วิธีเจริญภาวนา โดยสมถกรรมฐาน ตอนที่ ๑

วันที่ 28 สค. พ.ศ.2566

28-8-66-BLr.jpg

วิธีเจริญภาวนา โดยสมถกรรมฐาน

           การเจริญภาวนา ไม่ว่าสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาภาวนา ก็ตาม ก่อนอื่นต้องปฏิบัติตนให้เรียบร้อยในเรื่อง ๗ เรื่อง คือ
           ๑. ตั้งตนอยู่ในศีล
           ๒. ตัดเครื่องกังวลใหญ่ (มหาปลิโพธ) ๑๐ ประการ
           ๓. แสวงหากัลยาณมิตรที่มีความรู้ในการแนะนำวิธีเจริญกรรมฐาน
           ๔. ศึกษาอบรมและปฏิบัติกรรมฐาน ชนิดที่เหมาะสมกับจริตของตน
           ๕. เว้นจากสถานที่ที่เป็นโทษในการปฏิบัติ
           ๖. อยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายในการปฏิบัติ
           ๗. ติดเครื่องกังวลเล็กน้อย (ขุททกปลิโพธ) ออก ก่อนลงมือปฏิบัติ


              ๑. ตั้งตนอยู่ในศีล ผู้ปฏิบัติควรตั้งใจรักษาศีลชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำให้เป็นปกติเสียก่อน เช่น ศีล ๕ ของคฤหัสถ์ ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณรหรือปาฏิโมกขสังวรศีลของพระภิกษุ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตใจจะสงบเย็นไม่เดือดร้อนเป็นพื้นฐานที่ดียิ่งในการลงมือปฏิบัติ เหมือนปรับพื้นที่ดินให้แน่นมั่นคงก่อนลงมือปลูกบ้าน

                  ๒. ตัดเครื่องกังวลใหญ่ (มหาปลิโพธิ์) ๑๐ ประการ มี ความกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องทายกทายิกา (ตระกูลที่เขาอุปถัมภ์) ลาภสักการะ หมู่คณะ นวกรรม การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม การเดินทาง ญาติโยม อาพาธ การศึกษา การสอนปริยัติธรรม การแสดงอิทธิฤทธิ์

                  ๓. แสวงหากัลยาณมิตร ผู้เป็นครูอาจารย์ ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร ต้องประกอบด้วยคุณ ๗ ประการ ได้แก่
                      - ปิโย เป็นผู้ที่น่ารัก น่าเลื่อมใส เพราะมีศีลบริสุทธิ์เป็นต้น
                      - ครุ เป็นผู้ควรเคารพ เพราะประกอบด้วยคุณธรรมต่าง ๆ เช่นมี ศีล สมาธิ ธุดงคคุณเป็นต้น
                      - ภาวนิโย น่าสรรเสริญ เช่นมีจิตใจเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงในสหธรรมมิกและลูกศิษย์เป็นต้น
                      - วัตตา มีความสามารถอบรมลูกศิษย์ให้ดีได้
                      - วจนักขโม ยินดีรับฟังความคิดเห็นหรือคำทักท้วงจากสหธรมมิกและลูกศิษย์
                      - คัมภีรัญจ กถัง กัตตา สามารถแสดงธรรมอันลึกซึ้งให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งชัดเจน เช่น แสดงความเป็นไปของรูปนาม ขันธ์ ๕ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เหล่านี้เป็นต้น
                      - อัฏฐาเน โน จะ นิโยซเย เป็นผู้เว้นจากการชักชวนในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แม้ครั้งเดียวก็ไม่ทำ ผู้เป็นครูอาจารย์ ควรมีคุณสมบัติครบ ๗ ประการไม่ควรขาดแม้แต่ข้อเดียว

                   ๔. ศึกษาอบรมปฏิบัติกรรมฐานที่เหมาะสมกับจริตของตน
                      - ราคะจริต ควรเจริญ อสุภะ ๑๐ โกฏฐาสะ ๓๒ ที่เรียกว่ากายคตาสติ
                      - โทสะจริต ควรเจริญ อัปปมัญญา ๔ วรรณกสิณ ๔ (สีเขียว เหลือง แดงขาว)
                      - โมหะจริต และวิตกจริต ควรเจริญ อานาปานัสสติ
                      - ศรัทธาจริต ควรเจริญ อนุสสติ 5
                      - พุทธจริต ควรเจริญมรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน

              ส่วนกรรมฐานที่เหลือคือ ปถวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ อรูปกรรมฐาน ๔ เหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป ไม่เลือกว่าเป็นจริตใด

              เฉพาะในการปฏิบัติโดยใช้กสิณ ๑๐ ผู้มีโมหจริต ต้องใช้องค์กสิณมีขนาดโตเท่าลานนวดข้าว เพื่อให้ชัดเจน แต่ผู้มีวิตกจริต ควรใช้ขนาดเล็กเพียงเท่าจานข้าวเท่านั้น ถ้าขนาดโตไม่ควรใหญ่กว่ากระด้ง เพราะถ้ามีขนาดใหญ่แล้วจะยิ่งพลอยกังวลฟุ้งซ่าน

                   ๕. เว้นจากสถานที่ที่เป็นโทษต่อการปฏิบัติ มีอยู่ ๑๘ อย่าง คือ เป็นสถานที่ที่
                      - กว้างขวางใหญ่โตเกินไป ต้องเป็นกังวลเรื่องการดูแลรักษา
                      - เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ อาจเป็นที่ต้องการของผู้อื่น ร้อนใจได้
                      - ชำรุดทรุดโทรมเก่าแก่ ต้องกังวลเรื่องการซ่อมแซม
                      - ใกล้หนทาง ผู้คนผ่านไปมาไม่สงบ
                      - ใกล้บ่อน้ำ สระน้ำ ผู้คนมาตักน้ำ โดยเฉพาะอาจได้ยินเสียงของเพศตรงข้าม ใจหวั่นไหวได้
                      - ใกล้สวนผักต่าง ๆ
                      - ใกล้สวนดอกไม้ สตรีเพศชอบมาเก็บ อาจส่งเสียงพูดคุยหรือร้องเพลง
                      - ให้จิตใจหวั่นไหว
                      - ใกล้สวนผลไม้ ผู้คนย่อมมาเก็บ ไม่สงบ
                      - เป็นสโมสร ที่ผู้คนมาประชุมกันอยู่เสมอ
                      - ใกล้กับตัวเมือง
                      - ใกล้ป่าฟืน
                      - ใกล้ที่ทํานา
                      - ใกล้ที่คนไม่ถูกกับตนอาศัยอยู่
                      - ใกล้ที่รวมของการคมนาคม เช่นท่าเรือ สถานีรถไฟ สนามบิน
                      - เป็นชนบทที่ชนผู้ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอาศัยอยู่
                      - เป็นพรมแดน แวดล้อมไปด้วยราชภัย หากมีสงครามระหว่างแคว้น ต่างฝ่ายจะกล่าวหาว่าผู้ปฏิบัติเป็นจารบุรุษของอีกแคว้น และทำอันตรายเอาได้
                      - ไม่เป็นที่สบาย เพราะมีโจรภัย ยักขภัย
                      - เป็นที่ไม่มีกัลยาณมิตร คือครูอาจารย์ที่ประกอบด้วยคุณ ๗ ประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

                   ๖. สถานที่ที่สะดวกสบายในการปฏิบัติควรพักอยู่ คือ
                      - มีหนทางไปมาสะดวก ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก แต่ก็ไม่อยู่ใกล้จนเกินไป
                      - ไม่มีเสียงอึกทึก กลางวันไม่จอแจด้วยผู้คน กลางคืนเงียบสงัด
                      -ไม่มีสัตว์ร้าย และสัตว์ที่นำความรำคาญมาให้ เช่นแมลงวัน ยุง เหลือบ งู เสือ ตะขาบ ฯลฯ มารบกวนกัดต่อย ทำอันตราย ให้ต้องกังวลหวาดระแวงภัย
                      - เป็นที่บริบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ จัดหาได้โดยสะดวก ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยและยา
                      - เป็นที่พระภิกษุหรือกัลยาณมิตรที่ทรงความรู้เป็นพหูสูตร แตกฉานทั้งปริยัติ ปฏิบัติ สามารถให้ความรู้ ความกระจ่างได้ บรรเทาความสงสัยในข้อธรรมที่ลุ่มลึกทั้งปวง

                  ๗. ตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นเรื่องหยุมหยิมให้หมด เช่น
                     - ตัดเล็บ ตัดผม ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย
                     - ปะชุน เครื่องนุ่งห่มให้เสร็จ
                     - ถ้าจำเป็นต้องย้อมเพราะผ้านั้นเก่ามาก ก็จัดการซักซ้อมให้ดี ให้สะอาด
                     - สิ่งของภาชนะที่ใช้ ดูแลให้สะอาดเรียบร้อย เช่นเป็นพระภิกษุต้องดูแลบาตรมิให้เป็นสนิม
                     - ทำความสะอาดเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย เช่น ปัดกวาดเช็ดถูเตียง ตั้ง ให้สะอาดหมดจด

 

วิธีเจริญสมถภาวนา โดยใช้กสิณ ๑๐

              กสิณ หมายถึงวัตถุบางอย่างที่จูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ การปฏิบัติกรรมฐานโดยใช้กสิณ คือใช้วัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๑๐ อย่างที่กล่าวมาแล้ว นำมาเป็นเครื่องเพ่ง เพื่อชักจูงใจให้เป็นสมาธิ

              สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ จำเป็นต้องจัดการทำองค์กสิณ คือวัตถุที่จะนำมาให้ใจเพ่งให้เรียบร้อยเหมาะสม เวลาปฏิบัติจะได้ไม่มีเหตุขัดข้อง ก้าวหน้าไปด้วยดี วิธีทำองค์กสิณต่าง ๆ มีดังนี้

        ๑. ปถวีกสิณ กสิณดิน วิธีทำ ให้เลือกหาดินเนื้อละเอียด มีสีเหมือนสีของแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น (เรียกว่าดินสีอรุณ) เป็นดินที่เหนียวพอประมาณ ห้ามใช้ดินสีเขียว เหลือง แดง ขาว เพราะจะไปปะปนกันกับวรรณกสิณเป็นโทษไป ถ้าจะทำองค์กสิณที่ตั้งอยู่กับที่ตายตัว เคลื่อนย้ายไม่ได้ อย่าทำไว้ตรงกลางที่พักอาศัยอันเป็นที่ผู้คนพลุกพล่าน ให้อยู่ในที่ลับตาที่ไม่มีใครสนใจเป็นการดี หากทำองค์กสิณชนิดยกเคลื่อนที่ไปที่อื่นได้ ให้ใช้ไม้ ๔ อัน ทำเป็นเหมือนแม่สะดุ้งที่ใช้ปักหรือเย็บผ้า แล้วขึงด้วยผ้า หนังหรือเสื่อลำแพน เสร็จแล้วนำดินที่เตรียมไว้ จัดการเก็บสิ่งสกปรกเช่น กรวด ทราย เศษใบไม้ ชั้นไม้ ปูน หิน ฯลฯ ออกให้หมด จนสะอาดดีแล้ว ใส่น้ำปูนลงไปเล็กน้อยนวดเคล้าไปมาให้ละเอียดอ่อนนิ่ม เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วคลึงแผ่ออกเป็นแผ่นวงกลมกว้างประมาณ ๑ คืบกับ ๔ องคุลี (นิ้ว) ประมาณ ๓๒ เซ็นติเมตร วางลงบนแผ่นผ้าหรือหนังหรืออย่างอื่นที่เตรียมไว้ เมื่อทำดินเป็นรูปวงกลมขนาดดังกล่าวนั้นแล้ว ด้านหน้าที่จะใช้ใจเพ่งนั้นต้องทำให้เรียบประดุจหน้ากลอง ไม่ให้มีริ้วรอยใด ๆ ให้สม่ำเสมอเกลี้ยงเกลา ส่วนที่ขอบเส้นรอบของวงกลม ควรใช้สีเขียวหรือสีขาวทาเป็นขอบเพื่อให้เห็นดินในวงกลมเด่นชัด สีขอบที่ทานควรกว้างประมาณ ๑ ใน ๔ ของนิ้ว ความจริงองค์กสิณอาจทำให้ใหญ่หรือเล็กกว่านี้ก็ได้ เช่นให้ใหญ่ขึ้นไปอีก ๔-๘ องคุลี หรือให้เล็กลงไปอีกประมาณ ๒-๓ องคุลี การทำองค์กสิณเล็ก ทำให้จิตผู้ปฏิบัติตั้งมั่นได้เร็ว แต่สมาธิไม่ใคร่มีกำลังแรง องค์กสิณมีขนาดใหญ่ จิตของผู้ปฏิบัติตั้งมั่นได้ช้า แต่เมื่อตั้งมั่นได้แล้ว สมาธิมีกำลังแรงดีมาก

            ๒. อาโปกสิณ กสิณน้ำ น้ำในเรื่องกสิณนี้มิได้หมายเอาน้ำที่มีสภาวะเกาะกุมสิ่งต่าง ๆ ได้ เหมือนที่กล่าวไว้ในเรื่องรูปร่างกาย แต่น้ำในที่นี้หมายเอาถึงน้ำธรรมดาที่เรารู้จักกันดีอยู่โดยทั่วไป ขอแต่ให้เป็นน้ำสะอาดปราศจากโทษ เป็นน้ำใสบริสุทธิ์ปราศจากสีต่าง ๆ มาเจือปน นำน้ำนั้นมาใส่ไว้ในตุ่มเล็ก ๆ หรือบาตร หรือภาชนะที่มีปากเป็นรูปวงกลมกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ส่วนลึกประมาณเท่ากัน หรือจะให้มีขนาดโต ๑ ฟุต หรือ ๑ ศอกก็ตามใจ แต่ต้องใส่น้ำเสมอขอบปากภาชนะนั้น ๆ

             ๓. เตโชกสิณ กสิณไฟ หมายเอาไฟธรรมดาที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน วิธีทำต้องหาเชื้อเพลิงที่ดี เช่นไม้แก่นที่แห้งแล้ว ตัดเป็นท่อน ๆ หญ้าแห้ง หรือพื้น จัดก่อเป็นกองไฟลุกโพลง แล้วเอาเสื่อลำแพน แผ่นไม้ แผ่นหนัง หรือที่เห็นสมควร เจาะเป็นรูปวงกลมโตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว กั้นไว้หน้ากองไฟ ให้เปลวไฟอยู่พอดีมองเห็นได้จากวงกลมที่เจาะไว้นั้น ไม่ต้องให้เห็นพื้น เถ้าถ่าน ควันไฟ หรืออื่น ๆ

            ๔. วาโยกสิณ กสิณลม หมายถึงใช้ลมธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป ใช้กำหนดดูของที่ลมพัด เช่นยอดไม้ ปลายต้นไผ่ ต้นอ้อ แม้กระทั่งผมบนศีรษะคน ของที่ใช้กำหนดดูก็คงมีขนาด ๑ คืบ ๔ นิ้วเช่นเดียวกัน การถือเอาเป็นนิมิตดังนี้ จะถือเอาการเห็นสิ่งของนั้น ๆ เคลื่อนไหวก็ได้ หรือถือเอาการที่ลมพัดมาสัมผัสตัวก็ได้

               วรรณกสิณ ๔ ได้แก่ กสิน ๔ อย่าง คือ กสิณสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว
            ๕. นีลกสิณ กสิณสีเขียว การท่าองค์กสิณ จะใช้ดอกไม้สีเขียว ผ้าเขียว หรือวัตถุสีเขียว อย่างใดอย่างหนึ่งที่พอใจ ใส่ลงในพานกล่อง บาตร ขัน อย่าให้เห็นด้านที่เป็นสีอื่น บรรจุให้เต็มเสมอขอบ ซึ่งมีขนาดเดียวกันกับกสิณอื่นที่กล่าวมา ถ้าจะใช้ผ้าหรือกระดาษสีเขียว ให้ตัดเป็นรูปวงกลมให้เรียบร้อย ตามขอบทาด้วยสีขาวหรือแดงกว้าง ๑ ใน ๔ ของนิ้ว ช่วยให้สีเขียวเด่นขึ้น

               ๖. ปีตกสิณ กสิณสีเหลือง

               ๗. โลหิตกสิณ กสิณสีแดง

               ๘. โอทาตกสิณ กสิณสีขาว ก็กระทำในทำนองเดียวกัน

               ๙. อาโลกกสิณ กสิณแสงสว่าง ใช้วิธีเจาะฝาเรือนหรือหลังคาเป็นวงกลมขนาดเดียวกับกสิณอื่น ให้แสงสว่างลอดเข้ามา หรือใช้ไฟฟ้า ใช้ตะเกียง แล้วกั้นด้วยผ้าม่านเจาะรูพอให้แสงสว่างเหล่านั้นลอดเป็นวงกลมเข้ามา มีขนาดของช่องที่เจาะ ๑ คืบ ๔ นิ้ว

               ๑๐. ปริเฉินนากาสกสิณ หรืออากาศกสิณ ใช้วิธีเจาะช่องเช่นเดียวกัน แต่เวลากำหนด ๆ เฉพาะอากาศ

               การเจริญภาวนาโดยใช้กสิณทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เป็นอารมณ์กรรมฐานนั้น สำหรับผู้ที่มีวาสนาบารมีเคยอบรมมาแล้วในชาติปางก่อนก็ดีหรือชาตินี้ก็ดี องค์กสิณที่นำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ ไม่จำเป็นต้องจัดทำให้ได้รูปร่างลักษณะ ขนาด หรือมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะแต่อย่างใด เพียงเห็นของเหล่านั้นตามธรรมดา ธรรมชาติ เช่นเห็นดินที่พื้นดินทั่วไป เห็นน้ำในแม่น้ำ บ่อ สระ ในตุ่ม เห็นลมพัด ตามที่ต่าง ๆ เห็นเปลวไฟ แม้เพียงแสงเทียน เห็นสีสรรในที่ต่าง ๆ กระทั่งเห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวดวงไฟ แม้กระทั่งแสงสะท้อนตามกระจกหรือโลหะ จะสามารถนำมาเป็นองค์กสิณของกรรมฐานได้ทั้งสิ้น

               เมื่อทําองค์กสิณหรือจัดเตรียมที่ใช้เป็นกสิณเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป
               ๑. ทำความสะอาดสถานที่พักอาศัย ความสะอาดร่างกาย จัดแจงเรื่องเครื่องกังวลต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น แล้วจึงหาสถานที่อันเหมาะสม เงียบสงัด ห่างจากหมู่คณะ

               ๒. นำองค์กสิณนั้น วางไว้เบื้องหน้า อย่าให้ใกล้ไป อย่าให้ไกลไป ให้อยู่ระยะประมาณ ๒ ศอก ๑ คืบ (ประมาณ ๑.๒๕ เมตร) ไม่สูงไม่ต่ำจากสายตา เพราะถ้าใกล้ไปอาจเห็นรอยตำหนิขององค์กสิณ ไกลไปเห็นไม่ชัดเจน สูงไปต้องแหงนดู ต่ำไปต้องก้มดูให้เป็นการล่าบาก

               ๓. ทำใจให้เกิดความพอใจในการปฏิบัติ พิจารณาเห็นโทษของรูปร่างกาย เห็นโทษของกามคุณ เช่น เรื่องรูป พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี ลูกศร ของลำบาก อาพาธเป็นเหมือนของชำรุด เสนียด อุบาทว์ ภัย อุปสรรค เป็นของหวั่นไหวไม่มั่นคง แตกพัง ไม่ยั่งยืน ของไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่ซ่อนเร้น ไม่มีที่พึ่ง ของว่างเปล่า ของสูญ เป็นอนัตตา เป็นโทษ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่มีแก่นสารเป็นมูลของความลำบาก เป็นดังเพชฌฆาต ปราศจากความเจริญ มีอาสวะ เป็นของอันเกิดมาจาก มีปัจจัยเป็นเหตุปรุงแต่ง เป็นเหยื่อของมาร มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมดา เป็นของมีความโศก ความรำพัน ความเจ็บกาย ความเจ็บใจ และคับแค้นใจเป็นธรรมดา เป็นของเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดของความทุกข์ เป็นของมีแต่ความดับไป เป็นของชวนให้หลงใหลแช่มชื่น เป็นอาที่นพ นิสสรณะ

               โดยการพิจารณาดังนี้ เพื่อให้จิตใจมองเห็นความไม่ดีของรูป บรรเทาฉันทราคะในรูป ในทำนองเดียวกัน เรื่องเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ (การสัมผัส) รวมเป็นเบญจกามคุณ ก็นึกมองพิจารณาให้เห็นโทษตามจริง

                พิจารณาให้เห็นโทษของกามคุณ ตามพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีแต่ความทุกข์มาก ความคับแค้นมาก เหมือนมีบุรุษแข็งแรงช่วยกันฉุดจับโยนลงไปในหลุมถ่านเพลิงอันลึกนั่น

                       - เปรียบเหมือนกระดูกโคที่เปื้อนเลือด แม้สุนัขจะพึงแทะสักเพียงใดก็ไม่อาจหายหิวหายเพลียได้ กลับต้องได้รับแต่ความเหน็ดเหนื่อยคับแค้น
                       - เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่นกแร้ง เหยี่ยว นกตะกรุม โผเข้ารุมจิกยื้อแย่งกัน ตัวใดที่คาบชิ้นเนื้อไว้ไม่ยอมปล่อย ย่อมถูกตัวอื่นรุมจิกที่ยื้อแย่ง มีอันตรายถึงตายหรือทุกข์หนักปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นสาเหตุ
                       - เปรียบเหมือนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า ไฟลุกโพลง เมื่อถือเดินทวนลมเปลวไฟย่อมไหม้ลามเอามือ แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งหนึ่งแห่งใด หากไม่รีบทิ้งคบเพลิงนั้น ย่อมได้รับทุกข์ถึงตายหรือเกือบตาย
                       - เปรียบเหมือนนอนหลับฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ตื่นขึ้นแล้วไม่มีอะไรเลย จะต้องเป็นทุกข์ด้วยความเสียใจ
                       - เปรียบเหมือนของที่ยืมผู้อื่นมา แม้จะเป็นแก้วมณีมีค่ามากเพียงใด ย่อมถูกเอาคืนไป
                       - เปรียบเหมือนขึ้นไปเก็บผลไม้รสอร่อยอยู่บนต้น มีคนอื่นมาโค่นต้นไม้นั้นล้มลง ถ้าไม่รีบลงจากต้นไม้นั้นโดยเร็ว ย่อมได้รับอันตรายแน่นอน
                       - เปรียบเหมือนคมดาบ คอยสับแลขันธสันดาน
                       - เปรียบเหมือนหอก และหลาวใหญ่ เสียบร้อยรัดให้ดิ้นรนอยู่ในกองทุกข์
                       - เปรียบเหมือนศีรษะอสรพิษ น่าครั่นคร้ามสะดุ้งกลัว

                กามคุณ ๕ เป็นของที่นำมาให้แต่ความทุกข์ ความอาลัยเสียดาย สะอื้นไห้ เต็มไปด้วยทุกข์ภัย เป็นของชาวบ้าน ปุถุชน ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ตนและผู้อื่น

                เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์โทษเหล่านี้แล้ว จิตย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ เห็นคุณประโยชน์ของการเจริญกรรมฐานโดยเต็มที่ เกิดความเต็มใจ เกิดความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงในการปฏิบัติ

                 ๔. เมื่อจิตมีความพอใจรักใคร่ในการปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อจะถอนตนให้พ้นจากอำนาจกามคุณแล้ว ให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ให้เห็นความสำคัญของเนกขัมมะโดยนึกถึงตัวอย่างอันดีงามของบรรดาพระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย นึกถึงว่าตนเองจักต้องตายลงเป็นธรรมดา การได้ปฏิบัติตามตัวอย่างอันดีงามของบัณฑิตทั้งหลายเป็นของสมควรยิ่ง เป็นการกระทำที่พึ่งให้ตนเอง

                  ๕. กระทำการนอบน้อมเคารพในองค์กสิณนั้น เหมือนเป็นครูบาอาจารย์ของตนลืมตาเพ่งดูให้ทั่วองค์กสิณ ไม่ต้องเบิกตากว้างเพราะองค์กสิณจะปรากฏชัดเกินไป นิมิตจะไม่ติดตา แต่ไม่ควรลืมตาน้อยเกินไป จะทำให้หดหู่ย่อหย่อนในการปฏิบัติ ให้ลืมตาเหมือนเราส่องกระจกดูเงาหน้าตนเอง แผ่ใจมองตลอดทั่ว ๆ ไป ไม่จดจ่อตรงส่วนใดส่วนหนึ่ง

                 ๖. ขณะเพ่งดู น้อมนึกเอาลักษณะตามบัญญัติขององค์กสิณ เป็นลักษณะรวม ๆไม่เจาะจงให้ลึกซึ้งไปถึงสภาวะขององค์กสิณนั้น ๆ เช่นดูองค์กสิณที่เป็นดิน ก็ไม่ต้องนึกถึงความแข็ง อ่อน หรือสีสรรให้ละเอียดละออลงไปในกสิณ อย่างอื่น ๆ ก็ในทำนองเดียวกัน

                 ๗. เมื่อเพ่งดูพอกำหนดจดจำได้ ให้หลับตาลง นึกถึงภาพนั้นด้วยใจ (ภาพที่นึกด้วยใจอยู่นี้เรียกชื่อว่า บริกรรมนิมิต) ขณะเดียวกันก็นึกภาวนาเรียกชื่อองค์กสิณนั้นพร้อมไปด้วย คำที่ใช้เรียกใช้ตามอัธยาศัย เช่น กสิณดิน อาจเรียกว่า ดิน ปถวี เมธนี พสุธา มหิ พสุนทรา ฯลฯ ตามความพอใจ ล้วนแต่มีความหมายถึงดินทั้งสิ้น เรียกคำเดิมซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลาภายในใจ (ไม่ต้องส่งเสียงดังออกมา) (ถ้อยคำที่เรียกซ้ำ ๆ อยู่ดังนี้เรียกว่าบริกรรมภาวนา)

                 ๘. การนึกกำหนดบริกรรมนิมิต และบริกรรมภาวนา ต้องกระทำพร้อมกันอยู่ตลอดเวลาไม่ให้ห่างจากกัน หากบริกรรมนิมิตเลื่อนไปนึกไม่ออก ให้ลืมตาเล็กน้อยมองดู จดจำใหม่ หรือจำได้ไม่ชัดเจน ก็ลืมตาดูอย่างธรรมดา เพ่งให้จำได้ต่อไปอีก แล้วหลับตากระทำบริกรรมทั้งสองต่อไปใหม่ กระทำอยู่ดังนี้ไปจนตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้

                 (การเจริญภาวนาโดยการใช้กสิณเป็นอารมณ์ดังนี้ คำภาวนา นิยมใช้ให้เป็นไปตามชื่อบัญญัติองค์กสิณนั้น ๆ เพื่อให้เกิดอุคคหนิมิต นิมิตติดตาได้เร็ว เช่น กสิณน้ำใช้คำว่า อาโป กสิณไฟ ใช้เตโช กสิณลม ใช้วาโย กสิณสีเขียวใช้ค่า นี่ลัง สีเหลืองใช้ค่า ปิดกังดังนี้เป็นต้น)

 

วิธีเจริญสมถภาวนาโดยใช้อสุภะ ๑๐

                  อสุภ มีคำว่า อะ รวมกับคำว่า สุภะ คำว่าสุภะ แปลว่า สวยงาม อะ แปลว่าไม่
                  อสุภ จึงแปลว่า ไม่สวยงาม
                  ในการปฏิบัติสมถกรรมฐานโดยใช้อสุภ เป็นอารมณ์กรรมฐานนั้น อสุภ ในที่นี้หมายเอา สิ่งไม่สวยไม่งามที่มีอยู่ในความเปลี่ยนแปลงของร่างกายคนที่ตายแล้ว เป็นสําคัญ

               ๑. ศพที่ตายแล้ว ๒-๓ วันกำลังพองอืด (อุทธุมาตก) ให้ใช้ศพที่เป็นเพศเดียวกับผู้ปฏิบัติ ขณะมองดูให้น้อมใจนึกเห็นความน่าเกลียด น่ากลัว ชวนสะอิดสะเอียนไปพร้อมกับคำภาวนาว่า อุทธุมาตะกัง ปฏิกูลัง (แปลว่า ศพที่กำลังขึ้นพองอืดนี้เป็นของปฏิกูล สกปรกน่ารังเกียจ) ซ้ำ ๆ อยู่ในใจ
                  ศพในลักษณะนี้คงสภาพอยู่ได้ไม่นาน ก็จะกลายเป็นศพที่เริ่มเน่ามีสีต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนาไปจนเกิดนิมิตติดตา (อุคคหนิมิต) แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เพ่งดูศพจริงอีก

