที่สุดเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้  จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาภาษาบาลีต่อไปในอนาคต” 
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๕ เดือนกันยายน ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล