สรุป และ ภาษิตหมวดอุเบกขาบารมีที่มีมาในชาดก

วันที่ 08 กพ. พ.ศ.2559

สรุป และ ภาษิตหมวดอุเบกขาบารมีที่มีมาในชาดก

             อุเบกขาเป็นปฏิปักษ์ต่อความหวั่นไหว เพราะกำจัดความคล้อยตามและความคับแค้นในสิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาลงได้
          ผู้มีอุเบกขาบารมี จะควบคุมจิตใจได้ดี มิให้อ่อนไหวไปตามสถานการณ์ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจหรือตื่นเต้น หากหวั่นไหวแล้วสติจะไม่มั่นคง ทำให้เผลอๆ ไผลๆ คิดผิด พูดผิด ทำผิดไปเสียหมดผู้สั่งสมอุเบกขาบารมีควรหมั่นนึกถึงความตายอยู่เนืองๆ มีนิสัยปล่อยวางได้

 

ภาษิตในหมวดอุเบกขาบารมี
            ผู้ด้อยปัญญาได้พบสุขเข้าก็มักมัวเมา ถูกทุกข์กระทบเข้าก็มืดมน ได้สัมผัสุขหรือทุกข์ที่โคจรเข้ามาก็มักดิ้นพล่านเหมือนปลายามหน้าแล้ง

 

          นรชนผู้มีปัญญา ถึงจะตกในห้วงทุกข์ก็ไม่ควรสิ้นหวังต่อสุขซึ่งจะมีมา เพราะสิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นมีทั้งเกื้อกูล และไม่เกื้อกูลคนที่ไม่ตระหนักมักจะถึงทุกข์ปางตาย

 

           ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในตระกูล โดยคิดว่าผู้ปรารถนาลาภจงได้ลาภส่วนผู้ปรารถนาบุญจงทำบุญภิกษุรูปใดพิจารณาเห็นความสุขโดยความเป็นทุกข์ พิจารณาเห็นความทุกข์โดยความเป็นลูกศรปักอยู่ที่ร่าง ความถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนในอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะพึงติดอยู่ในโลกด้วยกิเล อะไรได้

 

             ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามพ้นมัจจุราชเสียได้ มัจจุราชจะไม่แลเห็น จะตามไม่ทัน บุคคลควรทำเหตุถือมั่นให้สิ้นเชิง เพราะเขาเหล่านั้นยึดถือมั่นสิ่งใดในโลก มารย่อมติดตามร่องรอยเขาได้ในสิ่งนั้นเพราะเหตุนั้นอย่ากังวลในโลกทั้งปวง

 

           ความเศร้าโศกหาได้นำสิ่งล่วงไปแล้วกลับคืนมาได้ไม่ หาได้นำสุขในอนาคตมาได้ไม่ความเป็นเพื่อนในความโศกย่อมไม่มี ผู้เศร้าโศกต้องผอมเหลือง ไม่ยินดีในอาหาร เพราะเขาถูกศรคือความเศร้าโศก เสียบแทงเร่าร้อนอยู่ พวกศัตรูย่อมดีใจ

 

              คนเราไม่สามารถตามรักษาชีวิต นักปราชญ์จะทำตนให้เดือดร้อนไปเพื่ออะไรกัน ในเมื่อทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลและบัณฑิต ทั้งคนมั่งมีและยากจน ต่างล้วนบ่ายหน้าไปหาความตาย ผลไม้ที่สุกแล้วมีแต่จะหล่นลงแน่แท้ ฉันใดสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วก็พลันแต่จะตาย ฉันนั้น เวลาเช้าเราเห็นกันอยู่มาก พอตกเย็นบางคนก็ไม่เห็นกัน เวลาเย็นเห็นกันอยู่ เมื่อถึงเช้าบางคนก็ไม่เห็นกัน หากผู้มัวคร่ำครวญเบียดเบียนตนอยู่จะได้รับประโยชน์สักเล็กน้อยแล้ว บัณฑิตผู้มีปรีชาก็จะทำเช่นนั้นบ้าง แต่ที่แท้ผู้เบียดเบียนตนย่อมซูบซีดสัตว์ที่ตายไปแล้วไม่ได้ประโยชน์จากการร้องไห้นั้นเลย คนฉลาดควรดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด นักปราชญ์รีบกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นโดยพลันเหมือนลมพัดปุยนุ่นไป ฉะนั้น ในเมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีชีวิตมีความตายเป็นที่สุดได้ตายไปแล้ว จะทำตนให้เข้าไปเดือดร้อน เพื่ออะไรกัน เหตุไรจึงแผดเผาตนด้วยความทุกข์ของตนอันหาอุปการะมิได้เลย

 

              สำหรับคฤหัสถ์ความขยันเป็นความดีชั้นต้น ได้โภชนาหารแล้วแบ่งปันไปเป็นความดีชั้นสองได้ลาภผลแล้วไม่ระเริงใจเป็นความดีชั้นสาม ถึงความวิบัติก็ไม่เดือนร้อนใจเป็นความดีชั้นสี่อันปวงปราชญ์ ถึงจะทุกข์บีบรัดตัวก็ไม่ละเลยหน้าที่ซึ่งจะให้ผลเป็นสุข หรือจะหลงเมาสุขไปบ้าง ก็ไม่ถึงกับประกอบบาปกรรม

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029616586367289 Mins