วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มหารัตนวิหารคด รอบมหาธรรมกายเจดีย์ รวมพุทธบริษัท ๔ ทั่วโลก ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดย : วรวรรณ ถนอมพงษ์

 

เรื่องจากปก : วรวรรณ ถนอมพงษ์

               าพมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ใกล้จะบังเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกยุค "กึ่งพุทธกาล" ที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาบำเพ็ญบุญกับ "พุทธบุตรเนื้อนาบุญ" ทีละแสนองค์ สองแสนองค์ สามแสนองค์ เป็นจริงในยุคนี้ และเมื่อ "มหารัตนวิหารคด รอบมหาธรรมกายเจดีย์" แล้วเสร็จสมบูรณ์ ในวันนั้นพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั่วโลก มาทำความดีร่วมกันนับล้าน แค่เพียงนึกถึงภาพประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่จะบังเกิดขึ้น ความปลื้มปีติขนลุกชูชันบังเกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งหากภาพแห่งความดีบังเกิดขึ้นเป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ จะนำความปลื้มปีติให้กับ พุทธบริษัท ๔ จากทั่วโลกได้มากมายมหาศาลเพียงใดหนอ...

               ด้วยดำริของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ที่จะ "ให้เกิดความสามัคคีของสงฆ์ทั่วประเทศและทั่วโลก" ในการประกอบกิจกรรมสงฆ์ร่วมกัน ทั้งยังเป็นที่รวมพุทธบริษัท ๔ ได้ทั่วโลกอีกด้วย เพื่อให้พุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเริ่มจากการรวมตัวของพุทธศาสนิกชนก่อน จากนั้นทุกชาติ ศาสนามาร่วมกันสร้างสันติภาพให้กับชาวโลก เพื่อให้ทุกคนในโลกอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขที่แท้จริง

               ในส่วนของโครงสร้างมหารัตนวิหารคดนั้น มี ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นระดับเดียวกัน ส่วนชั้นบนได้แบ่งเป็นระดับขั้น เหมือนขั้นบันได ๙ ขั้น และมีหลังคาคลุม คล้ายกับอัฒจันทร์ที่ใช้ดูกีฬา ส่วนบริเวณด้านมุมทั้ง ๔ ด้านของมหารัตนวิหารคด มีห้องน้ำให้บริการกว่า ๑๐,๐๐๐ ห้อง

               โครงการมหารัตนวิหารคดเป็นโครงการแรกของวัด ที่มีบริษัทผู้รับเหมาระดับแนวหน้าของประเทศถึง ๒ บริษัทร่วมทำงานชิ้นเดียวกัน โดยบริษัท นันทวัน (Thai Obayashi) จำกัด รับเหมาก่อสร้าง โครงการมหารัตนวิหารคด ด้านทิศตะวันออก บริษัท ฤทธาเหมราช จำกัด รับเหมาก่อสร้าง โครงการมหารัตนวิหารคด ด้านทิศตะวันตก เป็นโครงการที่ใหญ่มาก จึงสามารถแบ่งโครงงานให้บริษัทระดับใหญ่ได้ถึง ๒ บริษัท นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นเทคโนโลยีที่นำระบบ Table Form (ไม้แบบ) เพื่อการก่อสร้างมาจากประเทศแคนาดา คือระบบ อะลูม่า ซิสเต็ม (Aluma System) ซึ่งจะช่วยให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิม มากกว่า ๕๐% ถ้าใช้ระบบไม้แบบเพื่อการก่อสร้างทั่วๆ ไป งานก่อสร้างมหารัตนวิหารคดต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี แต่เมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ จะสามารถสร้างเสร็จได้ในเวลาเพียง ๑ ปีครึ่ง

               ในส่วนของความคืบหน้าการก่อสร้าง มหารัตนวิหารคด รอบมหาธรรมกายเจดีย์ ต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องราวจากผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ เพื่อที่จะถ่ายทอดการก่อสร้างมหารัตนวิหารคดได้ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากที่สุด



คุณอนันต์ อัศวโภคิน
ประธานโครงการก่อสร้าง มหารัตนวิหารคด

              "ตอนนี้โครงการเสร็จไปประมาณ ๔๐% แล้ว เราหวังว่าประมาณสิ้นปี อาจจะมีโอกาส ได้ใช้ครึ่งหนึ่งของวิหารคดครับ

