เรื่อง เพื่อนกันวันอันตราย   ตอน แรงกรรม

วันที่ 25 มิย. พ.ศ.2562

นิทานก่อนนอน 
เรื่อง เพื่อนกันวันอันตราย  
ตอน แรงกรรม

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า โกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครโกสัมพีแคว้นวังสะ ครั้งนั้น ณ นิคมแห่งหนึ่งมีพราหมณ์สองคนมีสมบัติคนละ ๘๐ โกฏิ เป็นสหายรักกันเห็นโทษในกามคุณ จึงให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วทั้งสองก็ละกาม ทั้ง ๆ ที่มหาชนกำลังร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ได้ออกไปสร้างอาศรมบวชอยู่ในถิ่นหิมพานต์ เที่ยวแสวงหาเผือกมันผลไม้เลี้ยงชีพอยู่ ๕ ปี ยังไม่สามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ ครั้นล่วงไป ๕๐ ปี เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว จึงเที่ยวไปตามชนบทถึงแคว้นกาสี. 
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสีนั้น ท่านทีปายนดาบสมีสหายคฤหัสถ์อยู่คนหนึ่ง ชื่อมัณฑัพยะ ทั้งสองดาบสได้ไปเยี่ยมเขา เขาเห็นสองดาบสนั้นแล้วก็มีความยินดี สร้างบรรณศาลาถวายแล้วบำรุงด้วยปัจจัย ๔ สองดาบสอยู่ที่นั้น ๓,๔ พรรษา แล้วลานายมัณฑัพยะ เที่ยวจาริกไปถึงเมืองพาราณสี อาศัยอยู่ในอธิมุตติกสุสาน 
ทีปายนดาบสอยู่ ณ ที่นั้นพอสมควรแก่อัธยาศัยแล้ว ก็กลับไปหาสหายนั้นอีก แต่มัณฑัพยะดาบสยังอยู่ที่ป่าช้านั้นเอง.
อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่งขโมยของภายในเมือง ถือเอาทรัพย์ออกไป เมื่อเจ้าของเรือนและเจ้าหน้าที่ตื่นขึ้นรู้ว่าขโมย ก็พากันตามจับ โจรจึงหนีออกทางท่อน้ำ รีบวิ่งเข้าป่าช้าทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของพระดาบสแล้วหนีไป 
พวกมนุษย์ที่ตามจับเห็นห่อทรัพย์เข้าจึงคุกคามว่า ไอ้ชฎิลร้าย กลางคืนเจ้าเที่ยวขโมยเขา กลางวันทำถือเพศดาบสอยู่ พากันทุบตีแล้วจับตัวนำส่งพระราชา 
พระราชาไม่ทรงพิจารณาก่อน รับสั่งให้ราชบุรุษเอาตัวไปเสียบหลาวเสีย พวกราชบุรุษนำตัวไปเสียบหลาวไม้ตะเคียนที่ป่าช้านั้น เสียบหลาวไม่เข้า จึงเปลี่ยนเอาหลาวไม้สะเดาเสียบ ก็ไม่เข้าอีก เอาหลาวเหล็กเสียบก็ไม่เข้า 
ดาบสจึงใคร่ครวญดูบุพกรรมของตน ลำดับนั้น ท่านก็เกิดญาณเครื่องระลึกชาติได้ ใช้ญาณนั้นใคร่ครวญดูก็ได้รู้แล้ว ถามว่า ก็อะไรที่บุพกรรมของท่าน ตอบว่า การเอาหนามไม้ทองหลางเสียบแมลงวัน เป็นบุพกรรมของท่าน นัยว่า ในภพก่อนท่านเกิดเป็นบุตรนายช่างไม้ ไปถากไม้กับบิดา จับแมลงวันมาตัวหนึ่งแล้วเอาหนามไม้ทองหลางมาเสียบ บาปกรรมนั้นเองมาถึงเข้า ท่านรู้ตัวว่า ไม่อาจพ้นบาปกรรมนี้ได้ จึงได้ กล่าวกะราชบุรุษว่า ถ้าท่านต้องการจะเอาหลาวเสียบเราจงเอาหลาวไม้ทองหลาง 
พวกราชบุรุษก็กระทำตามเสียบเข้าแล้ว ก็วางคนซุ่มรักษาอยู่แล้วหลีกไป พวกที่ซุ่มรักษาอยู่ได้คอยดูผู้ที่จะมาหาดาบส.
ครั้งนั้น ทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้พบสหายนานแล้ว จึงมาหาท่านมัณฑัพยะดาบส ได้ฟังข่าวในระหว่างทางในวันนั้นเองว่า มัณฑัพยะดาบสถูกหลาวเสียบ ก็ไป ณ ที่นั้นแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งถามว่า เพื่อน ! ท่านได้ทำผิดอย่างไรหรือ ? 
เราไม่ได้ทำผิด 
ท่านอาจจะรักษาใจตนไม่ให้มีความขุ่นเคืองได้หรือไม่ ? 
มัณฑัพยะดาบสตอบว่า เพื่อน! ผู้ที่จับเราส่งพระราชาเรามิได้มีใจขุ่นเคืองเลย 
ทีปายนดาบสกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่านเป็นความสุขสำหรับเรา แล้วเข้าไปนั่งพิงหลาวอยู่ หยาดโลหิตที่ออกจากตัวมัณฑัพยะดาบสก็หยดลงต้อง ทีปายนดาบส หยาดโลหิตเหล่านั้นหยดลงที่สรีระอันมีสีดุจทอง แห้งดำไปทั้งตัวตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงได้นามเติมต้นว่ากัณหทิปกายนะ ท่านนั่งพิงหลาวนั้นเองตลอดคืนยังรุ่ง 
วันรุ่งขึ้นพวกคนรักษาจึงไปกราบทูลเหตุการณ์นั้นแด่พระราชา 
