การเจริญวิปัสสนาภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย

วันที่ 19 กพ. พ.ศ.2567

19-2-67-1-b.png

๗. การเจริญวิปัสสนาภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย
 

                ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วโดยย่อในการเจริญสมถภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ว่าให้ปฏิบัติจนเห็นกายต่าง ๆ ตามลำดับทั้ง ๑๘ กาย นั้นแล้ว


                เมื่อถึงขั้นปฏิบัติวิปัสสนาก็ต้องดำเนินในทำนองเดียวกันนั้น คือต้องปฏิบัติให้ได้ ๑๘ กายเป็นบาทเสียก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนา


                การเจริญวิปัสสนาก็คงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือการกำหนดรู้ในพระไตรลักษณ์ แต่เป็นการปฏิบัติที่ทั้งรู้ทั้งเห็น


สพฺเพ สงฺขารา อนิจจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา


เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ดังนี้ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางบริสุทธิ์หมดจดวิเศษ


สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺชาติ ยทา ปญญาย ปสฺสติ
อก นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทธิยา


เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้คือความหมดจดวิเศษ


สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อก นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทธิยา


เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่าธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางหมดจดวิเศษ


วิธีการเจริญวิปัสสนาตามแนววิชาธรรมกาย


                  เริ่มด้วยปฏิบัติจนเห็นกายทั้งหมด ๑๘ กาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์มีขนาดเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว


ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน) มีขนาดโตสองเท่าของฟองไข่แดงของไข่ไก่
ของกายทิพย์                   มีขนาดโต ๓ เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่
ของกายทิพย์ละเอียด        มีขนาดโต ๔ เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่
ของกายรูปพรหม              มีขนาด ๕ เท่าของฟองไข่แดงของไข่ไก่

ของกายพรหมละเอียด       มีขนาด ๖ เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่

ของกายอรูปพรหม             มีขนาด ๗ เท่า

กายอรูปพรหมละเอียด         มีขนาด ๘ เท่า



                 ดวงธรรมของกายต่าง ๆ ทั้ง ๘ กายนี้ ไม่ใช่ตัว เป็นเพียงที่อาศัยให้ตัวปรากฏ ส่วนกายต่าง ๆ ทั้ง ๘ กายเหล่านั้น ก็เป็นเพียงตัวสมมุติ ทั้งดวงธรรม และทั้งกาย ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวจริง ๆ ธรรมที่ทำให้เบ็ญจขันธ์ของกายต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ตัว ขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


                 แต่เมื่อถึง กายธรรม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมก็ดี กายธรรมเองก็ดีเป็นตัวทั้งหมดไม่ใช่เป็นโดยสมมุติ แต่เป็นโดยวิมุติ


                  กายธรรม และดวงธรรมที่ทำให้กายธรรมทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้ง ๑๐ กาย เป็นนิจจัง สุขัง และอัตตา ดวงธรรมของกายธรรมใดก็มีขนาดโตเท่าหน้าตักของธรรมกายนั้น


                   การจะเจริญวิปัสสนาพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ในกายใด ก็ให้เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงธรรมของกายนั้น ๆ พิจารณาทั้งรู้ทั้งเห็นไปพร้อมกัน หยุดอยู่กลางกายต่าง ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ ไปได้ทางนี้ทางเดียว ไปทางอื่นไม่ได้


                  เมื่อใจหยุดเข้าถึงกายพระอรหัตต์จะเป็นนิรามิสสุข เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม ใจหยุดเข้าไปในกลางดวงธรรมของพระอรหัตต์ละเอียด เข้าไปเรื่อย ๆ มีจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่ติดอยู่ในสุขของกายใด ๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ เดินหน้าเข้าตรงกลางเรื่อยไป ไม่มีถอย ก็จะได้พบพระพุทธเจ้า พบพระนิพพาน พบพระอรหันต์ ในพระนิพพานเต็มไปด้วย ธรรมกายจะนับจะประมาณจำนวนไม่ได้


                   ตามแนววิชชาธรรมกายนั้น การปฏิบัติทุกชนิด ทุกขั้นตอน ต้องยึดกายต่าง ๆ และการเอาใจหยุดในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายเหล่านั้นเป็นหลัก โดยตลอดเช่นในการเจริญสติปัฏฐาน พิจารณากายในกาย พิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม มีวิธีการดังนี้