                  ๒. ศพที่เริ่มเน่ามีสีต่าง ๆ (วินีลก) ใช้ศพที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้เจริญภาวนา เช่นเดียวกับข้อต้น เวลาเพ่งพิจารณาคงน้อมใจนึกถึงความน่าเกลียดไปด้วย พร้อมกับนึกเห็นสีต่าง ๆ ที่ซากศพนั้น คำภาวนาใช้ วิธีละกัง ปฏิกูลัง

           ๓. ศพที่เน่ามีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกมาจากที่ปริเปื่อย (วิปุพพก) แม้ศพจะเน่าแล้ว ก็ยังคงต้องใช้ศพเพศเดียวกับผู้ปฏิบัตินอกจากจะพิจารณาเห็นศพเป็นของน่าเกลียดน่ากลัวแล้ว แม้น้ำเลือดน้ำหนองที่ไหลออกมาจากศพก็ให้เห็นเป็นของน่ารังเกียจไปพร้อมกันกับบริกรรมภาวนาว่า วิปุพพะกัง ปฏิกูลัง

                  ๔. ศพที่กายขาดออกเป็นสองท่อน (วิจฉัททก) คงใช้ศพเพศเดียวกันกับผู้ปฏิบัติถ้าท่อนศพทั้งสองวางอยู่ห่างกันมากไป ให้จับมาต่อกันโดยให้ห่างเพียงประมาณ ๑ องคุลี คำบริกรรมใช้ วิจฉัททะกัง ปฏิกูลัง การพิจารณาคงให้รู้สึกเป็นความน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ตามเดิม

                 ๕. ศพที่ถูกสัตว์กัดทิ้ง ยื้อแย่ง แหลก มีอาการต่าง ๆ (วิกขายตก) ใช้ศพเพศเดียวกับผู้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นสภาคะกับตน ลักษณะที่ถูกสัตว์ เช่นสุนัข แร้ง ก เหยี่ยว ฯลฯ กัด จิก ทิ้ง ย่อมไม่น่าดู น่าเกลียดชังหวาดกลัว ให้นึกรังเกียจดังนี้ พร้อมไปกับการบริกรรมภาวนาว่า วิกขายตะกัง ปฏิกูลัง เรื่อยไป

                 ๖. ศพที่ถูกทิ้งเรี่ยราด อวัยวะหลุดขาด อยู่กันคนละทิศละทาง (วิกขิตตก) เมื่อได้ศพเพศเดียวกันมาแล้ว ขอให้ผู้อื่นช่วยจับวางพอปะติดปะต่อกัน พิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียด พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า วิกขิตตะกัง ปฏิกูลัง

                 ๗. ศพที่ถูกฟันถูกแทงด้วยอาวุธเป็นริ้วรอย (หาวิกขิตก) ใช้ศพที่เป็นสภาวะกับตนเช่นเดียวกัน วานผู้อื่นเก็บวางให้เป็นลำดับต่อกัน พิจารณาริ้วรอยนั้น ๆ ด้วยความเป็นของน่าเกลียดน่ากลัวไม่น่าดู บริกรรมภาวนาใช้คำว่า หตวิกขิตตะกัง ปฏิกูลัง

                 ๘. ศพที่มีโลหิตไหลอาบร่างกาย (โลหิตตก) ใช้ศพที่เป็นสภาคะกับตน พิจารณารวมทั้งศพและเลือดว่าเป็นของน่าเกลียด น่ากลัว ไม่น่าดู บริกรรมภาวนาใช้คำว่า โลหิตะกัง ปฏิกูลัง

                 ๙. ศพที่มีหนอนชอนไชอยู่ทั่วร่างกาย (ปุพวก) ยังคงต้องใช้ศพที่เป็นสภาคะคือเพศเดียวกับตน พิจารณาให้เห็นว่าน่าเกลียด โดยเฉพาะเหล่าตัวหนอนต่าง ๆ ที่กำลังชอนไช จนตัวของมันเองก็พากันไหลเลื้อยออกมา ทำให้ร่างกายทะลุโหว่เป็นรูเป็นช่องบริกรรมภาวนาใช้คำว่า ปุวะกัง ปฏิกูลัง

                 ๑๐. ศพที่มีแต่กระดูก (อัฏฐิก) ศพที่มีแต่กระดูก ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเพศของศพ เพราะเมื่อเหลือแต่กระดูก ย่อมไม่เห็นลักษณะผิดแผกแตกต่างระหว่างเพศหญิงชาย ให้ผู้ปฏิบัติจิตกำเริบหวั่นไหวด้วยอำนาจ กามราคะ เมื่อพิจารณาดูความน่าเกลียดให้ดูตลอดตั้งแต่ความน่ากลัวของกระโหลกศีรษะ ที่กลวงตรงดวงตา ที่หลุมลึก ช่องว่างห่างกันระหว่างซี่โครง นิ้วมือ นิ้วเท้า กระดูกท่อนใหญ่น้อยทั้งปวง

                 คำบริกรรมภาวนาใช้ อัฏฐิกัง ปฏิกูลัง ศพที่มีแต่กระดูกดังนี้ มีอยู่ ๕ อย่างที่นำมาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้คือ
                        ๑. ร่างกระดูกที่ยังพอมีเนื้อและเลือด เส้นเอ็นรัดรึงอยู่
                        ๒. ร่างกระดูกนั้น ไม่มีเนื้อติดอยู่ แต่ยังมีเลือดเปรอะเปื้อน และมีเส้นเอ็นรัดรึง
                        ๓. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อ ไม่มีเลือดติด แต่ยังมีเส้นเอ็นรัดรึง
                        ๔. กระดูกนั้นไม่คงรูปร่างแล้ว เพราะไม่มีเส้นเอ็นรัดรึง กระดูกจึงกระจัดกระจาย
                        ๕. กระดูกที่มีสีขาวเปรียบดังสีสังข์

                 การเจริญอสุภกรรมฐาน สำหรับผู้ที่มีบุญบารมีมาแล้วจากภพชาติก่อน ๆ ในการปฏิบัติใหม่ชาตินี้ นิมิตจะเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว เพียงพิจารณาเห็นความน่าเกลียดน่ากลัวเท่านั้น

                 สำหรับผู้ไม่มีพื้นบารมีเดิม ซึ่งอาจกำหนดได้ช้า ควรใช้การพิจารณาด้วยอาการทั้ง ๖ ดังนี้ คือ
                        ๑. กำหนดโดยสี (วณณโต) ให้รู้ว่าศพนี้เป็นศพของคนมีผิวสีอะไร ดำ ขาว หรือเหลือง
                        ๒. กำหนดโดยวัย (สิงคโต) ไม่ต้องกำหนดเรื่องเพศ กำหนดแต่ให้รู้ว่าเป็นศพคนวัยใด
                        ๓. กำหนดโดยสัณฐาน (สัณฐานโต) ให้รู้ว่าตรงนี้ตรงนั้นเป็นศีรษะ คอ มือ เท้า ฯลฯ
                      ๔. กำหนดโดยทิศ (ทิสโต) กำหนดให้รู้ว่าตั้งแต่สะดือขึ้นไปเป็นส่วนบนใต้สะดือลงมาเป็นส่วนล่าง หรือรู้ว่าตนอยู่ทิศนี้ ศพอยู่ทางทิศนั้น
                        ๕. โอกาสโต เป็นการกำหนดโดยที่ตั้ง รู้ว่า มือ เท้า ศีรษะ ฯลฯ อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ หรือ อีกอย่างศพอยู่ตรงนั้น ตนอยู่ตรงนี้
                        ๖. กำหนดโดยขอบเขต (ปริจเฉทโต) รู้ว่าเบื้องต่ำสุดของศพแค่ปลายเท้าเบื้องบนสุดแค่ปลายผม ทั่วตัวแค่ผิวหนัง

                หากพิจารณาด้วยอาการทั้ง ๖ ดังนี้แล้ว กรรมฐานยังไม่เจริญขึ้น ควรพิจารณาด้วยอาการทั้ง ๕ ให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก คือ
                        ๑. สนฺธิโต กำหนดตรงที่ต่อ คือให้รู้ว่าในศพนั้น มีรอยต่อใหญ่ๆ อยู่ ๑๔ แห่ง คือที่มือขวา ๓ ซ้าย ๓ เท้าซ้าย ๓ เท้าขวา ๓ ที่คอ ๑ ที่เอว ๑
                     ๒. วิวรโต กำหนดตรงช่อง ให้รู้ว่า ตรงนี้เป็นช่องตา ช่องปาก ช่องจมูก ช่องหู ช่องท้อง ซองมือ ซ่องเท้า หลับตา ลืมตา อ้าปาก ฯลฯ
                        ๓. นินนฺโต กำหนดโดยที่ลุ่ม เช่นเป็นที่ลุ่ม เป็นหลุมที่ตรง ตา คอ ภายในปาก หรือที่ต่ำที่สูง เช่นตนอยู่ที่ต่ำ ศพอยู่ที่สูง
                        ๔. ถลโต กำหนดโดยที่ดอน ให้รู้ว่าที่นูนขึ้นตรงนี้เป็นหัวเข่า หน้าผาก หน้าอก หรือกำหนดเรื่องสูงต่ำก็ได้
                 ๕. สมนฺตโต กำหนดโดยรอบด้าน รู้ทั่วไปในร่างของศพ ในขณะที่กำลังกำหนดอยู่นั้น ถ้าปรากฏส่วนไหนชัดเจนขึ้นมา ตามลักษณะของศพ อาจจะเป็นศพที่มีสภาพเพิ่งขึ้นอืด หรือเริ่มเน่ามีสีต่าง ๆ หรือมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหล ก็ตั้งจิตกำหนดเอาตรงนั้น พร้อมบริกรรมภาวนาด้วยถ้อยค่าตามลักษณะนั้น ๆ ลงไป

                 การเจริญภาวนาด้วยการกำหนดอสุภนี้ เป็นวิธีที่ค่อนข้างยาก เพราะโดยปกติธรรมดา คนเรามีความรู้สึกกลัวผีเป็นทุนเดิมติดตัวกันอยู่ทุกคน และที่ไว้ศพทั้งปวงก็อยู่ที่สุสานหรือป่าช้า อันเป็นที่น่าหวาดเสียวอยู่แล้ว แต่กรรมฐานชนิดนี้ก็เหมาะกับอัธยาศัยของผู้มีราคะจริตแรงกล้าเป็นที่สุด เมื่อเต็มใจปฏิบัติแน่แท้แล้ว ต้องกระทำใจให้เข้มแข็ง พิจารณาให้เห็นความจริงด้วยสติปัญญาเสียก่อนว่า ธรรมดาศพทุกศพ คือร่างที่ปราศจากชีวิต ปราศจากวิญญาณ การจะวิ่งไล่ ลุกขึ้นหลอกหลอนย่อมเป็นไปไม่ได้คนตายแล้วร่างกายย่อมเหมือนท่อนไม้ ท่อนฟื้น ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ แก่ใครได้คิดดังนี้เป็นอุบายลดความกลัว ความหวาดเสียวลงบ้าง

                 แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรทำความคุ้นเคยกับศพจนชินชาไปเสีย จนหายความหวาดกลัวลงทั้งหมด เพราะถ้าไม่นึกรังเกียจหรือหวาดกลัวเสียบ้างเลย การปฏิบัติจะไม่ได้ผลไม่เกิดนิมิตติดตา เช่นนายป่าช้าหรือสัปเหร่อ ไม่สามารถทำนิมิตติดตา (อุคคหนิมิต) ให้เกิดได้ เพราะชินกับศพจนไม่รู้สึกหวาดกลัวเลย

                 ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรใช้มือหยิบจับ เคลื่อนย้าย จัดแจงซากศพ ควรวานให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดทำให้ ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ใช้ไม้เขี่ยแทน ต้องให้จิตใจมีความรู้สึกรังเกียจอยู่เสมอจึงจะดี

                 สำหรับผู้ที่กลัวผีมาก ๆ เวลาไปทำการพิจารณา อาจจะชักชวนกันไป ๒-๓ คน ก็สมควร เพื่อไม่ให้หวาดกลัวจนเสียสติไป

                 วิธีเข้าไปพิจารณา อย่าไปอยู่ใต้ลม หรือเหนือลม เพราะถ้าอยู่เหนือลม กลิ่นกายของผู้ปฏิบัติอาจทําความไม่พอใจให้อมนุษย์ที่มาอยู่ที่ศพนั้น อาจทำความเดือดร้อนหรือหลอกหลอนเอาได้ ถ้าอยู่ใต้ลม กลิ่นเหม็นจากทรากศพอาจรุนแรงมากจนผู้ปฏิบัติทนไม่ได้

                 เวลาพิจารณาไม่ควรอยู่เหนือศีรษะ หรือปลายเท้า ควรทำการพิจารณาอยู่ระหว่างกลางตัว ภายในระยะอันสมควร ไม่ไกลไปใกล้ไป

                 อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติควรจำบทสวดมนต์ที่สำคัญบางบทไว้ เช่น รัตนสูตร เพราะบางทีในกรณีศพสดอยู่ อาจมีผีอื่นมาเข้าสิงให้ศพทำอาการต่าง ๆ ให้ผู้ปฏิบัติฟังสวดมนต์หรือมิฉะนั้นก็เอาไม้เท้าตีให้ล้มลง

                การพิจารณาอสุภ ใช้ได้ทั้งในร่างที่ตายแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่


                ในการพิจารณาอสุภทั้ง ๑๐ อย่าง ประเภทที่น่ากลัวมากทำให้อุคคหนิมิตเกิดได้เร็ว ถ้าน่ากลัวน้อยก็เกิดได้ช้า อีกประการหนึ่งพิจารณาอสุภจากร่างที่ไม่มีชีวิต อุคคหนิมิตเกิดได้เร็วกว่าพิจารณาจากร่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่กล่าวว่าร่างมีชีวิตสามารถใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานได้ โดยอนุโลมดังนี้
                ๑. ในขณะที่ร่างกายมีอาการบวมขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พิจารณาโดยความเป็นอุทธุมาตกะ
                ๒. ในขณะที่ร่างกายเกิดเป็นแผล เป็นฝี มีหนอง มีโลหิตไหลออกมา ก็พิจารณา โดยเป็นวิปุพพกะ
                ๓. ในขณะที่มี มือ แขน ขา ขาดด้วยอุปัทวเหตุอย่างใด ก็พิจารณาโดยเป็น วิจนิททกะ
                ๔. เห็นโลหิตเปรอะเปื้อนร่างกาย ก็พิจารณาโดยความเป็น โลหิตกะ
                ๕. ในขณะที่แลเห็นฟัน สามารถใช้พิจารณาโดยความเป็นอัฏฐิกะ

