วันของพระพุทธเจ้า

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2567

160467b01.jpg
 

วันของพระพุทธเจ้า
วิสาขบูชา ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันทุก ๆ คนนะจ๊ะ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งในท่าที่นั่งได้ถนัดนะจ๊ะ ท่าขัดสมาธิก็เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายวางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คนนะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะ ทุก ๆ คน ตั้งใจกันให้ดี ขยับเนื้อขยับตัวกะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกันนะจ๊ะ

 


                แล้วก็เอาใจของเราหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งใจของเรา เอาใจของเราหยุดในหยุดหยุดในหยุดลงไป หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งลงไปตรงกลางอย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ ให้ใจหยุดนิ่งเฉยอยู่ที่ตรงกลางอย่างสบาย ๆ ใครสามารถนึกถึงองค์พระได้ก็นึกองค์พระไป ให้เป็นพระแก้วขาวใสบริสุทธิ์ เป็นพระแก้วขาวใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว เป็นพระแก้วใสนั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา เอาใจตรึกไปที่องค์พระหรือกลางองค์พระนะจ๊ะ เอาใจตรึกไปไว้ที่ตรงนี้ ถ้าใครสามารถนึกถึงดวงแก้วได้ ก็เอาใจหยุดไปที่กลางดวงแก้ว นึกถึงภาพดวงแก้วอย่างสบาย ๆ ให้ต่อเนื่อง อย่าให้ขาดตอน นึกถึงดวงแก้วก็คล้าย ๆ กับนึกถึงองค์พระอย่างนั้นแหละ นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ 

 


                นึกให้ดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว เราถนัดอย่างไหนก็ให้นึกอย่างนั้นนะจ๊ะ ถนัดองค์พระนึกองค์พระง่าย เราก็เอาองค์พระเป็นนิมิต ถ้าเราถนัดนึกถึงดวงแก้วเพราะว่าดวงแก้วกลมรอบตัวนึกได้ง่ายกว่าองค์พระ ถนัดอย่างนี้ เราก็นึกเอาดวงแก้วเป็นนิมิต แต่ถ้าหากว่านึกทั้งสองอย่างแล้วเราก็ไม่ถนัดคือนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกซักที จะเป็นองค์พระก็ดี จะเป็นดวงแก้วก็ดี นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ได้ นึกไม่ออก แล้วก็พยายามจะไปเค้นเอาภาพออกมาให้ชัดเจน เมื่อพยายามไป ใจก็เกิดความตึงเครียด รู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ มีความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้นยากลำบาก ถ้าไม่ถนัดในการนึกก็ให้วางใจเฉย ๆ นะจ๊ะ วางใจเฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                ตรงตำแหน่งที่เรามีความมั่นใจว่า ตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แน่นอน มั่นใจตรงไหนก็เอาใจไปไว้อยู่ที่ตรงนั้น พูดง่าย ๆ ก็อยู่ในกลางท้องของเรานั่นแหละ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราได้รับทราบแล้วว่าในการทำใจให้หยุดนิ่งนั้นมีถึง ๓ อย่างนี้สำหรับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ อย่างที่ ๑ คือนึกถึงพระแก้วใส ๆ นี่เหมาะสำหรับคนที่กราบไหว้บูชาพระทุกวัน รักพระพุทธเจ้าเป็นชีวิตจิตใจ เจริญพุทธานุสสติเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เหมาะสำหรับที่จะกำหนดองค์พระ อย่างที่ ๒ ก็คือดวงแก้วกลม ๆ ใส ๆ นี่เหมาะสำหรับผู้ที่นึก อยากจะนึกสิ่งที่ง่าย ๆ ที่เป็นของใส ๆ กลมรอบตัวเพราะเคยเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ หรือชอบของกลม ๆ ไม่มีหยักไม่มีงอเหมือนองค์พระอะไรอย่างนั้นน่ะ เมื่อชอบอย่างนี้ก็เอาดวงแก้ว นี่อย่างที่ ๒ นะจ๊ะ 

 


                ส่วนอย่างที่ ๓ เหมาะสำหรับผู้ที่นึกไม่เป็นหรืออดที่จะตั้งใจนึกมากเกินไปไม่ได้ หรืออดที่จะเค้นภาพไม่ได้ เพราะว่าอยากจะเห็นมากอยากเห็นมากจริง ๆ เนื่องจากทราบว่าการเข้าถึงธรรมนั้น มีความสุขก็เลยใช้ความพยายาม เมื่อมันมากเกินไปก็นึกภาพไม่ออก หรือสำหรับผู้ที่ขี้สงสัยว่าการเห็นองค์พระก็ดี ดวงแก้วก็ดี ถ้าเราเริ่มนึกตั้งแต่เบื้องต้นคงไม่ใช่ของจริงมั้ง คือไปนึกสงสัยว่ามันจริงหรือไม่จริง นึกไปเองมั้ง อย่างนี้เหมาะสำหรับวางใจเฉย ๆ เอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงตำแหน่งที่เรามีความมั่นใจว่าตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ แน่นอน นี่เป็นอย่างที่ ๓ นะจ๊ะ เหมาะสำหรับในการนึกวางใจเบา ๆ สำหรับท่านที่ไม่ชอบนึกนิมิต เราก็สังเกตดูตัวของเรา เราถนัดแบบไหน ดูว่าจริตอัธยาศัยของเราถนัดแบบไหน 

 


                 อันที่จริงมันจะเจือกันอยู่ คือบางคราวอยากนึกนิมิต บางคราวก็ไม่อยากจะนึก แต่เราดูว่าอันไหนเป็นจุดที่นำที่สุด ที่แสดงออกมามากที่สุด ก็ให้ตัดสินใจเอาอย่างนั้นนะจ๊ะ และก็เอาอย่างเดียวเช่น ชอบองค์พระก็เอาองค์พระเป็นนิมิต ชอบดวงแก้วก็เอาดวงแก้วเป็นนิมิต ชอบวางใจเฉย ๆ ก็เอาใจหยุดนิ่งเฉย ๆ เป็นนิมิต แต่วิธีการทำนั้น จะต้องทำอย่างนี้ไม่ว่าจะอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างน่ะ คือจะต้องวางใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ถ้าจะนึกองค์พระก็ต้องนึกพระแก้วใส ๆ อย่างสบาย ๆ จะนึกดวงแก้วก็จะต้องนึกถึงดวงแก้วอย่างสบาย ๆ ถ้าจะวางใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็จะต้องวางใจอย่างสบาย ๆ

 


                ความสบายเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องให้สบายไว้ก่อนนะจ๊ะ นึกองค์พระก็สบาย นึกดวงแก้วก็สบาย วางใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเฉย ๆ ก็ต้องทำอย่างสบาย ๆ สบายแล้วยังไม่พอ ต้องให้สม่ำเสมอ อย่าให้เผลอไปคิดเรื่องอื่น คือให้ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะนึกถึงภาพองค์พระก็นึกถึงพระแก้วอยู่ตลอดเวลาในใจ เหมือนดูภาพยนตร์ที่มีแต่พระแก้วใส ๆ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดตอนเลย ไม่ให้เผลอเลย หรือถ้าเป็นดวงแก้วก็นึกว่ามีภาพยนตร์ฉายเกี่ยวกับเรื่องดวงแก้ว ฉายเรื่องเดียว มีภาพดวงแก้วทั้งเรื่องเลย เป็นดวงแก้วกลมใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว นึกไปอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ หรือถ้าจะวางใจหยุดนิ่งเฉย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็วางอย่างสบาย ๆ ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปอย่าให้เผลอ ทำอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยใจที่ใสด้วยใจที่เยือกเย็นสบาย ๆ ไม่เร่งรีบเร่งร้อนอะไรเร็ว ๆ น่ะ ทำใจเย็น ๆ ไปเรื่อย ๆ ในที่สุดใจของเราก็จะหยุดนิ่ง หยุดนิ่งไม่วอกแวกไปที่อื่นเลย ไม่มีความคิดอื่นแทรกเลย เมื่อหยุดนิ่งถูกส่วนถ้ากำหนดองค์พระ องค์พระก็จะหยุดนิ่งเห็นชัดใสแจ่มเหมือนกับเราลืมตาเห็น เห็นชัดใสเห็นรายละเอียดชัดเจนทีเดียว รายละเอียดขององค์พระนี่เราจะเห็นชัดใสแจ่มติดตาติดใจ ถ้าเป็นดวงแก้วก็จะเห็นดวงแก้วชัดใสแจ่มเหมือนกัน ถ้าหากไม่ได้กำหนดนิมิตถ้าใจหยุดแล้วใจนิ่งเหมือนถูกตรึงติดอยู่กับที่ นิ่งไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรกเลย พอถูกส่วนเข้าใจก็จะตกวูบเข้าไปสู่ภายใน ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหนก็ตามมันก็จะวูบเข้าไปข้างใน เหมือนถูกดูดวูบเข้าไปน่ะ เหมือนถูกดูดวูบเข้าไป คราวนี้ก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเลย เป็นจุดสว่างเหมือนดวงดาวในอากาศบ้าง หรือโตเท่าขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ปรากฏเกิดขึ้นมาในภายหลัง

 


                เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปก็คือเอาใจหยุดนิ่งต่อไปอีก อยากจะให้เร็วถึงที่หมายเร็ว ใจต้องหยุดนิ่งอยู่ในสิ่งที่เห็นน่ะ อยากจะให้ชัดต้องนิ่ง อยากจะให้เร็ว อยากจะเร่งต้องเฉย ๆ หยุดนิ่งเฉย ๆ สบาย ๆ พอเราหยุดนิ่งเฉยอย่างสบาย ๆ ตอนนี้ปรากฏการณ์ภายในก็พรั่งพรูออกมาเลย เราจะเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เห็นองค์พระผุดซ้อนขึ้นมา เกิดขึ้นในกลางกาย แตกต่างจากองค์พระที่เรากำหนดในเบื้องต้น จะปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางนั้น ถ้าใจเราละเอียดกว่านั้นมองเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ องค์พระท่านก็จะผุดซ้อน ๆ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ละองค์ก็จะมีความใสกว่าเดิม โตใหญ่กว่าเดิม สว่างกว่าเดิม ทั้งชัดทั้งใสทั้งสว่าง ผุดเกิดขึ้นมา ทั้งโตใหญ่ เกิดขึ้น เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ใจก็ขยายไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกของเราตอนนั้นก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ร่างกายก็จะโล่งโปร่งเบาสบาย ขยายเป็นอิสระ ไม่มีขอบเขตทีเดียว จะมีความรู้สึกเป็นสุขดื่มด่ำอยู่ภายในไปเรื่อย ๆ เราก็มองต่อไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงที่หมายปลายทาง นี่ต้องทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ 

 


                พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เช่นเดียวกัน วันที่ท่านตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ทำใจหยุดกับนิ่งอย่างเดียว หยุดนิ่งเฉย ๆ ใจหยุดอยู่ภายในน่ะ ตั้งแต่ยามเย็นเรื่อยไปเลยเนี่ย หยุดนิ่งพอถูกส่วนก็เข้าถึงปฐมมรรคเห็นหนทางเบื้องต้นเป็นดวงสว่างใสบริสุทธิ์ เกิดขึ้นที่กลางกายในทำนองเดียวกันแล้วท่านก็หยุดมองอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หยุดในหยุด ๆ เข้าไปเรื่อยเลย จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระธรรมกายปรากฏหน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสแจ่มบริสุทธิ์ โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายนั้น ใจของท่านก็ร่อนหลุดจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลาย กิเลสอาสวะที่ครอบงำจิตใจของท่านที่อยู่ในกายต่าง ๆ ในกายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรมโคตรภู โสดา พระสกิทาคาพระอนาคา หลุดหมดเลยร่อนหมดไปเลย หลุดเพราะใจท่านละเอียดกว่ากิเลสนั้น พอละเอียดกว่ากิเลสนั้น กิเลสก็ทำอะไรไม่ได้ ใจท่านก็สว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ 

 


                เพราะฉะนั้นกิเลสอันนั้นก็ถูกขจัดแวบเดียวหายไปสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย กายธรรมตกศูนย์ขึ้นมาหน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐วาขึ้นไปตามลำดับเรื่อยไปเรื่อย ๆ เลยสุกใสสว่างเพราะฉะนั้นวันนี้นะจ๊ะเป็นวันของพระพุทธเจ้า เป็นวันของพระองค์ท่านเลยนะ สิ่งที่เราควรจะทำในวันนี้ก็คือพยายามทำใจให้หยุดให้นิ่ง เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน พระองค์ท่านทำอย่างไรเราทำอย่างนั้น ทำตามเรื่อยไป แนะนำอย่างไรทำอย่างนั้น ท่านเข้าถึงอย่างไรเราเข้าถึงอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างไรเราเป็นอย่างนั้น ทำใจหยุดในนิ่งอย่างนี้เรื่อยไป จึงจะได้ชื่อว่ามีความระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ในวันพระพุทธเจ้าวันวิสาขบูชานี้ซึ่งตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ดังที่เราเข้าใจกันอย่างดีแล้วทุก ๆ ท่าน 

 


                แต่สิ่งที่สำคัญคือท่านทำอย่างไร เราต้องทำอย่างนั้น ท่านเข้าถึงอย่างไรเราก็จะต้องเข้าถึงอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างไรเป็นธรรมกายอย่างไร เราเป็นธรรมกายอย่างนั้น ท่านทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย วันนี้เราต้องใจหยุดให้ได้ ท่านเข้าถึงธรรมเห็นธรรมกายใสแจ่มอยู่กลางกาย เราจะต้องเข้าถึงให้ได้อย่างนั้น ท่านเป็นธรรมกายอย่างไร เราต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ถึงจะถูกต้องร่องรอยตามคำสอนของพระบรมศาสดา สมกับวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เรามาระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า 

 


                ถ้าได้พระธรรมกายใสแจ่มติดอยู่ที่กลางกายแล้วได้ชื่อว่าเจริญพุทธานุสสติเต็มเปี่ยม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์คือมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เรากับท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้พรากจากกันเลย เราเป็นท่าน ท่านเป็นเราน่ะ ใสแจ่มสว่าง ข้างในก็เห็นพระธรรมกาย กายหยาบของเราก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ข้างนอกก็มีธรรมกายครอบตัวอยู่โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ พอใจหยุดเข้าไปเรื่อย ๆ ก็เห็นธรรมกายซ้อน ๆ กันไปตามลำดับ ทำกันให้ได้อย่างนี้นะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นให้ทุกคนเอาใจหยุดใจนิ่งให้ดีนะ ใจหยุดใจนิ่งให้ใจใส ให้ใจสบาย ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ทีเดียวทั้งวัน วันนี้ไม่กังวลกับสิ่งอะไรทั้งหมดในโลก เอาใจตรึกนึกถึงท่านเป็นอารมณ์เลยน่ะ ใจหยุดใจนิ่งให้ใจใส ให้ใจสบายกันนะจ๊ะทุก ๆ คนนะ ให้ใจใส่ให้ใจสบาย พยายามปรับปรุงหาวิธีการวางใจให้ดี ของใครของมันนะ หาให้ดีทีเดียวว่าทำอย่างไร เราถึงจะวางใจได้พอดี ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ซึ่งเกินไปก็จะเครียด หย่อนเกินไปก็จะเคลิ้ม พอดี ๆ แล้วจะสบาย รู้สึกมีความพึงพอใจกับอารมณ์อย่างนี้ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ให้รักษาอารมณ์อย่างนี้เรื่อยไป ให้ต่อเนื่องอย่าให้ใจวอกแวกนึกถึงเรื่องอื่นนะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ 

 


                ปรับให้สบายนะจ๊ะ ปรับให้สบาย ใครยังไม่สบายก็ปรับใหม่ อย่าฝืนทำไปทั้ง ๆ ที่ไม่สบายนะ วางใจให้เป็น วางเบา ๆ สบาย แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม ช่างมัน ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวางใจให้เป็น ให้เบาสบายนะ  ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ประคองไป ให้ใจหยุดใจนิ่ง ถ้าถนัดกำหนดนิมิตก็กำหนดไป ไม่ชัดไม่เป็นไร มันก็จะค่อย ๆ ชัดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปน่ะ จะค่อย ๆ ชัดขึ้นมาเอง อย่ารีบร้อน ให้ทำเหมือนแม่ไก่กกไข่อย่างนั้น แม่ไก่เวลากกไข่มันก็ไม่ได้เร่งร้อนเร่งรีบ แต่ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือค่อย ๆ ให้ไออุ่นจากตัวของแม่เนี่ยเข้าไปที่ฟองไข่ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งไออุ่นของแม่เนี่ยไปเปลี่ยนให้ธาตุหยาบของลูกก่อตัวขึ้น และในที่สุดก็เจาะกระเปาะไข่ออกมาเป็นตัวเหมือนแม่ นั่นก็คือการกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไปน่ะ 

 


                ใจเย็น ๆ มีประสบการณ์ภายในแค่ไหน ก็ให้พึงพอใจแค่นั้นไปก่อน ประสบการณ์ที่เราได้ในตอนไหนนั่นคือความสำเร็จไปขั้นหนึ่งในตอนนั้น ค่อย ๆ เก็บสะสมความสำเร็จนี้ไปทีละเล็กทีละน้อยด้วยใจที่เบิกบาน ด้วยใจที่แช่มชื่น ไม่ช้าสิ่งเหล่านี้เมื่อมันมีมากเข้าถูกส่วนเข้า ก็จะเข้าถึงจุดแห่งความสว่าง เห็นดวงธรรมชัด เห็นองค์พระชัด เห็นกายภายในชัดไปเองในภายหลังนะจ๊ะ ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบร้อนอย่ารีบเร่งอะไรกัน ถ้าจะเร่งก็ต้องเร่งให้ถูกวิธี ทำใจเย็น ๆ อย่างนี้แหละ จะสมความปรารถนากันใจหยุดใจนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งมหาทานบารมี แห่งบุญกุศล 

 


                บุญใดก็ตามถ้าหากเราได้ทำไปแล้วถ้าใจอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ บุญนั้นเป็นมหัตตกุศลเป็นกุศลใหญ่ที่เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นทางเสด็จไปสู่อายตนนิพพานของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายเมื่อได้ประกอบมหาทานบารมีแล้วจงเอาใจหยุดนิ่งให้สนิทอย่างสบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่าให้วอกแวก ให้ทำใจเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมกายกับพระพุทธเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อเราเลื่อมใสในพระธรรมกายก็ได้ชื่อว่าเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในธรรมกายทุก ๆ พระองค์ก็ได้ชื่อว่าเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ 

 


                เพราะฉะนั้นเอาใจหยุดใจนิ่งให้ใจใสสะอาด บริสุทธิ์ให้หยุดให้นิ่งใครสามารถเข้าถึงดวงธรรมได้ก็เอาใจหยุดไปที่กลางดวงธรรม ใครสามารถเข้าถึงกายภายในได้เห็นตัวเองหรือที่เรียกว่าเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึงกายทิพย์ได้ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายทิพย์ ใครเข้าถึงกายรูปพรหมได้ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายรูปพรหม ใครเข้าถึงกายอรูปพรหมได้ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายอรูปพรหม ใครเข้าถึงกายธรรมได้ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายธรรม ใครเห็นกายธรรมในกายธรรมผุดซ้อนขึ้นมา โตใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็เอาใจหยุดนิ่งไปที่กลางของพระธรรมกายนะจ๊ะ เอาใจหยุดใจนิ่งให้ใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์ 

 


                พอใจหยุดนิ่งดีแล้วก็นึกถึงมหาทานบารมีที่เราได้ทำไปเมื่อสักครู่นี้ คือการถวายผ้าบังสุกุลจีวร พร้อมด้วยเครื่องบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์พระธรรมทายาททั้งหลาย ทำใจเลื่อมใสให้ดีนะ ให้ใจนิ่ง ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการถวายมหาทานบารมีในคราวนี้จะได้นำไปก่อสร้างเจดีย์ที่เราได้ยินว่าธรรมกายเจดีย์คำว่าธรรมกายเจดีย์นั้นแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนพระธรรมกายส่วนหนึ่งกับเจดีย์อีกส่วนหนึ่ง เจดีย์คือที่ประดิษฐานของพระธรรมกาย พระธรรมกายที่เราจะจัดสร้างขึ้นนั้นเป็นพระธรรมกายประจำตัวของพวกเราทุกคน รวมกันแล้วเรียกว่าธรรมกายเจดีย์ เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกนี้ ยังไม่เคยมีที่ไหนที่มีพระธรรมกายเจดีย์เป็นอย่างนี้ คือรูปทรงส่วนหนึ่งที่เป็นดวงกลมตามที่เราเห็นในโบชัวร์หรือโปสเตอร์ต่าง ๆ นั้นหมายถึงดวงธรรมซึ่งเป็นที่ยังเกิดขึ้นแห่งพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ตถาคตคัพภะ 

 


                ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต คือดวงธรรมนี้เป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตเจ้า ส่วนที่เป็นชั้น ๆ ลงมาเป็นที่ประดิษฐานของพระธรรมกายประจำตัว ของพวกเราทั้งหลายประดุจธรรมรังสีของพระพุทธเจ้า ที่แผ่ออกไปเพื่อยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ทั้งหมดนี่แหละเรียกว่าธรรมกายเจดีย์ พระธรรมกายประจำตัวนั้นจะประดิษฐานภายนอกส่วนหนึ่งกับภายในส่วนหนึ่ง ภายนอกส่วนหนึ่งกับภายในส่วนหนึ่งมีเป็นจำนวนมากทีเดียวอัดแน่นซ้อนเรียงตัวกันไปตามลำดับ ประดิษฐานพระธรรมกายทั้งข้างนอกทั้งข้างใน วันนี้ได้ทอดผ้าป่า ที่เป็นไตรจีวรก็เป็นของพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่ขาดแคลนเกี่ยวกับเรื่องไตรจีวร 370...

 


                ส่วนปัจจัยก็จะนำมาสร้างเจดีย์ ทอดผ้าป่ากี่ครั้ง กฐินกี่ครั้งก็ตามจะสร้างเจดีย์ ส่วนพระธรรมกายประจำตัวนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะมีแก่ทุก ๆ คนหลวงพ่ออยากให้ทุกคนเป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าของสร้างพระธรรมกายประดิษฐานที่พระธรรมกายเจดีย์เกิดกันมาชีวิตหนึ่งควรจะมีพระประจำตัวเป็นที่เคารพสักการบูชาของตัวเองและหมู่มนุษย์เทวดาทั้งหลาย เพราะฉะนั้นให้ทุกคนตั้งใจมั่นว่าเราจะสร้างธรรมกายเจดีย์นี้ให้สำเร็จให้ได้สมความปรารถนา จะสร้างพระธรรมกายประจำตัวเป็นที่เคารพสักการบูชาของตนเองและหมู่มนุษย์เทวดาทั้งหลาย จะชักชวนหมู่ญาติให้มาร่วมสร้างพระธรรมกายประจำตัว ให้ตั้งใจมั่นกันอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ภพชาติต่อไปในอนาคตเราจะเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงของธรรมกาย จะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมกายของพระพุทธเจ้า จะได้เข้าถึงธรรมอย่างสะดวกสบาย จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นตั้งใจกันให้ดีนะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้พร้อมใจกันอาราธนาบารมีธรรมของพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน บารมีธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย บารมีธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย บารมีของคุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงและมหาทานบารมีที่ทุกท่านได้ตั้งใจทำในวันนี้ จงมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เป็นดวงบุญที่มีความสว่างโพลงประดุจดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ให้ดวงบุญนี้มีอานุภาพดึงดูดสมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มาให้ไว้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น 

 


                ให้ทุกท่านเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้ทุกท่านเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้ทุกท่านเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้แทงตลอดในวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้แทงตลอดในวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้แทงตลอดในวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้ได้บรรลุธรรมที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บรรลุ ให้ได้บรรลุธรรมที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บรรลุ ให้ได้บรรลุธรรมที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บรรลุ ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง มีอายุยืนยาวได้สร้างบารมีไปนาน ๆ จะประกอบธุรกิจการงานอันใดก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ จะนึกคิดในสิ่งไรซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามขอความปรารถนานั้นจงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอานุภาพของพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จงทุกประการเทอญ 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015039364496867 Mins