พญานาคฝากชีวิตไว้กับศีล

วันที่ 08 ธค. พ.ศ.2558

พญานาคฝากชีวิตไว้กับศีล

           สาเหตุที่ตรัสชาดกสมเด็จพระชินสีห์เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงยังอุบาสกทั้งหลาย ผู้มารักษาอุโบสถให้ร่าเริงแล้วตรัสว่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติอันใหญ่แล้วเข้าจำอุโบสถเหมือนกัน เมื่ออุบาสกทูลอาราธนาแล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าดังต่อไปนี้..ครั้งหนึ่ง มีพญานาคตัวหนึ่งชื่อสังขปาละอาศัยอยู่ในนาคพิภพ ต่อมาพญานาคเกิดรำคาญใจ

 

          คิดว่าตนนี้เป็นสัตว์ดิรัจฉานช่างหาประโยชน์อะไรมิได้เลย คิดปรารถนาจะไปเกิดเป็นมนุษย์จึงรักษาอุโบสถศีลอยู่ในนาคพิภพ แต่ทว่านางนาคมาณวิกาก็แวะเวียนมาหาบ่อยเสียจนศีลขาดอยู่ร่ำไปพญานาคจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะต้องไปถือศีลบนโลกมนุษย์ แม้ว่าจะสุดน่ากลัวและมีภัยมากมายเพียงใดแต่ถ้าไม่ตัดใจไปก็ไม่มีทางรักษาศีลได้สำเร็จ ความปรารถนาที่จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์เพื่อสร้างบารมีให้ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปก็ไม่มีวันมาถึง คิดดังนี้แล้วจึงออกจากนาคพิภพไปขนดวง ล้อมจอมปลวก ใกล้แม่น้ำแล้วอธิษฐานอุโบสถว่า..

 

        "เราขอสมาทานศีลโดยยอมสละชีวิตตน แม้พรานใดจะมาคร่าชีวิตเอาเนื้อและหนังไปเป็นอาหารก็จะไม่ละเมิดศีลเป็นเด็ดขาด!"


พญานาคสังขปาลนอนอยู่บนยอดจอมปลวก รักษาอุโบสถทุกปักษ์ในวัน 14 และ 15 ค่ำ แล้วไปสู่นาคพิภพในวันแรมหนึ่งค่ำ เมื่อถึง 14 และ 15 ค่ำ ก็กลับมาอีก ทำอยู่เช่นนี้เรื่อยมาอยู่มาวันหนึ่ง มีชาวบ้าน 16 คน เข้าป่าออกล่าสัตว์มีอาวุธครบมือ พญานาคได้ยินเสียงฝีเท้าของคนทั้ง 16 มาแต่ไกล ก็โผล่ศีรษะลืมดวงตาที่เเดงเจิดจ้ามองดู เห็นคนเหล่านั้นมีมือถือหลาวเดินมาก็มิได้กลัว เพราะเตรียมใจตายไว้ก่อนแล้ว จึงคิดว่า..

 

         "วันนี้มโนรถของเราจะถึงที่สุดล่ะ! เราเองได้มอบชีวิตไปแล้วเพื่อรักษาศีลของเรา เราจะไม่มองคนพวกนี้ด้วยความโกรธเลย"

แล้วสอดศีรษะเข้าไปในวงขนดขดอยู่อย่างเดิมชาวบ้านเหล่านั้นมาพบพญานาคพากันดีใจ ทั้งหมดช่วยกันจับหางพญานาคกระชากลงดินช่วยกันเอาหลาวแทงเสียบเข้าไปในขนดถึง 8 แห่งสอดหวายดำมีหนามเข้าไปตามช่องที่แทง แล้วสอดคานในที่ทั้ง 8 พากันเดินทางกลับ เมื่อถูกคนเอาคานหามไป ศีรษะก็ห้อยลงกระทบพื้น คนเหล่านั้นจึงเอาหลาวแทงที่จมูกแล้วเอาเชือกร้อย ยกศีรษะพาดปลายคาน ช่วยกันยกขึ้นเดินทางต่อไปขณะนั้น เศรษฐีคนหนึ่งนั่งเกวียนผ่านมาเห็นชาวบ้านหามพญานาคเช่นนั้น ก็เกิดสงสารจับใจจึงให้ทองแท่งพร้อมโค 16 ตัว ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเครื่องประดับอีกมากมายแก่คนทั้ง 16 นั้นเป็นค่าไถ่พญานาคแล้วขอร้องให้ปล่อยพญานาคไป พญานาคจึงได้ชีวิตอิสระกลับไปยังนาคพิภพ แล้วรีบกลับขึ้นมาพร้อมบริวารออกตามหาเศรษฐีคนนั้นเพื่อตอบแทนคุณ

 

         สังขปาลพญานาคเชิญท่านเศรษฐีไปเยี่ยมชมพิภพบาดาล ให้อิ่มหนำสำราญด้วยกามคุณมากมายจนเวลาล่วงเลยไป 1 ปี ท่านเศรษฐีก็เริ่มเบื่อหน่ายจึงบอก หายสังขปาลว่า..


     "เราอยากออกบวชเหลือเกิน.. กามนี้ช่างน่าเบื่อเหลือประมาณ!"

เศรษฐีออกจากนาคพิภพมาบวชอยู่ในป่าหิมวันต์ ต่อมาฤษีได้เที่ยวจาริกไปถึงตัวเมืองทำให้พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงเลื่อมใสทรงปราศรัยกับฤษีว่า..


     "ท่านผู้มีปัญญา! เหตุไฉนจึงสละทรัพย์สมบัติออกบวชเป็นบรรพชิตเสียล่ะ?"

     "มหาบพิตร! อาตมภาพเห็นวิมานของพญานาคสังขปาลจึงออกบวชเพราะเชื่อผลของบุญ เรื่องก็มีอยู่ว่า.. อาตมภาพเดินทางไปค้าขายเห็นชาวบ้านช่วยกันหามนาคร่างใหญ่โต จึงได้ให้ทองและโค 16ตัวแลกกับการปล่อยพญานาค พญานาคพาอาตมาเข้าสู่นาคพิภพแล้วบำรุงอาตมภาพเหมือนบุตรบำรุงบิดา พูดจารื่นหูจับใจไพเราะว่าท่านเป็นเหมือนมารดาบิดาของข้าพเจ้า เป็นดังดวงใจ เป็นผู้ให้ชีวิตเป็นดั่งสหาย อาตมภาพได้เสวยรสทิพย์อยู่ปีหนึ่ง คราวนั้นอาตมภาพจึงทราบว่าสมบัติเหล่านั้นพญานาคได้มาด้วยบุญกรรมของตน และที่ยอมทนให้ชาวบ้านทรมานเพราะกลัวศีลขาด จึงประกอบขันติและเมตตา เพื่อให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์เป็นของบริสุทธิ์ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยตบะและความเพียร อาตมาได้ฟังแล้วจึงเบื่อหน่ายในกามใคร่จะบรรพชา ขอถวายพระพร แม้กามคุณของมนุษย์ก็เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อาตมภาพเห็นโทษในกามคุณจึงออกบวชด้วยศรัทธา"

 

    พระราชาสดับคำพระฤาษีแล้วเกิดปีติพระทัย ทรงชื่นชมว่า..
     "ผู้ใดเป็นพหูสูตย่อมค้นคิดเหตุผลได้มาก มีปัญญาควรคบหาโดยแท้ ข้าพเจ้าฟังคำของนาคราชและของท่านแล้วแต่นี้ไปจะทำบุญให้มากๆ "


     ฤาษีมุ่งบำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานไปพรหมโลก พระราชาก็หมั่นบำเพ็ญทานจนตลอดชีพส่วนพญานาคสังขปาลหมั่นรักษาอุโบสถมิเคยขาดจนตลอดชีวิตละโลกแล้วก็ไปตามยถากรรม..

 

ประชุมชาดก
         พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า ดาบ ได้มาเป็นพระสารีบุตร พระเจ้าพาราณสีมาเป็นพระอานนท์ส่วนสังขปาลนาคราชได้เป็นตถาคตแลจากชาดกเรื่องนี้ พญานาคยอมสละกามอันน่ารื่นรมย์เพื่อมาชื่นชมในศีล มีศีลเป็นเกราะของชีวิต ผู้รักษาศีลย่อมมีใจใสสะอาดบริสุทธิ์สมาธิตั้งมั่นได้ง่ายกว่าผู้ทุศีล เพราะจิตใจไม่มัวหมองสกปรกผู้ทุศีลยังมิอาจควบคุมจิตใจจากสิ่งยั่วเย้าภายนอกได้ ก็ไม่อาจควบคุมกิเลสภายในเช่นกัน"นิสัยรักมั่นในศีล, หวงแหนความดี, กลัวเปื้อนบาป, ยอมตายก็ไม่ยอมเสียศีล และการข่มใจไว้มิให้โกรธ" ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นนิสัยในวิถีนักสร้างบารมีที่นับเนื่องเข้าในศีลบารมี

    

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013402183850606 Mins