                การพิจารณาอสุภจากสิ่งที่ยังมีชีวิต แม้ว่าอุคคหนิมิตจะเกิดได้ช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นที่นิยมของบัณฑิตอยู่ไม่น้อย เพราะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ร่างกายนั้นเป็นอสุภที่แท้จริงไม่ว่าเวลาใดที่เราพากันเห็นว่าสวยงามกันอยู่ เพราะอาศัยเอาของภายนอกเช่นเสื้อผ้าเครื่องประดับของย้อม ของชุบ มาตกแต่งปกปิดเอาไว้ หากจะเอาเนื้อและของต่าง ๆ ที่อยู่ข้างในร่างกายพลิกออกมาไว้ข้างนอกเสีย กาและสุนัขคงจะรุมไล่กัดกิน ต้องพากันเอาไม้ไล่ตีไม่จบสิ้น

               ความงามในร่างกายนับเป็นสิ่งหลอกลวง เหมือนดอกทองกวาวที่อยู่บนต้น หลอกสุนัขจิ้งจอกแสนโง่ให้คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อห้อยอยู่ คนที่ขาดปัญญาก็เห็นผิดว่าร่างกายเป็นของงดงาม แท้จริงเป็นเพียงอสุภ เหมือนดอกทองกวาวเมื่อหล่นลงมา สุนัขจิ้งจอกจึงรู้ว่าไม่ใช่ชิ้นเนื้อ

 

วิธีเจริญสมถภาวนาโดยใช้ อนุสสติ ๑๐

                   สติ แปลว่าการระลึก อนุ แปลว่า เนือง ๆ อนุสสติ จึงแปลว่า การระลึกเนือง ๆ
             ๑. พุทธานุสสติ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เนือง ๆ คือเอาคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ได้แก่ บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า อิติปิโส ภควา อรห์ สัมมา สัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน สุคโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สัตถาเทวมนุสสานัง พุทโธ ภควา ฯ

                   พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระคุณดังนี้ เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา และจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

                  ผู้ปรารถนาเจริญพุทธานุสสติ ควรกระทำจิตใจให้เลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระพุทธคุณ เข้าอยู่ในที่สงบสงัดแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะระลึกเพียงบทใดบทหนึ่ง หรือระลึกรวมทุกบทก็ได้

                   อรหัง แปลได้หลายนัยดังนี้
                            - ไกลจากข้าศึก คือกิเลส
                            - หักกำกงแห่งวัฏฏสงสาร
                            - เป็นผู้ควรรับจตุปัจจัยทั้ง ๔ เช่นจีวรเป็นต้น และควรต่อสักการบูชาอันวิเศษของสัตว์โลก
                            - ไม่กระทำบาปแม้ในที่ลับ
                            - กำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น และกำจัดวาสนาเสียได้ อยู่ห่างจากกิเลสธรรมทั้งปวง
                            - ไกลจากคนชั่ว คืออสัปปุรุษ อยู่ใกล้คนดีสัปปุรุษ

                    สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือตรัสรู้เญยยธรรม ๕ ประการ มี สังขาร วิการ ลักขณะ นิพพาน บัญญัติ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วยอำนาจแห่งพระสัพพัญญุตญาณ โดยลำพังพระองค์เอง

                    วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ และการปฏิบัติอย่างประเสริฐยอดเยี่ยมคือ
                            - วิชชา ๘ มีอภิญญาทั้ง ๖ วิปัสสนาญาณ และมโนมยิทธิวิชชา
                            - จรณ ๑๕ มี ศีลสังวร รักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ เป็นอย่างดี รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบด้วยธรรมอันตื่นอยู่ในกุศล ศรัทธา สติ วิริยะปัญญา พาหุสัจจะ หิริ โอตตัปปะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

                    สุคโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี คือดำเนินกิจการต่าง ๆ เป็นอย่างดี คือดำเนินไปในอริยมรรคทั้ง ๔
                            - เสด็จไปสู่อมตมหานิพพาน สิ้นสั่งสารทุกข์ทั้งปวง
                            - เสด็จละกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ ละเด็ดขาดไม่กลับคืนมาอีก
                            - และทรงกล่าวพระวาจาอันควร ในที่ควรจะพึงกล่าว

                    โลกวิทู ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก โลกในที่นี้คือโลกทั้ง ๓ ได้แก่
                            - สังขารโลก คือ กุศล และอกุศล
                            - สัตว์โลก คือ ปวงสรรพสัตว์อันมีอัชฌาศัยต่าง ๆ กัน
                            - โอกาสโลก คือ แผ่นดินแผ่นฟ้า ภาคพื้นทั้งปวง รวมทั้งภพภูมิต่าง ๆ

                     อนุตตโร เป็นผู้ยอดเยี่ยม ประเสริฐด้วยพระคุณทั้งปวง ไม่มีบุคคลใดเทียมเท่าทรงเป็นผู้เหนือบุคคลทั้งปวงด้วยคุณแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทัสสนะ

                    ปุริสทัมมสารถ เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า มีวิธีการอันยอดเยี่ยมในการสั่งสอนอบรมเหล่าเวไนยสัตว์ ให้ตั้งอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ตามลำดับจนถึงบรรลุมรรค ผล นิพพาน โดยอุบายอันควรแก่อุปนิสัย เช่นด้วยการปลอบโยน การกดขี่ การยกย่อง ทำให้สัตว์เหล่านั้นละพยศร้าย ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์และศีล บรรลุอริยมรรค อริยผล สมควรต่อวาสนาบารมีที่ตนได้สร้างสมอบรมมา ดังตัวอย่าง สัตว์เดรัจฉานเช่น อปะลาละนาคราช มนุษย์เช่น สัจจกนิครนถ์ อมนุษย์เช่น อาวกยักษ์ เหล่าเทพยตาเช่น ท้าวอมรินทราธิราชพรหมเช่น พกาพรหม เป็นต้น

                     สัตถา เป็นครูฃ

                     เทวมนุสสานัง เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สัตถาเทวมนุสสานัง เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย คือสอนให้
                            - พ้นจากกาลเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือเลิกเวียนว่ายตายเกิด
                            - เบียดเบียนกิเลสมีราคะเป็นต้นให้หมดสิ้นไป
                            - ทำกิเลสให้หมดไปทั้งของตนเองและสอนผู้อื่นให้กระทำตามได้ด้วย
                            - บรรลุกามาวจรกุศลญาณเพื่อไปสู่กามสุคติ รูปาวจรกุศลญาณเพื่อไปสู่อรูปพรหมภูมิอรูปาวจรกุศลญาณเพื่อไปสู่อรูปพรหมภูมิ
                            - เข้าสู่พระนิพพาน
                            - มีอาวุธอันคมกล้า คือปัญญา
                            - ได้ประโยชน์อันสมควร
                            - ตั้งอยู่ในประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
                            - พ้นภัยอันตรายทั้งปวง
                            - ข้ามพ้นจากความกันดารของ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
                            รวมเป็นสอน ๑๐ ประการ

                     พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม คือรู้แจ้งอริยสัจ ๔ โดยรอบคอบถี่ถ้วน และยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตาม คำว่า พุทโธ มีความหมายเนื่องมาจากพระองค์ทรงมีพระบวรสันดานอบรมไว้ด้วยพระอรหัตตมรรคญาณอันประเสริฐ เป็นเหตุให้เกิดสัพพัญญุตญาณ

                     คำว่า พุทโธ มีความหมายได้ถึง ๑๕ ประการ คือ
                            - ตรัสรู้อริยสัจ ๔
                            - กระทำสัตวโลกที่มีบารมีสมควรตรัสรู้ ให้ตรัสรู้อริยสัจจธรรม
                            - มีพระบวรพุทธสันดานอันทรงคุณ คือ สัพพัญญุตญาณอันสามารถตรัสรู้ไปในเญยยธรรมทั้งปวง
                            - ทรงมีพระคุณ คือพระอรหัตตมรรคญาณหักรานกองกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ
                            - ตรัสรู้พระจตุราริยสัจด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครสั่งสอน
                            - เป็นผู้เบิกบานด้วยพระอรหัตตมรรคญาณ เหมือนดอกบัวที่เบ่งบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์
                            - สิ้นจากอาสวะทั้ง ๔ มี กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ
                            - มีพระบวรพุทธสันดานปราศจากกิเลสทั้ง ๑๕๐๐ ประการ (คืออารมณ์ ภายใน ๗๕ ภายนอก ๗๕ รวมเป็น ๑๕๐ คูณด้วยกิเลส ๑๐ อย่าง อารมณ์ ได้แก่นามธรรม ๕๓ (จิตเจตสิก) นิปผันนรูป ๑๘ ลักษณะรูป ๔ รวมเป็น ๗๕ กิเลส ๑๐ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา นะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ
                            - มีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณ ปราศจากราคะ
                            - มีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณ ปราศจากโทสะ
                           - มีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณ ปราศจากโมหะ
                           - ตื่นจากกิเลส เปรียบเหมือนคนตื่นจากหลับ
                           - เสด็จไปสู่พระนิพพานด้วยหนทางมัชฌิมปฏิปทา
                           - ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้ใดรู้เท่าเทียม
                           - ทรงได้พุทธิ คืออรหัตตมรรคญาณ ประหารอพุทธเสียสิ้น (อพุทธิคือ อวิชชา)

                     ภควา เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ความเจริญมี ๖ ประการ คือ อิสสริย ธมุม ยสฺส สิริ กาม ปยุตฺต อันประเสริฐน่าอัศจรรย์ยิ่ง

                     คำว่า ภควา แปลได้ ๘ นัย คือแปลได้ว่า
                           - แจกสิ่งมีค่าดังแก้ว คือพระสัทธรรม
                           - ทรงมีพระอิสสริยยศยิ่ง
                           - ทรงเสพซึ่งพระอริยคุณอันประเสริฐ เลิศที่สุดของโลก
                           - เป็นผู้ควรรับจตุปัจจยทาน คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสนาสนะ และคิลานเภสัช
                           - หักเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาป มีราคะเป็นต้น
                           - ทรงมีพระบารมีที่สร้างสมมาช้านาน
                           - มีพระวรกายและจิตอันเจริญด้วยภาวนาธรรมเป็นอันมาก
                           - ถึงที่สุดแห่งภพ คือพระอมตมหานิพพาน
                     ภควา ถ้าแปลเอาตามปรมัตถนัย (ความจริงที่แท้) แปลได้อีก ๕ อย่าง คือ แปลว่า
                           - มีพระภาคย์ คือมีบารมีธรรม
                           - หักเสียซึ่งกองกิเลส มีราคะเป็นต้น
                           - ประกอบด้วยบุญศิริ
                           - เสพซึ่งทิพยพรหมวิหาร และ
                           - คายเสียซึ่งกิริยาอันเป็นเหตุให้เวียนไปในไตรภพ
                     รวม ภควา แปลได้เป็น ๑๓ อย่าง

                     ความหมายของภควา ในตอนต้นที่กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบุญ ๖ ประการ คือ
                     ๑. อิสสริย คือทรงเป็นผู้มีอิสสริยะ ความเป็นใหญ่ บุญอิสสริยะมีอยู่ ๘ ประการ
                          - อณิมา หายตัวได้อย่างอัศจรรย์
                          - ลฆิมา เหาะไปได้อย่างรวดเร็ว
                          - มหึมา เนรมิตร่างกายให้ใหญ่ที่สุดจนไม่มีที่เปรียบได้
                          - อีสิตา มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งตนเอง และเหล่าสรรพสัตว์ทั่วทุกชั้น ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม
                          - วสิตา สามารถเข้าฌาน และทำอภิญญาได้ทันทีเมื่อต้องการ (อภิญญา มี ๖ คือ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ ทำให้อาสวะสิ้นไป)
                          - ยตฺถกามาวสายตา สามารถทำกิจธุระต่าง ๆ ให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ในเมื่อจ๋าเป็น

                     ๒. ธมฺม ได้แก่ โลกุตตรธรรม ๔ (คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) มรรค ๔ สามารถประหาณกิเลสให้หมดไปเป็นสมุจเฉทปหาณ (ละได้เด็ดขาดไม่หวนกลับมาอีก)

                     ๓. ยสฺส มีเกียรติยศ ชื่อเสียง แผ่ทั่วไปในหมู่มนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลายที่อยู่ในหมื่นจักรวาล

                     ๔. สิริ มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง รูปร่างงดงาม เป็นสิริมงคล น่าชื่นชมชวนดู ไม่มีเบื่อ คือมีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ ดังนี้

                     ๕. กาม เมื่อประสงค์สิ่งใดย่อมสำเร็จในสิ่งนั้นทุกประการ

                     ๖. ปยุตฺต มีความเพียรเพื่อให้เวไนยสัตว์ ได้รับประโยชน์ เช่นทรงมีพุทธกิจ

                     ระหว่างเสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ และก่อนทรงกระทำภัตตกิจ กระทำการอบรมสั่งสอนผู้มาเข้าเฝ้าตามสมควร
                     หลังภัตตกิจ ประทานโอวาทและกรรมฐานตามสมควรแก่อัธยาศัยของพระภิกษุ
                     เมื่อพระภิกษุกลับไป ทรงพักผ่อนชั่วครู่ แล้วจึงทรงตรวจดูอุปนิสัยสัตว์ที่จะทรงอบรมสั่งสอนได้
                     บ่าย ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปวงชนที่มาจากทิศต่าง ๆ
                     จากนั้นสรงนํ้าและพักผ่อนชั่วขณะ
                     ปุริมยาม คือ ๖ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม ทรงแสดงธรรม ให้กรรมฐาน ตอบปัญหาต่าง ๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ จนสิ้นปุริมยาม
                     มัชฌิมยาม ๔ ทุ่มถึงตี ๒ เป็นเวลาเงียบสงัด เทวดาและพรหมทั้งหลายจากหมื่นจักรวาลมาเข้าเฝ้า ทูลถามปัญหาบ้าง อาราธนาแสดงธรรมบ้าง จนสิ้นมัชฌิมยาม
                     ปัจฉิมยาม ตั้งแต่ตี ๒ จนถึง ๖ โมงเช้า ทรงแบ่งเวลาออกเป็น ๓ ระยะ
                            ระยะที่หนึ่ง ทรงเดินจงกรม 6 ชั่วโมง ๒๐ นาที
                            ระยะที่สอง ทรงเข้าที่บรรทม 9 ชั่ว ๒๐ นาที
                            ระยะที่สาม เวลาที่เหลือ ทรงพิจารณาตรวจหมู่มนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลายว่ามีผู้ใดมีบารมีแก่กล้ามาจากภพก่อน มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งตามสมควรแก่วาสนาบารมี เพื่อพระองค์จะได้โปรดในวันต่อไป

                     การรำลึกถึงพระพุทธคุณต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อผู้ปฏิบัติกระทำอยู่เนือง ๆ จิตใจย่อมอ่อนโยนซื่อตรงเป็นอันดี
                     จิตจะสงบจาก ราคะ โทสะ โมหะ และนิวรณธรรมทั้ง ๕ คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะกุกกุจจะ สิ่งเหล่านี้ครอบงำไม่ได้
                     เมื่อจิตสงบ ธรรมะที่ชื่อวิตก วิจารในกรรมฐานที่มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ย่อมบังเกิด
                     วิตกวิจารเกิดแล้ว ย่อมนำให้ปีติทั้ง ๕ คือ ขุททะกา ขณิกา โอกันติกา อุเพงคา ผะระณา เกิด
                     เมื่อปีติเกิด ทำให้ความสงบทางกาย (กายปัสสัทธิ) ความสงบทางจิต (จิตตปัสสัทธิ) ก็บังเกิด
                     เมื่อความสงบเกิด ความสุขทางกาย ความสุขทางใจก็เกิด
                     เมื่อสุขเกิด จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ (สมาธิที่ใกล้แน่วแน่ คือสมาธิเฉียดฌานเรียกว่าอัปปนาสมาธิ)
                     แต่เนื่องจากพระพุทธคุณนั้นลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งนัก ไม่มีที่หยุดยั้งเพียงพอ จิตจึงไม่สามารถรวมลงแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิได้ คงได้เพียงอุปจารสมาธิ
                     ผลที่ผู้ปฏิบัติจึงได้รับจากการเจริญพุทธานุสสติมีดังนี้
                          - อย่างสูงได้อุปจารสมาธิ
                          - จะมีจิตใจเคารพรักในพระบรมศาสดายิ่งนัก
                          - จะไพบูลย์ด้วยคุณธรรม มี ศรัทธา สติ ปัญญา
                          - จะปรีดาปราโมทย์ในบุญ จนสามารถอดกลั้นทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นในจิตใจได้
                          - จะมีความรู้สึกเหมือนตนเองได้อยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดา เป็นผู้ที่มนุษย์และเทวดาควรบูชา
                          - จะมีจิตใจน้อมไปในการปรารถนาพุทธภูมิ
                          - จิตใจจะหนักแน่นไปด้วยหิริโอตตัปปะ ไม่ประพฤติล่วงข้อพุทธบัญญัติทั้งหลาย ละอายและเกรงกลัวในการทำชั่วทำบาปเป็นอย่างยิ่ง เหมือนตนเองอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
                          - หากวาสนาบารมียังอ่อน ก็มีสุคติภพเป็นที่ไป หลังจากสิ้นชีวิตลง

 

ธัมมานุสสติ

                  ๒. ธัมมานุสสติ หมายถึงการระลึกถึงพระคุณของพระธรรมอยู่เนือง ๆ ผู้เจริญภาวนา สามารถระลึกถึงพระคุณเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทยก็ได้
                  สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปเนยฺยิโก ปจฺจตฺต์ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ ฯ
                                 พระธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
                                 เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติจึงเห็นได้ด้วยตนเอง
                                 เป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้ผลได้ไม่จํากัดกาลเวลา
                                 เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด (ชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติได้)
                                 เป็นสิ่งควรน้อมเข้ามาใส่ตน
                                 เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
                  สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

                  ธมฺโม ในที่นี้ย่อมรวมทั้งปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม หรือหมายเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือหมายเอาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ หรือหมายเอาพระโลกุตตรธรรม ๙ ประการ มีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็ได้

                  ภควตา ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

                สวากขาโต ตรัสไว้ดีแล้ว คือตรัสเทศนาไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และในตอนท้าย สมบูรณ์ด้วยอรรถะและพยัญชนะทำให้ผู้ฟังสงบระงับดับเสียซึ่งความทุกข์ต่าง ๆ ที่มีกิเลสเป็นเหตุ ระหว่างประพฤติปฏิบัติตามก็มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานแจ่มใส สุขกายสบายใจ หลังจากการประพฤติปฏิบัติยิ่งมีจิตใจอิ่มเอิบเป็นทวีคูณ ใกล้ความสิ้นทุกข์ไปเรื่อย ๆ สมตามความมุ่งหมายที่แสวงหามาช้านาน

             สนฺทิฏฐิโก พระนพโลกุตตรธรรม ๙ ประการ เป็นของที่สามารถเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยปัญญาจักษุของตนเองได้ ในเมื่อชำระจิตสันดานของตนให้สงบหรือหมดสิ้นจากกิเลส มีราคะเป็นต้น
                          - เป็นธรรมที่ไม่ใช่เพียงได้ยินได้ฟังแล้วจดจําเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องกระทำให้เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยตนเองโดยแท้จริง
                          - พระอริยบุคคลย่อมทำลายกิเลสธรรมอันลามกให้พ่ายแพ้ ด้วยปัญญาที่เกิดพร้อมอริยมรรค

                  อกาลิโก พระนพโลกุตตรธรรมทั้ง ๔ นั้นเมื่อปฏิบัติตามเหตุโดยสมบูรณ์แล้ว ย่อมให้ผลทันทีไม่จำกัดเวลาคือเมื่ออริยมรรคบังเกิดขึ้นแล้วจะยับยั้งผลไม่ให้เกิด จะขอให้เกิดตามหลังอีก ๒ - ๓ - ๔ - ๕ วันไม่ได้ อริยผลต้องเกิดทันทีในขณะนั้น

                 เอหิปสฺสิโก โลกุตตรธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นธรรมอันสมควรเชื้อเชิญคนทั้งหลาย ให้มาชมดูว่าเป็นของมีอยู่จริงแท้ บริสุทธิ์ประดุจดวงแก้วมณีอันวางไว้ในผ้ารัตนกัมพล หรือเปรียบประดุจจันทรมณฑลอันปราศจากเมฆหมอกปิดบัง ลอยเด่นอยู่ท่ามกลางนภากาศ เป็นของมีอยู่จริงเหมือนโลกนี้มีพระอาทิตย์พระจันทร์

                 โอปนยิโก ธรรมคือมรรค ๔ ผล ๔ ควรที่ผู้ปฏิบัติจึงน้อมเข้ามาไว้ในจิตใจตนด้วยการเจริญภาวนาและกระทำให้แจ้งในพระนิพพาน ควรปฏิบัติด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่แท้จริงเด็ดเดี่ยว แม้แต่ถ้าจะมีไฟไหม้ผมบนศีรษะ หรือไหม้เครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดร่างกายอยู่ก็ตามที ก็ไม่ใส่ใจดับไฟนั้น มากไปกว่าการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินั้น เมื่อบังเกิดผลปรากฏขึ้นแล้วเพียงครั้งเดียวก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้

              ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ พระนพโลกุตตรธรรมนั้น ผู้มีปัญญา คือกัลยาณปุถุชน และพระอริยบุคคล ผู้มีอุคคติตัญญูทั้งปวงจึงสามารถรู้ สามารถเห็นโดยเฉพาะด้วยตนเอง

                     อานิสงส์ของการเจริญธัมมานุสสติ จะเป็นเช่นพุทธานุสสติ คือ จิตจะอ่อนโยน ซื่อตรง ราคะ โทสะ โมหะครอบงำไม่ได้ นิวรณธรรมทั้ง ๕ จะถูกข่มไป ร่างกายของผู้ปฏิบัติจะเปรียบดังเป็นพระเจดีย์อันควรสักการบูชา จิตใจสงบลง เกิดวิตกวิจาร ปีติ ปัสสัทธิ สุข และอุปจารสมาธิเป็นที่สุด ถ้ายังเป็นผู้มีวาสนาบารมีอ่อนอยู่ ไม่สามารถสำเร็จ ฌาน มรรค ผล เมื่อตายแล้วจะไปสู่สุคติภพ

 

สังฆานุสสติ

                     ๓. สังฆานุสสติ คือการระลึกถึงพระคุณของพระสงฆ์อยู่เนือง ๆ โดยใช้ภาษาบาลี หรือภาษาไทยก็ได้
                    สุปฺปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฺปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฺปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฺปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ (ยาทิทํ จตฺตาริ ปุริสคานี อฏฺฐปุริสปุคฺคลา) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อัญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺต โลกสฺส ฯ

                     พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ถึงธรรมอันเป็นเครื่องนำตนออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติชอบแล้วสมควรแล้ว (ได้แก่บุคคล ๔ คู่ โสดา สกิทาคา อนาคา และอรหันต์ ถ้านับเรียงกันได้ ๔ จำพวก คือ บุคคลที่ได้ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล) เหล่านี้แหละ คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้สมควรแก่สักการะ ที่นำมาบูชา สมควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ สมควรเป็นผู้รับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี (ประนมมือแสดงความเคารพ) เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นดียิ่งกว่านี้

                      สาวกสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์สาวก
                      ภควโต แปลว่า ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
                  สุปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวกทั้ง ๔ จำพวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดี คือดำเนินตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ปฏิบัติตามพระนพโลกุตตรธรรม
                     อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติซื่อตรง หลีกออกจากทางไม่สมควรทั้งสองทาง คือการทรมานตน (อัตตกิลมถานุโยค) และ กามสุขัลลิกานุโยค (การตั้งตนประกอบอยู่ในกาม) ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีกาย วาจา ใจ ซื่อตรงต่อการปฏิบัติ ไม่คดโกงปฏิบัติตรงต่อหนทางที่นำเข้าสู่พระนิพพานประการเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก ทั้งไม่มีมายาสาไถยเข้ามาเจือปนแต่อย่างใด
                     ญายปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวกเหล่านี้ปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จพระนิพพาน อันเป็นอมตธรรม ไม่มีการปรารถนาในโภคสมบัติ และภวสมบัติในภูมิใด ๆ ทั้งหลาย
                      สามีจิปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติสมควรต่อการเคารพของคน
                      ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ หมายถึงพระอริยบุคคล ๘ ประเภท
                                       โสดาปัตติมรรค ประหาณ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และ
                                       กามราคะ ปฏิฆะ ที่สามารถนำไปสู่อบายได้
                                       สกิทาคามิมรรค ประหาณ กามราคะ ปฏิฆะ ที่เป็นอย่างหยาบ (แต่ไม่มีผลถึงนำไปอบาย) ได้
                                       อนาคามิมรรค ประหาณ กามราคะ ปฏิฆะ ที่เป็นชนิดสุขุมได้หมด
                                       อรหัตตมรรค ประหาณ โลภะ โมหะ มานะ นะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนต ตัปปะ
                       อาหุเนยโย พระอริยสงฆ์เหล่านี้ สมควรต่อการเป็นผู้รับจตุปัจจัยที่ผู้ถวายนำมาจากที่ไกล เป็นผู้ให้เกิดผลดีอย่างมหาศาลแก่ผู้นำมาถวาย
                        ปาหุเนยโย พระอริยสงฆ์สาวกเป็นแขกผู้เจริญที่ประเสริฐที่สุด สมควรต่อการรับทาน คือสิ่งของที่ทายกตกแต่งไว้
                       ทักขิเณยโย พระอริยสงฆ์เป็นผู้สมควรรับการบริจาคทานของบุคคลที่เชื่อกรรมและผลของกรรม สามารถให้เกิดอานิสงส์ตามปรารถนาของคนทั้งหลายผู้ถวายทาน
                       อัญชลีกรณีโย พระอริยสงฆ์สาวกเป็นผู้สมควรให้สัตว์โลกทั้งปวง ทั้งมนุษย์ เทวดาพรหม กระทำอัญชลี
                       อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ ถ้าการประกอบการบุญ การกุศลของสัตว์ทั้งหลาย เปรียบได้กับการหว่านพืชเพาะปลูกลงในนาแล้ว พระอริยสงฆ์สาวกก็เปรียบได้กับเป็นพื้นเนื้อนาที่บริสุทธิ์ อุดมสมบูรณ์เป็นที่สุด ไม่สามารถจะนำเนื้อนาในที่ใด ๆ มาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นที่เลิศที่สุด แม้จะหว่านพืชเพียงเล็กน้อย ก็ได้รับผลมากมายใหญ่หลวง

                        การเจริญภาวนาด้วยพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ทั้ง ๓ นี้ เวลากำหนดบริกรรมภาวนา จะใช้ถ้อยคำสรรเสริญพระคุณทั้งบท หรือจะใช้เป็นตอน ๆ ก็ได้ตามสะดวก สำหรับพระอริยสาวกนั้น หมายถึงทั้งพระอริยบุคคลทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะทั้งสองเพศนี้มีอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงอธิศีลสิกขา ของคฤหัสถ์เป็นเพียงศีล ๕ หรือ ๘ ของบรรพชิตเป็นศีล ๒๒๗

                         อานิสงส์การเจริญสังฆานุสสติ ย่อมมีเหมือนพุทธานุสสติและธัมมานุสสติ คือได้ผลสูงสุดเพียงอุปจารสมาธิ

 

สีลานุสสติ

                       ๔. สีลานุสสติ การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลที่ตนรักษาไว้โดยปราศจากโทษอยู่เนือง ๆ
                    ศีลที่รักษานี้ จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ศีล ๒๒๗ ตามเพศของผู้เจริญภาวนา แต่มีข้อที่ควรระลึก คือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความประพฤติครบถ้วนทั้ง ๕ ประการ

                    ๑. ต้องชำระศีลของตนให้พ้นจากโทษทั้ง ๔ เพื่อให้ศีลของตนบริสุทธิ์บริบูรณ์ โทษ ๔ อย่างคือ ศีลขาด (ขาดข้อหัวหรือข้อท้าย ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสองข้อ) ศีลทะลุ (ข้อกลาง ๆ ข้อใดข้อหนึ่งขาดไป) ศีลด่าง (ศีลข้อกลาง ๆ ขาดไปเกินหนึ่งข้อ แต่ไม่ใช่ข้อติดต่อกัน) ศีลพร้อย (ศีลข้อกลาง ๆ ขาดไปเกินหนึ่งข้อ แต่เป็นข้อติดต่อกัน)

                                  ๒. จะต้องมีจิตใจพ้นจากความเป็นทาสของตัณหา มิได้รักษาศีลเพื่อมุ่งหวังโลกียสมบัติแต่อย่างใด

                                  ๓. มีการปฏิบัติกาย วาจา ใจ เคร่งครัดต่อข้อสิกขาบท ไม่อาจที่ตนเองและผู้อื่นจะมาอ้างหลักฐานจับผิดเอาได้

                                  ๔. ข้อประพฤติด้วยกายและวาจาในการรักษาศีลนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่วิญญูชนทั้งหลายสรรเสริญ แม้อันธพาล หรือผู้เป็นศัตรูจะตำหนิก็ไม่เดือดร้อนประการใด

                                  ๕. ต้องประกอบด้วยปัญญา มีความรู้ว่า ศีลนี้เป็นเหตุให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มรรคสมาธิ ผลสมาธิเกิดขึ้นได้

                      เมื่อเวลาเจริญภาวนา จะระลึกคุณของศีลเป็น คำบาลี หรือคำไทยก็ได้
                                  อโห เม วต สีล เห อขณฑ์ อนิทท์ ทเว
                                  อสพล อกมมาส ภุชิสส์ อปรามส
                                  ปสฏฐ์ สพพวิญญูหิ สมาธิ ส่วนกฯ
                                  ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ดีน่าปลื้มใจจริงหนอ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยโดยแน่นอน
                                  ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ ทำให้เราพ้นไปจากการเป็นทาสของตัณหา
                                  ศีลของเรานี้มิอาจมีผู้มากล่าวหาได้
                                  ศีลของเรานี้คนอันธพาลและผู้เป็นศัตรูกับเราไม่มีการเห็นดีด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนทั้งหลายนั้นย่อมสรรเสริญ
                                  ศีลของเรานี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และมรรคสมาธิ ผลสมาธิ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

                      เมื่อผู้ปฏิบัติระลึกเนือง ๆ ในศีล เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ก็จะมีจิตใจเคารพในสิกขาบท จะไม่ยอมล่วงศีล แม้ผิดพลั้งเพียงเล็กน้อยก็จะสะดุ้งตกใจเป็นอันมาก จะไม่ยอมล่วงละเมิด ตนเองก็ไม่สามารถติเตียนตนเองได้ คุณธรรมต่าง ๆ เช่น ศรัทธา สติปัญญา จะเจริญขึ้น จิตจะเปี่ยมไปด้วยความปรีดาปราโมทย์ แม้ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ ก็มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

                    การมีศีลบริสุทธิ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการเจริญกรรมฐานวิธีใด ศีลบริสุทธิ์ดีแล้วจะเกิดคุณธรรมต่าง ๆ ขึ้นตามลำดับคือ อวิปฏิสาร ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสนะ นิพพิทา วิราคะ วิมุติญาณ ทัศนะอันเป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
                      ผู้ปฏิบัติที่สังวรดังกล่าวมานี้จึงควรเจริญสีลานุสสติ

 

จาคานุสสติ

                     ๕. จาคานุสสติ การระลึกถึงการบริจาคทานของตนที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์อยู่เนือง ๆ การบริจาคทานที่นำมาใช้เป็นจาคานุสสติได้ ต้องเป็นการบริจาคที่มีลักษณะเป็นคุณ ๓ ประการคือ
                      ๑. ธัมมียลัทธวัตถุ คือวัตถุสิ่งของที่เป็นเทยยธรรมนั้น ได้มาโดยชอบธรรม
                      ๒. บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนา อปรเจตนา
                      ๓. มุตตาจาคี คือการบริจาคที่สละละพ้นไปจากความตระหนี่ และตัณหา มานะ ทิฏฐิ

                     ผู้มีศรัทธาเจริญจาคานุสสติ จะต้องมีจิตใจชอบการจำแนกแจกทานอยู่เป็นพื้นนิสัย เมื่อตั้งใจจะปฏิบัติด้วยวิธีนี้ จะต้องตั้งจิตลงไปถึงขนาดที่ว่า จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้น ไปจนตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติ ตราบใดที่ยังมีผู้รับบริจาคทาน (ปฏิคาหก) อยู่ ถ้าแม้เรายังไม่ได้บริจาคแม้เพียงข้าวสัก ๑ ค่าแล้วเราจะไม่ยอมบริโภคเป็นอันขาด

                     ขณะลงมือปฏิบัติ ให้ระลึกถึงการบริจาคทานของตนเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทยก็ได้ เช่น ลาภา วต เม สุลัทธัง วต เมโยหัง มัจเฉรมลปริยฏฐิตาย ปชาย วิคหามลมัจ เฉเรน เจตสา วิหรามี มุตตจาโค ปยุตปาณี โวสสัคครโต ยางโยโค ทานสังวิภาครโต

                     แปลว่า บุญลาภแห่งทายกผู้บำเพ็ญทานนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคย่อมตรัสสรรเสริญโดยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก บุญลาภนั้นชื่อว่าเป็นของเรา บังเกิดแก่เรา อีกประการหนึ่ง การสั่งสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดประทานไว้นั้นก็ดี การที่เราได้มีโอกาสบังเกิดเป็นมนุษย์นี้ก็ดี

                     สุลัทธัง วต ได้ชื่อว่าเราได้มาด้วยดี เพราะโดยทั่วไปแล้วสัตว์โลกทั้งปวงล้วนมีสันดานตระหนี่ มัจฉริยะ อันเป็นมลทินโทษ ล้วนถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรมดังนี้ เราเองเป็นผู้อยู่โดยปราศจากมลทินนี้ได้
                     มุตตจาโค เราสามารถสละบริจาคได้แล้ว
                     ปยตปาณี มีมืออันล้างอยู่เป็นนิจ (สมัยโบราณใช้วิธีเอามือหยิบสิ่งของมอบให้แก่ ผู้รับ มือต้องเปรอะเปื้อน ทำให้ต้องล้างออก เมื่อมีการบริจาคบ่อยก็ต้องล้างมือบ่อย) เพื่อคอยหยิบไทยทานบริจาคโดยเคารพ
                     โวสสัคครโต เรามีจิตยินดีในกิริยาอันบริจาคทาน
                     ยาจโยโค เราเป็นผู้สมควรต่อการขอของยาจก คือถ้ายาจกมาขอสิ่งใด ก็จะให้สิ่งนั้นตามที่ขอ
                     ทานสังวิภาครโต เรามีจิตยินดีในทาน ในการจําแนกทาน (กิริยาที่ให้สิ่งที่เราเตรียมไว้บริจาค เรียกว่า ทาน ถ้าให้สิ่งที่เราเตรียมไว้บริโภคเองเรียกว่า สังวิภาค จำแนกทาน)

                     ถ้าไม่ใช้บทข้างต้น จะใช้บทว่า
                     มนุสสัตตัง สุลัทธัง เม ยวาหัง จาเค สทา รโต มัจเฉรปริฏฐาย ปชาย วิคโตตโต ฯ
                     แปลความว่า ในบรรดาชนทั้งหลายที่มีมัจฉริยก่อกวน กำเริบด้วยความหวงแหนอยู่นั้น เรากลับเป็นผู้มีความยินดีปลื้มใจในการบริจาคทาน โดยปราศจากมัจฉริยะเสียได้ การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ดีจริงหนอ

                     ก่อนการลงมือเจริญภาวนาด้วยคาถาดังข้างต้น ควรน้อมใจให้เกิดความยินดีพอใจ ปลื้มใจในการบริจาคทุกครั้งไป ด้วยการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกเทียบกับความเป็นอยู่ของตนเอง ให้เห็นว่าคนทั้งปวงล้วนแต่มีความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใคร่จะยอมบริจาคให้เป็นทานแก่ใครๆ มัวสนใจอยู่แต่ในเรื่องการบำรุงบำเรอตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นมีการตกแต่งร่างกายเกินกว่าเหตุ บริโภคอาหารเกินความจำเป็น ชอบเรื่องสนุกสนานเพลิดเพลิน แสดงการโอ้อวดซึ่งกันและกัน ล้วนเป็นเรื่องที่หาสาระแก่นสารไม่ได้เสียทั้งสิ้น คนเหล่านี้กระทําเรื่องตรงข้ามกับตัวเรา ซึ่งเป็นผู้กำลังมีโอกาสได้ชัยชนะศัตรูภายใน คือความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สินเงินทอง ยอมลดละการบำรุงบำเรอตัณหา มานะ ทิฏฐิ ลดลงเสียได้ นับว่าเป็นโชคดีของเราเองอย่างแท้จริง ต่อไปภายหน้าย่อมจะได้รับแต่อานิสงส์ที่ดีงาม มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ประกอบไปด้วยความโสมนัสอันยอดยิ่ง

                     เมื่อคำนึงดังที่กล่าว ก่อนการเจริญภาวนา จิตใจย่อมอ่อนโยนซื่อตรง ผลการปฏิบัติเกิดได้ง่าย ผู้ที่นิยมปฏิบัติจาคานุสสติกรรมฐาน ย่อมมีจิตใจเจริญวัฒนาในการบริจาคทาน มีอัธยาศัยปราศจากความโลภ จิตจะเป็นผู้หนักไปในความมีเมตตา ไม่มีการย่อหย่อนในการบริจาคทาน สันดานจะเป็นคนมีใจดี มีปรีดาปราโมทย์ มีอานิสงส์เท่าการเจริญพุทธานุสสติ แม้ว่าจะมีสำเร็จพระอริยมรรค อริยผล ในชาตินี้ เมื่อตายลงก็จะมีสุคติภพเป็นทีไป

                    อนึ่งบรรพชิตที่กำลังปฏิบัติสารณียธรรม หรือสารณียวัตรอยู่นั้น (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึงกัน) ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือและสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มี ๖ อย่าง คือ ๑-๓ ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๔. แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร ๖. มีความเห็นเข้ากันได้กับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น (ทิฏฐิสามัญญตา) ถ้าได้เจริญจาคานุสสติกรรมฐานควบไปด้วย จะช่วยให้การปฏิบัติสารณียธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อย เพราะการปฏิบัติสารณียธรรมนั้นต้องให้ทานทุกวัน ตลอดระยะเวลาถึง ๑๒ ปี

                    การปฏิบัติสารณียธรรม จะต้องเลือกสถานที่และบุคคลในหมู่คณะให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ เช่น สถานที่เป็นที่ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำนวนมาก และล้วนแต่เป็นผู้มีศีลและสิกขาบท ตลอดจนคันถธุระ หรือวิปัสสนาธุระ ด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนลงมือปฏิบัติให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะทำตามหลักของสารณียธรรมที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ตลอดครบระยะ ๑๒ ปี อธิษฐานเสร็จแล้ว แจ้งให้เพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลายให้ทราบทั่วกันทั้งหมด ว่าตนจักปฏิบัติสารณียธรรม

                    สําหรับสารณียธรรมข้อ ๔ เรื่องแบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้น พระภิกษุผู้ปฏิบัติจะต้องนำอาหารที่ไปรับบิณฑบาตได้มา ไปถวายพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าเพื่อนก่อน ถวายลดหลั่นกันลงมาตามอายุพรรษา ถ้าจะถวายพระภิกษุอื่นก่อน ต้องเป็นภิกษุจำพวกใดพวกหนึ่งใน ๕ อย่าง คือ
                    ๑. ภิกษุสามเณรที่อาพาธ
                    ๒. ภิกษุสามเณรที่เป็นผู้รักษาพยาบาล
                    ๓. ภิกษุสามเณรที่เป็นอาคันตุกะ
                    ๔. ภิกษุสามเณรที่เป็นคัมมิกะ คือจะรีบไปธุระ
                    ๕. ภิกษุสามเณรบวชใหม่ที่ยังครองจีวร อุ้มบาตรไม่เป็น

                    ในขณะถวาย ผู้ปฏิบัติจะแบ่งถวายไม่ได้ ต้องยกถวายทั้งบาตร แล้วแต่ผู้รับจะตักเอาเพียงใด หากหมดลง ไม่มีเหลือให้ตนเองบริโภค และยังมีเวลาเหลืออยู่ ก็ไปรับบิณฑบาตใหม่ แล้วน่ากลับมาถวายตามลำดับพรรษาอีก กระทำอยู่ดังนี้จนกว่าจะหมดผู้รับ ถ้าเวลาหมดลงเสียก่อนและอาหารก็หมด ผู้ปฏิบัติต้องยอมอดอาหารในวันนั้น แต่มีข้อสำคัญละเลยไม่ได้เด็ดขาดอยู่ประการหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ถือโทษโกรธผู้รับเป็นอันขาด หากเกิดโกรธขึ้นมาเมื่อใด แม้จะปฏิบัติมาด้วยดีจนถึงวันสุดท้ายครบ ๑๒ ปี ก็ย่อมถือว่าการปฏิบัตินั้นล้มเหลวไม่สำเร็จ ต้องเริ่มต้นใหม่

                   เมื่อเป็นดังนี้ เพื่อป้องกันความโกรธมิให้เกิดขึ้น จึงควรมีสติระลึกให้มั่นไว้ และการให้มีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอในเรื่องนี้ ไม่มีวิธีใดดีเท่าการเจริญจาคานุสสติ

                   อานิสงส์การปฏิบัติสารณียธรรม หากปฏิบัติสำเร็จ ในระหว่างยังมีชีวิตอยู่ย่อมได้รับอานิสงส์ ๔ ประการ คือ
                   ๑. ไม่ลำบากในอาหารเครื่องบริโภค
                   ๒. อาหารที่บิณฑบาตได้มา จะแบ่งถวายพระภิกษุสามเณรจำนวนเท่าใด ไม่มีหมด
                   ๓. ถ้ามีการถวายทานด้วยการจับสลาก จะเป็นผู้ได้รับแต่ของที่ดีเยี่ยม
                   ๔. ภุมมัฏฐิเทวดา และรุกขเทวดาทั้งหลายเอาใจใส่ในการใส่บาตรให้

 

เทวตานุสสติ

                  ๖. เทวตานุสสติ คือการระลึกถึงกุศลกรรมของตน มีศรัทธาเป็นต้น โดยนึกเปรียบเทียบกับเทวดา พรหมทั้งหลายที่บริบูรณ์ด้วย สัปปุริสรัตนะ ๒ อย่าง และสัปปุริสธรรม ๗ ประการอยู่เนือง ๆ (สัปปุริสธรรม ๗ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตตบุรุษคือคนดี มี รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บุคคล สัปปุริสธรรม ๗ ดังนี้เป็นการทำให้ตนเป็นคนดี สัปปุริสธรรม ๗ ที่ทำให้เป็นเทวดาเป็นอีกนัยหนึ่ง)

                 ผู้จะเจริญกรรมฐานวิธีนี้ ต้องปฏิบัติตนให้มีคุณธรรม ๗ ประการ ที่เรียกว่าสัปปุริสรัตนะ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ และสัปปุริสธรรม ๗ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ วิริยะ และปัญญา เพราะคุณธรรมเหล่านี้เป็นคุณธรรมของเทวดาและพรหมทั้งหลาย สมัยเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อจุติจากมนุษย์จึงได้ไปเกิดในเทวภูมิ พรหมภูมิ เมื่อผู้ปฏิบัติประกอบตนอยู่ในคุณธรรมดังนี้แล้ว เวลาปฏิบัติก็น้อมนำเอามาเทียบเคียงกันได้ ว่า แม้ตัวเราเองก็มีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในตน

                คำภาวนา ใช้คำบาลี หรือภาษาไทยก็ได้ว่า
                ยถารูปายะสัทธาทิธัมมซาตายะ สมันนาคะตา เทวะตา อิโตจุตา ตัตถะ ปปันนา เมทัมปิอุ ตัตถารูปายะ สัทธาทิธัมมา สังวิชชันติ ฯ
          เทวดาทั้งหลาย เมื่อขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ล้วนแต่เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เมื่อจุติจากมนุษย์จึงได้เกิดเป็นเทวดา แม้เราเองก็มีคุณธรรมที่ดีเหล่านั้น เช่น ศรัทธา เช่นเดียวกัน

              เมื่อเจริญภาวนาโดยนึกเอาคุณธรรมของเทวดา เปรียบเทียบกับตนเองอยู่ดังนี้เนือง ๆ เสมือนตั้งเทวดาไว้ในที่เป็นพยานให้ตน นึกถึงคุณธรรมของเทวดาก่อน แล้วนึกถึงคุณธรรมของตนเองตาม ผู้ปฏิบัติดังนี้อยู่เสมอ จะเป็นที่รักของเทวดายิ่งนัก มีคุณานิสงส์เป็นอันมากเช่นเดียวกันกับการเจริญพุทธานุสสติ คือจิตไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม พ้นไปจากเบญจกามคุณ มีใจกว้างขวางเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน เป็นผู้มีความบริสุทธิ์อยู่โดยธรรมดา

 

อุปสมานุสสติ

                 ๗. อุปสมานุสสติ คือการระลึกถึงคุณของพระนิพพานที่มีสภาพสันติสุข สงบจากกิเลส ขันธ์ ๕ อยู่เนือง ๆ
                อุปสมะ แปลว่า สงบ หมายความถึงการสงบจากกิเลส และขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับความหมายของคำว่า นิพพาน อันเป็นสันติสุขชนิดที่ไม่มีกิเลส ไม่มีขันธ์ ๕ เมื่อปราศจากสิ่งทั้งสองนี้เสียแล้ว พระนิพพาน จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่จะเสวยอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายเสวยอยู่ ไม่ต้องเสวยรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเวทยิตสุข ความสุขที่เกี่ยวด้วยการเสวยกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลก

                 ธรรมดาเวทยิตสุขนั้น เมื่อสัตว์เสวยไป ๆ เรื่อย ๆ แล้ว อารมณ์เหล่านี้ไม่อยู่คงที่ต้องหมดลง เมื่อหมด ผู้เสวยจำต้องขวนขวายแสวงหามาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อจะให้ตนมีเสวยได้ใหม่ต่อ ๆ ไป เช่นยกตัวอย่าง เสวยอารมณ์ด้วยการฟังเสียงเพลงอันไพเราะที่ตนชอบใจขณะกำลังฟังเพลงย่อมค่อยดำเนินไปจนจบเพลง จบแล้วยังไม่อิ่มในความสุขนั้นจำต้องหาฟังใหม่ สุขด้วยกามคุณอารมณ์ทั้ง ๕ จึงไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักพอ ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องคอยหาอารมณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ มาให้เสวยอยู่เป็นนิจ เป็นความสุขที่ต้องดิ้นรนแสวงหา ไม่ใช่ความสุขที่สงบ แต่กลับเป็นความสุขที่แฝงไว้ด้วยความเร่าร้อน แฝงความทุกข์ ยากลำบาก ต้องลงทุนลงแรง บางครั้งถึงกับต้องกล้ากระทำบาปอกุศลกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้อารมณ์ที่ตนปรารถนาเหล่านั้น ความเหน็ดเหนื่อยในการขวนขวายพยายามไม่คุ้มกันเลยกับความสุขที่ได้รับ ซึ่งจะเป็นความสุขเพียงในระยะเวลาสั้น ๆ และไม่มีสาระแก่นสาร

                  เมื่อเป็นดังนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมประพฤติตนหนักไปในอำนาจของโลภะ เพราะมีตัณหาติดใจในเวทยิตสุข ตายจากภพนี้ย่อมเข้าถึงอบายภูมิ จะต้องทุกข์ยากลำบากอย่างสาหัส อย่างที่ตนไม่เคยได้รับในขณะมีชีวิตเป็นมนุษย์ คนฉลาดมีปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถพิจารณาเห็นทุกข์โทษของความสุขที่ต้องอาศัยเบญจกามคุณอารมณ์เหล่านี้ ส่วนคนโง่ย่อมมองไม่เห็นยังติดข้องปรารถนาอยู่ร่ำไป

                  ส่วนพระนิพพาน เป็นสันติสุข ความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกามคุณอารมณ์ทั้งปวง จึงนับเป็นความสุขที่แท้จริง เพราะพ้นจากความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ในการแสวงหาอารมณ์ต่าง ๆ มาป้อนให้เสวย ลองทดลองเปรียบเทียบดูง่าย ๆ ก็ได้ เพียงสภาพการนอนหลับอย่างสนิทของคนเรา ซึ่งในขณะนั้นปราศจากการเสวยอารมณ์ทางกามคุณอย่างใดทั้งสิ้น ผู้นอนยังมีความสุขมากมายนัก จนแม้ใครจะมาปลุกให้ลุกขึ้นไปเสวยอารมณ์อื่นที่ดีเยี่ยมเพียงใด เช่นให้กินอาหารที่มีรสเลิศที่สุด ให้ได้สัมผัสที่วิเศษเพียงใดย่อมไม่พอใจทั้งสิ้น ต้องการให้ตนได้อยู่ในสภาพหลับสนิทดังนั้นต่อไปอีก

                  ความสุขของสภาพในพระนิพพาน เป็นความสุขที่ไม่ต้องเกี่ยวกับกามคุณอารมณ์และเป็นความสุขที่ถาวรด้วย มิใช่เป็นสุขเพียงชั่วคราว การนอนหลับสนิท จึงเป็นสุขที่น่ามาเปรียบกันมิได้ เป็นเรื่องตรงข้ามคนละฝ่ายกันทีเดียว

                  อย่างไรก็ดีสัตว์โลกทั้งหลาย แม้จะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม เมื่อขาดปัญญา ก็ยังพากันติดข้องอยู่ในความสุขที่ต้องประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังติดอยู่ในความมี รูปและนาม เห็นว่าความสุขอย่างพระนิพพานเป็นสิ่งไม่ดี

                  ส่วนบัณฑิตและพระอริยบุคคลทั้งหลาย ได้รู้แจ้งสันติสุข คือพระนิพพาน ซึ่งปุถุชนไม่มีโอกาสรู้ จึงมีความเห็นตรงกันข้ามกับหมู่สัตว์ที่มีโมหะปิดบัง และตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหาเหล่านั้น

                  ทั้งสองพวกนี้จึงไม่มีวันจะมีความเห็นเหมือนกัน เสมือนคนสองคนยืนหันหลังชนกัน แล้วต่างคนต่างวิ่งหนีห่างจากกันไปในที่สุด

                  การเจริญอุปสมานุสสติ จึงเหมาะกับบุคคลที่มีความพอใจในสภาพความสุขชนิดสันติสุขจะปฏิบัติ โดยก่อนอื่นต้องตามระลึกถึงคุณของพระนิพพานให้ถ่องแท้เสียก่อนทั้ง ๒๙ ประการ ว่า พระนิพพาน เป็น ธรรมที่
                  ๑. มานิมฺมทฺทโน ย่ำยีความมัวเมาต่าง ๆ
                  ๒. ปีปาสวินโย บรรเทาความกระหายในกามคุณอารมณ์
                  ๓. วัฏฺฏุปจฺเฉโท ตัดความเวียนในวัฏฏะขาด
                  ๔. ตณฺหกฺขโย สิ้นไปแห่งตัณหา
                  ๕. อาลยสมุคฺฆาโต ถอนความอาลัยในกามคุณ
                  ๖. วิราโค ปราศจากราคะ
                  ๗. นิโรโธ ดับตัณหา
                  ๘. ธุวํ ตั้งมั่นอยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง
                  ๙. อชรํ ไม่มีความแก่
                  ๑๐. นิปฺปปญจํ ปราศจากปปัญจธรรม ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ทำให้วัฏฏสงสารกว้างขวาง
                  ๑๑. สจฺจํ มีความจริงแน่นอน
                  ๑๒. ปารํ ข้ามพ้นจากฝั่งแห่งวัฏฏทุกข์
                  ๑๓. สุทุททสํ ผู้มีปัญญาน้อยย่อมเห็นได้ยาก
                  ๑๔. สิวํ สบายปราศจากกิเลส
                  ๑๕. อมตํ ไม่มีความตาย
                  ๑๖. เขมํ ปราศจากภัย
                  ๑๗. อพภูตํ มหัศจรรย์อย่างยิ่ง
                  ๑๘. อณีติกํ ไม่มีภัยร้ายแรงที่ นำความเสียหายมาสู่
                  ๑๔. ตาณํ ช่วยรักษาสัตว์ ไม่ให้ตกอยู่ในวัฏฏสงสาร
                  ๒๐. เลณํ หลบภัยต่าง ๆ
                  ๒๑. ทีปํ เป็นเกาะที่พ้นจากการท่วมทับของโอฆะทั้ง ๔
                  ๒๒. วิสุทฺธิ บริสุทธิ์จากกิเลส
                  ๒๓. วรํ สัปปุรุษทั้งลายพึงปรารถนา
                  ๒๔. นิปุณํ สุขุมละเอียด
                  ๒๕. อสังฺขตํ ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔
                  ๒๖. โมกฺโข พ้นจากกิเลส
                  ๒๗. เสฏฺโฐ ควรสรรเสริญโดยพิเศษ
                  ๒๘. อนุตฺตโร ประเสริฐยิ่งหาที่เปรียบมิได้
                  ๒๙. โลกสฺสนฺโต สุดสิ้นแห่งโลกทั้ง ๓

                  เมื่อน้อมนำใจให้รู้คุณของพระนิพพานด้วยใจจริงดังนี้แล้ว ก็นึกบริกรรมในใจเป็นภาษาบาลีหรือภาษไทยก็ได้ว่า

                  ยาวตา ภิกฺขเว ธมฺมา สงฺขตา วา อสังขตา วา วิราโค เตส ธมฺมาน อคฺคมขายติยาห์ มานิมฺมนฺทโน ปีปาสวินโย อาลัยสมัคฆาโต วฏฏปจฺเฉโท ตณหกขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ ฯ

                  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่ถูกปรุงแต่งและไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ (กรรม จิต อุตุ อาหาร) ที่ชื่อว่าสังขตะ อสังขตะ มีอยู่ ในบรรดาสังขตะ อสังขตะทั้งสองอย่างนี้ ธรรมใดเป็นสภาพย่ำยีความมัวเมาต่าง ๆ บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์ ถอนความอาลัยในกามคุณอารมณ์เสีย ตัดการเวียนไปในวัฏฏะทั้ง ๓ เสียขาดเป็นที่สิ้นที่ดับตัณหา ปราศจากราคะพ้นจากตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัดนี้แหละ ตถาคตจึงกล่าวว่าเป็นธรรมอันประเสริฐยอดยิ่ง

                  การบริกรรมภาวนา จะใช้ข้อความทั้งหมด หรือเพียงบทใด เช่น มทนิมมาโน หรือ ปีปาสวินโย หรือ อาลยสมุดมาโต ก็ได้ หรือจะระลึกคุณจนหมดทั้ง ๘ ประการ หรือ ๒๔ ประการตามความพอใจ ความสำคัญยิ่งคือต้องบริกรรมชนิดรู้ความหมาย

                  การเจริญอนุสสติทั้ง ๗ พุทธานุสสติ ธัมมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ และอุปสมานุสสติ ที่กล่าวมาแล้วนี้ จะปฏิบัติให้สมบูรณ์ถี่ถ้วนได้ มีแต่พระอริยบุคคลพวกเดียวที่กระทำได้ สำหรับปุถุชนจะเจริญให้สมบูรณ์ทำไม่ได้ หากเป็นผู้มีสุตมยปัญญา สำเร็จมาจากการศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างดี ก็พอระลึกไปในพระคุณนั้น ๆ ทำจิตให้บังเกิดความเลื่อมใสในอารมณ์กรรมฐานได้บ้างเหมือนกัน

                  อานิสงส์ในการเจริญภาวนาโดยวิธีนี้ เมื่อระลึกถึงคุณของพระนิพพานอยู่เนือง ๆ คือคุณของการระงับวัฏฏทุกข์ทั้งปวง ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมไม่เข้าครอบงำจิตของผู้ปฏิบัติ จิตจะซื่อตรง ข่มนิวรณธรรมทั้ง ๕ ลงได้ อุปจารฌานจะบังเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ถึงอัปปนาฌาน จะแลเห็นภัยในวัฏฏสงสาร มีอินทรีย์และจิตระงับจากความเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลส จะหลับหรือตื่นก็เป็นสุข เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ มีความเลื่อมใสซาบซึ้งในคุณของพระนิพพาน เพื่อนพรหมจรรย์เคารพรักใคร่สรรเสริญ แม้มิได้บรรลุมรรคและผลในชาตินี้ ตายแล้วย่อมมีสุคติเป็นที่ไป

