วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔๘)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๔๘)

เรื่องราวของ “ธรรมกาย” ที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา

       ในช่วงที่ผ่านมา คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้รับเชิญจากท่านเจ้าคุณ พระชยานันทมุนี (ธรรมวัตร จรณธมฺโม), ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ให้ไปร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๓ และระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๑๑-๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สืบเนื่องจากทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยสงฆ์นครน่านฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ โดยเฉพาะเริ่มที่จังหวัดน่านและอาณาจักรล้านนา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน นับว่าท่านเจ้าคุณฯ เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ ทรงภูมิธรรม และมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการทำงาน จึงทำให้ภารกิจในการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ การพัฒนาองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการพัฒนาวิทยาลัยสงฆ์นครน่านฯ มีความเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง

 

พระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง (คำเมือง : )
วัดพระธาตุแช่แห้ง หมู่ ๓ บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

(Picture source : https://www.thailandscanme.com/nan002--Wat-Phra-That-Chae-Haeng)


     ซึ่งในการนี้ทางสถาบันวิจัยฯ (DIRI) ได้ถวายเครื่องถ่ายภาพคัมภีร์ระบบดิจิทัล (Digitization) ให้แก่วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและการอนุรักษ์ฯ ในภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญก็เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา รวมทั้งในนครน่าน และเพื่อให้การศึกษาเล่าเรียน “อักษรตั๋วเมือง” ยังคงดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย

        เมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์มรดกทางพระพุทธศาสนาในล้านนานั้น ความสำคัญอาจมิได้มีเพียงการอนุรักษ์วัด อนุรักษ์สิ่งที่เป็นศิลปกรรม สถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา หรือวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ฯลฯ เท่านั้น หากแต่เพราะอาณาจักรล้านนาที่สืบเนื่องมาแต่อดีตนั้นยังเคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดตั้งแต่ในยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราชมาแล้ว (ประมาณราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑) เป็นยุคของการกระทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งสำคัญอันถือเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๘ ของโลก ณ วัดเจ็ดยอด (วัดโพธาราม) ซึ่งการสังคายนาที่วัดเจ็ดยอดนี้ถือว่าเป็น “ต้นธาร” ของการเกิดพระไตรปิฎกฉบับที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะสงฆ์ในนิกายต่าง ๆ ของล้านนาและอาณาจักรเพื่อนบ้านโดยรอบ เช่น ล้านช้าง เชียงตุง เชียงรุ้ง เป็นต้น1

 

วัดโพธารามมหาวิหาร พระอารามหลวง เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ (เดิมชื่อวัดเจ็ดยอด)
ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๑๙๙๘
พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างมหาวิหารเจ็ดยอด (เจดีย์เจ็ดยอด)
ด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น จำลองมหาวิหารพุทธคยา ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐
วัดโพธารามมหาวิหารเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก

(Picture source : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/ info/attraction/detail/itemid/5164)


       ร่องรอยความเจริญของประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในล้านนายังมีให้เราเห็นอีกมากมาย ไม่เพียงแต่ในยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราชเท่านั้น หากแต่บรรดาบูรพกษัตริย์แห่งล้านนาหลายพระองค์ หลายยุคหลายสมัย ได้ทรงวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งที่จะใฝ่หาพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกมาประดิษฐานพระพุทธศาสนา และปฏิรูปการพระศาสนาให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป พระพุทธศาสนาจึงเป็นสถาบันเดียวที่ให้ความรู้แก่พลเมือง ในยุคนั้น วัดและพระสงฆ์เป็นแหล่งความรู้เกือบทุกแขนง โดยช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนานั้น คือตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔) ถึงสิ้นรัชกาลพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๖๘)2 ดังปรากฏว่า มีพระนักปราชญ์ชาวล้านนาได้แสดงความเชี่ยวชาญในภาษาบาลี โดยนิพนธ์วรรณกรรมภาษาบาลีไว้มากมายกว่าอาณาจักรใด ๆ ในโลกพุทธศาสนายุคเดียวกัน ผลงานของพระสงฆ์ผู้สุปฏิปันโนเหล่านั้นได้แพร่หลายไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนประเทศทางตะวันตก โดยที่บางเรื่องทางคณะสงฆ์ไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนภาษาบาลีด้วย

 

Extent of Lan Na's zone of influence (mid-blue), c. 1540.
(Nicolas Eynaud - Own work; based on David K. Wyatt (2004), Thailand: A Short
History, 2nd ed. Silkworm Books, Chiang Mai, p. 75 and Cornell
Southeast Asia Program map Ayudhya Empire 1540.)


       ดังนั้น หากจะกล่าวไปแล้ว ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกหนึ่งตัว ที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาในท้องถิ่นเหนือหรือล้านนามีความเจริญอย่างยิ่งด้วยก็คือ การรวบรวมไว้ซึ่ง “วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่แต่งไว้ดีแล้ว” ซึ่งเมื่อเราได้เห็นและได้ศึกษาลงไปในรายละเอียดมากขึ้นแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนานั้น ยังมีเรื่องราวและรายละเอียดอันเป็น “เพชรแห่งวรรณกรรม” มีอยู่อีกมากมาย อาทิ ๑) สิหิงคนิทาน (หรือประวัติพระพุทธสิหิงค์) ๒) สมันตปาสาทิกา อัตถโยชนา คู่มืออธิบายความหมายของศัพท์ คำ ประโยค และข้อความในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎกซึ่งแต่งโดย พระพุทธโฆษาจารย์) ๓) ภิกขุปาฏิโมกขคัณฐีทีปนี คู่มืออธิบายความหมายของศัพท์ คำ ประโยค และข้อความยากในภิกขุปาฏิโมกข์ ๔) สีมาสังกรวินิจฉัย เรื่องการพิจารณาวินิจฉัยการคาบเกี่ยวกันแห่งสีมา คือเขตแดนที่กำหนดเครื่องหมายแห่งพระอุโบสถ สถานที่ประกอบสังฆกรรมของคณะสงฆ์ ๕) ชุดการอธิบายความเรื่องพระอภิธรรม เช่น อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา คู่มือหรือคัมภีร์อธิบายคัมภีร์อัฏฐสาลินี (ซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์) ธาตุกถา อัฏฐโยชนา ปุคคลบัญญัติ อัฏฐโยชนา กถาวัตถุ อัฏฐโยชนายมก อัฏฐโยชนา และมูลกัจจายนอัตถโยชนา คู่มืออธิบายไวยากรณ์บาลี ซึ่งแต่งขึ้นในราวปีพุทธศักราช ๒๐๕๗ เป็นต้น3

      นอกจากนี้ ยังมีวรรณกรรมชุดที่ในวงการพระพุทธศาสนารู้จักเป็นอย่างดีอีกหลากหลายเรื่อง เช่น จักกวาฬทีปนี มังคลัตถทีปนี คัมภีร์อธิบายเรื่องมงคล ๓๘ ประการ (แต่งโดย พระสิริมังคลาจารย์) ชินกาลมาลี พงศาวดารหรือประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาวชิรสารัตถสังคหะ คัมภีร์ซึ่งประมวลที่มาของธรรมะที่สำคัญจากคาถาต่าง ๆ แต่ง พ.ศ. ๒๐๗๘ (แต่งโดย พระรัตนปัญญาเถระ ชาวเชียงราย) ปฐมสมโพธิกถา ประวัติพระพุทธเจ้าฉบับพิสดาร แต่งโดย พระสุวัณณรังสีเถระ ชาวเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้เอง ที่เป็นประดุจเพชรแห่งวรรณกรรมอันได้สอดแทรกเป้าหมายแห่งการปฏิบัติเพื่อไปสู่จุดสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาไว้ 

 

คัมภีร์มงคลทีปนี (แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์)
(Picture source : https://www.matichonweekly.com/column/article_70177)

 

    แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ เมื่อผู้เขียนได้ศึกษามาถึงเรื่องของวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนายิ่งขึ้นแล้ว ทำให้ได้มาพบเอกสารสำคัญอยู่ฉบับหนึ่ง เป็นเอกสารงานวิจัยที่ชื่อว่า “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องพุทธ ในเอกสารล้านนา” ของอาจารย์บำเพ็ญ ระวิน ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มอยู่ในงานวิจัยเรื่อง “วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา” (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย : สกว.) สิ่งที่อาจารย์บำเพ็ญ ระวิน เรียบเรียงไว้นั้น มีความน่าสนใจมากตรงที่ท่านได้พยายามอธิบายความสำคัญของพระรัตนตรัย โดยแยกรายละเอียดทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ออกโดยพิสดาร คือให้เห็นรายละเอียด และมีการตีความให้เห็นที่มา-สาระสำคัญ และมีการยกกรณีศึกษาที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกออกมาแจกแจงให้เห็นอย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างในหัวข้อเรื่อง “อนิวัตตจริยา” (ว่าด้วยจริยา หรือความประพฤติที่มุ่งไปสู่ความเป็นพุทธภาวะ) เพียงหัวข้อนี้หัวข้อเดียว อ.บำเพ็ญก็ได้พยายามอธิบายให้เราเห็นถึงความสำคัญของจริยาดังกล่าว ซึ่ง “พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์” ต่างยึดถืออย่างเต็มที่ มีการเทียบเคียงจริยาของพระโพธิสัตว์หลายท่าน (ซึ่งภายหลังได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว) อย่างน่าสนใจ โดยในระหว่างนั้นได้กล่าวถึงว่า วรรณกรรมฉบับใดบ้างที่ได้อภิปรายเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์องค์ต่าง ๆ ไว้ มีประเด็นของการเปรียบเทียบไว้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นการวิเคราะห์ในหัวข้อนี้ (อนิวัตตจริยา) ดูจะมีความสอดคล้องกับเรื่องราวในโพธิสัตวสูตรอยู่พอสมควร

        อย่างไรก็ตาม อาจารย์บำเพ็ญ ยังได้อธิบายถึงเรื่องของ “พุทธภาวะ” ในพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเราไว้ด้วย โดยอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า คำว่า “พุทโธ” นี้มิได้หมายถึงพระพุทธเจ้าองค์อื่น (เอตรหิ) “...เป็นคำย้ำถึงการยอมรับปัจจุบัน” เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ที่ได้สั่งสมบ่มบารมี มีพุทธการกธรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และในแง่สภาวธรรม หมายถึง ความจริง ตรง แท้ หรือความสะอาด สว่าง สงบ ที่มีอยู่ในสันดานของผู้ที่มีปณิธานฯ (คือบรรลุความเป็นพุทธะ) คำคำนี้ (คือพุทโธ) บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ และการมีสภาวสัจจะตามธรรมชาติ ความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างแนบแน่น ซึ่งแยกอย่างหยาบได้เป็น สรีรมังสกาย (คือกายเนื้อ) และ ธรรมกาย หมายถึงกายที่เป็นปรมัตถสัจจะ (ความจริงแท้) ของโลกและชีวิต คำว่า “ธรรมกาย” ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทปรากฏในอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ซึ่งในพระสูตรที่ท่านอ้างถึงนั้น ขนานนามพระอริยสงฆ์ด้วยคำว่า “ธมฺมโช” เกิดแต่ธรรม “ธมฺมนิมฺมิโต” ถูกพระธรรมเนรมิตขึ้นมา “ธมฺมทายาโท” เป็นผู้สืบทอดธรรม “ธมฺมกาโย” เป็นกายแห่งพระธรรม “ธมฺมภูโต” กายที่เกิดแต่ธรรม”

 

หนังสือปฐมสมโพธิ สำนวนล้านนา
แต่งโดยอาจารย์บำเพ็ญ ระวิน

(Picture source : https://www.moomnangsue.com/product/11338)

 

        ผู้เขียนได้ศึกษาและสรุปสาระสำคัญที่ผู้วิจัย คือ อ.บำเพ็ญได้พยายามชี้ให้เห็นว่า คติแนวความเชื่อในพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะในดินแดนล้านนานั้น ได้ให้ความสำคัญในเชิงคุณค่าการบำเพ็ญบารมีและความเป็น “พุทธะ” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง โดยมีความเชื่อว่า การบำเพ็ญบารมีจนเต็มเปี่ยมของบุคคลผู้ปรารถนาความเป็นพุทธะนั้น เมื่อสำเร็จบริบูรณ์แล้ว สภาวะความเป็นพุทธะก็จะรวมอยู่ในบุคคลผู้นั้น เรียกว่า “พุทโธ” โดยที่ในภัททกัปนี้พระโพธิสัตว์สิทธัตถะก็คือตัวแทนของ “พุทธะ” ในช่วงเวลา (ปัจจุบัน) นี้ ทั้งนี้ จากการศึกษาของ อ.บำเพ็ญ ทำให้ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการที่ท่านบ่งชี้ คำว่า พุทธ ไม่ได้บังเกิดขึ้นพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ หากเกิดหลังจากที่พระองค์ได้เข้าถึงสัจจะของโลกและชีวิตอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว คือการเกิดใหม่ที่มีพระธรรมสรรค์สร้างขึ้นมา กลายเป็น ธรรมกาย เป็นกายอีกกายหนึ่งที่มีอยู่ในกายที่เป็นเนื้อหนัง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยที่ว่าการบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นการขึ้นเกิดขึ้นใหม่ภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

       การมีคติเรื่องของ “พุทธะ” ในตนที่เต็มบริบูรณ์นี้ หากมองอย่างผิวเผินแล้ว อาจเข้าใจว่าเป็นการให้คุณค่าเกี่ยวกับการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการให้คุณค่าในเรื่องสำคัญอีก ๒ เรื่องไปพร้อมกันคือ ๑) คุณค่าในเรื่องเวลาของการเป็น “พุทธะ” และ ๒) คุณค่าในเรื่องความยั่งยืนของ “ธรรมกาย” ทั้งนี้เพราะจากงานวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยได้สรุปให้เราเห็นมาโดยตลอดว่า ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นจะดำรงอยู่เพียงสมัยหนึ่ง เช่น ที่ระบุว่า “ชาวพุทธจะเชื่อกันตามประเพณีสืบทอดกันมาว่า (ศาสนาของพระพุทธองค์) จะทรงอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปี ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใบลานล้านนาในตอนท้ายเกือบทุกผูก แต่หากพุทธศาสนิกชนใดปรารถนาความสุข ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอนาคต ก็สามารถเตรียมตนสั่งสมคุณความดี และตั้งความปรารถนาที่จะไปเกิดในยุคสมัยของพระศรีอริยเมตไตรยได้” นั่นก็สอดรับกับข้อสรุปของผู้วิจัยในตอนท้ายว่า การมีคติความเชื่อดังกล่าวนี้ “เท่ากับเป็นนัยให้เห็นมโนสำนึกที่ยอมรับพุทธภาวะว่าเป็นนิรันดร ทั้งนี้จะต้องมีบุคคลผู้เสาะหาอย่างจริงจัง”

 

ภาพตัวอย่างคัมภีร์โบราณอักษรล้านนา
(Picture source: https://board.postjungcom/961301)


       จากการที่ผู้เขียนและคณะได้ศึกษางานวิจัยที่ชื่อว่า “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องพุทธ ในเอกสารล้านนา” ของอาจารย์บำเพ็ญ ระวิน ข้างต้นนี้ รู้สึกได้ว่างานวิจัยฉบับนี้ได้ช่วยจุดประกายให้เรา (คณะทำงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย: DIRI) มีความเชื่อมั่นมากขึ้นอีกว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่ด้วยความวิริยอุตสาหะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สูญเปล่าอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยที่ผู้เขียนได้นำมาอ้างอิงนี้เท่ากับเป็นบุคคลที่สาม ซึ่งมิได้เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน อีกทั้งสิ่งที่ท่านได้ศึกษามานี้ก็เป็นการวิเคราะห์โดยตัวของท่านเองตามหลักวิชาการ แต่ก็มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่สถาบันวิจัยฯ (DIRI) ได้ค้นพบหลักฐานฯ ซึ่งตรงกับที่ผู้เขียนและคณะฯ ได้เคยนำเสนอในฉบับก่อนหน้าไปแล้วว่า หลักฐานด้านคัมภีร์โบราณในภาคเหนือนั้นยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นอันมาก (เช่น ที่วัดป่าเหมือด อ.ปัว จ.น่าน หรือที่วัดศรีมงคล จ.น่าน)4 และในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ทีมงานก็ได้พบกับหลักฐานสำคัญเพิ่มอีกในอาณาจักรล้านนา ที่ชี้ว่า “พระธรรมกาย” เป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคเก่าก่อนรู้จักคุ้นเคย เป็นสิ่งที่พุทธบริษัทตั้งแต่ภิกษุ-สามเณร-อุบาสก-อุบาสิกาในสมัยบรรพชนของเรานั้นให้การเคารพเทิดทูนและนำามาปฏิบัติจริง ซึ่งผู้เขียนและคณะนักวิจัยฯ (DIRI) จะเข้าไปศึกษาทำการวิจัยในแหล่งดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิ ดังจะได้นำความคืบหน้ามาเสนอในฉบับต่อไป

 

 

------------------------------------
1 สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา, (กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์เมืองโบราณ), ๒๕๖๑, หน้า ๕๑-๕๒.

2 อาณาจักรล้านนาได้รับพระพุทธศาสนาเข้ามาครั้งสำคัญๆ ๓ ครั้ง ๓ สาย คือ ๑) พระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีอยู่เดิมตั้งแต่อาณาจักรหริภุญชัยนำเข้ามาโดยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ๒) พระพุทธศาสนาเถรวาท นิกายรามัญ (สายสวนดอก) หรือสายพระสุมนเถระ ซึ่งเป็นศิษย์พระสวามีอุทุมพร ซึ่งเป็นพระมอญ พระสุมนเถระรับนิมนต์ของพญากือนาเข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในล้านนา เป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ส่งผ่านจากศรีลังกามาทางมอญในประเทศพม่า สายเดียวกับที่เผยแผ่ในสุโขทัยสมัยพระเจ้าไสยลือไทเวลานั้น ๓) พระพุทธศาสนาเถรวาท ลังกาวงศ์ (สายวัดป่าแดง) ซึ่งมีพระมหาญาณคัมภีร์ชาวเชียงใหม่เป็นผู้ไปสืบศาสนาถึงเกาะลังกา ในสมัยพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๔๔)

3 เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาล้านนา” ในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “พระพุทธศาสนาในล้านนา” โดยคณะศาสนาและปรัชญา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ณ ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคารไทยพาณิชย์ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

4 ดูรายละเอียดในคอลัมน์ “หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ”, วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๕ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ หน้า ๔๒-๔๗.
-------------------------------------

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล