เป้าหมายชีวิต

วันที่ 05 มีค. พ.ศ.2558

เป้าหมายชีวิต

 มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนแสวงหาสิ่งที่ตนเองปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนาความเชื่อใดก็ตาม ต่างก็มีเป้าหมายชีวิตเป็นของตนเองทั้งสิ้น สิ่งนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เราต้องมีกิจกรรม มีการงาน มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องดิ้นรนแสวงหา เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งตนปรารถนา

     ใครมีความสนใจหรือมีความพอใจในด้านใดก็จะมีกิจกรรมในด้านนั้นๆเป้าหมายที่บุคคลผู้นั้นตั้งเอาไว้ก็จะเป็นไปในทางนั้น เป้าหมายของนักกีฬาเมื่อลงแข่งขันย่อมอยากยืนอยู่บนแท่นของผู้ชนะ ดารา นักร้อง นักแสดง เมื่อสวมบทบาทแล้วย่อมต้องการการยอมรับจากผู้ชมเป้าหมายของนักธุรกิจก็มุ่งหวังที่จะทำให้ธุรกิจหรือกิจการของตนเจริญก้าวหน้ามีกำไรมากในขณะที่บางคนอาจไม่เคร่งครัดกับชีวิตมากมายนักเพียงได้บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งก็เติมเต็มชีวิตได้แล้วแพทย์บางท่านมีความสุขกับการได้รักษาคนไข้ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญนักการเมืองบางท่านพอใจที่ได้ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนที่บ้านเกิดของตน ครูอาจารย์บางท่าน มีความสุขกับการเป็นครูประจำชั้น ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เติบโตเป็นคนดีของสังคมในภายหน้าและอีกหลากหลายผู้คนที่วางแผนชีวิตของตนแตกต่างกันไประดับของเป้าหมายก็แตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิด ความเห็นหรือทัศนคติของแต่ละคนที่มีต่อเป้าหมายนั้นนั่นเองอย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวโดยองค์ความรู้ในพระพุทธศาสนาแล้วที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นอาจถือได้ว่าเป็นเป้าหมายชีวิตในระดับหนึ่งที่ทุกคนต้องการแต่ในเบื้องลึกยิ่งกว่านี้พระพุทธศาสนายังได้กล่าวถึงเป้าหมายชีวิตในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีกโดยพระพุทธองค์ได้กล่าวถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิตในมุมมองที่กว้างขวางมากและตรงจุดนี้เองที่พระพุทธศาสนาได้สร้างโอกาสให้กับชาวโลกทุกคนได้ไขว่คว้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษาแสวงหาคำตอบให้กับตัวเองเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ก้าวขึ้นไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป้าหมายของชีวิตที่ทุกคนพึงกำหนดไว้เพื่อที่จะบรรลุถึงความสำเร็จ สามารถแบ่งได้ 3 ระดับด้วย กัน คือ

1. เป้าหมายบนดิน หรือเป้าหมายชีวิตในระดับต้น

2. เป้าหมายบนฟ้า หรือเป้าหมายชีวิตในระดับกลาง

3. เป้าหมายเหนือฟ้า หรือเป้าหมายชีวิตในระดับสูงสุด
 

     เป้าหมายบนดิน หมายถึง เป้าหมายระดับต้นของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ นั่นคือการดำรงตนเป็นคนดีที่โลกต้องการคนดีหรือที่พระพุทธศาสนา เรียกว่า สัตบุรุษ คือ บุคคลที่ไม่ว่าใครต่างก็พึงปรารถนา อยากที่จะคบหาและเข้าใกล้ เพราะสามารถมั่นใจได้ว่าคนดีนี้จะไม่นำสิ่งเลวร้ายมาสู่ตัวเรานอกจากนี้ยังจะมอบแต่สิ่งดีๆ ให้แก่เราอีกด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงลักษณะของสัตบุรุษไว้ดังนี้

     ”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกอื่นมี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และโลกอื่นให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกมีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แลสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษŽ” ดังนั้นคนดี คือ ผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล มีความเชื่อมั่นในเรื่องของกรรม เชื่อในเรื่องผลของบุญและบาปทำให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งการจะบรรลุผลเช่นนี้ได้ พระพุทธศาสนาได้วางหลักปฏิบัติที่ใช้ได้ผลจริงมาแต่ครั้งโบราณกาล นั่นคือการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา เป็นประจำสม่ำเสมอจนกระทั่งติดเป็นนิสัยประจำตัวในที่สุด และเมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วย่อมได้รับผลเป็นความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

     ”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้ 3 ประการเป็นไฉน  คือ ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ 1 สีลมัยบุญกิริยาวัตถุ 1 ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้แล กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันให้ผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน 1 ความประพฤติเสมอ 1 เมตตาจิต 1 บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม 3 ประการอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันไม่มีความเบียดเบียนŽ บุคคลผู้มีใจรักในการเสียสละ ชอบแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น แบ่งปันทรัพย์สมบัติให้ กับผู้อื่นในยามที่เขาจำเป็นต้องใช้ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น และย่อมจะเป็นที่พึ่งพาอาศัยให้กับ บุคคลรอบข้างได้ สิ่งนี้เป็นข้อที่พึงปฏิบัติในขั้นต้นของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเรียกว่า การทำทาน ยิ่งกว่านั้น ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ความคิดความเห็นของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันได้ การผิดใจกันถือเป็นเรื่องที่เราจะต้องประสบ บุคคลใด สามารถยับยั้งชั่งใจ ตั้งสติระงับตนเอง ไม่ให้ตัวเองก้าวออกไปสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่น ทั้งการกระทำและคำพูดได้ บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ก่อศัตรู จะเป็นผู้มีมิตรดี และประสบความสุข ในบั้นปลาย ซึ่งเรียกว่า การรักษาศีล ที่กล่าวมานั้นถือเป็นข้อปฏิบัติในการควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ ให้สงบจากสิ่งที่เป็นบาป อกุศลทั้งปวง ซึ่งการที่จะควบคุมกายและวาจาให้สงบระงับอย่างได้ผลนั้น อยู่ที่การควบคุมใจให้สงบเสียก่อน เพราะการกระทำและคำพูดจะปรากฏออกมาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับใจเป็นสำคัญ หากว่าใจดี สิ่งที่ออกมาทางกายและวาจาก็จะดีตามไปด้วย ใจนั้นควบคุมกายอีกชั้นหนึ่ง ดังคำกล่าว ว่า ”ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าวŽ”

     ดังนั้น การที่จะควบคุมใจให้สงบนิ่งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าต้องเจริญภาวนา คือ การนำ ใจที่เคยซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ที่ไปติดอยู่กับคน สัตว์ หรือสิ่งของภายนอก นำกลับเข้ามาไว้ภายในตัว ที่ศูนย์กลางกาย ให้ใจได้กลับเข้ามาสู่ฐานที่ตั้ง ที่เป็นแหล่งกำเนิดความสุขที่แท้จริง ใจก็จะสงบ นิ่ง เบิกบาน ผ่องใส ส่งผลให้ความคิดความเห็นออกมาในทางที่ดี เหมาะสมที่จะนำไปใช้ควบคุมกายและวาจาได้ ผลก็คือ การกระทำทางกายและวาจาก็จะออกมาในทางดีด้วย เราเองก็มีความสุข และเป็นสุขทางใจที่พิเศษกว่า สุขไหนๆ เป็นสุขที่อยู่เหนือความสะดวกสบายจากเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ สุขที่เกิดจากความ เพลิดเพลิน จากการได้ท่องเที่ยวไปยังสถานที่อันน่ารื่นรมย์ก็เทียบไม่ได้ เป็นสุขที่แสวงหาได้จากการหยุด ใจให้นิ่งเท่านั้น และยังพร้อมที่จะมอบความสุขนี้เผื่อแผ่ไปยังบุคคลรอบข้างให้ได้รับความสุขเหมือนกับเราไปด้วย การกระทบกระทั่งใจกันย่อมไม่เกิดขึ้น มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขและเมื่อเกิดการกระทำเช่นนี้มากขึ้นในทุกๆมุมโลกชาวโลกก็จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สันติภาพก็ย่อมบังเกิดขึ้นในโลกซึ่งเรียกว่า การเจริญภาวนา ทั้งทาน ศีล ภาวนา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายชีวิตในระดับต้นเป็นสิ่งที่ผู้หวังความสุขที่แท้จริงต้องประพฤติปฏิบัติให้เกิดขึ้นให้ได้
 

     เป้าหมายบนฟ้า เป้าหมายชีวิตในระดับต่อมา คือ เป้าหมายระดับกลาง  เป็นเป้าหมายในระดับที่สูงขึ้นมาจากเป้าหมายบนดิน เป้าหมายบนฟ้านี้มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกๆ คน เพราะชีวิตของเราไม่ได้จบลงตรงที่เชิงตะกอน ชีวิตหลังความตายนั้นมีอยู่ หรือกล่าวอีกนัย หนึ่งว่าตายแล้วไม่สูญ แม้หลับตาลาจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังมีโลกหน้ารอคอยอยู่อีก ดังนั้นชีวิตในปรโลกจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดี จะเป็นสุขหรือทุกข์ทรมาน ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาได้สอนเรื่องนี้ไว้ ซึ่งถือเป็นหลักตัดสินว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ เรียกว่า หลักกรรม หรือหลักแห่งการกระทำ หลักกรรมนี้แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ กรรมดี และกรรมชั่ว บุคคลใด กระทำความดีย่อมได้รับผลคือบุญ เมื่อหลับตาลาโลกไปแล้ว เขาย่อมไปเสวยผลบุญ ณ แดนสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาทั้งหลาย แต่ถ้ากระทำความชั่ว เขาย่อมได้รับผลตรงกันข้ามคือบาป เมื่อละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วเขาย่อมไปเสวยผลบาปที่ตัวทำไว้ ต้องได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

     ”ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือกรรม ด้วยมิจฉาทิฏฐิ เพราะการยึดถือกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทร ก็ดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ สมาทานกรรมด้วย อำนาจสัมมาทิฏฐิ เพราะการยึดถือกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์Ž

    ดังนั้น บุคคลใดก็ตามเมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลทั้งสิ้น และผลนั้นย่อมบังเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน คือ ในชาตินี้ และในอนาคต คือ ภพชาติเบื้องหน้า และแม้จะมีบางคนที่ยังมีความลังเลสงสัย ยังไม่ปักใจเชื่อในเรื่องภพชาติเบื้องหน้าก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังควรที่จะสั่งสมบุญไว้ เพราะถ้าหากชาติหน้าไม่มีจริง เขาเมื่อสั่งสมบุญอยู่ ย่อมได้รับคำสรรเสริญ จากชนเป็นอันมาก ย่อมประสบความสุขในชาตินี้อย่างแน่นอน แต่ถ้าชาติหน้ามีจริง เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ดังนี้

    ”อริยสาวกนั้นมีจิตหาเวรมิได้อย่างนี้ มีจิตหาความเบียดเบียนมิได้อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองแล้วอย่างนี้ มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ (เพราะแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ทั้งปวง) เธอได้ความอุ่นใจ 4 ประการในชาตินี้

ความอุ่นใจที่หนึ่งว่า ถ้าโลกเบื้องหน้ามีอยู่ ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดี ทำ ชั่วมีอยู่ ข้อนี้เป็นสถานที่ตั้งซึ่งจะเป็นได้ คือเบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้ว เราจะเข้าไปถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้ ความอุ่นใจนี้อริยสาวกได้แล้วเป็นที่หนึ่ง

ความอุ่นใจข้อที่สองว่า ถ้าโลกเบื้องหน้าไม่มี ผลแห่งกรรมที่สัตว์ ทำดี ทำชั่วก็ไม่มี เราก็จะรักษาตนให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีความลำบากไม่มีทุกข์ มีแต่สุขในชาตินี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สอง

ความอุ่นใจข้อที่สามว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าเป็นอันทำ เรา ไม่ได้คิดบาปให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สาม

ความอุ่นใจข้อที่สี่ว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ เรา ก็ได้พิจารณาเห็นตนเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วนดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สี่Ž

     เพราะฉะนั้น การวางแผนชีวิตที่ดี จะกำหนดเป้าหมายชีวิตเพียงเฉพาะเป้าหมายบนดินนั้นยังไม่ เป็นการเพียงพอ จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายบนฟ้าด้วย เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่าชีวิตของเราจะยืนยาวนานเพียงใด และวันสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงเมื่อไร เราทราบแต่เพียงว่า วันนั้นจะต้องมาถึง อย่างแน่นอน และไม่ว่าใครก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ นี้เป็นกฎธรรมดาของโลก มีข้อน่าสังเกตว่า สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบารมี มีเพียงโลกมนุษย์เท่านั้น เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จึงหมดโอกาสในการสร้างบารมี เพราะสวรรค์เป็นที่สำหรับเสวยผลบุญเท่านั้น ไม่สามารถสร้างบุญเพิ่มได้อย่างในโลกมนุษย์ ดังนั้น สำหรับนักสร้างบารมีแล้วสวรรค์จึงเปรียบเสมือนที่พักชั่วคราวเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมในการลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมีต่อไป อนึ่ง ข้อจำกัดประการหนึ่งของการลงมาเกิดในโลกมนุษย์ คือ การลืมอดีต โดยเราไม่สามารถ จำเป้าหมายและมโนปณิธานของตนเองเมื่อชาติที่แล้วได้ จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เรามีโอกาสออกนอก ลู่นอกทาง ซึ่งอาจมีผลทำให้พลาดไปทำบาปและพลัดไปสู่อบายภูมิได้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เราจึงจำเป็นต้องสั่งสมบุญให้มากๆ และบ่อยๆ ให้ติดเป็นนิสัยให้ได้ ต้องทำจนเกิดเป็นความเคยชิน เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เหมือนลมหายใจเข้าและออกที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นผู้มีปัญญาและไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จึงตั้งเป้าหมายบนฟ้าควบคู่ไปกับเป้าหมายบนดิน คือ แสวงหาความสุขในโลกนี้แล้ว ยังต้องวางแผนให้ไปมีความสุขในภพเบื้องหน้าด้วย ซึ่งเป้าหมายบนฟ้านั้น พระพุทธศาสนาได้วางหลักปฏิบัติที่สมบูรณ์เอาไว้ คือ ต้องทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เช่นเดียว กับเป้าหมายบนดิน แต่จะต้องปฏิบัติให้เข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม ต้องทำเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอไม่ขาด คือ จะต้องเป็นผู้ที่รักในการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ให้ยิ่งกว่าการประกอบอาชีพหรือหน้าที่ การงานในทางโลก ต้องสั่งสมทาน ศีล และภาวนา โดยหวังเอาบุญเป็นที่ตั้ง ไม่หวังประโยชน์อื่นใดใน ทางโลกเป็นเครื่องตอบแทน ผู้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้ ใจจะสะอาดบริสุทธิ์ เป็นสภาพใจที่มีกิเลสเบาบาง กิเลสอาสวะเข้ามาบังคับบัญชาหรือครอบงำได้น้อย ใจมีพละกำลังมาก มีกำลังบุญมากเพียงพอที่จะ ไปสู่ภพภูมิอันเป็นสุคติได้

     ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ทั้งทาน ศีล และภาวนาเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องทำ ถือว่าเป็นงานของชีวิตที่จะส่งผลให้สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับต้นและระดับกลางได้และผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบนดินได้ดีเพียงไรก็ย่อมมีโอกาสบรรลุเป้าหมายบนฟ้าได้ดีเพียงนั้นด้วยสำหรับผู้ที่ไม่บรรลุเป้าหมายบนดินนั้นเขาย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายบนฟ้าได้เลย
 

     เป้าหมายชีวิตในระดับสูงที่สุดอาจเรียกได้ว่าเป้าหมายเหนือฟ้า เป็นเป้าหมายที่สูงกว่าเป้าหมายบนฟ้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังความสุขในภพเบื้องหน้าเป้าหมายเหนือฟ้านี้มุ่งไปที่ความหลุดพ้นจากทุกข์ปราศจากกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากสังสารวัฏเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป้าหมายระดับนี้มีปรากฏเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้นไม่ปรากฏในคำสอนของศาสนาหรือลัทธิความเชื่ออื่นใดในโลกเลย บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสารเห็นความจริงว่าการเกิดนั้นเป็นทุกข์ไม่ได้เป็นเครื่องหมายแห่งความสุขอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ยิ่งเกิดบ่อยก็ยิ่งประสบความทุกข์บ่อย ต่อเมื่อเข้าถึงพระนิพพานได้เมื่อไร จึงจะสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ”เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือนคืออัตภาพ เมื่อไม่พบได้ท่องเที่ยวไปแล้ว สิ้นสงสารนับด้วยชาติมิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ ดูก่อนช่างผู้ทำเรือนคือ อัตภาพ เราพบท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนคืออัตภาพของเราอีกไม่ได้ โครงบ้าน ของท่านทั้งหมด เราทำลายแล้ว ยอดแห่งเรือนคืออวิชชา เรารื้อแล้ว จิตของ เราถึงพระนิพพานแล้วเราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้วเมื่อได้ศึกษาและเข้าใจถึงวงจรการเวียนว่ายตายเกิดของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็เกิดความ เบื่อหน่ายในการเกิด จึงคิดว่าเมื่อการเกิดนำมาซึ่งความทุกข์เช่นนี้แล้ว ถ้าหากว่าไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนมี 2 ด้านที่ตรงข้ามกันเสมอ มีมืดก็มีสว่าง มีดำก็มีขาว มีหนาวก็มีร้อน ดังนั้น เมื่อมี การเกิด ก็ต้องมีการไม่เกิด ผู้มีดวงปัญญายิ่งใหญ่เมื่อคิดเช่นนี้ได้ก็ลงมือศึกษาค้นคว้าหาวิธีการที่จะทำให้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จลุล่วงให้จงได้ บุคคลสำคัญประเภทนี้พระพุทธศาสนาให้ชื่อว่า “พระโพธิสัตว์Ž”ท่านคือผู้มีใจใหญ่ที่ตั้งความปรารถนาจะไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ จะไปให้ถึงจุดที่ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นคือพระนิพพานอันเป็นบรมสุขการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายเหนือฟ้าได้นั้น จะต้องสร้างความดีอย่างยิ่งยวดสร้างให้มากยิ่งกว่าผู้ที่ตั้งเป้าหมายเพียงบนดินหรือบนฟ้าจะต้องเป็นผู้ที่รักในการสั่งสมบุญเป็นชีวิตจิตใจเรียกได้ว่าชีวิตของเขานั้นเกิดมาเพื่อบำเพ็ญบุญทุกลมหายใจของเขานั้นผ่านไปด้วยบุญ คือ เขาจะมีวิธีการสั่งสมให้บุญเกิด ขึ้นในทุกๆ ลมหายใจเข้าออกทีเดียว ดังนั้น บุคคลประเภทนี้จึงมีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อการกระทำ คำพูด หรือความคิดของใครก็ตามที่จะมาเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการบรรลุเป้าหมายผู้ที่ตั้งเป้าหมายระดับสูงสุดนี้จะต้องรักในการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาให้ยิ่งกว่าชีวิต จิตใจ คือ แม้ว่าจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอมเพื่อให้ได้บุญถึงตรงนี้ เราสามารถกล่าวโดยสรุปถึงวัตถุประสงค์ของการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ได้ดังนี้

1. ทำทาน เพื่อกำจัดความโลภ (โลภะ)หรือความตระหนี่ที่อยู่ในใจให้หมดสิ้นไปย่อมได้ทรัพย์สมบัติเป็นอานิสงส์ คือ สมบัติจักรพรรดิเป็นที่สุด

2. รักษาศีล เพื่อกำจัดความโกรธ (โทสะ) หรือความพยาบาท อาฆาต ปองร้ายผู้อื่นให้หมดสิ้นไปจากใจย่อมได้รูปสมบัติเป็นอานิสงส์ คือ ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการเป็นที่สุด

3. เจริญภาวนา เพื่อกำจัดความหลง (โมหะ) หรือความไม่รู้ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิอันเนื่องมาจากอวิชชาครอบงำ ย่อมได้คุณสมบัติเป็นอานิสงส์ คือ วิชชา 3 เพื่อใช้ในการปราบกิเลสเป็นที่สุด

     ผู้วางแผนชีวิตโดยตั้งเป้าหมายเหนือฟ้านั้น จะมีความเห็นหรือทัศนคติต่อคำว่า บุญŽ ที่สูงยิ่งขึ้น ไปผลของบุญนั้นสามารถบันดาลให้ได้ในทุกสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือ คุณสมบัติ เหล่านี้ล้วนได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญทั้งสิ้น ดังนั้น การทำทานจะต้องทำโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน รักษาศีลก็ต้องรักษาด้วยชีวิต และทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการเจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญภาวนา ถือว่าเป็น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจะบรรลุเป้าหมายเหนือฟ้า การทำทานและการรักษาศีลถือเป็นเครื่องสนับสนุนให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้สะดวกขึ้น

     สำหรับเป้าหมายในระดับนี้การทำทานมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเก็บเสบียงข้ามภพข้ามชาติเพราะการที่จะบรรลุพระนิพพานนั้น ไม่อาจทำให้สำเร็จได้ภายในชาติเดียว เพื่อความไม่ประมาท จึงต้องสั่งสมทานเอาไว้ เพื่อจะได้เป็นหลักประกันให้ว่า หากต้องเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม จะได้มีทรัพย์สมบัติบังเกิดขึ้นเอาไว้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพื่อจะได้มีเวลาและมีโอกาสในการเจริญภาวนาได้สะดวกไม่มีห่วงมีกังวลในเรื่องปากท้อง

     สำหรับการรักษาศีลนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในภพชาติเบื้องหน้าเมื่อกลับมาเกิดในโลกนี้แล้วจะได้ความเป็นมนุษย์เพราะการได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างบุญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดกายมนุษย์เท่านั้นที่สามารถสั่งสมบุญและทำภาวนาได้ถ้าหากเกิดมาแล้วได้กายชนิดอื่นก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสในการสร้างบารมีโดยสิ้นเชิง หนทางการเข้าพระนิพพานก็จะยิ่งห่างไกลเพราะการที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งได้นั้นก็ด้วยการเจริญภาวนาทำใจให้หยุดนิ่งเท่านั้น

     ดังนั้น ทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา จึงมีความสำคัญต่อการบรรลุพระนิพพานอย่างที่สุดนอกจากนี้ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ในระดับใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายบนดิน เป้าหมายบนฟ้า หรือเป้าหมายเหนือฟ้าก็ตาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพราะฉะนั้น บุญทั้ง 3 ประการนี้จึงถือเป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องลงมือปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัยเป็นความเคยชินจนกระทั่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เรียกว่า วิถีชีวิตให้ได้

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010536154111226 Mins