วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขไว้อย่างไร?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 


   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขไว้อย่างไร?


ANSWER
คำตอบ

 

    สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้หลักที่พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้มั่นคงเอาไว้ และหลักนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเอามาใช้ในการสร้างสรรค์สังคมให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเราร่มเย็นเป็นสุขด้วย แต่ก่อนจะสร้างสรรค์สังคม เราต้องเข้าใจหลักการสำคัญก่อนว่า ใจของคนเป็นอย่างไร สังคม    ก็เป็นอย่างนั้น ใจขุ่นมัว สังคมก็ขุ่นมัว ใจใสสะอาด สังคมก็ร่มเย็น


    พิษร้ายของความสกปรกขุ่นมัว มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง ก้อนกรวด ก้อนทราย ฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตใจของคนเราขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น


    อานุภาพของความใสสะอาดก็มีกล่าวไว้เช่นกัน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อน้ำ   ไม่ขุ่นมัว ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง ก้อนกรวด ก้อนทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตใจไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านชัดเจน ฉันนั้น 


    ถ้าแต่ละคนในบ้านในเมืองใจใส ก็จะเห็นประโยชน์ของตัวเอง เห็นประโยชน์ของหมู่คณะ        เห็นประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ว่ากี่ฝ่ายก็จะเห็นตรงกันว่า ประเทศชาติบ้านเมือง     จะก้าวหน้า วัดวาอาราม พระศาสนาจะก้าวหน้า จะต้องทำอย่างไรบ้าง 


    พอใจใสแล้วจะเห็นตรงกัน เหมือนกับในยามเที่ยงวันที่ดวงอาทิตย์สว่างไสวอยู่กลางท้องฟ้า อะไรต่อมิอะไรก็จะปรากฏชัดเจนเห็นตรงกัน ถ้าใจของคนเราใสแล้ว ดี-ชั่ว ผิด-ถูก ควร-ไม่ควร ก็จะเห็นตรงกัน 


    ในปัจจุบันแม้ในบ้าน ในครอบครัว การที่จะคำนึงถึง เอาใจเขาใส่ใจเรา เอาใจเราใส่ใจเขากับคนในครอบครัวก็หายกันไปมาก ทำให้ใจของคนในครอบครัวไม่ใสเท่าที่ควรจะเป็น


    ปัจจุบันสังคมใหม่เกิดขึ้นมากมาย เป็นสังคมที่แม้แต่บ้านติดกันก็ไม่ค่อยจะรู้จักกัน เพราะว่า ต่างก็อพยพมา ย้ายถิ่นมาทำมาหากินกันอยู่ในตัวเมือง ความใกล้ชิดประสาบ้านใกล้เรือนเคียง ความเป็นญาติ ความกล้าเตือนกันดั่งในอดีตที่สังคมเป็นสังคมญาติพี่น้อง ที่คนส่วนใหญ่มาจากตระกูลเดียวกันก็หมดไป มีแต่การกระทบกระทั่งกัน มีความระแวงซึ่งกันและกันเข้ามาแทนที่ ถ้าปล่อยให้สภาพอย่างนี้เป็นต่อไป โลกคงขาดความน่าอยู่ 


    สำหรับการสร้างสรรค์สังคมที่ดีให้เกิดขึ้นและดำรงคงอยู่นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ขั้นตอน ดังนี้


    ประการที่ ๑ ฝึกใจให้ผ่องใสเป็นกิจวัตร


    ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องเตือนตัวเองให้รู้จักทำใจให้ผ่องใสอยู่เป็นประจำ 


    ประการที่ ๒ ขยันสร้างมิตรภาพ ขยันสร้างเครือข่ายคนดี


    ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องสร้างมิตรภาพเอาไว้ให้เต็มที่ เวลาทำความดีจะได้ไม่โดดเดี่ยวลำพัง ไปอยู่ในถิ่นไหนให้ตระเวนหากันเลยทีเดียวว่า ในย่านนั้นบุคคลที่น่าเคารพที่น่าเชื่อถือมีใครบ้าง  

ตัวอย่างเช่น ๑) ใครมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นประจำ 
                  ๒) ใครมีศรัทธา ใครมีศีล ใครมีจาคะ มีความเสียสละเห็นแก่ส่วนรวม 
                  ๓) ใครมีปัญญา ศึกษาธรรมะมาดีพอ 


    ให้ไปสร้างสัมพันธไมตรีกับเขาเหล่านั้นเอาไว้ให้ดี แม้ไม่รู้จักก็ต้องรีบไปทำความรู้จัก เพื่อว่าจะได้รวมคนดีเอาไว้ เรามีดีอะไรก็จะได้แบ่งปันให้เขา เขามีดีอะไรก็จะได้ขอเอามาเป็นต้นแบบในการสร้างบารมีของเราด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้คนดีก็จะได้คบหากัน อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นปึกแผ่นขึ้นมา 


    ไม่ว่าคนดีเหล่านั้นจะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อายุมากกว่า หรืออายุน้อยกว่าเรา ขอให้เป็นคนดี คนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นประจำ ให้ไปคบค้าสมาคม แล้วก็ไปรวมพวกเอาไว้ให้ดี 


    แม้ในการประกอบอาชีพตั้งหลักตั้งฐาน พระพุทธองค์ก็ทรงสอนว่า 


        ๑) ให้ขยันหาทรัพย์ 
        ๒) ให้ขยันเก็บรักษาทรัพย์ 
        ๓) ให้ขยันคบคนดี 
      ๔) ให้ใช้ทรัพย์อย่างผู้รู้ประมาณ โดยแบ่งทรัพย์มาหนึ่งในสี่ ให้เอาไว้เป็นงบประมาณในการผูกมิตร ในการคบคนดี เพื่อรักษาคนดีใจใส ๆ เป็นพรรคเป็นพวกกันไว้ 


    สิ่งที่พระองค์ทรงให้ไว้ตรงนี้ ไม่ได้เป็นแค่การบุญการกุศลเท่านั้น แต่นี้เป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาด้วย 


    ถ้าคนดีรวมกันติด จะสามารถรวมพวกที่เป็นกลาง ๆ ได้ แล้วจะเป็นที่เกรงใจของคนที่     ไม่เข้าท่าไม่เข้าทาง เช่นนี้คนดีก็สามารถจะควบคุมบรรยากาศโดยรวม ทำให้สังคมยังเป็นสังคมแห่งการทำความดีอยู่ได้


    การที่เราชวนคนมาทำความดี การที่เราชวนคนมาตักบาตร การชวนคนมาโปรยกลีบ       ดอกดาวรวย (ดอกดาวเรือง) ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นั่นเป็นการทำบุญให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล เพราะถึงแม้เขาไม่ได้มาร่วมโปรยกลีบดอกดาวรวยกับเรา แต่สำนึกของความรับผิดชอบได้ไปสู่สายตาประชาชน แล้วก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีงามอีกต่อไป 


    การที่เราตักบาตรเพื่อที่จะไปช่วยดูแลภาคใต้มาหลายปี รวมพระสงฆ์มาตักบาตรทีละหมื่น สองหมื่น สามหมื่นรูป สะสมต่อเนื่องกันทั้งปีหลาย ๆ ปีมานี้ เราจึงช่วยกันรักษาแผ่นดิน ๔ จังหวัดภาคใต้เอาไว้ได้ เลยเป็นผลให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ชาวพุทธที่จะทำอะไรที่ดีงามต่าง ๆ ขึ้นมาอีกมาก นั่นเป็นผลกระทบในสิ่งที่ดีที่งามทั้งนั้น 


    สิ่งเหล่านี้ปู่ย่าตาทวดของเราศึกษาและเข้าใจเป็นอย่างดี ในอดีตคนไทยก็มีไม่มาก           แต่สร้างวัดไว้เต็มแผ่นดินไทย เดี๋ยวนี้คนไทยเพิ่มขึ้นมา ๗๐ ล้านคน ปีหนึ่ง ๆ มีวัดสร้างเพิ่มขึ้นไม่กี่วัด แต่ว่ามีวัดร้างเพิ่มขึ้นมาก บ่งบอกว่าประชาชนจำนวนมากขึ้นก็จริง แต่ไม่มีการรวมเอาคนใจใส ๆ มาไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นแม้มีประชากรมาก ก็ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาไม่ค่อยจะได้ 


    หลวงพ่ออยากจะเห็นเหมือนกัน อยากเห็นคนไทยที่ไม่ต้องรู้จักกันหรอก แต่คิดจะทำบุญร่วมกัน ออกมาอยู่กลางถนนให้เต็ม แล้วก็สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรพร้อม ๆ กันทั้งแผ่นดินไทย คงเข้าท่าดีเหมือนกัน การที่คนเรามาสวดมนต์พร้อม ๆ กัน หรือมานั่งสมาธิพร้อม ๆ กันจำนวนมาก เป็นหมื่น เป็นแสน หรือเป็นล้านขึ้นไป อย่าว่าแต่มนุษย์เลย เทวดาก็ต้องหยุดฟังด้วย จะทำอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว เราไม่ควรกระมิดกระเมี้ยน ควรชักชวนกันมาให้เต็มที่ นั่นเป็นการประพฤติปฏิบัติของนักปราชญ์บัณฑิตหรือชาวพุทธ  


    ประการที่ ๓ เมื่อทำดีแล้วก็ปลื้มใจ ยิ่งได้นึกถึงก่อนนอนยิ่งดี  


    เวลาจะนึกถึงความดี ให้เราวางใจนิ่ง ๆ อยู่กลางกายจนกระทั่งคุ้น เมื่อคุ้นแล้วเดี๋ยวใจก็ใส พอใจใส บุญที่ทำเอาไว้เท่าไร ๆ จะค่อย ๆ ผุดขึ้นมาเอง ใครที่นึกถึงบุญไม่ค่อยจะออก ปลื้ม   ไม่ค่อยจะเป็น แสดงว่านั่งสมาธิน้อยไป ในขณะที่บางคนเขาฝึกมาดี ยังไม่ทันนั่ง ใจเขาก็ใสแล้ว คนที่ฝึกมาดีแล้วเขามีอยู่ ฉะนั้นในการนั่งสมาธิอย่าเอาปริมาณเวลาเป็นหลัก เอาว่าใจใสได้นานต่อเนื่องแล้วหรือยังเป็นหลัก ถ้าใจยังไม่ใสก็นั่งสมาธิต่อไป ฝึกให้คุ้นกับความใจใส 


    ประการที่ ๔ กล่าวเชิญชวนยกย่องสรรเสริญให้กำลังใจคนที่ทำความดี 


    ประการนี้ยิ่งสำคัญ ต้องหัดให้เป็นนิสัย ถ้าใครแม้ใจใสมาระดับหนึ่งแล้วเพราะทำดีมาตลอด แต่แค่การให้กำลังใจคน การให้เกียรติคนยังไม่สามารถทำได้ นั่นก็บ่งบอกว่าเรายังจัดระเบียบ    คำพูดไม่ค่อยลงตัว ที่จัดระเบียบคำพูดไม่ลงตัว ก็เพราะว่าระเบียบความคิดของเรายังไม่ลงตัว     ที่จัดระเบียบความคิดของเราไม่ลงตัว เพราะข้าวของในบ้านของเราก็ยังจัดไม่ลงตัว สาเหตุที่เรายังจัดของที่บ้านไม่ได้ เพราะบ้านสะอาดไม่พอ บางบ้านสะอาดพอ แต่ที่สะอาดเป็นฝีมือคนรับใช้ไม่ใช่ตัวเองทำ ถ้าตัวเองไปทำก็ทำได้ไม่สะอาดอย่างนั้น 


    การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถชวนคนไปทำความดี หรือใครทำความดีก็เชียร์เขาได้    เต็มที่ คนนั้นจะต้องผ่านการจัดระเบียบข้าวของที่บ้าน ผ่านการทำความสะอาดที่บ้านของตัวเองมาได้ดีทีเดียว ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ อาจจะดูว่าแปลก แต่ขอเชิญลองไปทำดูด้วยตัวเองแล้วจะเข้าใจเหตุกับผลนี้ได้เอง


    วันนี้ ในบ้านเมืองของเรานี้ คนที่มีความสามารถที่จะชี้ผิด ชี้ถูก ชี้ดี ชี้ชั่ว ได้ชัดเจน           หาได้ยาก อาจจะเป็นเพราะ 


    ๑) เขาอาจจะรู้แยกแยะดี-ชั่ว ผิด-ถูก แต่เขาไม่เคยชวนคนอื่น 


    ๒) เขาเคยชวนคนอื่น แต่ไม่เคยเชียร์ใครให้ทำความดี เพราะฉะนั้นก็เลยพากันนิ่ง เลยรวมคนดีไม่ค่อยจะได้ ต่างคนต่างอยู่ เมื่อต่างคนต่างอยู่ ประเทศชาติ พระศาสนาคงเดินหน้าไม่ได้ 


    ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการจะสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุขด้วยมือของเรา ต่อแต่นี้ไปตั้งใจฝึกตัวเองให้ใจใส ตั้งเป้าหมายต่อสังคมไว้ว่า หากเราไปอยู่ที่ไหนจะต้องรวมคนดีมีศีลมีธรรมไว้ให้เป็นปึกแผ่นในชุมชนในสังคมของเรา เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า โดยเริ่มจากตัวเราเองฝึกตัวเองให้ดีแล้วไปชักชวนคนอื่น เมื่อทำแล้วก็ปลื้ม ใจจะได้ฟู เมื่อใจฟูแล้วก็เกิดพลังใจพลังคำพูด คำสรรเสริญ ทั้งชวน-ชม-เชียร์คนทำความดีกันได้ถ้วนทั่วทุกหนแห่งที่เราไปอยู่อาศัย แล้วคนดี ๆ ก็จะรวมกลุ่มกันติด แล้วกลายเป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือข่าย เป็นสังคมที่ดีขึ้นมาได้       สำเร็จเอง   

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๕ เดือนกันยายน ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล