การทำบุญให้ได้บุญมาก

วันที่ 21 กค. พ.ศ.2558

 

 

การทำบุญให้ได้บุญมาก


    หากเราจะทำบุญให้ได้บุญมาก ทำทานให้ได้บุญเยอะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ทำบุญทำทานต้องยึดหลักบริสุทธิ์ 3 ได้แก่
            1.    วัตถุบริสุทธิ์ คือ ทรัพย์ที่เรานำมาทำทานนั้นได้มาด้วยความถูกต้อง ไม่ได้ทุจริตฉ้อโกงมา
            2.    เจตนาบริสุทธิ์ คือ ตัวเราคือผู้ให้ทานต้องมีศรัทธาเต็มเปี่ยมทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ก็ระลึกถึงด้วยความปลื้มใจ
            3.    บุคคลบริสุทธิ์ คือ บุคคลผู้รับทานเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ มีคุณธรรม สูงเท่าใด เราก็จะได้บุญมากไปตามส่วนนั้นด้วย ท่านจึงเปรียบพระภิกษุว่าเป็นเหมือนเนื้อนาบุญของโลก เราเองไปทำนาบนเนื้อนาดี ข้าวก็ย่อมออกมาเต็มรวง ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเป็นนาดอนแห้งแล้งไม่มีปุ๋ย ก็ย่อมได้รับผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นต้น
บางท่านสงสัยว่า ระหว่างการทำทานด้วยการให้ปัจจัยหรือเป็นเงิน กับการทำทานด้วยสิ่งของ หรือแม้กระทั่งบางท่านอาจจะไม่ได้มีปัจจัยอะไรมาก แต่เอาแรงกายเข้าไปช่วยงานพระศาสนา ถือว่าเป็นการให้ด้วยแรงกาย มีความแตกต่างกันอย่างไรในเรื่องของอานิสงส์ ไม่ว่าจะเป็นการทำทานด้วยสิ่งของ เช่น ใส่บาตรด้วยข้าวปลาอาหาร ข้าวสาร ข้าวสุก ล้วนได้บุญทุกกรณีไป จะถวายเป็นปัจจัยหรือเงินทองเราก็ได้บุญ เพราะเมื่อถวายแล้วท่านก็ได้นำปัจจัยนั้นไปแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แล้วนำไปใช้ต่อไปได้อีก หรือหากว่าเราพบวัดที่กำลังก่อสร้าง แล้วจะถวายไม้ ปูน หิน หรือว่าจะถวายเป็นปัจจัยให้สงฆ์ ท่านได้ไปจัดหาสิ่งของเพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาให้เรียบร้อย เราก็ได้บุญเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ให้นั่นเอง


            แต่ควรพยายามเลือกสิ่งที่พระภิกษุได้ใช้เป็นประโยชน์ เช่นบางกรณีที่ญาติโยมไปซื้อสังฆทานมาถวาย พระท่านรับมาแล้วก็วางเรียงรายแน่นิ่งอยู่ในกุฏิเป็นหลายสิบถังไม่ได้เปิดไม่ได้แกะ อย่างนี้แม้ได้บุญเหมือนกัน แต่ว่าได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะว่าเราไปถวายสิ่งที่พระท่านไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้นให้ถวายสิ่งของที่พระภิกษุท่านได้ใช้จริงๆจะเกิดประโยชน์มากกว่า
            ส่วนถ้าเราเอาแรงกายไปช่วยเหลืองานพระพุทธศาสนา ก็ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “ เวยยาวัจจมัย ” แปลว่า “ บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในการงานที่ชอบ ” คือ หากไม่มีเงินเราก็สามารถช่วยด้วยกำลังกายได้ หรือบางกรณีที่อาจจะไม่ต้องการทรัพย์ แต่ต้องการสติปัญญาความคิด การให้ในรูปแบบนี้ก็ได้บุญเช่นกัน ถือว่าเป็น “ เวยยาวัจจมัย ” บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในการงานที่ชอบได้ทางหนึ่งเหมือนกัน


            กล่าวย้ำในตอนต้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า การให้ทานจะได้บุญมากนั้นต้องยึดหลักบริสุทธิ์ 3 ในกรณีที่เราจะทำทานให้ลองพิจารณาทีละข้อ ดังนี้
            ข้อ1. ทรัพย์ที่จะถวายทานนั้นเราได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรม
            ข้อ2. บุญจะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับว่าก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้นั้น เรามีความเลื่อมใสศรัทธามากแค่ไหน เช่น ก่อนจะทำบุญเราปลื้มอกปลื้มใจ มีปีติ ศรัทธา เห็นประโยชน์ ตั้งใจจะทำบุญจริงๆ ถ้าศรัทธาเหนียวแน่นลึกซึ้งอย่างนี้ แล้วระหว่างถวายก็ปลื้มปีติมาก หลังถวายแล้วนึกถึงเมื่อใดก็ชื่นใจ ไม่เกิดความรู้สึกเสียดาย อย่างนี้บุญที่ได้รับก็จะมาก แต่บางคนก่อนถวายและระหว่างถวายก็ยังปลื้มใจ มีปีติ ศรัทธา แต่พอถวายเสร็จ กลับรู้สึกว่าสักครู่ตนเองถวายมากไปหน่อย ถ้าถวายน้อยกว่านั้นสักครึ่ง เราก็จะมีเงินเหลือมากกว่านี้ ผลที่เกิดจากความคิดตระหนี่เสียดายทรัพย์เมื่อทำบุญทำทานไปแล้วนี้เอง ต่อไปเมื่อบุญส่งผลให้ร่ำรวย บุคคลนั้นก็จะเกิดความรู้สึกตระหนี่ ไม่อยากใช้ทรัพย์ แม้เป็นเศรษฐี แต่ว่าต้องใส่เสื้อผ้าขาดวิ่น หรือถ้าซื้อผลไม้ก็มักจะหาซื้อผลที่เริ่มเน่า ต้องตัดทิ้งบ้าง ต้องแอบกินไม่ให้ใครเห็นเพราะกลัวเขาจะขอบ้าง คือ มีทรัพย์แต่ว่าใช้ทรัพย์ได้ไม่เต็มอิ่มเพราะความเสียดาย
            ข้อ3. ดูว่าผู้รับเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมากเพียงใด ถ้าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อผู้รับนำสิ่งที่เราถวายหรือให้ไปบริโภคใช้สอยแล้วเขาเอาเรี่ยวแรงกำลังที่เกิดขึ้นไปทำความดีได้มาก เราเองก็ได้บุญมากตามไปด้วย


ทำบุญกับขอทานได้บุญหรือได้บาป ?
    บางคนสงสัยว่า ในการทำทานหรือให้เงินแก่ขอทานหรือคนยากคนจน ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะเอาปัจจัยตรงนี้ไปทำอะไร หรือเมื่อเขามีแรงแล้ว เขาจะเอาเรี่ยวแรงไปทำผิดทำชั่วอะไรหรือเปล่าแล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวเราผู้ให้จะมีส่วนบาปกับคนเหล่านั้นหรือไม่ประเด็นนี้ไม่ต้องกังวล เพราะตัวเราคือผู้ให้ไม่มีบาป แต่ว่าจะได้บุญมากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า เมื่อผู้รับเขารับไปแล้ว เขาเอากำลังที่เกิดขึ้นไปทำคุณประโยชน์ คุณความดีมากขนาดไหน ที่บางคนกังวลว่าการให้ไปนั้นจะเป็นการสนับสนุนให้เขาไปทำชั่วหรือไม่ ถือว่าเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวกัน


    กรณีที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นแก๊งขอทานที่ตระเวนตามจุดต่างๆ หลอกลวงต้มตุ๋น เอาเด็กมาหลอกขอเงินจากชาวบ้านหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดเราทนสงสารไม่ไหวแล้วช่วยเหลือเขาแบบนี้ไม่ผิด แต่มีหลักอยู่ตรงที่ว่าถ้าเราไม่สบายใจที่จะทำทาน สงสัยว่าเขาเป็นแก๊งขอทาน เราจึงไม่อยากให้เพราะรู้สึกว่าให้แล้วเหมือนเป็นการสนับสนุนให้เขาเอาเด็กมาทรมาน ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้ก็อย่าไปให้ เพราะใจไม่เลื่อมใสมีความระแวงซึ่งจะได้บุญน้อย แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนั้น เพียงแต่มีความรู้สึกสงสารคิดอยากจะช่วยเหลือเขา แล้วเราก็ให้โดยที่ใจเราเองไม่ได้คิดสงสัยในประเด็นต่างๆ เลย อย่างนี้เราเองไม่มีส่วนบาปใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราให้ด้วยจิตกรุณา ให้ด้วยความสงสารนั่นเอง


การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง
    บางคนพอกล่าวถึง “ สังฆทาน ” ก็ทำให้นึกถึงถังขึ้นมาทันที จริงๆการถวายสังฆทานนั้น เป็นการถวายแก่พระภิกษุโดยไม่เฉพาะเจาะจงแก่รูปใดรูปหนึ่ง เป็นการถวายโดยภาพรวม แล้วแต่สงฆ์จะไปใช้อะไรต่อ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมสงฆ์ ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง จึงมักจะไปหาซื้อถังสังฆทานแบบสำเร็จรูปตามร้านสังฆภัณฑ์เพราะรู้สึกสะดวก และมั่นใจว่าทางร้านมีประสบการณ์ และมีความเป็นมืออาชีพ เขาคงจะจัดอะไรที่ถูกหลักการถวายมากกว่าที่เราต้องมาจัดหาเองเป็นชิ้นๆ


    แปลกตรงที่ว่า การถวายสังฆทานแด่พระภิกษุต่างจากการซื้อสิ่งของอย่างอื่น กรณีซื้อของอย่างอื่น เช่น ซื้อเสื้อผ้า ถ้าเจอของที่ไม่ดี ไม่ชอบ หรือไม่ถูกใจเราก็เอาไปคืนหรือไปต่อว่าเขา แต่ว่าการถวายสังฆทานแด่พระภิกษุนั้นเป็นรูปแบบที่ว่า “ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ” เพราะฉะนั้นเมื่อถวายไปแล้ว พระภิกษุท่านเปิดมาเจอนมบูดบ้าง ผ้าสบงผืนเล็กไปบ้างเล็กขนาดที่สามเณรยังใส่ไม่ได้ เพราะว่าคนขายบางคนนั้นต้องการได้กำไรมากๆ จึงทำแค่ให้เห็นว่ามีผ้าเหลืองอยู่ ก็เลยตัดผืนเล็กๆ แล้วนำไปใช้อะไรไม่ได้ อย่างนี้จึงทำให้ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ในกรณีนี้เราควรจัดเตรียมเครื่องสังฆทานเองจึงจะเป็นการดีกว่า 


    โดยหากต้องการจะถวายอาหารให้ถวายช่วงก่อนเพล ส่วนข้าวสารอาหารแห้ง ให้ถวายช่วงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเที่ยงเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม น้ำปานะ หรือของใช้ที่จำเป็น เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก จะถวายหลังเพลก็ย่อมได้ ในการถวายสังฆทานแต่ละครั้ง เราสามารถถวายแด่พระภิกษุรูปเดียวได้ คือ ไม่ได้เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เราถวายรวมๆ ทั้งวัดเพียงแต่มีพระภิกษุ 1 รูป ที่เป็นตัวแทนสงฆ์มารับเท่านั้น แต่หากเป็นการทำพิธีกรรมจะให้ครบองค์สงฆ์ จะต้องมีพระสงฆ์ 4 รูปขึ้นไป

-----------------------------------------------------------------

ไขปัญหาความเชื่อ


รวบรวมหลักธรรมคำบรรยายของ "พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฆ" ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ อดีตชาติ การแก้กรรม ชีวิตหลังความตาย และข้อคิดจาดความตาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนทางสู่ความสุข ความสงบภายในจิตใจ ถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาอ่านง่าย ให้ข้อคิดอันหลากหลาย ซึ่งคุณสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี


http://tltpress.com/book004.html#

ซีเอ็ดบุ๊ค เซนเตอร์

ร้านนายอินทร์

ศูนย์หนังสือจุฬา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010271191596985 Mins