               คาดว่าประมาณปีหน้าจะเสร็จสมบูรณ์ ๑๐๐% ครับ มหารัตนวิหารคดจะมี ๒ ส่วน ชั้นล่างกับชั้นบน แต่ละชั้นประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ๑ ตารางเมตรก็จะนั่งได้ ๑ คน ๓๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ๒ ชั้น เท่ากับ ๖๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร เรามีพื้นที่ที่ลานธรรมอีกประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร เมื่อเสร็จแล้ว มหารัตนวิหารคด กับลานธรรมทั้งหมด จะสามารถจุคนได้ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน อาจจะมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน มีเศษจากล้านมานิดหน่อยครับ"
 



คุณบัณฑิต เกษรมาลา
ผู้บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง มหารัตนวิหารคด
บริษัท เคซีเอส&แอสโซซิเอท จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาโครงการ)

               "การก่อสร้างสมัยใหม่ที่ใช้กันขณะนี้เป็นแบบ "คอนกรีตอัดแรง" ซึ่งสามารถลดต้นทุนหรือจำนวนเหล็กเส้นในการก่อสร้างได้ ยกตัวอย่างเช่น เสาต้นหนึ่งปกติจะใช้เหล็ก ๕ เส้น เมื่อใช้เทคนิคนี้จะใช้เพียง ๓ เส้นเท่านั้น แต่การก่อสร้างแบบนี้มีข้อจำกัด คือ เมื่อวันเวลาผ่านไปเป็นร้อยปี เหล็กเส้นนั้นอาจเกิดการคลายตัว และเสื่อมคุณภาพได้ ทำให้รองรับตัวอาคารได้ไม่ดี

               เพราะฉะนั้น ลักษณะโครงสร้างที่เราเลือกใช้ จึงเป็นแบบ "คอนกรีตเสริมเหล็กแบบมาตรฐาน" ซึ่งเทปูนกันในพื้นที่ก่อสร้างเลย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของเนื้อคอนกรีต แล้วเราก็มีการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่คุณภาพวัสดุคอนกรีต เรื่องของเหล็กเส้น ความสะอาดก่อนเท แม้แต่ในขณะที่เรากำลังจะเทคอนกรีต เราจะจี้คอนกรีต ให้เนื้อคอนกรีตแน่น ไม่ให้เป็นโพรง ไม่ให้มี ฟองอากาศครับ

               การที่เราได้คอนกรีตที่ "ไม่มีฟองอากาศ" เนื้อจะแน่น จะไม่มีความชื้นไปทำให้เหล็กเป็นสนิม ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างเหล่านี้อยู่ได้เป็น ๑,๐๐๐ ปี ส่วนผู้รับผิดชอบฝ่ายต่างๆ และ คนงานก่อสร้าง 'มหารัตนวิหารคด' ขณะนี้มีทั้งหมดเกือบ ๓,๐๐๐ คนครับ"


               "เราควบคุมคุณภาพตั้งแต่การใช้คอนกรีต เหล็กเส้น ส่วนเหล็กเส้นของเราได้มาตรฐาน มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) โดยสุ่มนำไปทดสอบ ทุกอย่าง เรามีการตรวจสอบ มีการดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

คุณชาญฤทธิ์ พรโชคพิพัฒน์
ผู้จัดการโครงการ มหารัตนวิหารคด
บริษัท เคซีเอส&แอสโซซิเอท จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาโครงการ)


               แม้งานจะเร่งอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องควบคุมคุณภาพของโครงการให้ออกมาดี เราไม่เร่งรัดจนไม่คำนึงถึงคุณภาพครับ รับประกันได้ว่า คุณภาพที่ออกมาของโครงการจะได้มาตรฐานสากล เพื่อโครงการจะได้อยู่เป็น ๑,๐๐๐ ปี
ปีติยินดีครับที่เป็นคนหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่นี้ แล้วก็ได้ดำเนินการตามหน้าที่ ตามหลักการวิศวกรรมทุกอย่าง แถมยังได้บุญอีกต่างหาก รู้สึกดีใจมากครับ"


 

คุณพรชัย สิทธิยากรณ์
ผู้จัดการโครงการ มหารัตนวิหารคด ด้านทิศตะวันออก
บริษัท นันทวัน (Thai Obayashi) จำกัด

               "อาคารแบ่งเป็น ๒ ชั้น มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็กทั้งหมด 


              พื้นชั้นที่ ๑ เป็นระดับเดียวกัน ในขณะที่ ชั้นที่ ๒ เป็นเหมือนสเตเดียม (Stadium)
 

               เป็นสเต็บ (Step) พื้นที่ชั้น ๒ ก็จะเป็นพื้นหลังคา หลังคาก็จะเป็นสเต็บ (Step) จาก ๑๐ เมตรลงมา ๙ เมตร ลงมา ๘ เมตร ลงมา ๗ เมตร ลงมา ๖ เมตร ซึ่งชั้น ๒ ก็จะเป็นที่นั่งได้ด้วย เปอร์เซ็นต์ผลงานทั้งหมดก็ก้าวหน้าไปด้วยดีครับ
 

               ปัจจุบันทุกส่วนงานก็ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง ด้วยความสามารถทุกอย่าง ทุ่มเททุกอย่าง ไม่ว่าจะพลังความคิด พลังร่างกาย พลังสมอง ก็เพื่อให้งานสำเร็จ สมกับที่เราได้รับมอบหมายมา

               อยากให้ทางผู้มีอุปการคุณ ลูกพระราชฯ ก็ขอให้ช่วยกันให้โครงการนี้สำเร็จสมดังที่ตั้งใจไว้ครับ"
 

 


คุณสมยศ วงษ์ทองสาลี
ผู้จัดการโครงการ มหารัตนวิหารคด ด้านทิศตะวันตก
บริษัท ฤทธาเหมราช จำกัด

               "ระบบ Table form หรือ "ไม้แบบ" เพื่อจะก่อสร้างพื้นชั้นที่ ๒ ของโครงการนี้ เราเรียกว่าระบบอะลูม่า ซิสเต็ม โดยเราเช่ามาจากประเทศแคนาดา ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานพื้นที่ ชั้น ๒ ได้รวดเร็วกว่าใช้ระบบ "ไม้แบบธรรมดา" ที่ใช้ทั่วไปกับงานก่อสร้างในเมืองไทย ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้อะลูมิเนียม เป็นโครงสร้างหลัก ทำให้มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง สามารถเข็น เคลื่อนย้ายได้สะดวก

               ในทางปฏิบัติก็คือ หลังจากที่เราเทปูน ครั้งแรกแล้ว จะมีการซับพอร์ตถ่ายน้ำหนักลงพื้นชั้นล่าง เมื่อเทพื้นชั้นบนเสร็จ ก็จะยก ซับพอร์ตขึ้น เอาล้อลง ใช้คนเข็นประมาณ ๕ คน เพื่อเทคอนกรีตในพื้นที่อื่นต่อไป


               หลังจากที่ก่อสร้างเสร็จ ด้านล่างจะเป็น "พื้นคอนกรีตขัดมัน" ด้านบนก็เช่นเดียวกัน โดยจะมีการตีเส้นแบ่ง เพื่อเป็นที่นั่งของสาธุชนกว้าง ๑.๐๘ เมตร X ๑.๐๘ เมตร

               ตั้งแต่ได้เข้ามาทำงานในวัด ผมมีความรู้สึกว่า เห็นคนหนุ่มสาวมาเข้าวัดกันมากขึ้น ซึ่งผมไม่เคยเห็นที่วัดอื่น นอกจากนี้ยังเห็นสาธุชน มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เป็นแสนคน สองแสนคน ซึ่งก็ไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือนกัน จึงมีความรู้สึกว่า ที่นี่เป็นที่รวมจิตใจของชาวพุทธ มหารัตนวิหารคดนี้ ก็จะเป็นประโยชน์กับ พุทธศาสนิกชนและกับพุทธศาสนาตลอดไปครับ"


*** *** *** *** ***

               ยิ่งได้ทราบถึงความสำคัญ ความทุ่มเท และความยิ่งใหญ่ในการก่อสร้าง "มหารัตนวิหารคด รอบมหาธรรมกายเจดีย์" ในครั้งนี้แล้ว ก็ยิ่งต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รอคอยวันที่จะเป็น "หนึ่ง" ในพุทธบริษัท ๔ นับล้านมาทำความดีร่วมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการ "จุดประกาย" ให้ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทำความดีเพื่อสร้างสันติภาพ และนำพาสันติสุขสู่มวลมนุษยชาติในโลกใบนี้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล