วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มาฆบูชา พุทธปฏิญญาเพื่อหน้าที่ผู้นำบุญ

มาฆบูชา พุทธปฏิญญาเพื่อหน้าที่ผู้นำบุญ
เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาหลวงพ่อธัมมชโย
 


      วันนี้ เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก ของพระพุทธศาสนา และของพวกเราทุกๆ คน

         เราได้มาประชุมรวมกัน เพื่อมาระลึก ย้อนถึงวันประวัติศาสตร์เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีโน้น ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ท่านได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ ให้พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่พระองค์ได้ประทานการบวชให้ และพระอรหันต์ ขีณาสพแต่ละองค์ก็มาพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย ต่างก็รู้กันด้วยใจที่สะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ผู้หมดกิเลสทรงอภิญญา

        ในการประชุมสันนิบาตครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้หลักการ วิธีการ และ แนวทางการปฏิบัติ เพื่อไปทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา หมุนธรรมจักร กงล้อแห่งธรรม ไปแนะนำให้ชาวโลกทั้งหลาย ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เพื่อให้โลกบังเกิดสันติสุขที่แท้จริง

       เพราะฉะนั้นในวันนี้ เราจะมาตามระลึก นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และระลึกถึงคำสอนของพระองค์ท่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีพระคุณอย่างไม่มีประมาณ อปฺปมาโนพุทฺโธ แปลว่า พระคุณของพระพุทธเจ้าน่ะไม่มีประมาณ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัพพัญญู  รู้หมดทุกอย่าง ก็ยังไม่อาจที่จะพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วยกันเองให้หมดสิ้นไปได้

      การที่เรามาตามระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่หรือว่าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว บุญกุศลอันไม่มีประมาณก็จะบังเกิดขึ้นกับเราเช่นเดียวกัน ซึ่งในวาระนี้ แม้พระองค์ท่านได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๔๖ ปี แต่เราก็มีความเคารพเลื่อมใส ได้สอดส่อง ใจระลึกนึกถึงพระองค์ท่าน และก็จะได้พร้อมใจกันมาจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา มหากุศล ในครงนี้น่ะก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา

       ดังนั้น ตอนนี้เราจะมาทบทวนถึงคำสอนของพระองค์ท่าน คือ โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจ ที่เมื่อเราปฏบัติตามจะสามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้กระทั่งได้บรรลุมรรคนพพาน พระพุทธองค์ได้ทรง กล่าวเป็นหลักการเอาไว้ว่า ขฺนตี ปรมํ ตโบ ตีติกฺขา ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง นิพพานํ ปรมํ วทนฺตี พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม นหิ ปพฺพชโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหจยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย เอตํ พุทธานํ สาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั่งหลาย

      พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราน่ะอดทนในการฝึกฝนอบรมใจให้หยุด เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เพราะพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ทรงสรรเสรญพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม ซึ่งการที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะหยุด เป็นตัวสำเรจ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงพระนิพพาน โดยผ่านการเข้าถึงพุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะภายใน ยิ่งถ้าเราไม่เบียดเบียนใคร มีจิตประกอบไปด้วยเมตตา ใจก็จะยิ่งละเอียดได้ เข้าพระรัตนตรัยภายในได้ง่ายเข้า

       แล้วพระองค์ก็ทรงให้วิธีการในการไปทำหน้าที่ผู้นำบุญว่า ต้องไปเป็นแสงสว่างแก่ชาวโลก อย่างน้อยก็แนะนำให้ชาวโลกได้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องหมองกับใส โดยให้ละบาปอกุศลทั้งหมด แล้วก็ให้ตั้งใจสร้างกุศลความดี ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วนี้เป็นหลักวิชชาที่สำคัญที่จะต้องนำไปเผยแผ่ขยายความรู้ บอกหนทางสวรรค์ พระนิพพานให้กับชาวโลก พร้อมกับไปแนะแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องโดยให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ให้เข้าไปว่าร้ายใคร ไม่ให้ทำร้ายใคร ให้สำรวมในศีล รู้จักประมาณในการบริโภค ให้อยู่ในเสนาสนะ สถานที่อันสงัด และก็หมั่นประกอบความเพียร ในอรจิต จิตอันยิ่งที่ก่อให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ จะได้หลุดพ้นจากทุกข์ใปสู่อายตนนิพพาน

         หลักธรรมโอวาทปาติโมกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการกล่าวโดยสรุป เพื่อให้ไปปฏิบัติ และก็ไปแนะนำมวลมนุษยชาติให้ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย จะได้ปิดประตูอบายภูมิ เปิดประตูสวรรค์และพระนิพพาน เราเป็นชาวพุทธ ต้องปฏิบัติให้ไต้ตามหลักคำสอนนี้ จึงจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นพึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา แล้วก็จะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นพุทธสาวก เป็นพุทธสาวิกา ผู้ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นหลักชัยของชาวโลก

      ถ้าเราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัวของเรา จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ด้วยการอบรม ใจให้หยุดนิ่ง อย่างถูกหลักวิชชา ถ้าได้ดวงใสๆ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็จะเป็น ประดุจศรชี้หนทางไปสู่อายตนนิพพาน แสดงว่าเราได้เดินมาถูกทางแล้ว ถูกพุทธประสงค์ ที่เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

 

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ 
(ภาคค่ำ)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล