วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๒)

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

      ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๒)

ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๒),เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

การเดินทางของพระมหินทเถระสู่เกาะลังกา

       บทความเรื่องลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม ตอนที่ ๑ ได้กล่าวถึงลังกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีตกาลจวบจนปัจจุบัน ตำนานว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในพระคัมภีร์ทีปวงศ์และพระคัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งในบทความตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเยือนเกาะลังกาถึง ๓ ครั้งด้วยกัน ดังนี้ ครั้งที่ ๑ คือ เดือนที่ ๙ หลังพระบรมศาสดาตรัสรู้ธรรม ครั้งที่ ๒ คือ ปีที่ ๕ หลังพระองค์ทรงขับไล่อมนุษย์ออกจากเกาะลังกา และครั้งที่ ๓ คือ พรรษาที่ ๘ แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ สำหรับในตอนที่ ๒ นี้จะกล่าวถึง เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ เกาะลังกาหลังพุทธปรินิพพานที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ทั้ง ๒ ฉบับ

 

    สำหรับเนื้อหาตั้งแต่ภาณวาร (วาระแห่งการสวด) ที่ ๗ แห่งพระคัมภีร์มหาวงศ์ฉบับภาษาไทยของกรมศิลปากรระบุถึงเหตุการณ์สำคัญในชมพูทวีป ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างแห่งพุทธธรรมที่จะไปเจิดจ้า ณ ลังกาทวีป คือเมื่อพระเจ้าอโศกทรงเฉลิมฉลองพระวิหาร๘๔,๐๐๐ แห่ง และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการ สังคายนาครั้งที่ ๓ ก็ทรงเชื่อมั่นว่ามหาทานที่ทรงทำได้โดยยากดังกล่าว ทำให้พระองค์ทรงเป็นศาสนทายาทแล้ว แต่พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ กลับถวายพระพรว่า มหาบพิตรยังหาชื่อว่าเป็นทายาทในพระศาสนาไม่ เพราะทรงเป็นแต่เพียงผู้ถวายปัจจัยเท่านั้น ทว่าการจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนทายาทนั้น พระองค์จะต้องทรงอนุญาตให้พระราชโอรสหรือพระราชธิดาออกบรรพชา นี้เป็นเหตุให้พระมหินทกุมารราชโอรสและพระนางสังฆมิตตาพระราชธิดาทรงออกบรรพชาในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระราชบิดาสมพระราชหฤทัย ทั้ง ๒ พระองค์ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาของลังกาทวีปในกาลต่อมา

 

   ที่มา : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)., กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก, พิมพ์ครั้งที่ ๓. บริษัท มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน).


       พระมหินทเจ้าได้บรรพชาและศึกษาพระไตรปิฎก ในสำนักพระโมคคัลลีบุตรจนจบ พระสูตร ๕ นิกาย พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ พระวินัย ๒ วิภังค์ คัมภีร์ขันธกะและปริวารทั้งยังสำเร็จวิชชา ๓ และปฏิสัมภิทาญาณ ๔ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และต่อมาทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อพระราชบิดามีกระแสรับสั่งให้ส่งพระสมณทูต๙ สายออกเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ภายหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ เมือง ปาฏลีบุตรเสร็จสิ้น

      พระสมณทูตสายที่ ๙ มีพระมหินทเถระพร้อมคณะอีก ๕ รูป คือ พระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระภัททสาลเถระ พระสัมพลเถระ และสุมนสามเณร ออกเดินทางจากอโศการามไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ซึ่งขณะนั้นตรงกับสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช ครั้นเมื่อพระมหินทเถระได้แสดงพระธรรมเทศนา บุคคลเป็นอันมากได้เข้าถึงอมฤตธรรมและยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นในพระราชหฤทัยแห่งพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นล้นพ้น จึงทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกและทรงถวายมหาเมฆวัน อุทยานอันเป็นที่สัปปายะ มีความสงัดร่มรื่นแด่เหล่าบรรพชิต เพื่อสถาปนาเป็นอารามสงฆ์แห่งแรกของลังกาทวีป ชื่อว่า “วัดมหาวิหาร”

 

       ในคัมภีร์ทีปวงศ์กล่าวว่า เมื่อพระมหินทเถระได้ฟังพระราชดำรัสถวายอารามแห่งกษัตริย์ลังกาแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ทำให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะและไพร่ฟ้าประชาชน ณ ที่แห่งนั้นขนลุกขนพอง พระมหินทเถระได้กล่าวว่าเหตุอัศจรรย์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบอกถึงเหตุการณ์ในภายภาคหน้า ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปต่อไป พระราชาสดับถ้อยคำเช่นนั้นก็เกิดความปีติปราโมทย์ มหาชนต่างโบกสะบัดธง
และเปล่งเสียงโห่ร้องอื้ออึงด้วยความปลื้มปีติเป็นทับทวี พระมหินทเถระจึงกล่าวต่อไปว่าในกาลภายหน้าพระภิกษุทั้งหลายจะได้รวมตัว กันทำสังฆกรรม ณ ดินแดนแห่งนี้ ครั้นแล้วปฐพีก็สั่นไหวอีกเป็นครั้งที่ ๒ จากนั้นแผ่นดินก็สั่นสะเทือนขึ้นอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง

      นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้ประดิษฐานตั้งมั่นในลังกาทวีป นอกจากนี้พระมหินทเถระได้นำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่สืบทอดทรงจำกันมาในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาสู่ใจของชาวลังกา ทำให้มีกุลบุตรเป็นจำนวนมากสละชีวิตทางโลกออกบวชเป็นพระภิกษุใต้ร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา ไม่เพียงเท่านั้น พระนางอนุฬาเทวี พระชายาของพระกนิษฐภาดาแห่งพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ก็มีพระประสงค์จะออกบวช พร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนนับพัน พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อส่งพระราชสาสน์ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรีผู้เป็นพระราชธิดา และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป

 

       อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาคกล่าวไว้ว่า พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เมื่อพระนางสังฆมิตตาเถรีเดินทางมาถึงพร้อมด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ พระองค์เสด็จลุยน้ำ ไปประมาณเพียงพระศอเพื่อรับต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้วยพระองค์เอง ทรงยกต้นพระศรีมหาโพธิ์ขึ้นวางลงบนพระเศียร แล้วทรงอัญเชิญขึ้นสู่ฝั่งด้วยพระหฤทัยที่เลื่อมใส และทรงทำสักการบูชาอย่างยิ่งใหญ่อลังการ จากนั้นมีรับสั่งให้แห่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปท่ามกลางพระนคร แล้วทรงให้ประดิษฐานไว้ ณ ราชอุทยานมหาเมฆวัน

 

   ในส่วนของพระสังฆมิตตาเถรีได้เป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาอุปสมบทแก่สตรีทั้งหลายที่มีจิตตั้งมั่นในพระรัตนตรัย และได้ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา ต่อมาภิกษุณีจำนวนมากบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน ดังนั้นในรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พระพุทธศาสนาในเกาะลังกามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง มีภิกษุและภิกษุณีจำนวนหลายหมื่นบรรลุธรรม ทั้งนี้ก็ด้วยพระราชหฤทัยที่เลื่อมใสของพระราชาผู้ปกครองประเทศ ที่ทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า พระองค์ไม่เพียงแต่จะทรงทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเท่านั้น แต่มีพระประสงค์อันแน่วแน่ที่จะทำให้รากเหง้าแห่งพระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกในอาณาจักรของพระองค์ ดังที่พระมหาเถระกล่าวกับพระองค์ว่า “พระศาสนาตั้งมั่นแล้ว แต่ว่ารากเหง้าแห่งพระศาสนานั้นยังไม่หยั่งลงก่อน ในกาลใด ที่มีผู้ออกบวชศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อนั้นได้ชื่อว่ารากเหง้าแห่งพระศาสนาเป็นอันหยั่งลงแล้ว”

      สำหรับความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาตอนต่อไป จะกล่าวถึงการเปลี่ยนรูปแบบการสืบทอดพระธรรมคำสอน หลังรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ จากแบบมุขปาฐะมาเป็นการจารจารึก พระไตรปิฎกลงบนแผ่นใบลาน ซึ่งเป็นแม่แบบธรรมเนียมการสืบทอดพระสัทธรรมที่ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท ใช้เพื่อสืบทอดมรดกธรรมต่อมาอีกหลายพันปี

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๗ เดือนกันยายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล