ความหมายของกรรม

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2558

 

 ความหมายของกรรม

              สิ่งที่เรียกว่า”กรรม” ตามความหมายในพระพุทธศาสนา หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“    เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสาติ…”5)

“    หมายความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำด้วยกาย วาจา ใจ

 

กรรมหรือการกระทำ จึงต้องมีพื้นฐานจากเรื่องของเจตนา

            เจตนา หมายถึง สภาพความนึกคิดที่มีความจงใจเป็นสิ่งประกอบสำคัญ คือ ต้องคิดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วจึงกระทำ เจตนาจึงจัดเป็นแก่นสำคัญที่สุดของการกระทำ เป็นตัวที่ทำให้ การกระทำมีความหมาย การกระทำที่มิได้เกิดจากความจงใจไม่อาจเรียกว่าเป็นการกระทำได้

            กรรมสามารถแสดงออกมาได้ 3 ทาง ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยกรรมแบ่งออก 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายกุศลกรรม และฝ่ายอกุศลกรรม ตามอำนาจของต้นเหตุที่เกิดขึ้น และผลที่ปรากฏ

 

1.ฝ่ายกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายดี เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน มีสุขเป็นผล ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“    กรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดแต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นแดนเกิดอันใด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นหาโทษมิได้ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล”6)

 

บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่น เบิกบานเสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี7)

 

            กุศลกรรมเป็นการกระทำที่ดีงาม ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่มีทุกข์โทษภัยเดือดร้อนในภายหลัง แต่ก่อให้เกิดบุญบารมีและกุศลธรรม พฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลกรรมคือกุศลกรรมบถ 10 สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจา และใจ ดังนี้

(1)กายสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางกาย มี 3 ประการ คือ 1) ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต 2) อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้ 3) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

(2)วจีสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางวาจา มี 4 ประการ คือ 1) มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเท็จ 2) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดส่อเสียด 3) ผรุสายวาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดคำหยาบ4) สัมผัปปลาปา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

(3)มโนสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางใจ มี 3 ประการคือ 1) อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น 2) อัพยาบาท ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น 3) สัมมาทิฏฐิ คิดถูกเห็นถูก

 

2.ฝ่ายอกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายชั่ว เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เป็นการกระทำที่มีโทษ เดือดร้อนในภายหลัง มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่ มีทุกข์เป็นผล ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“    กรรมที่บุคคลทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้นเหตุ มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นแดนเกิดอันใด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล”8)

 

“    บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย”9)

 

            อกุศลกรรมเป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม ผิดศีล ผิดธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง มีทุกข์โทษภัยเดือดร้อนในภายหลัง ก่อให้เกิดบาปและกุศลธรรม พฤติกรรมที่จัดเป็นอกุศลกรรม คือ อกุศลกรรมบถ 10 สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจาและใจ ดังนี้คือ

(1)กายทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางกาย มี 3 ประการ คือ 1) ปาณาติบาต การจงใจฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต 2) อทินนาทาน การจงใจลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้ 3) กาเมสุมิจฉาจาร การจงใจประพฤติผิดในกาม

(2)วจีทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางวาจา มี 4 ประการ คือ 1) มุสาวาท การจงใจ พูดคำเท็จ 2) ปิสุณายวาจา การจงใจพูดส่อเสียด 3) ผรุสาวาจา การจงใจพูดคำหยาบ 4) สัมผัปปลาปะ การจงใจพูดเพ้อเจ้อ

(3)มโนทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางใจ มี 3 ประการ คือ 1) อภิชฌา คิดเพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของของผู้อื่น 2) พยาบาท คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น 3) มิจฉาทิฏฐิ คิดผิด เห็นผิด

------------------------------------------------------------------------

5) อภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ, สยามรัฐ เล่มที่ 37 ข้อ 1281 หน้า 422.
6) ปฐมนิทานสูตร, อังคุตตนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่มที่ 34 ข้อ 551 หน้า 521.
7) , 9) เขมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 24 ข้อ 281 หน้า 367.
8) ปฐมนิทานสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่มที่ 34 ข้อ 551 หน้า 520.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017831325531006 Mins