เห็นกายในกาย


                   ทำใจหยุดลงไปในศูนย์กลางตัวของกายมนุษย์หยาบ ให้เห็นกายมนุษย์ละเอียด(กายฝัน) กายนี้แหละ คือกายในกาย การเห็นกายในกายก็คือการเห็นเหมือนเวลาเรานอนแล้วฝันเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ การเห็นของเราในเวลานั้น ไม่ได้ใช้ตาเนื้อของมนุษย์หยาบนี้มองดูเลย กายเนื้อคงนอนหลับตานิ่งอยู่ไม่รับรู้เรื่องราวอันใด การที่เห็นอะไร ๆ ได้ในขณะฝันนั้น เป็นการเห็นของตากายมนุษย์ละเอียด เห็นกายในกายก็คือการเห็นของตากายมนุษย์ละเอียดเห็นกายมนุษย์ละเอียดเอง การเห็นในขณะเจริญภาวนาย่อมเป็นการเห็นที่ถูกต้อง ชัดเจน ละเอียดถี่ถ้วนดีกว่าในขณะฝัน เพราะมีสติบริบูรณ์กว่ายามหลับนอน นี่เรียกว่าเห็นกายในกาย


เห็นเวทนาในเวทนา


                    โดยปกติในกายมนุษย์หยาบก็มีเวทนา ๓ (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) หรือ เวทนา ๕ (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ โสมนัส โทมนัส) กายมนุษย์ละเอียดก็มีเวทนาเหมือนกายมนุษย์หยาบ การเห็น จะเห็นเป็นดวง ถ้ารู้สึกสุข จะเห็นเป็นดวงใส ถ้าทุกข์ก็จะเป็นดวงขั้นขุ่น ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นดวงปานกลางไม่ขุ่นไม่ใส ขนาดของดวงไม่เท่ากัน ถ้าโตเต็มที่ก็เท่ากับ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ บางคนก็เล็กกว่านั้น การเห็นเหมือนการฝันเห็น คือใช้ตาของมนุษย์ละเอียดมองเวทนาในกายมนุษย์ละเอียด นี่เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนา


เห็นจิตในจิต


                   ดวงจิตของกายมนุษย์หยาบ มีขนาดโตเท่าดวงตาข้างนอก อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจเวลาจิตตกลงสู่ภวังค์ ดวงจิตจะใสเหมือนกับน้ำที่ใส ดวงจิตของกายมนุษย์ละเอียดอยู่ภายในดวงจิตของกายมนุษย์หยาบ แต่เมื่อใดเห็นเข้าแล้ว ย่อมขยายส่วนดวงจิตของกายมนุษย์หยาบให้โตขึ้น เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ได้


เห็นธรรมในธรรม


                    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีอยู่ในศูนย์กลางกายมนุษย์ มีขนาดโตเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ส่วนดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด มีขนาดโตเป็นสองเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดเข้าแล้ว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ขยายส่วน โตเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ได้เหมือนกันการขยายส่วนที่เห็นได้นี้ได้ชื่อว่าเห็นธรรมในธรรม เห็นดวงธรรมของกายมนุษย์ละเอียดที่อยู่ในดวงธรรมของกายมนุษย์


                    เมื่อเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ดังนี้แล้ว ต้องมีอาตาปี เพียรให้กลั่นกล้า ไม่ย่อท้อ เอาเป็นเอาตาย ที่เรียกว่าเพียรชนิดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ แม้เนื้อเลือด กระดูก หนัง จะแห้งเหือดไป ก็ไม่ลดละ ใจต้องจรดอยู่ที่เดียว ในกายเวทนา จิต ธรรม ไม่เคลื่อน กระทำความเพียรอยู่ทุกอิริยาบถ รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่มีเผลอ


                    ต่อจากนั้นเอากายมนุษย์ละเอียดเป็นหลักรุดเข้าไปพิจารณากายต่อไป เรียกว่า “ฝันในฝัน” คือพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ในกายทิพย์ กายทิพย์อยู่กลางกายมนุษย์ละเอียด เวทนาในเวทนาอยู่กลางกายทิพย์ จิตใจจิตอยู่กลางเวทนา ธรรมในธรรมอยู่กลางจิต ล้วนแต่ขนาดเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ บริสุทธิ์สนิท ไม่มีคลาดเคลื่อน