 

มรณานุสสติ

                   ๘. มรณานุสสติ คือการระลึกถึงความตายที่ตนจะต้องได้ประสบอยู่เนือง ๆ ให้เกิดความสังเวชสลดใจ
                   มรณะ คือ ความตาย มีอยู่ ๔ ประเภท
                   ๑. สมุจเฉทมรณะ ได้แก่การเข้าดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลายตัดวัฏฏทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง
                   ๒. ขณิกมรณะ ได้แก่ความดับไปของสังขารธรรม (ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง)คือรูปและนามที่เป็นอยู่ตลอดเวลา
                   ๓. สมมุติมรณะ ได้แก่ความตายที่เรารู้จักกันอยู่โดยทั่วไป สิ่งอะไรใช้ไม่ได้โลกสมมุติว่าเป็นการตายทั้งสิ้น รถตาย เรือตาย ต้นไม้ตาย น้ำตาย เหล็กตาย ฯลฯ
                   ๔. ชีวิตินทรียุปัจเฉทมรณะ ได้แก่รูปชีวิต นามชีวิต ของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ดับสิ้นลงในภพหนึ่ง ๆ

                   มรณะทั้ง ๔ ประเภทนี้ ที่จะใช้เป็นมรณานุสสติในการเจริญภาวนาได้ มีแต่ประเภทที่ ๔ ชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะ เพียงอย่างเดียว เพราะเกี่ยวข้องอยู่กับคน สัตว์โดยทั่วไป หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนมรณะประเภทที่ ๑ เป็นของพระอรหันต์เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป ประเภทที่ ๒ ขณิกมรณะ เป็นของลึกซึ้งละเอียดคนธรรมดามองไม่เห็น พิจารณาไม่ได้ เพราะเป็นเวลาสั้นและรวดเร็วมาก ส่วนประเภทที่ ๓ สมมุติมรณะก็ไม่ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจอย่างใด

                   ความตายของสัตว์ในภพหนึ่ง ๆ ที่จะนำมาเจริญมรณานุสสติได้นั้น มีอยู่ ๒ ประการ

                   กาลมรณะ ตายโดยสมควร คือตายเพราะสิ้นบุญ หรือสิ้นอายุ หรือสิ้นทั้งบุญและอายุ

                   อกาลมรณะ ตายก่อนถึงเวลา คือยังไม่สิ้นบุญหรือายุ แต่ตายเพราะมีกรรมมาตัดรอน (อุปัจเฉทกกรรม) คือตายด้วยอุปัทวเหตุต่าง ๆ การเจริญภาวนาใช้ความตายทั้งสองแบบนี้มาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้

                   วิธีเจริญมรณานุสสติ ผู้เจริญต้องหาที่อันสงบสงัดอยู่ตามลำพังผู้เดียว ก่อนภาวนาต้องมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักคิดด้วยอุบายอันแยบคาย ให้ใจรู้สึกสลดสังเวชในความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของบุคคลจำพวกใด คำภาวนาที่ใช้ จะเป็นคำบาลี หรือภาษาไทย สั้นหรือยาว ได้ตามความพอใจ ข้อสำคัญต้องไม่ใช่นึกบริกรรมไปเฉย ๆ เหมือนการท่องปากเปล่า ใจไม่ยอมคิดตาม ดังนี้ใช้ไม่ได้ ผิดวิธี เพราะนอกจากจะไม่เกิดปัญญาอันทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจแล้ว อาจเกิดโทษ เช่น เกิดความเสียใจเศร้าโศกเมื่อนึกถึงความตายของคนที่ตนรัก เกิดความดีใจ เมื่อนึกถึงความตายของคนที่ตนเกลียดชังหรือเกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นเมื่อนึกถึงความตายของตนเอง

                  ที่ถูกต้อง ต้องระลึกถึงแต่ความตายอย่างเดียว ไม่เจาะจงว่าเป็นความตายของบุคคลจำพวกใด พึงระลึกถึงความตายโดยอาการทั้ง ๘ ดังต่อไปนี้
                  ๑. วธกปัจจุปปัฏฐาน ให้ระลึกถึงความตายให้เห็นปรากฏดุจนายเพชฌฆาตถือดาบอยู่ในมือ เตรียมฆ่าตน ที่ให้ระลึกดังนี้ เพื่อให้เห็นว่าการเกิดกับการตายนั้นมาพร้อมกัน สัตว์ทั้งหลายเมื่อเกิดย่อมมีชราและขณิกมรณะติดตัวมาด้วยทันที อุปมาดุจดังเห็ดตูมที่เพิ่งโผล่จากพื้นดิน ย่อมพาเอาฝุ่นติดบนยอดดอกขึ้นมาด้วย หรือเหมือนก้อนหินที่หักตกลงมาจากชะง่อนเขา ก็พาเอาต้นไม้ กอหญ้าที่ติดอยู่ตกมาด้วย ความเกิดขึ้นเป็นเช่นเดียวกัน พาความแก่ ความตาย ติดตัวมาด้วยพร้อมกัน เมื่อเกิดแล้วก็มีแต่บ่ายหน้าไปหาความตายสถานเดียว ดุจพระอาทิตย์เมื่อโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าก็บ่ายหน้าเพื่อจะตกลงดิน ไม่มีการถอยหลังเหมือนน้ำจากสายธารที่ตกมาจากซอกเขา จะไหลลงไปสู่ที่ต่ำ
เพียงอย่างเดียว ไม่ไหลทวนกระแสเลยแม้แต่นิดเดียว อายุของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นดังเช่นนี้ ไม่มีหวนกลับ มุ่งหน้าสู่ความตายแต่ถ่ายเดียวอายุของสัตว์เหมือนแม่น้ำสายน้อย ถูกแสงอาทิตย์ในฤดูร้อนแผดเผา ย่อมมีแต่เหือดแห้งไปทุกวันเวลา เหมือนผลไม้ที่มีขั้วแห้งเสียแล้ว มีแต่ต้องร่วงหล่นจากต้น ร่างกายของเหล่าสัตว์เป็นเช่นเดียวกัน เมื่ออาหารไปเลี้ยงร่างไม่ทั่วถึง ก็มีแต่เหี่ยวแห้งคร่ำคร่าสิ้นชีวิตลง รูปธรรมนามธรรมทั้งปวงเมื่อถูกความแก่ ความเจ็บป่วย ความตายเข้าเบียดเบียนก็ต้องทุกข์ยากลำบาก สิ้นลมหายใจลงกลายเป็นซากศพเปื่อยเน่าทิ้งทับถมแผ่นดิน เหมือนภาชนะที่ทำด้วยดินถูกทุบด้วยไม้ค้อนแตกกระจัดกระจาย

                  ๒. สัมปัตติวิปัตติ ให้ระลึกนึกถึงความตาย โดยสมบัติและวิบัติ คือเมื่อเกิดมาแล้วก็บริบูรณ์ด้วยสิ่งต่าง ๆ แต่ในที่สุดก็จะต้องถึงความพินาศโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง เมื่อวิบัติเข้าครอบง่าแล้ว สิ่งที่งามก็กลายเป็นน่าเกลียด สิ่งที่ดีกลายเป็นชั่ว สิ่งที่เป็นสุขกลายเป็นทุกข์ ไม่เคยโศกเศร้าก็จะต้องเศร้าโศกโลกสันนิวาสของเหล่าสัตว์ทั้งปวงนี้ มีชาติทุกข์ ติดตามล่อลวงให้ปวงสัตว์ลุ่มหลงชราทุกข์ รัดรึงตรึงตราให้พบกับความวิปริต แปรผันไปในทางเสื่อมต่าง ๆ พยาธิทุกข์ กระหน่ำย่ำยีให้ป่วยไข้ลำบาก มีทุกขเวทนา เจ็บปวดทั่วสรรพางค์กายมรณทุกข์ครอบงำทำลายล้างชีวิตินทรีย์ให้เสื่อมสูญ ไม่มีเว้นผู้หนึ่งผู้ใดเลยความตายครอบงำทุกชีวิต ไม่เลือกว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ชาวนา
คนชั้นสูง ชั้นต่ำ จนสิ้น ไม่มีทางหนีพ้น ประดุจภูเขาหินแท่งทึบใหญ่แท่งหนึ่งสูงเทียมท้องฟ้า กลิ้งมาแล้วเวียนหมุนบดไปรอบทั้ง ๔ ทิศ บดสรรพสิ่งทั้งปวง ไม่เลือกว่าเป็นอะไร ในสงครามของความตายนี้ ไม่มีอาวุธใดจะต่อสู้ จะมีทรัพย์สมบัติ วิชาการ เวทมนตร์ใด ๆ ก็ไม่สามารถต่อต้านพระยามัจจุราชได้เลย

 

                ๓. อุปสังหรณะ ให้ระลึกถึงความตายของผู้อื่นน้อมมาใส่ตน เมื่อระลึกถึงความตายของคนอื่น ให้นึกถึง ยศ บุญ กำลัง ฤทธิ ปัญญา ของเขาว่า แม้มีมากมายเพียงใดก็หนีความตายไม่พ้น ระลึกถึงความตายของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่พ้นมรณะ

                  ๔. กายพหุสาธารณ ให้ระลึกถึงความตายโดยนัยที่ว่า เมื่อตายลงเป็นซากศพร่างนั้นย่อมเป็นอาหารของหมู่หนอนถึง ๔๐ ตระกูล หนอนที่อาศัยอยู่ตามผิวเนื้อก็กัดเนื้ออาศัยอยู่ที่หนังก็กัดหนัง อาศัยที่เอ็นก็กัดกินเอ็น อาศัยที่กระดูกก็กัดกินกระดูก อาศัยอยู่ในสมองก็กัดกินสมอง ฯลฯ หนอนทั้งหมดเหล่านี้เกิด แก่ และตายอยู่ในร่างกายเรานี่เอง พวกมันถ่ายอุจจาระปัสสาวะ อยู่อาศัย เป็นทั้งส้วมและป่าช้าอยู่ในร่างกายเรา ตั้งแต่เรายังมีชีวิตอยู่ บางทีมันมีจำนวนมากกำเริบกล้า จนร่างกายทนทานมิได้ถึงตายลงก็มีนอกจากเหล่าหนอนแล้ว ยังมีโรคอื่นเกินกว่าร้อยจำพวกเบียดเบียน ส่วนภายนอกร่างกายก็มียุง เหลือบ ริ้น ไร ยังมีอุบัติเหตุอีกนานัปประการที่จะทำให้ถึงตายได้ตลอดเวลา

                  ๕. อายุทุพพล ให้ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาให้เห็นว่อายุของเรานั้นหากำลังไม่ได้ อายุยิ่งมากกำลังยิ่งลดถอยลง ๆ ชีวิตขึ้นอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าหายใจเข้าไปแต่ไม่ออก หรือหายใจออกแต่ไม่เข้า ชีวิตก็สิ้นสุดลง อิริยาบถทั้ง ๔ ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีอาการสม่ำเสมอทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ถ้าไม่สม่ำเสมอ หนักไปในอิริยาบถใดเกินไป อายุก็สั้นลง ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายก็เช่นเดียวกัน ต้องอยู่ในภาวะสม่ำเสมอ ถ้ามีธาตุใดกำเริบก็กลายเป็นโรคต่าง ๆ ไปได้ แม้เรื่องอาหารก็เช่นเดียวกัน ถ้าบริโภคพอควรร่างกายก็ดำรงอยู่ ถ้าเกินควร ไฟธาตุย่อยไม่ไหวร่างกายก็แตกดับลง

                   ๖. อนิมิตตะ ระลึกถึงความตายโดยอนิมิต คือมีสภาวะที่กำหนดไม่ได้ ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ สิ่งที่ไม่มีเครื่องหมายให้รู้มีอยู่ ๕ ประการ
                   ๑. ชีวิต กำาหนดไม่ได้ว่าจะดำรงอยู่ช้านานเพียงใด บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน
                   ๒. พยาธิ กำหนดไม่ได้ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร เมื่อใด มากน้อยเพียงใด รู้ไม่ได้
                   ๓. กาโล เวลาที่จะต้องตาย กำหนดไม่ได้ว่าจะตายวันเวลาใด
                   ๔. เทหนิกเขปนัง สถานที่จะต้องตายทิ้งซากศพไว้ กำหนดไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน
                   ๕. คติ ภพที่จะได้ไปเกิดใหม่หลังจากตายลงแล้ว กำหนดไม่ได้

                   ๗. อัทธานปริเฉท ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาว่า ชีวิตของมนุษย์เป็นของน้อยนัก อายุยืนถึงร้อยปีนั้นมีน้อย ส่วนมากแล้วอยู่กันไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมด จึงไม่ควรประมาท ควรขวนขวายแสวงหาพระนิพพาน เหมือนบุคคลที่มีไฟไหม้อยู่บนศีรษะต้องรีบหาทางดับไฟ

                   ๘. ขณะปริตตะ ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาว่าชีวิตเป็นของน้อยนัก เพียงชั่วขณะจิต เพราะขณะของจิตนั้นรวดเร็วมาก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้เวลาเพียงนิดเดียวไม่สามารถหาความเร็วของสิ่งใดมาเทียบเคียงได้ สมมุติว่านักแม่นธนู ๔ คน ยิงธนูพร้อมกันทั้ง ๔ ทิศ และมีนักวิ่งคนหนึ่งออกวิ่งไปฉวยเอาลูกศรของทุกคนมาได้หมดโดยที่ลูกธนูไม่ตกถึงพื้นดินเลย นักวิ่งที่วิ่งเร็วยิ่งกว่าลมพัดขนาดนั้น ยังนำมาเทียบกับความเร็วของขณะจิตไม่ได้ จิตนั้นเกิดแล้วดับ คือขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ แล้วกลับเข้าสู่ภวังค์ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ดังนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการห่างว่างเว้น ดวงหนึ่งดับดวงหนึ่งเกิดหนุนเนื่องกันไปเหมือนกระแสน้ำอันไหลหลั่งไม่ขาดสาย เมื่อจิตดับขณะหนึ่งก็เรียกว่าตายแล้วหนึ่งครั้งดับร้อยครั้งพันครั้งก็เหมือนตายร้อย ตายพันครั้ง ดังนี้เป็นต้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0048688173294067 Mins