วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ Smile World "วัดพุทธเอาว์สบวร์ก ประเทศเยอรมนี" โดย : บุณฑริกา



               ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี แห่งการแบ่งแยกดินแดน ภายใต้คำว่า "เยอรมนี" สันติสุขของประเทศและมิตรภาพของผู้คนได้ลบเลือนหายไป เนื่องจากการแบ่งแยกประเทศออกจากกันเป็นดินแดนฝั่งตะวันออกและดินแดนฝั่งตะวันตกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เสร็จสิ้นลงโดยการสร้างกำแพงเบอร์ลินเป็นเส้นแบ่งอาณาเขต

               จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.๑๙๙๐ สันติสุขของชาวเยอรมัน ได้กลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก ได้หันหน้าเข้าหากัน ทุกคนพร้อมใจกันทลายกำแพงเบอร์ลินให้สิ้นซาก และได้แต่งตั้งให้เมืองเบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

               ประเทศเยอรมนีได้กลับมาเป็นประเทศที่สมบูรณ์แบบ และเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของฝั่งตะวันตก รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย แต่คงไว้ซึ่งความงามของสถาปัตยกรรมและอารยธรรมในฝั่งตะวันออก


               เริ่มต้นจากมโนปณิธานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ที่จะเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปยังประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรก และความปรารถนาของมหาปูชนียาจารย์ก็สัมฤทธิผลเมื่อพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) และพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)ได้ส่งพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา เป็นจำนวนมากไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปยุโรป และได้เลือกประเทศเยอรมนีเป็นประเทศหนึ่งในการก่อตั้งศูนย์สาขาในการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย จึงเป็นที่มาของวัดพุทธเอาว์สบวร์ก               ปัจจุบันกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายไปแล้ว และไม่มีอะไรมาแบ่งแยกความเป็นเยอรมันอีกต่อไป สันติภาพภายในประเทศได้เกิดขึ้น แต่สันติสุขที่แท้จริงของมนุษย์ยังถูกกีดกัน จากกำแพงกิเลสของใจซึ่งครอบคลุมตลอดเวลา และเมื่อใดที่มนุษย์ได้ทลายกำแพงนี้ออกไป ความสุขที่แท้จริงย่อมบังเกิดขึ้น


               วัดพุทธเอาว์สบวร์ก ตั้งอยู่ที่เมืองเอาว์สบวร์ก ทางตอนใต้ของประเทศ

               สถานที่แห่งนี้เริ่มก่อตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.๒๕๔๕ โดยกัลฯ สุชนา สวนยิ้ม กัลยาณมิตรชาวไทย ได้รวบรวมสมาชิกผู้รักบุญรักธรรมะและนิมนต์พระอาจารย์มานำปฏิบัติธรรมประกอบพิธีบูชาข้าวพระ กิจกรรมได้จัดให้มีอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และได้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันในการ สร้างวัด เพื่อเป็นสถานที่รวมตัวของสาธุชน ผู้ปรารถนาในบุญ

               จนกระทั่งหาได้สถานที่ที่เหมาะสมจึง จดทะเบียนเป็นสมาคมไทย-พุทธ-ด้อยส์ โดยมี กัลฯ นีโน่ โรซาตี ชาวอิตาลี เป็นประธาน กัลฯ คริสเตียน แอลิช ชาวเยอรมัน และ กัลฯ สุนีย์ ว่องประเสริฐ เป็นรองประธาน และได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์นที นนฺทภโล ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าศูนย์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระอาจารย์พระเผด็จ จิรกุโล เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธเอาว์สบวร์ก



               กิจกรรมต่างๆ ได้จัดให้มีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา งานบุญต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัดพระธรรมกาย เช่น วันครูธรรมกาย วันคุ้มครองโลก พิธีทอดผ้าป่า ซึ่งมีเป็นประจำ ทุกเดือน รวมถึงพิธีบูชาข้าวพระ ซึ่งเป็นพิธีกรรมแรกเริ่มในการรวมคน และยังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมทั้งจากชาวไทยและชาวเยอรมัน โดยมีสมาชิกกว่า ๔๐ คน มารวมตัวกันทุกเดือนโดยไม่คำนึงถึงเวลา เนื่องจากพิธีกรรมนี้จะจัดให้มีพร้อมกันทั่วโลก และตรงกับเวลาของประเทศเยอรมนี คือตี ๔ ครึ่ง

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
๑. การจัดอบรมปฏิบัติธรรมและเทศน์สอน ทุกคืนวันเสาร์
๒. การจัดอบรมการปฏิบัติธรรมแก่ชาวเยอรมันผู้สนใจที่ติดต่อมาเป็นหมู่คณะ
๓. งานขยายเครือข่ายคนดีผ่านเว็บไซท์
๔. ผลิตสื่อธรรมะส่งให้สมาชิกและเผยแพร่แก่สาธุชนผู้สนใจทั่วไป
๕. สนับสนุนงานเทศน์มหาชาติ "วัดไทยมิวนิก"

สำหรับโครงการและกิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ได้แก
๑. โครงการแข่งขันสวดมนต์สรภัญญะสำหรับ ชาวเยอรมัน ในวันวิสาขบูชา
๒. โครงการปฏิบัติธรรมสำหรับชาวเยอรมัน และพี่น้องไทย-ลาว
๓. โครงการขยายเครือข่ายคนดีผ่านโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
๔. โครงการเทเบียร์-เผาบุหรี่ ในวันเข้าพรรษา
๕. อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
๖. โครงการเยี่ยมบ้านกัลยาณมิตรต่างเมือง
๗. โครงการผลิตสื่อการสอนสมาธิภาษาเยอรมัน


               กิจกรรมทั้งหมดได้จัดให้มีขึ้นเพื่อส่งเสริม ศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามให้แก่เยาวชน และเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่มวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้วัดพุทธเอาว์สบวร์กได้รับเลือกให้เป็น สถานที่สำหรับประชาสัมพันธ์โครงการศูนย์กลางวัฒนธรรมของประเทศ ณ เมืองเอาว์สบวร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ.๒๐๑๐

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๔ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล