กิเลส กรรม วิบาก นำไปสู่ภพภูมิ

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2558

 

 กิเลส กรรม วิบาก นำไปสู่ภพภูมิ

            เราได้ศึกษามาแล้วว่า ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ สรรพสัตว์ทั้งหลายถูกกิเลสบังคับให้ทำ กรรม กรรมทำให้ต้องไปเสวยวิบากในภพภูมิ ในภวสูตร พระอานนท์ได้เข้าไปถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเหตุเกิดของภพทั้ง 3 ภพมีได้เพราะเหตุใด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามว่า “    ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุ จักไม่มีแล้ว กามภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ”

 

พระอานนท์ทูลว่า “    ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า”

 

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณ ชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุจักไม่มีแล้ว รูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ”

 

พระอานนท์ “    ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า”

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “    ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่า เป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้วเพราะธาตุอย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ก็กรรมที่อำนวยผลให้อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพพึงปรากฏบ้างหรือหนอ”

 

พระอานนท์ “    ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “    ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณ ชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้วเพราะธาตุอย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก ดูก่อนอานนท์ ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล”7)

 

            เมื่อมีการเวียนตายเวียนเกิดในภพภูมิ ก็ย่อมก่อให้เกิดวงจรไตรวัฏฏ์8) อย่างยาวนาน คือ เกิดการท่องเที่ยวไปเพราะการมีชีวิตอยู่ เปรียบเสมือนการเดินทาง นับตั้งแต่ปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดา จนกระทั่งออกมาสู่โลกภายนอก ภาวะทางกายและทางจิตของมนุษย์ไม่เคยหยุด อยู่กับที่ แต่ก้าวไปข้างหน้าจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผ่านจากภพนี้ไปสู่ภพอื่นต่อไป และ ต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน…

 

พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา… ได้ประสบมรณกรรมของบิดา… ของพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว… ของบุตร… ของธิดา… ความเสื่อมแห่งญาติ… ความเสื่อมแห่งโภคะ… ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน…

น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่าน้ำ ในมหาสมุทรทั้ง 4…

โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาซึ่งถูกตัดศีรษะ… เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นกระบือ… เกิดเป็นแกะ… เกิดเป็นแพะ… เกิดเป็นเนื้อ… เกิดเป็นสุกร… เกิดเป็นไก่… ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่าเป็นโจรคิดปล้น… ถูกจับตัดศีรษะ โดยข้อหาว่าเป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง 4…

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ไม่น่าชื่นใจอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น…

 

            สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นแลเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้น สงบระงับไปเป็นสุข”9)

            จากพุทธพจน์นี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นความยาวนานของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นการเวียนตายเวียนเกิดอย่างนับครั้งไม่ถ้วนจนไม่อาจจะประมาณได้ ชีวิตในสังสารวัฏนี้เราเป็นมาทุกอย่างแล้ว และก็ต้องเสียน้ำตาเพราะความทุกข์ในแต่ละชาตินับภพ นับชาติไม่ถ้วน เมื่อเราพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า การเวียนตายเวียนเกิดในภพภูมิทั้งหลายหา ความเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่ได้ แม้การไปบังเกิดในภพภูมิต่างๆ ก็ยังหาความแน่นอนไม่ได้ ดังที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

 

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย แม้ฉันใด

สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ก็ฉันนั้นแล บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้”10)

 

บุคคลแม้จะไปบังเกิดถึงพรหมโลก อาจต้องตกไปเกิดในอบายภูมิอีก ดังที่พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“    อายุของเทวดาเหล่าอากิญจัญญายตนะ (บุคคลผู้สำเร็จฌานนั้น) ที่เป็นปุถุชนอยู่ตลอดกำหนดอายุในเทวโลกชั้นนั้นแล้ว (จุติจากเทวโลกนั้น) ไปนรกก็ได้ ไปกำเนิดเดียรัจฉานก็ได้ ไปกำเนิดเปรตก็ได้”11)

 

            เราจะเห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ น่ากลัว ไม่ปลอดภัย และอาจประสบทุกข์ภัยได้ตลอดเวลา เมื่อกิเลสยังมีอยู่ แม้ตัวของเราเองก็ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ไม่พึงปล่อยใจให้เพลิดเพลินยินดีหรือเผลอใจให้เศร้าหมอง ห่วงใยกังวลในคน สัตว์ สิ่งของหรือเรื่องราวอันไม่เป็นแก่นสาร และหมั่นพิจารณาให้เห็นทุกข์โทษภัยของกิเลสและการเวียนว่ายตายเกิด แล้วตั้งใจละเว้นความชั่ว ตั้งใจสั่งสมแต่ความดี มุ่งมั่นสร้างบารมี แสวงหาหนทางหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

            สมจริงดังปฏิปทาอันดีงามตามอย่างพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน อาทิ ท่าน สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ ผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน ท่านเปรียบภพทั้งปวงประดุจคุกขังสรรพสัตว์ ได้กล่าวสอนตนเองไว้ว่า

“    หากท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำนาน ลำบากเพราะทุกข์ มิได้เกิดความยินดีในที่นั้น ย่อมแสวงหาทางที่พ้นไปถ่ายเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ จงตั้งหน้ามุ่งต่อการออกบวช เพื่อพ้นจากภพ ฉันนั้นเถิด”12)

 

            บัณฑิตผู้มีดวงปัญญาสว่างไสว ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ย่อมพิจารณาเห็นทุกข์โทษภัยในวัฏสงสาร แล้วดำเนินตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านเหล่านั้นย่อมละเว้นบาปอกุศลทั้งปวง บำเพ็ญแต่กุศลธรรมและกลั่นจิตของตนให้ผ่องแผ้ว แล้วมุ่งมั่นสู่เป้าหมายอันสูงสุดของทุกชีวิต คือ พระนิพพาน เราได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวงจรของสังสารวัฏแล้ว ทำให้เราเห็นถึงทุกข์โทษภัยต่างๆ ในบทเรียนต่อไป เราจะได้ไปศึกษาวิปัสสนาภูมิ เพื่อการเจริญวิปัสสนาอันจะเป็นวิธีการเพื่อนำไปสู่หนทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้

------------------------------------------------------------------------

7) อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร, มก. เล่ม 34 ข้อ 517 หน้า 424-425.
8) ไตรวัฏฏ์ หมายถึง การเวียนเกิดเวียนตาย เพราะเหตุมูลปัจจัย 3 ประการ คือ กิเลส กรรม วิบาก.
9) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 421-461 หน้า 506-535.
10) ทัณฑสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 439 หน้า 520.
11) อเนญชสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 556 หน้า 532.
12) ขุททกยิกาย ชาดก อปัณณกวรรค ทูเรนิทาน, มก. เล่ม 55 หน้า 35-36.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01675709883372 Mins