หลักการทำใจหยุด

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2558

 

หลักการทำใจหยุด

            จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นถึงลักษณะของใจตามที่พระมงคลเทพมุนีกล่าวไว้ เป็น การกล่าวถึงใจเมื่อออกมาทำงาน ไม่ได้กล่าวถึงใจในภาวะหยุดนิ่ง การทำใจให้หยุด จะต้องทำให้ เห็น จำ คิด รู้ มารวมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ไม่ส่งใจออกไปตามฐานต่างๆ ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า

” คำที่เรียกว่า ใจ นี่แหละเราต้องบังคับให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็น จำ คิด รู้ สี่อย่างนี้ ต้องมารวมหยุดเป็นจุด เดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์ มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน สะดือทะลุหลังเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้าย เป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึง ตรงกัน ตึงทั้ง 2 เส้นตรงกลางจรดกัน ที่กลางจรดกันนั้นแหละเรียกว่า กลางกั๊ก กลางกั๊กนั้นแหละ ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟอง ไข่แดงของไข่ไก่ ถูกกลางดวงพอดี ที่สอนให้เอาพระของขวัญไปจรดไว้ที่กลางดวง นั้นคือกลางกั๊กนั่นแหละ เราเอาใจของเราไปจรดที่กลางกั๊กนั้น เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างจรดอยู่ กลางกั๊กนั้น กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีที่ตั้งแห่งเดียวเท่านั้น”ใจ” ที่เขาบอกว่า “    ตั้งใจ” นะเราจะต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้นทีเดียว ถึงจะถูกเป้าหมายใจดำ เขาบอกว่าตั้งใจ”4)

 

            การทำให้ใจหยุดของพระมงคลเทพมุนี ก็คือ การทำให้เห็น จำ คิด รู้ มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่ที่กลางกายมนุษย์ คือ ตรงศูนย์กลางกาย ซึ่งถือว่าเป็นหลักการในการทำใจหยุด สำหรับวิธีการที่จะทำให้เห็น จำ คิด รู้ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านได้ให้แนวทางไว้ว่า

“    ต้องเอาใจไปหยุดตรงกลางนั้น เมื่อเอาใจไปหยุดอยู่กลางนั้นได้แล้ว ก็ใช้สัญญาจำให้ มั่นหยุดนิ่งบังคับ ให้นิ่งเชียว ถ้าไม่นิ่งก็ต้องใช้บริกรรมภาวนาบังคับไว้ บังคับให้ใจหยุด บังคับหนักเข้า หนักเข้า หนักเข้า พอถูกส่วนเข้า ใจหยุดนิ่ง ใจหยุด หยุด พอใจหยุดเท่านั้นแหละถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด”5)

 

            การทำให้เห็น จำ คิด รู้ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านใช้คำว่า บังคับให้นิ่ง บังคับให้ใจหยุด ด้วยบริกรรมภาวนา ทำไปจนกระทั่งถูกส่วน จึงถูกตัวสมถะ คือ ใจหยุดได้ หรืออาจใช้บริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ควบคู่กับบริกรรมภาวนาก็ได้

 

------------------------------------------------------------------------

4) , 5) เอกสารรวบรวมพระธรรมเทศนา (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อาคารทวีสินคอมเพล็กซ์, 2539, หน้า 5.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018965840339661 Mins