พระราชาทรงพระดำริว่า เรื่องนี้เราทำลงไปโดยไม่พิจารณา จึงรีบเสด็จไปที่นั้น แล้วตรัสถามทีปายนดาบสว่า ดูก่อนบรรพชิต เหตุไรท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่ ? 
ทีปายนดาบสตอบว่า มหาบพิตร อาตมภาพนั่งรักษาดาบสนี้อยู่ ก็มหาบพิตรทรงทราบแล้วหรือว่าดาบสนี้ทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด จึงได้ลงพระราชอาญาอย่างนี้ 
พระราชา ตรัสบอกว่าลงโทษโดยไม่พิจารณา 
พระดาบสจึงกล่าวแก่พระราชาว่ามหาบพิตร ธรรมดาพระราชาควรจะพิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำดังนี้  แล้วแสดงธรรมว่า คฤหัสถ์ผู้ยังบริโภคกาม เกียจคร้านไม่ดี    บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่ดี พระราชาไม่ทรง     ใคร่ครวญก่อนแล้วทำไป ไม่ดี บัณฑิตมี  ความโกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่ดี.
พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยะดาบสไม่มีความผิดจึงรับสั่งให้ถอนหลาวออก พวกราชบุรุษไม่สามารถจะถอนหลาวออกได้ 
มัณฑัพยะดาบสทูลพระราชาว่า มหาบพิตร อาตมภาพถึงความพินาศย่อยยับอย่างนี้ก็ด้วยอำนาจกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ไม่มีใครอาจถอนหลาวออกจากตัวอาตมภาพได้ ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานชีวิตแก่อาตมภาพ  ก็จงโปรดให้เอาเลื่อยมาตัดหลาวนี้ให้เสมอหนัง
พระราชารับสั่งให้กระทำตามนั้น ภายในร่างกายได้มีหลาวอยู่ภายในเรื่อยมา.
ได้ยินว่า ครั้งนั้น ดาบสนั้นเอาหนามทองหลางเรียว ๆ เสียบก้นแมลงวัน หนามทองหลางติดอยู่ในตัวแมลงวัน แต่แมลงวันไม่ตายเพราะถูกเสียบ ตายเมื่อหมดอายุของตน ฉะนั้น ดาบสนี้จึงไม่
ตาย 
พระราชาทรงนมัสการพระดาบสทั้งสองให้ขมาโทษแล้ว นิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยาน ทรงบำรุงแล้ว 
ตั้งแต่นั้นมามัณฑัพยะดาบสได้ชื่อเติมหน้าว่า อาณิมัณฑัพยะท่านอาศัยพระราชาอยู่ในพระราชอุทยานนั้น 
ส่วนทีปายนดาบสรักษาแผลมัณฑัพยดาบสหายดีแล้ว  จึงกลับไปหานายมัณฑัพยะผู้เป็นสหายคฤหัสถ์ของ
ตนอีกครั้ง.
บุรุษผู้หนึ่งเห็นทีปายนดาบสนั้นเข้าไปสู่บรรณศาลา จึงบอกแก่นายมัณฑัพยะผู้เป็นสหาย
นายมัณฑัพยะนั้นได้ฟังข่าวก็ยินดี พาบุตรภรรยาถือเครื่องสักการะมีของหอมดอกไม้และเครื่องลูบไล้เป็นอันมากไปสู่บรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบสแล้ว ล้างเท้าทาน้ำมันให้ ถวายน้ำปานะให้ดื่ม แล้วนั่งฟังข่าวอาณิมัณฑัพยะดาบส 
ครั้งนั้นบุตรของเขาชื่อยัญญทัตตกุมารเล่นลูกข่างอยู่ในที่สุดที่จงกรม ก็ที่จอมปลวกแห่ง
หนึ่งใกล้บรรณศาลานั้น มีอสรพิษตัวหนึ่งอาศัยอยู่  ลูกข่างที่กุมารปาเหนือพื้นดินได้เข้าไปตกถูกศีรษะอสรพิษในโพรงจอมปลวก กุมารนั้นไม่รู้จึงเอามือล้วงเข้าไปในโพรง ครานั้นอสรพิษเดือดดาลเขาจึงกัดเข้าที่มือ เขาสลบล้มลง ณ ที่นั้นด้วยกำลังอสรพิษ 
ลำดับนั้น มารดาบิดารู้ว่าลูกถูกอสรพิษกัด จึงยกกุมารขึ้นแล้วอุ้มมาที่พระดาบสให้นอนลงแทบเท้าแล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ธรรมดาบรรพชิตย่อมจะรู้โอสถหรือปริตร ขอท่านได้โปรดทำบุตรของข้าพเจ้าให้หายเถิด 
พระดาบสกล่าวว่า เราไม่รู้โอสถ เราเป็นบรรพชิตจักทำเวชกรรมไม่ได้ 
พวกเขาขอร้องพระดาบสว่า ถ้าเช่นนั้น ขอท่านได้ตั้งเมตตาในกุมาร ทำสัตยาธิษฐานเถิด 
พระดาบสรับว่า ได้ ถ้าอย่างนั้น เราจักทำสัจกิริยา แล้ววางมือลงที่ศีรษะยัญญทัตตกุมาร
จึงได้กล่าวสัจจาธิษฐานว่า   เราเป็นผู้มีความต้องการบุญ ได้มีจิตเลื่อมใสประพฤติพรหมจรรย์อยู่เพียง ๗ วัน  เท่านั้น ต่อจากนั้นมา แม้เราจะไม่มีความยินดีใน บรรพชา ก็ทนประพฤติพรหมจรรย์ของเราอยู่ได้ถึง ๕๐ กว่าปี ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความ สวัสดีจงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก    ยัญญทัตตกุมารจงรอดชีวิตเถิด.

จบตอน แรงกรรม

ประเด็นน่าสนใจ
    ๑ เป็นความผิดพลาดของพระราชาที่ไม่ทรงใคร่ครวญให้ดีก่อน ก็ด่วนตัดสินพระทัยแล้ว เป็นเหตุให้พระดาบสต้องถูกเสียบหลาวอยู่เช่นนั้น แน่นอนนั่นเป็นผลแห่งวิบากกรรมเก่าของพระดาบสเอง แต่ก็เป็นกรรมใหม่ของพระราชาเช่นกัน เมื่อกรรมส่งผล พระราชาอาจต้องได้รับทุกข์ทรมานเพราะกรรมทำร้ายพระดาบสก็เป็นได้  ฉะนั้นเมื่อต้องตัดสินใจว่าใครถูกใครผิด ควรพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน เพื่อมิให้ต้องทำร้ายผู้อื่น จนกลายเป็นบาปกรรมติดตัวเราไป
    ๒ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสลักษณะของมิตรแท้ไว้ในสิงคาลกสูตรว่า 
ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
    ทีปายนดาบสเป็นตัวอย่างของมิตรแท้ เมื่อมัณฑัพยดาบสประสบทุกข์ ก็มิได้ละทิ้งไปไหน ทุกคนปรารถนามิตรสหายเช่นทีปายนดาบสนี้ แต่ก็มิใช่เรื่องง่ายที่จะพบเจอ เพราะเมื่อต้องการมิตรสหายเช่นนี้ ตนเองต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๓ ประการ  คือ เป็นผู้มีบุญเก่า๑ เป็นผู้มีคุณความดี๑ เป็นผู้ประกอบด้วยลักษณะของมิตรแท้ทั้ง ๔ ประการ๑  หากปราศจากคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นการยากที่จะพบเจอมิตรแท้ได้

Cr. ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022570768992106 Mins