สมาธิกลายเป็นกระแสหลัก (ในโลกตะวันตก)

วันที่ 11 มีค. พ.ศ.2559

 

 

การทำสมาธิเข้าไปเป็นกระแสหลัก (ในโลกตะวันตก) ได้อย่างไร?

           ล่าสุดวานนี้ (9 มีนาคม) นิตยสารไทม์ (TIME MEGAZINE) ได้ลงบทความออนไลน์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำสมาธิ (Meditation) โดยพาดหัวข้อว่า "การทำสมาธิเข้าไปเป็นกระแสหลัก (ในโลกตะวันตก) ได้อย่างไร?” (How Meditation Went Mainstream) และตั้งคำถามต่ออย่างน่าสนใจว่า "เหตุใดวิธีปฏิบัติแต่โบราณนี้ กลับยังคงความอินเทรนด์ยิ่งกว่า (ในอดีต)” บทความแปลด้านล่างนี้อาจค่อนข้างยาว แต่ผู้แปลเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ

            แนวคิดของการทำสมาธิดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แค่เพียงนั่งเงียบๆ ใส่ใจกับลมหายใจ และพิจารณาดูอารมณ์ แต่อันที่จริงแล้ว การทำสมาธินั้น ได้ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเติบโตมาจากแนวคิดทางศาสนา จนกลายมาเป็นสิ่งที่ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เป็นไปตามสมัยนิยม มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ

              แม้ว่ามีผู้คนอีกมากที่ยังคงทำสมาธิเพื่อเหตุผลทางศาสนา แต่ทุกวันนี้ การฝึกสมาธิได้หลอมรวมเข้ากับการฝึกโยคะ กลายเป็นเทรนท์ที่ผู้คนนิยมกันตามสมัย อย่างสตูดิโอฝึกสมาธิที่เปิดตามเมืองต่างๆในกรุงนิวยอร์คและลอสแอนเจลิส และแม้แต่ Equinox บริษัทฟิตเนส ที่มีโรงยิมออกกำลังกายทั่วอเมริกาเหนือและลอนดอน ก็กำลังจะเปิดคลาสที่เรียกว่า HeadStrong ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะผนวกสมาธิเข้าไว้กับกิจกรรมออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง ที่ต้องมีการพักเป็นระยะๆ

             นอกจากนี้ เทรนด์ดังกล่าวยังก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยนำแอพที่ชื่อ Headspace และ OMG. I can meditate! มาใช้ ซึ่งแอพทั้งสองนี้ก็ได้มีบางสายการบิน เช่น Virgin Atlantic และ Delta นำไปเสนอเป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการฝึกทำสมาธิบนเครื่องบินอีกด้วย

             สำหรับ Headspace เป็นแอพที่เปิดตัวในรูปแบบpod เสียง ที่ออกมาเพื่อการฝึกสมาธิโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งคือ Rich Pierson บอกว่า "เขาหวังว่า ผู้คนจะใช้มันเหมือนเวลาที่ซุปเปอร์แมนใช้ตู้โทรศัพท์แปลงร่างในเวลาคับขันเมื่อต้องการที่จะต่อสู้กับอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่ใช้แอพนี้ สามารถเปลี่ยนแปลง (อารมณ์) ตัวเองให้ออกมาในลักษณะที่แจ่มใสและสงบกว่าเดิม

             Loro Rinzler นักเขียนและเจ้าหน้าที่หลักด้านจิตวิญญาณของสตูดิโอที่แมนฮัตตัน ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อปลายปีค.ศ. 2015 บอกว่า “ก่อนนี้จะเป็นลักษณะว่า ถ้าคุณอยากจะลองศึกษาพุทธแบบธิเบตและการทำสมาธิ คุณก็ต้องเดินทางไปให้ถึงธิเบต และถ้าต้องการฝึกสมาธิแบบเกาหลี ก็ต้องเดินไปให้ถึงเกาหลี แต่ปัจจุบันคุณสามารถจะเดินทางไปตามละแวกใกล้บ้านของคุณ ในเขตเมืองนิวยอร์ค และทำมันทั้งสองอย่างได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมง... หลายคนเพิ่งจะพูดกันว่า "สมาธิช่วยคุณได้นะ” แต่สำหรับชาวพุทธ สมาธิเป็นสิ่งที่กล่าวถึงกันมานานถึง 2,600 ปี"

            คำถามที่ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่สิ่งชวนให้ประหลาดใจก็คือ ข้อมูลล่าสุดที่บอกกับเราว่า การทำสมาธิเป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณ ตามข้อมูลของวารสาร "Psychology Today" นักโบราณคดีได้ย้อนคำนวณเวลาของการปฏิบัติสมาธิว่า มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนคริสตศักราช 5000 ปี และได้ผูกอยู่กับการปฏิบัติทางศาสนาในอารยธรรมอียิปต์โบราณ และในอารยธรรมทางศาสนาของจีน รวมถึงศาสนายูดาย ฮินดู เชน ซิกส์ และแน่นอนที่ต้องเอ่ยถึงคือพุทธศาสนา

          การแพร่หลายของการทำสมาธิไปทั่วโลกนั้น เริ่มต้นพร้อมๆ กับเส้นทางสายไหม ในราวก่อนคริสตศักราช 500-600 ปี ซึ่งปรากฏว่า การปฏิบัตินั้นได้แพร่หลายไปทั่วเอเชีย เมื่อการทำสมาธิได้เข้าไปเป็นสิ่งใหม่ ก็จะค่อยๆปรับเปลี่ยนไปเพื่อหลวมรวมในฐานะวัฒนธรรมใหม่ของแต่ละท้องที่ กระทั่งเมื่อศตวรรษที่ 20 การทำสมาธิจึงได้ยกระดับอยู่เหนือความจำเพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่โลกตะวันตก

          อย่างที่นิตยสาร TIME ได้เคยขึ้นเรื่องหน้าปก และรายงานข่าวไปเมื่อปีค.ศ. 2003 การฝึกสมาธิได้เริ่มมีผู้ศึกษากันอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในช่วงปีค.ศ. 1960-1969 โดยนักวิจัยในอินเดียชื่อ B.K. Anand เขาพบว่า “โยคีสามารถทำสมาธิจนเข้าถึงระดับความสงบทางจิตที่ลึกมาก ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เมื่อนำหลอดทดลองที่ร้อน ไปสัมผัสที่แขน”

         แต่ตอนนั้น การทำสมาธิก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสนใจของนักวิจัยชาวตะวันตกหลายๆ คนที่สนใจเฉพาะวิทยาศาสตร์กระแสหลัก และมักไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องสมาธิ แต่แล้วในปีค.ศ. 1967 ศาตราจารย์ชื่อ Herbert Benson แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ได้ทำการทดลองเรื่องผลของสมาธิ โดยเขาต้องรอให้ถึงเวลาดึกเสียก่อนจึงจะเริ่มทดลอง

            ศาสตราจารย์เบนสันพบว่า "คนที่ฝึกสมาธินั้นจะใช้ออกซิเจนน้อยกว่าปกติ 17% มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำ และผลิตคลื่นสมองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการหลับ" เขาได้นำผลดังกล่าวมาตีพิมพ์ในหนังสือ “The Relaxation Response” และได้ก่อตั้งสถาบันแพทย์ด้านจิตและร่างกาย เป็นการนำร่องการศึกษาผลของสมาธิในด้านชีววิทยา ศาสตราจารย์เบนสันกล่าวกับนิตยสาร TIME ว่า “สิ่งที่ผมทำก็เป็นการอธิบายในเชิงชีววิทยา ถึงเทคนิควิธีการของผู้ที่ได้นำประโยชน์ของสมาธิมาใช้เป็นเวลานานนับพันๆ ปี

