เหตุการณ์สำคัญบางตอนในพระพุทธกิจทั่วไป (ตอนที่ ๔ )

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2547

.....ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ที่ป่ามหาวัน

เมื่อตรัสสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้ว เสด็จไปยังศาลาที่ป่ามหาวัน ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลีมาเข้าเฝ้า ตรัสประทานโอวาทมีเนื้อความว่า

ไม่จำเป็นที่ภิกษุทั้งหลายจะปรารถนาให้พระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ต่อไปอีกนานๆ เพราะธรรมทั้งหลายที่ภิกษุปฏิบัติแล้ว ตรัสรู้ในชาตินี้ เป็นความรู้เหนือโลก ได้ปัญญาขั้นโลกุตตระ(พ้นการเวียนว่ายตายเกิด) พระองค์ได้สั่งสอนไว้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งแล้ว ขอให้ภิกษุทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ก็จะเป็นผลสำเร็จ ได้รับประโยชน์ ผู้ใดยังไม่บรรลุมรรคผล ให้รีบขนขวาย อย่ามัวประมาท อย่ามัวเสียใจ

เมื่อเหล่าภิกษุพากันกระทำตามคำสอนนี้ให้มากเข้า พระศาสนาก็จะตั้งอยู่ได้นานไม่เสื่อมสูญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สุขต่อมหาชนเป็นอันมาก เป็นการอนุเคราะห์สัตว์โลกพร้อมทั้งเทพยดาทั้งปวง

ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เป็นอย่างดีแล้วนี้คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (ธรรมที่เกื้อหนุนให้รู้แจ้ง) ได้แก่ สติปฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

เมื่อภิกษุพากันศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ทั้งเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็สำเร็จเช่นเดียวกัน

สติปัฏฐาน ๔ คือ ธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ (สติคือความนึกได้ การคุมใจไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง) มีตั้งสติกำหนดพิจารณาใน กาย เวทนา (ความรู้สึก) จิต และธรรม

สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียร ๔ อย่าง เพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้หมด เพียรไม่ให้ความชั่วใหม่เกิด เพียรรักษาความดีที่มีอยู่เอาไว้ เพียรสร้างความดีใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้น

อิทธิบาท ๔ คือ ทางแห่งความสำเร็จ มีฉันทะ (ความพอใจรักใคร่) วิริยะ (ความเพียรทำ) จิตตะ (ความเอาใจฝักใฝ่) และวิมังสา(การพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญา)

อินทรีย์ ๕ ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

พละ ๕ ธรรมที่มีกำลังมาก ๕ ประการ เหมือนอินทรีย์ ๕

โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตรัสรู้ คือ

  • สติ การนึกได้ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
  • ธัมมวิจยะ การพิจารณาเลือกธรรม การสอดส่องสืบค้นธรรม
  • วิริยะ ความเพียร
  • ปีติ ความอิ่มใจ
  • ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ
  • สมาธิ ใจตั้งมั่น ใจแน่วแน่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง

มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ มีความถูกต้องในเรื่อง ๘ อย่าง ได้แก่ ความคิดเห็น การดำริ การพูดจา การงาน การเลี้ยงชีวิต ความเพียร สติ และสมาธิ

ต่อจากนั้นพระองค์ตรัสถ้อยคำแสดงความสลดใจ ให้ผู้ฟังเกิดความสังเวชเตือนใจให้เกิดความสำนึก ที่จะน้อมใจมาทางกุศล รวมทั้งตรัสสอนเรื่องธรรมคือความไม่ประมาท ด้วยพระวาจาว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขาร(สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น)ทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยัง(กระทำ)ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม(สำเร็จ)บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด เราตถาคตจักปรินิพพานเร็วๆ นี้ คืออีก ๓ เดือนข้างหน้า

คนทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นคนหนุ่ม คนแก่ คนฉลาด มั่งมีหรือยากจน ล้วนต้องตายด้วยกันทุกคน มีความตายคอยอยู่ข้างหน้า เหมือนภาชนะที่ปั้นด้วยดินที่ช่างปั้นทำขึ้น ทั้งที่มีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ยังไม่ได้เผาหรือเผาสุกแล้ว ไม่ว่าชนิดใด ต้องแตกทำลายในที่สุด

ชีวิตสัตว์ทั้งหลายก็ในทำนองเดียวกัน แตกทำลายไปในที่สุด เราตถาคตมีวัยชรามากแล้ว ชีวิตของเราเหลือน้อยแล้ว เราต้องจากพวกท่านไปก่อน เราเองทำที่พึ่งให้ตนเองไว้แล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเลิศ จงมีความดำริดีให้มั่นคง จงตามรักษาจิตของตนเอง ใครก็ตามอยู่ในธรรมวินัยนี้อย่างไม่ประมาท คนๆ นั้นจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จะเป็นผู้สิ้นทุกข์ ”

พระบรมศาสดาตรัสสอนเรื่องให้สลดใจ และสอนไม่ให้ประมาทด้วยประการฉะนี้

ครั้นรุ่งเช้าเป็นเวลาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเวสาลี เมื่อเสด็จกลับพ้นตัวเมือง ทรงหันพระวรกายกลับทั้งพระองค์ (หันหลังกลับ) ทอดพระเนตรตัวเมือง ตรัสว่า

“ ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจักเห็นเมืองเวสาลี ครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้จะไม่ได้เห็นอีกแล้ว ดูก่อนอานนท์ เวลานี้เราเดินทางต่อไปยังบ้านภัณฑุคามกันเถิด ”

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011330842971802 Mins