ราชาผู้ถูก 3 นครตามหลอกหลอน

วันที่ 26 พย. พ.ศ.2558

ราชาผู้ถูก 3 นครตามหลอกหลอน


         สาเหตุที่ตรัสชาดก ณ เมืองสาวัตถี พระทศพลทรงทำพราหมณ์ชื่อ กามนีตะ ผู้เศร้าโศกที่สูญเสียข้าวกล้าในวาตภัย ให้ ร่างโศกจนเข้าถึงโสดาปัตติผล พระทศพลเสด็จมายังธรรมสภา ณวิหารเชตวัน ทรงทราบว่าหมู่ภิกษุสนทนาเรื่องดังกล่าว จึงทรงนำอดีตมาตรัสเล่าดังต่อไปนี้..

        กาลครั้งหนึ่งในอดีต มีพระราชาเมืองหนึ่งเป็นผู้ไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกาม มีพระทัยโลภในทรัพย์สมบัติ กาลนั้น ท้าวสักกเทวราชตรวจดูชมพูทวีป ทรงทราบว่าพระราชานี้มิได้ทรงอิ่มในกามทรงดำริจะไปเตือนพระสติ จึงทรงแปลงเป็นชายหนุ่มเข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า..

 

    "ข้าแต่มหาราช! ข้าพระองค์พบ 3 นครน่ารื่นรมย์คือ นครอุตตรปัญจาละ นครอินทปัตรนครเกกกะ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยช้าง ม้า รถ พลนิกรและเงินทองเครื่องอลังการและพระองค์สามารถยึดนครทั้ง 3 นี้ด้วยกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น! ข้าพระองค์มาเพื่อรับอาสาไปตีเมืองทั้งสามถวายพระองค์ พระองค์จงเตรียมพลไว้โดยเร็วเถิด แล้วเสด็จกลับวิมานไป"

 

    รุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้เที่ยวตีกลองชุมนุมพล รับสั่งให้อำมาตย์ไปตามตัวชายนั้นมาโดยเร็วอำมาตย์เที่ยวตามหาทั่วท้องที่ก็มิพบเบาะแสใดๆ พระราชาทรงรอหลายวันให้โศกเสียพระทัยยิ่งนักว่าเราอดอิสริยสมบัติอันใหญ่หลวงไปแล้ว ดวงพระทัยพระองค์เร่าร้อน ทรงเสียดายจนต้องสำรอกกระอักโลหิตออกมาทั่วพระวรกาย แพทย์ทั้งหลายก็ไม่สามารถจะเยียวยารักษาได้ ท้าวสักกะจึงแปลงเป็นหมอมาขอรักษาพระราชา เข้ากราบทูลว่า..

"ขอพระองค์จงบอกลักษณะของโรคแก่ข้าพระองค์เถิดว่าเกิดอะไรขึ้น ทรงเสวยอะไร ทอด
พระเนตรอะไร ทรงสดับอะไรมา"

 

พระราชาตรัสตอบว่า..
"โรคของเราเกิดเพราะได้ฟังข่าวดี มีชายคนหนึ่งมาบอกเราว่าจะอาสาไปเอาราชสมบัติในสามนครมาถวายแก่เรา แต่เราสิ! มิได้ให้ที่พักหรือค่ากินอยู่แก่เขาเลย เขาคงโกรธเราจึงไปเฝ้าราชาองค์อื่นแล้วกระมัง เราสูญเสียอิสริยสมบัติอันใหญ่ไปแล้ว.. เราต้องการราชสมบัติทั้ง 3 เมืองนั้นมากกว่าราชสมบัติที่เรามีอยู่เสียอีก ขอท่านจงรักษาเราผู้ถูกความอยากครอบงำด้วยเถิด"

"อันที่จริงใครที่ถูกงูเห่ากัดหมอยังรักษาได้ คนถูกผีสิงหมอที่ฉลาดก็ไล่ผีออกได้ แต่คนที่ถูกความอยากครอบงำแล้ว ใครที่ไหนก็รักษาไม่หาย! ก็เพราะว่าคนล่วงธรรมขาวเสียแล้วจะรักษาได้อย่างไร ข้าแต่มหาราช! ถ้าพระองค์ได้ราชสมบัติทั้งสามแคว้นนั้นมาแล้ว พระองค์จะเสวยราชทั้ง 4นครในคราวเดียวกันได้หรือ จะฉลองพระองค์ด้วยผ้าสาฎก 4 คู่ ในคราวเดียวกันได้อย่างไร จะเสวย4 ถาดทอง และจะบรรทม 4 พระแท่นพร้อมกันได้อย่างไร พระองค์อย่าทรงไปตามอำนาจตัณหาเลย ตัณหานี้เป็นรากเหง้าของความวิบัติ เมื่อมันเจริญงอกงาม ย่อมซัดคนนั้นลงนรกทั้ง 8 ขุมอุสทนรกอีก 16 ขุม และอบายภูมิที่เหลือมีนานาประการ" ท้าวสักกะตรัสเตือน

 

    พระราชาฟังมธุรสโอสถของท้าวสักกะแล้วก็ ร่างโศกหายพระโรคทันที จากนั้น ท้าวสักกะยังได้ประทานโอวาทแด่พระราชาให้ดำรงอยู่ในศีลแล้วเสด็จกลับเทวโลก แต่นั้นมาพระราชาทรงบำเพ็ญบุญ ทำทาน ตัดความโลภในพระทัยไปจนตลอดพระชนม์ ละโลกแล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม

 

ประชุมชาดก
             พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นพราหมณ์ชื่อกามนีตะในครั้งนี้ส่วนท้าวสักกเทวราชคือตถาคตแลจากชาดกเรื่องนี้ ความเห็นแก่ตัวเป็นความโลภอย่างหนึ่ง ใจที่ไม่สันโดษ ไม่รู้จักพอย่อมปลูกฝังนิสัยมีน้ำใจรักการให้ได้ยาก ดังนั้นจะสร้างทานบารมีได้ดี ต้องมีใจสันโดษ รู้จักพอเสียก่อน"นิสัยมักน้อยสันโดษ ไม่โลภ ไม่เอาแต่ได้ และไม่เห็นแก่ตัว" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในทานบารมี

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016274809837341 Mins