           ไม่ใช่แต่เพียงศาสตราจารย์เบนสันเท่านั้นที่ทำการทดลองผลทางสุขภาพของสมาธิ คนอื่นๆอย่าง Jon Kabat-Zinn ก็เป็นตัวอย่างของผู้ศึกษาเรื่องสมาธิ ในช่วงที่เขายังเรียนอยู่ที่สถาบัน MIT และต่อมาเขาก็ได้นำสมาธินี้ไปพัฒนาเป็นอาชีพของตนในระยะยาว โดยการก่อตั้งคลีนิคลดความเครียดที่ศูนย์การแพทย์ UMass เมื่อปีค.ศ. 1979

            ในช่วงเดียวกันนั้น การฝึกสมาธิก็ได้เริ่มเป็นที่สนใจในทางวิทยาศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่าความนิยมฝึกสมาธิในกลุ่มคนมีชื่อเสียง ศิลปินนักร้องชื่อดังอย่างวง “เดอะบีทเทิล” ( The Beatles) ก็หันไปสนใจการทำสมาธิแบบ TM (Transcendental Meditation) ถึงขนาดเดินทางไปศึกษาถึงอินเดีย หรือ Mia Farrow นักแสดงหญิงชื่อดังของอเมริกาก็ลงทุนเดินทางไปอินเดียเพื่อเรียนสมาธิสาย TM กับ Maharishi เช่นกัน
ในช่วงปีค.ศ. 1990-1999 จึงเป็นช่วงที่ความนิยมสมาธิในแนวทางวิทยาศาสตร์และความนิยมชมชอบสมาธิในกลุ่มคนดังมาบรรจบกัน ทำให้เกิดแนวคิดของสมาธิรูปแบบใหม่ ที่เป็นมิตรกับทั้งกลุ่มวงการบันเทิงอย่างค่ายฮอลลี่วู๊ด และกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้เราพอจะเข้าใจกลุ่มฮิปปี้ที่เคยเป็นกระแสฮิตกันอยู่พักหนึ่ง

             ในปีค.ศ. 1996 นิตยสาร TIME ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับหนังสือชื่อ "Ageless Body” ที่เขียนโดย Deepak Chopra ซึ่งหนังสือจำนวน 137,000 เล่มของเขาขายหมดภายในวันเดียว หลังจากที่ Chopra ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการทอล์คโชว์ของ Oprah และต่อมาเขาได้กลายเป็นคนในกระแส เมื่อคนดังอย่าง Demi Moore, George Harrison, Michael Jackson และ Donna Karan ได้หยิบยกถ้อยคำของเขานำไปขยายต่อ และยังเรียกเขาว่า “กูรู” เช่นเดียวกับ Phil Jackson โค๊ชผู้สร้างตำนานให้กับสมาคมบาสเกตบอล NBA ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือ "Sacred Hoops: Spiritual Lessons of a Hardwood Warrior” เมื่อปีค.ศ. 1995 ชักชวนให้ผู้คนสนใจเรื่องผลของการทำสมาธิและการฝึกสติ และล่าสุด Stephen Curry ซึ่งได้รับรางวัลผู้เล่นคนสำคัญของ NBA ประจำปีค.ศ. 2015 ก็เปิดเผยว่า เขาออกกำลังกายและฝึกสติด้วยวิธีการที่หลากหลาย ในช่วงเดียวกันนี้ การศึกษาที่ยืนยันผลดีของสมาธิก็ออกผลการวิจัยมาเรื่อยๆ เช่นว่า สมาธิชะลอความเสื่อมของระบบประสาท สมาธิช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยรับมือกับความเครียด เป็นต้น

               Rinzler คาดว่าการศึกษาวิจัยต่างๆ จะช่วยให้การทำสมาธิกลายเป็นสิ่งที่เป็นกระแสหลักของโลกได้จริงๆ เขาบอกว่า “ต่อไปคงไม่ต้องให้เพื่อนของคุณที่ฝักใฝ่ด้านจิตใจ มาชักชวนให้คุณทำสมาธิ แต่จะต้องเป็นแพทย์ของคุณต่างหากที่จะเป็นผู้แนะนำคุณ”

 

 

 แปล: ทิพย์ปัญญา 释聖達 @Wat_Benelux

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015039384365082 Mins