ความพร่องและความต้องการของบุคคลทั่วไปที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

วันที่ 04 มิย. พ.ศ.2557

 

 ความพร่องและความต้องการของบุคคลทั่วไปที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 

          ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ผู้จะทำหน้าที่นี้จะต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า บุคคลที่เราจะไปทำ
หน้าที่กัลยาณมิตรให้เขานั้น เขาทั้งหลายต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีความต้องการเช่นเดียวกับเรา และยังมีความไม่สมบูรณ์พร้อมอยู่หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือยังมีความพร่องอยู่ ซึ่งความพร่องของทุกคนนั้นสามารถจำแนกได้อยู่ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่


            1. โง่ คือ มีทรัพย์สมบัติไม่ค่อยจะพอ จนกระทั้งต้องทำมาหากิน ประกอบอาชีพกันตลอดชีวิตซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติของคนทั่วไป ที่ต่างต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้ทรัพย์มา


            2. พร้องกำลังใจ คือ บุคคลท้ังหลายไม่ว่าจะมีความเก่งกาจสามารถขนาดไหนเวลาทำงานก็จะต้องเจออุปสรรคเป็นธรรมดา ถ้าหากมีอุปสรรคแค่เพียงเล็กน้อยก็พอแก้ไขด้วยตนเองได้ แต่หากเจออุปสรรคหนักๆเข้ากำลังใจก็ย่อมจะถดถอยได้ ดังนั้น บุคคลทั้งหลายจึงยังต้องการกำลังใจ ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาถ้าไม่มีคนเชียร์ หรือว่าไม่มีคนแข่งขันด้วย เกมก็ไม่สนุก เพราะฉะนั้นพอกำลังใจพร่องก็ต้องมีคนเชียร์


            3. พร้องความรู้ความสามารถ กล่าวคือ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้แล้วจึงมาเรียนรู้กันในภายหลังทั้งนั้น แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเรียนให้จบครบถ้วนถึงความรู้ในโลกนี้ได้ทั้งหมด แม้จะให้มนุษย์มีอายุยืนยาวเป็นพันปีก็ตาม เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถของคนเรา จึงพร่องอยู่ตลอดเวลายิ่งการงานก้าวหน้า ความรู้ที่มีอยู่ยิ่งไม่ทันงาน ก็ต้องไปหาคนมา สอนหรือแนะนำเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้


           4. พร้องความปลอดภัยกล่าวคือ ในขณะที่ทำงานไป ก็ต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยไปด้วยทั้งความปลอดภัยจากงานที่ทำ และความปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่นสิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ที่อาจจะมีความไม่ชอบเห็นความเจริญก้าวหน้าของเรา ดังสุภาษิตที่ว่า "จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน" เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง เพราะแม้เราจะยังไม่เก่งก็มีภัยมากเก่งมากนักก็ยิ่งมีภัยมาก เพราะฉะนั้นเมื่อความปลอดภัยพร่องไป ก็ต้องหามาเติมให้เต็ม จนกระทั่งภัยนั้นหมดไป เป็นต้น

         ดังนั้น เมื่อเราทราบว่ามนุษย์ล้วนมีความพร่องในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้จำแนกไว้ 4 หมวดดังกล่าว
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่จะไปเติมเต็มสิ่งบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ดัง กล่าวให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งการจะเติมเต็มความบกพร่องดังกล่าวนี้ กระทำได้โดยการเป็นผู้ให้ และให้ในสิ่งที่พร่อง4 ประการ ได้แก่

           1. ทาน คือ การให้ กล่าวคือ เมื่อถึงคราวที่เพื่อนขาดทรัพย์สมบัติ เรามีอะไรแบ่งปันกันได้ก็
แบ่งปัน ช่วยเหลือ จุนเจือกันไป


        2. ปิยวาจา คือ การให้คำพูด เป็น กำลังใจ เพราะบางคนเมื่อถึง คราวป่วยไข้หรือ เจออุปสรรค แม้แต่มีการกระทบกระทั่งกันเองในครอบครัว ก็ต้องการกำลังใจ ทั้งนี้สิ่งที่จะทอนกำลังใจมนุษย์นั้นไม่มีอะไรเกินกว่าคำพูดที่แสลงใจ และสิ่งที่จะเพิ่มพูนกำลังใจให้มนุษย์ ก็ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่ไพเราะ อันเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจกันของมนุษย์นั่นเอง


            3. อัตถจริยา คือ การให้ความช่วยเหลือด้วยการกระทำ เช่น หากมีเรี่ยวแรง มีความรู้ มีความ
สามารถก็ไม่หวง และหากสามารถแนะนำอะไรได้ ก็ให้คำแนะนำ ความสามารถอะไรที่มีอยู่ ถ้าสามารถช่วยได้ก็ทุ่มเทกำลังกาย ทุ่มเทศิลปะ ทุ่มเทเทคโนโลยี ช่วยให้เพื่อนหรือผู้ยังพร่องอยู่นั้นสมบูรณ์ขึ้นมาได้


            4. สมานัสตัตตา คือ มีความจริงใจให้การสนับสนุนกัน อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถึงคราวเพื่อนได้ดี ก็ดีใจด้วย ไม่อิจฉา ตาร้อน มีจิตมุทิตา ดีใจด้วยกับเพื่อนที่ได้ตำแหน่งเพิ่มขึ้น หรือว่าดีใจด้วยที่เพื่อนได้กำไรมาก แม้จะมากกว่าเราก็ตาม เป็นต้น

 

         เมื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตรเช่นนี้ คือให้ทั้งสิ่งของ ให้คำพูด ให้กำลังกาย ให้กำลังใจ ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ย่อมถือว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่กัน ผลที่เกิดขึ้น นอกจากเราจะสามารถสร้างเครือข่ายคนดีแล้ว ยังจะทำให้เรามีกัลยาณมิตรรอบข้างได้อย่างมากมายอีกด้วย

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010817488034566 Mins