บรรพชิต วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่

วันที่ 11 เมย. พ.ศ.2566

บรรพชิต
ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่

 

บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่
กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ

บรรพชิต วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่

      พุทธวจนะนี้ พระพุทธองค์ทรงเตือนภิกษุไม่ให้ประมาทในการทำกุศลธรรมให้เจริญ อะไรที่เป็นบุญกุศลควรสั่งสมไว้ให้มาก และอย่าเผลอสติปล่อยใจให้อกุศลเข้าแทรก ให้หมั่นประคองรักษาใจไว้กับตัวตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยแบ่งเวลา ๑ วันออกเป็น 5 ส่วน ส่วนละ ๔ ชั่วโมง คือ
      - กลางวัน คือ ช่วงเวลาตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตก แบ่งเป็น ๓ ส่วน
      เช้าตั้งแต่           ๐๖.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.
      กลางวันตั้งแต่    ๑๐.๐๐ - ๑๔.๐๐ น.
      เย็นตั้งแต่          ๑๔.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.

      - กลางคืน คือ ช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปจนถึงอรุณ แบ่งเป็น ๓ ส่วน
      ยามต้น (ปฐมยาม)           ตั้งแต่ ๑๘.๐๐ - ๒๒.๐๐ น.
      ยามกลาง (มัชฌิมยาม)   ตั้งแต่ ๒๒.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.
      ยามสุดท้าย (ปัจฉิมยาม) ตั้งแต่ ๐๒.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
      ใน ๖ ส่วนนั้น ให้ตื่น ๕ ส่วน ด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิ นอนหลับ ๑ ส่วนในยามกลาง และให้หลับอย่างมีสติสัมปชัญญะที่เรียกว่า หลับในอู่ทะเลบุญ

บรรพชิต วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่

 

      ชีวิตของมนุษย์แบ่งเป็น ๓ ช่วงวัย คือ ช่วงต้น ช่วงกลาง ช่วงปลาย เรียกว่า ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย
      ปฐมวัย ถ้ารีบบำเพ็ญสมณธรรม คือ หมั่นเจริญสมาธิภาวนาได้ยิ่งเป็นการดี เพราะร่างกายยังมีความแข็งแรงยืดหยุ่นดีกระฉับกระเฉง ไม่ปวดเมื่อยง่าย แต่ถ้ายังประมาทด้วยการเล่าเรียนสาธยาย ทรงจํา บอกต่อ ทำวัตรอยู่เพียงอย่างเดียว ไม่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้มาก จนเวลาล่วงเลยผ่านช่วงปฐมวัยไปแล้ว ในมัชฌิมวัยจึงไม่ควรประมาทอีก ให้รีบบำเพ็ญสมณธรรม
      มัชฌิมวัย ถ้ายังประมาทอยู่โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปสอบทานอรรถกถา วินิจฉัย และสอบทานเนื้อความแห่งพระปริยัติที่เรียนแล้วสมัยปฐมวัย แต่ไม่ให้เวลาในการปฏิบัติภาวนาให้มาก เวลาจะล่วงเลยไปพร้อมกับความแข็งแรงของร่างกายที่ลดลง ผ่านไปสู่ช่วงปัจฉิมวัย
      ปัจฉิมวัย ถึงช่วงนี้ต้องไม่ประมาทแล้ว เร่งเจริญภาวนาให้สุดกำลัง ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน เพราะเวลาเหลือน้อยลงทุกที ร่างกายก็เสื่อมถอยร่วงโรยลงทุกขณะ หากไม่รีบบำเพ็ญสมณธรรมอีกอาจถูกมรณภัยพรากชีวิตไปเมื่อใดก็ได้
      อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีชีวิตอยู่เพียงแค่ช่วงขณะลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะต้องตายเมื่อปัจฉิมวัยทุกคน บางคนอาจตายเมื่อปฐมวัยหรือมัชฌิมวัยก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ ผู้หมั่นบำเพ็ญสมณธรรมในทุกอิริยาบถและในทุกช่วงวัย ทั้งปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย
      บรรพชิตที่ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ชื่อว่า ประคับประคองตน ทำตนให้เป็นที่รักของตน หากไม่ทำตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่า ไม่รักตนเอง เป็นการทำตนนั้นให้เดือดร้อนในปัจจุบันและเดือดร้อนในภายหลังด้วย เพราะตราบใดที่ยังขจัดกิเลสได้ไม่หมดก็ต้องเกิดใหม่อยู่ร่ำไป ต้องประสบทุกข์มากมายไม่จบสิ้น
     
การแบ่งเวลาเจริญภาวนา
      การแบ่งเวลานั่งสมาธิเจริญภาวนาเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้สมาธิก้าวหน้า จุดประสงค์ก็เพื่อเพิ่มเวลาทำใจให้หยุดนิ่งทำให้จิตคุ้นเคยกับการทำใจหยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ ยิ่งประคองรักษาใจไว้ตลอดทั้งวันระหว่างการทำกิจวัตรกิจกรรมด้วยแล้ว เวลานั่งสมาธิในครั้งต่อไปจะทำให้ใจรวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแนะให้ภิกษุหมั่นเจริญภาวนาในกาลทั้ง ๓ ดังนี้
      “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญก็ดี ธรรม ๓ คืออะไร
      ภิกษุทั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเช้า ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนกลางวัน ตั้งสมาธินิมิตอย่างดีในตอนเย็น ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ นี้แล ย่อมเป็นผู้อาจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ดี เพื่อทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญขึ้นก็ดี”๔๒ ในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมไว้มีใจความว่า
      ๑. เวลาเช้า ภิกษุทำวัตรที่ลานเจดีย์และลานโพธิ์แล้ว เข้าไปสู่เสนาสนะเพื่อนั่งเข้าสมาบัติจนถึงเวลาบิณฑบาต ทำอย่างนี้ชื่อว่าตั้งใจกำหนดสมาธินิมิตโดยเคารพในเวลาเช้า

      ๒. เวลาภายหลังฉันภัตตาหาร เธอกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังที่พัก นั่งเข้าสมาบัติจนถึงเวลาเย็น ทำอย่างนี้ชื่อว่าตั้งใจกำหนดสมาธินิมิตโดยเคารพในเวลาเที่ยงวัน
      ๓. เวลาเย็น เธอไหว้เจดีย์ ทำการบำรุงพระเถระแล้วเข้าไปสู่เสนาสนะ ได้นั่งเข้าสมาบัติตลอดปฐมยาม ทำอย่างนี้ได้ชื่อว่าตั้งใจกำหนดสมาธินิมิตโดยเคารพในเวลาเย็น๔๓
      นอกจากเวลาทั้ง ๓ กาลดังกล่าวแล้ว แม้ในช่วงกลางคืนพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงสรรเสริญความไม่ประมาท ทรงแนะให้ภิกษุตื่นขึ้นมาทำความเพียรให้มาก และทรงชี้โทษของการนอนหลับ โทษของความประมาทในวัยว่า

บรรพชิต วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่


      ภิกษุทั้งหลายจงลุกขึ้นนั่ง การหลับไม่มีประโยชน์อะไรเลยแก่บุคคลที่ยังเป็นโรคร้าย คือ ยังมีกิเลส เช่น ราคะ เป็นดุจลูกศรทิ่มแทงให้ได้รับบาดเจ็บอยู่อย่างนั้น ภิกษุควรลุกขึ้นนั่ง จงบากบั่นขยันศึกษาเพื่อเข้าถึงความสงบ คือนิพพาน อย่าให้ความตายมาพรากพวกเธอที่ยังประมาทอยู่ไปเสียก่อน จงข้ามพ้นความอยาก ความยินดีในกามคุณ เพราะความยินดีพอใจเหล่านี้เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์หลงยึดติดอยู่อย่างนั้น
      อย่าปล่อยให้โอกาสในการบำเพ็ญสมณธรรมผ่านพ้นไปเพราะคนที่ปล่อยโอกาสนี้ผ่านไป ย่อมไปสู่ทุคติ แออัดกันอยู่ในนรกด้วยความทุกข์ทรมาน การหลงมัวเมาในวัย หลงว่ายังอายุน้อยอยู่ แล้วไม่รีบบำเพ็ญสมณธรรม เป็นความประมาท ดังนั้นบัณฑิตผู้ฉลาดควรรีบถอนลูกศร คือกิเลสออกไปให้หมดด้วยความไม่ประมาท และความรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง๔๔
      ดังนั้น เพื่อให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงหาอุปกรณ์มาช่วยสนับสนุนการทำความเพียรไม่ให้นอนหลับสบายจนเกินไป โดยใช้หมอนท่อนไม้หนุนเวลานอน เพราะมีความแข็ง เมื่อพลิกหรือขยับตัวก็จะตื่นได้ง่าย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกลิงครสูตร มีใจความว่า
      ภิกษุทั้งหลายในปัจจุบัน ขณะนอนใช้หมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้าทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ตื่นขึ้นมาปฏิบัติภาวนาได้ง่าย มารผู้มีบาปจึงไม่มีโอกาสทำลายความเพียรของภิกษุเหล่านั้น
      แต่ในอนาคตกาล พวกภิกษุคุ้นเคยกับความสะดวกสบายมีมือเท้าอันอ่อนนุ่ม นอนบนที่นอนซึ่งมีฟูกและหมอนอันอ่อนนุ่มและนอนไปจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น มารผู้มีบาปจะได้โอกาสทำลายความเพียรของภิกษุเหล่านั้น ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายควรใช้หมอนไม้ในการนอน เพื่อให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีความเพียรอยู่เสมอ๔๕
      การใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่าเพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ภิกษุจึงไม่ควรปล่อยเวลาในการบำเพ็ญสมณธรรมให้ล่วงเลยไป เพราะผู้ที่ประมาทปล่อยโอกาสในการทำความเพียรให้ผ่านไปนั้นย่อมเศร้าโศก แออัดยัดเยียดกันอยู่ในนรกในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย แล้วพากันเศร้าโศกรำพึงรำพันด้วยความเสียดายโอกาสในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า เราไม่ได้ทำกรรมดีอะไรไว้เลย เป็นต้น๔๖ ซึ่งถึงเวลานั้นก็สายไปเสียแล้ว
      ภิกษุควรพิจารณาทุกวันว่า วันและคืนที่ผ่านไปได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมและเพิ่มพูนคุณธรรมต่าง ๆ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วหรือไม่ หากวันใดได้ทำแล้ว วันนั้นได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาท หากวันใดยังบกพร่องอยู่ ควรรีบพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อบรรลุเป้าหมายของการบรรพชา คือการทำพระนิพพานให้แจ้ง


"ทุกคนมีชีวิตอยู่เพียง
แค่ช่วงขณะลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
อย่าปล่อยให้โอกาสในการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านพ้นไป
พึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
หมั่นบำเพ็ญสมณธรรมในทุกอิริยาบถ
และในทุกช่วงวัย"

บรรพชิต วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทําอะไรอยู่

 

๔๒ องฺ.ติก. ปฐมปาปณิกสูตร (ไทย.มมร) ๓๔/๔๕๘/๕๘
๔๓ องฺ.ติก.อ. ปฐมปาปณิกสูตร (ไทย.มมร) ๓๔/๖๐
๔๔ ขุ.สุ. อุฏฐานสูตร (ไทย.มมร) ๔๗/๓๒๗/๒๕๕-๒๘๖
๔๕ สํ.นิ. กลิงครสูตร (ไทย.มมร) ๒๖/๖๗๖/๗๔๒
๔๖ ขุ.ส. อุฏฐานสูตร (ไทย.มมร) ๔๗/๓๒๗/๒๙๑-๒๙๒

 


บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

 

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010602513949076 Mins