                     ในทำนองเดียวกันก็พิจารณากายภายในสืบต่อกันเข้าไป กระทำติดต่อไปอยู่ดังนี้ แต่ต้องเพียรอย่างมีสติไว้เสมอ ไม่เผลอ นำอภิชฌา โทมนัส ในโลกออกเสีย คืออย่าให้มีความดีใจเสียใจเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ เพราะความดีใจเสียใจเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่ง ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะปฏิบัติต่อไม่ได้ ไร้ผลทันที


                    ปฏิบัติเข้าไปทีละกาย ๆ จนถึงพระอรหัตต์ละเอียด และธรรมกายพระอรหัตต์ในอรหัตต์ เป็นพระอรหัตต์ละเอียด ๆ ๆ ต่อ ๆ ไป นับอสงไขยไม่ถ้วนดังนี้ นี่เป็นตัวอย่างโดยย่อ


                     ที่กล่าวแล้วนี้เป็นการกล่าวโดยย่อ สังเขปไว้พอให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ในการปฏิบัติจริงมีความลุ่มลึกพิสดาร แบ่งแยกละเอียดออกไป เป็นแนวการปฏิบัติที่พิสูจน์ด้วยการทั้งรู้และทั้งเห็น สามารถพบด้วยตนเองว่า เมื่อปฏิบัติบรรลุขั้นใด สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในญาณจะมีลักษณะอย่างไร เช่นตัวอย่างการปฏิบัติพื้นฐานขั้นต้น เมื่อสามารถทำใจให้หยุดนิ่งได้สนิท ก็สามารถเห็นดวงธรรม และเห็นกายต่าง ๆ ทั้ง ๑๘ กาย


                     ถ้าปฏิบัติได้ถึงปฐมฌาน จะเห็นปฐมฌานมีลักษณะเป็นแผ่นฌานกลมใส กลมเหมือนกงเกวียน ไม่ใช่กลมรอบตัว กลมเหมือนกงจักร เหมือนแผ่นกระจกกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ วา หนา ๑ คืบ ติดอยู่กลางกาย


ทุติยฌาน อยู่กลางดวงปฐมฌาน


ตติยฌาน อยู่กลางดวงทุติยฌาน


ฯลฯ เป็นลำดับเข้าไปดังนี้


                    ในการนำผลการปฏิบัติที่เห็นกายทั้ง ๑๘ กาย มาเป็นพื้นฐานแล้วเจริญวิปัสสนานั้น เป็นการใช้ญาณจากดวงธรรมของกายธรรม พิจารณาพระไตรลักษณ์ในรูปนาม โดยใช้อำนาจทิพพจักขุที่เกิดขึ้น ดูความเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย ทนอยู่ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ในสิ่งที่ต้องการพิจารณาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งละเอียดถี่ถ้วน


                    เช่น ถ้าปรารถนาดู อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะของร่างกายส่วนใด ก็ใช้ทิพพจักขุในญาณของธรรมกาย ขยายขนาดของสิ่งที่ต้องการพิจารณาให้มีขนาดใหญ่จนเห็นความเปลี่ยนแปลงในความเป็นไปต่าง ๆ เช่นต้องการดูเส้นผม ก็ขยายเส้นผมให้โตประมาณเท่าต้นตาล ก็จะสามารถเห็นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ภายในเส้นผม เซลล์เหล่านั้นแบ่งการทำงานออกเป็นแผนก ๆ ตามหน้าที่ของมัน บางพวกนำอาหารจากเส้นโลหิตฝอยใต้ผิวหนังศีรษะไปเสริมให้เส้นผมยาวขึ้น บางพวกทำหน้าที่เหมือนพนักงานทาสีให้เส้นผมดำ ฯลฯ เมื่อเซลล์ดังกล่าวอ่อนกำลังลง ก็จะไม่สามารถทำงานเป็นปกติได้ดังเดิม มีอาการเหมือนคนอ่อนเพลียค่อยสิ้นแรงลงทีละน้อย จนบางทีเลิกทำงานเช่น ฝ่ายทาสีเส้นผม เวลาใดที่เซลล์ประเภทนี้เสื่อมความสามารถ ไม่ทำงาน ผมก็จะมีสีขาวการเห็นด้วยอำนาจของญาณธรรมกายดังนี้ เห็นละเอียดถี่ถ้วนชัดเจนจนกระทั่งเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย


                     หรือการพิจารณาดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ก็ใช้วิธีขยายส่วนให้มีขนาดโตขึ้นในทำนองเดียวกัน แล้วมองดูด้วยอำนาจทิพพจักขุในญาณนั้น จะทราบได้โดยถี่ถ้วน


                     การทั้งรู้ทั้งเห็นชนิดนี้ย่อมทำให้ปัญญาที่เกิดขึ้นคมกล้าเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าการรู้โดยมองไม่เห็น เป็นปัญญาเห็นความจริงในทุกสิ่ง ทำให้วิปัสสนาญาณขั้นต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยง่าย


                      นอกจากการนำญาณของธรรมกายมาใช้ในการเจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริงในรูปว่ามีลักษณะทั้ง ๓ อย่างไรแล้ว แม้ในการพิจารณานาม ก็ทำได้ในทำนองเดียวกัน ญาณของธรรมกายสามารถเห็นการทำงานของจิต เจตสิก ทุกชนิดทุกประเภท เห็นการรับอารมณ์ของจิตตั้งแต่เริ่มแรก และการทํางานขอวิถีจิตไปตามลำดับโดยละเอียด ตลอดเวลาการเกิดขึ้นจนจิตชนิดนั้น ๆ ดับลงในทุก ๆ ขณะ ซึ่งแม้จะเป็นการกระทำที่รวดเร็วมากที่สุด จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า


ยาวญฺจีทํ ภิกฺขเว อุปมาปิ น สุกรา ยาลหุปริวตฺตํ จิตตํ
ภิกษุทั้งหลายจิตนี้เกิดดับอย่างรวดเร็ว  ด้วยเหตุนี้จึงหาข้ออุปมาที่จะยกขึ้นมาเปรียบเทียบได้ยากยิ่ง

 

                      แต่ญาณของธรรมกายสามารถมองเห็นความรวดเร็วและการทำงานของจิตเหล่านั้นได้ทัน

                      ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้จิตในระดับนี้เป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนา จึงได้รับผลดียิ่งกว่าขณิกสมาธิธรรมดา หรือสมาธิที่ไม่ทำให้เกิดทิพยจักขุ


                       นอกจากนั้นในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลก หรือของจักรวาลหรือของโลกธาตุ การปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกายดังนี้ สามารถพิสูจน์ให้เห็นความจริงในสิ่งลี้ลับเหล่านั้นได้ทั้งหมด แม้แต่เรื่องที่กล่าวไว้ในคัมภีร์โบราณ เช่น เรื่องกำเนิดของโลกกำเนิดจักรวาล กำเนิดมนุษย์ สวรรค์ นรก ภพภูมิต่าง ๆ แม้กระทั่งพระนิพพาน วิชชาธรรมกายสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เมื่อใดที่กล่าวไว้ไม่ละเอียดแจ่มแจ้ง เช่นเรื่องของมารเป็นต้น วิชชานี้ก็สามารถรู้เห็นได้ว่า มารโลกมีลักษณะความเป็นมา และจะเป็นไปอย่างไร โลกของธรรมฝ่ายขาวและโลกของธรรมฝ่ายดำ จะต้องต่อสู้กันไปโดยประการใด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องลึกซึ้งอันเป็นภูมิของนักปฏิบัติธรรมผู้ปฏิบัติจริง


                        อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่มีปัญญามาก หรือคนที่ไม่ยอมเชื่อสิ่งใดโดยง่าย ควรปฏิบัติตามแนววิชชานี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อปฏิบัติบรรลุผลแล้วย่อมได้รับความรู้ ได้มองเห็นความจริงต่าง ๆ แจ่มแจ้งชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยใด ๆ โดยสิ้นเชิง อันจะเป็นปัจจัยให้มีกำลังใจเกิดขึ้นมากมายใหญ่หลวง ในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรกระทำ และกระทำให้เป็นผลสำเร็จ มิให้เสียเวลาของชีวิตที่มีโชคดีได้เกิดเป็นมนุษย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ในชาตินี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001802933216095 Mins