อายตนะ 12 ตามทัศนะของพระมงคลเทพมุนี

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2558

 

อายตนะ 12 ตามทัศนะของพระมงคลเทพมุนี

1.ความหมายและอายตนะแบบต่างๆ

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้ให้ความหมายของคำว่า อายตนะ ไว้ว่า หมายถึงดึงดูด หรือบ่อเกิด ท่านกล่าวว่า

“    บ่อเกิดของตาดึงดูดรูป บ่อเกิดของหูดึงดูดเสียง บ่อเกิดของจมูกดึงดูดกลิ่น บ่อเกิดของลิ้นดึงดูดรส บ่อเกิดของกายดึงดูดสัมผัส บ่อเกิดของใจดึงดูดธรรมารมณ์”8)

 

ซึ่งเราสามารถจับคู่ได้ดังนี้

ตา ดึงดูดกับ รูป

หู ดึงดูดกับ เสียง

จมูก ดึงดูดกับ กลิ่น

ลิ้น ดึงดูดกับ รส

กาย ดึงดูดกับ สัมผัส

ใจ ดึงดูดกับ ธรรมารมณ์ หรือธัมมารมณ์

           ท่านขยายความคำว่าอายตนะออกไปอีกว่า อายตนะ มีอยู่ 2 แบบ คือ โลกายตนะ กับธัมมายตนะ โลกายตนะ เป็นอายตนะในภพ 3 โลกันต์ที่ดึงดูดสรรพสัตว์ไปตามภพภูมิต่างๆ ตามอำนาจของบุญและบาป ส่วนธัมมายตนะ9)คือ อายตนนิพพานที่ดึงดูดสรรพสัตว์ที่หมดกิเลส

อายตนะ 12 จัดอยู่ในโลกายตนะ ที่ดึงดูดสรรพสัตว์เอาไว้ในภพ 3 นี้ พระมงคลเทพมุนีได้อธิบายไว้ว่า

“    อายตนะภพ 3 มันดึงดูดเหมือนกัน กามภพดึงดูดพวกติดในกาม รูปภพดึงดูดพวกติดรูป ติดรูปแล้วต้องไปอยู่ชั้นนั้น อรูปภพดึงดูดพวกติดอรูป ไปติดไปอยู่ชั้นนั้น”

“    โลกายตนะหรือโลกมันดึงดูด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รูปที่ชอบใจมันก็ดึงดูดมาให้ไปติดกับมัน หรือเอาไปติดกับตา หรือเอาไปติดกับรูป เสียงที่ชอบใจมันก็ดึงดูดหู หรือหูดึงดูดเสียงเอามา กลิ่นที่ชอบใจก็ดึงดูดจมูก หรือจมูกก็ดึงดูดกลิ่นเอามา รสที่ชอบใจมันก็ดึงดูดลิ้น หรือลิ้นก็ดึงดูดมันมา สัมผัสที่ชอบใจมันก็ดึงดูดกาย หรือกายไปดึงดูดเอามันมา มันดึงดูดอย่างนี้ มนายตนะส่วนใจ ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ มันก็ดึงดูดใจ หรือใจก็ไปดึงดูดเอามันมา นี้มันดึงดูดกันอย่างนี้ ดึงดูดแน่นทีเดียว หลุดไม่ได้ทีเดียว ไม่ว่าแก่เฒ่าชรา หญิง ชาย ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชนิดใดละ ถูกอายตนะของโลกดึงดูดเข้าอย่างนี้ก็อยู่หมัด ไปไหนไม่ไหวละ อยู่หมัดทีเดียว อายตนะโลกมันดึงดูดอย่างนี้ ไม่ใช่ดึงดูดพอดีพอร้าย อายตนะดึงดูดเหล่านี้ผิวเผินนะ ดึงดูดลงไปกว่านี้อีกอายตนะของโลก

 

            ถ้าว่าสัตว์ในโลก มีธรรมดำล้วน ไม่ได้มีธรรมขาวเข้าไปเจือปนเลยเท่าปลายผม ปลายขน ดำล้วนทีเดียว แตกกายทำลายขันธ์ โน่น อายตนะโลกันต์ดึงดูด ต่ำกว่าภพ 3 ลงไปนี้ เท่าภพ 3 ส่วนโลกันต์เท่ากับภพ 3 นี้ แต่ต่ำกว่าภพ 3 ลงไปอีก 3 เท่าภพ 3 นี้นั่นมันอายตนะโลกันต์ดึงดูด ดึงดูดโน่น ไปอื่นไม่ได้ อายตนะโลกันต์มีกำลังกว่า พอถูกกระแสถูกสายเข้าแล้วจะเยื้องยักไปทางอื่นไม่ได้ อายตนะของโลกันต์ก็ดึงดูดทีเดียว ไปติดอยู่ในโลกันต์โน่น กว่าจะครบกำหนดออกน่ะมันไม่มีเวลา เวลาน่ะนานนัก ไม่ต้องนับเวลากันละ เข้าถึงโลกันต์แล้ว กว่าจะได้ออก อจินฺเตยฺโย ไม่ควรคิด ไม่มีกำหนดกัน นั่นแน่น ดึงดูดติดขนาดนั้น นั่นอายตนะโลกันต์หนา

            อายตนะอเวจี ถ้าจะไปตกนรกอเวจี ก็ฆ่าพระพุทธเจ้า ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าพระพุทธเจ้า หรือฆ่าพระอรหันต์ ทำลายโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อขึ้น ยุยงให้สงฆ์แตกจากกัน เหล่านี้ ปิตุฆาต มาตุฆาต ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา เหล่านี้ แตกกายทำลายขันธ์ ต้องไปอเวจี อ้ายนี้อยู่ในภพ ขอบภพข้างล่าง ขอบภพข้างล่างพอดี อเวจี สี่เหลี่ยม เหล็กรอบตัวสี่ด้าน สี่เหลี่ยมทีเดียว ไปอยู่ใน ห้องขังนั้น ในห้องขังอเวจีนั้น แดงก่ำเหมือนกับเหล็กแดงทั้งวันทั้งคืน อะไรไม่ต่างกันละ

            ตัวเทวทัตแดงเป็นเหล็กแดงทีเดียว ไหม้เป็นเหล็กแดงทีเดียว แต่ไม่ตาย กรรมบังคับให้ทนอยู่ได้ นั่นไปตกอเวจีละ ทำถึงขนาดนั้น อนันตริยกรรมเข้า พอแตกกายทำลายขันธ์ กุศลอื่นไม่มีกำลัง สู้อเวจีไม่ได้ อเวจีดึงดูดวูบทีเดียว สู่โยคเผด็จของตน ไปเกิดในอเวจีโน่น หย่อนขึ้นมากกว่านั้น ไม่ถึงกับฆ่ามารดา บิดา ทำลายโลหิตพระพุทธเจ้า ไม่ถึงยุยงพระสงฆ์ ทำลาย พระสงฆ์ ยุยงให้สงฆ์แตกจากกัน ปิตุฆาต มาตุฆาต อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ยังสงฆ์ให้แตกจากกันเหล่านี้ ไม่ถึงขนาดนั้น หย่อนกว่านั้นลงมาเพียงแต่ว่าเกือบๆ จะฆ่ากันแหละ แต่ว่าไม่ถึงกับฆ่า ไม่ถึงตาย เมื่อแตกกายทำลายขันธ์จากมนุษย์โลก ไปอยู่มหาตาปนรกโน้น

 

            มหาตาปนรกโน่น มหาตาปน่ะ ร้อนเหลือร้อน แต่ว่าหย่อนกว่าอเวจีหน่อยขึ้นมา ถ้าว่าไม่ถึงขนาดนั้นทำชั่วไม่ถึงขนาดนั้น หย่อนกว่ามหาตาปนรก ก็ไปอยู่ตาปนรก นั่นก็ร้อนพอร้อน แต่ว่าร้อนหย่อนกว่านั้นขึ้นมาหน่อย หย่อนกว่านั้นขึ้นมายิ่งกว่าเรื่อยขึ้นไป ถ้าว่าทำหย่อนขึ้นไปกว่านั้น ความชั่วหย่อนขึ้นไปกว่านั้น เข้าไปอยู่ในมหาโรรุวนรก ร้อง ได้ร้องครางกันเถอะ ไม่มีเวลาหยุดกันละ มหาร้องไห้ทีเดียว ถ้าหย่อนกว่านั้นขึ้นมา อยู่ในโรรุวนรก ก็ร้องไห้ไปเถอะ ไม่มีหยุดเหมือนกัน แต่ว่าถ้าหย่อนกว่า ถ้าไม่ถึงขนาดโรรุวนรก หย่อนกว่านั้นขึ้นมา ก็ไปอยู่สังฆาฏนรก ถ้าหย่อนกว่านั้นขึ้น มาอีก ก็ไปกาฬสุตตนรก หย่อนกว่านั้นขึ้นมาอีก ก็ไปสัญชีวนรก รวม 8 ขุม นี่นรกขุมใหญ่ หรือ มหานรก ถ้าหย่อนกว่านั้นขึ้นมา ก็ไปอยู่ในบริวารนรก เรียกว่า อุสสทนรก อยู่รอบมหานรกทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 4 ขุม แต่ละมหานรก จึงมีนรกบริวาร หรืออุสสทนรก 16 ขุม มหานรก 8 ขุม ก็มีนรกบริวารรวม 128 ขุม หย่อนกว่านั้นขึ้นมาอีก ก็ไปอยู่ในบริวารนรกซึ่งอยู่รอบนอกของมหานรกออกมาอีก ทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า ยมโลกนรก แต่ละด้านของมหานรก ก็จะมียมโลกนรกด้านละ 10 ขุม นรกบริวารรอบนอกของมหานรกทั้ง 8 ขุม จึงมี 320 ขุม

 

            มหานรก 8 ขุม กับนรกบริวารรอบในคือ อุสสทนรกอีก 128 ขุม และนรกบริวารรอบนอก คือ ยมโลกนรกอีก 320 ขุม รวมเป็น 456 ขุม นี่อายตนะนรกดึงดูดอย่างนี้ ไม่ถึงขนาดนั้น ความชั่วด้วยกาย ชั่วด้วยวาจา ชั่วด้วยใจ ความชั่วด้วยกายวาจาไม่ถึงนรก แตกกายทำลายขันธ์ ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่เราเห็นตัวปรากฏอยู่นี่ นั่นมนุษย์แท้ๆ มนุษย์ทั้งนั้น อ้ายสัตว์เดรัจฉานน่ะ ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเสีย อ้ายตัวข้างในเป็นมนุษย์ทั้งนั้นแหละ อ้ายกายละเอียดข้างใน แต่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานน่าเกลียดน่าชังนั่น เพราะทำชั่วของตัวไปเกิดมันดึงดูดอายตนะของสัตว์เดรัจฉานดึงดูด ดึงดูดอย่างไรล่ะ อ้าวก็ดึงดูดเข้าไปเกิดในท้องสุนัขน่ะซี ท้องหมูบ้าง ท้องสุนัขบ้างตามยถากรรมของมันซี ท้องเป็ด ท้องไก่โน้น ดึงดูดเข้าไปอย่างนี้แหละ ดึงดูดเข้าไปได้แรงนักทีเดียว ความดึงดูดนั่น ให้รู้จักอายตนะดึงดูดอย่างนี้ อ้ายที่มันดึงดูดในพวกเหล่านี้

 

            ถ้าว่าหย่อนขึ้นมากว่านี้ ไปเกิดเป็นเปรต ไฟไหม้ติดตามตัวไป อสุรกายหย่อนกว่านั้นขึ้นมา นี่พวกอบายภูมิทั้งนั้น นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย 4 อย่าง นี่อบายภูมิทั้งนั้น แต่นี้ชั่วไม่ได้ทำ ทำแต่ดี ทำแต่ดีก็อายตนะฝ่ายดีดึงดูด บริสุทธิ์ด้วยกาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ด้วยใจ ไม่มีร่องเสียเลย อายตนะอื่นดึงดูดไม่ได้ อายตนะมนุษย์ดึงดูด ดึงดูดอย่างไรล่ะ เกิดเป็นมนุษย์กันถมไป นี่อย่างไรล่ะ เห็นโด่ๆ มันดึงดูดเข้าไปติดอยู่ในขั้วมดลูกมนุษย์นั่นแหละ มันดึงดูดอย่างนั้นแหละ นี่อายตนะมนุษย์ดึงดูดเข้ามาติดอยู่ในขั้วมดลูกของมนุษย์ นี่เพราะทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ถ้าว่าบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น อายตนะทิพย์ดึงดูด ติดอยู่ในกำเนิดทิพย์เป็นกายทิพย์ เป็นกายทิพย์เป็นลำดับขึ้นไป จาตุมหาราช ดาวดึงสา ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี อายตนะดึงดูดทั้งนั้น นี่ในกามภพ 11 ชั้น คือ อบายภูมิ 4 สวรรค์ 6 เป็น 10 มนุษย์อีก 1 รวมเป็น 11 ใน 11 ชั้นนี่ เรียกว่า กามภพ ทั้งนั้น

 

             ถ้าว่าจะไปในรูปภพ จะไปเกิดในรูปภพ อายตนะของรูปภพดึงดูดเพราะได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วฌานนั้นไม่เสื่อม เห็นเป็นดวงใสวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 วา หนาคืบหนึ่ง กลมเป็นวงเวียน กลมเป็นกงเกวียน กลมเป็นวงเวียนทีเดียว รอบตัวหนาคืบหนึ่ง กลมข้างนอก แต่ว่าไม่กลมรอบตัว กลมเป็นวงเวียน เป็นกงจักรทีเดียว เป็นวงเวียนทีเดียว เป็นแผ่นกระจกชัดๆ หนาคืบหนึ่ง วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง 2 วา กลมนั่นปฐมฌาน ติดอยู่กลางกายมนุษย์ ที่ทุติยฌานอยู่ในกลางดวงปฐมฌาน มีตติยฌานอยู่ในกลางดวงทุติยฌาน มีจตุตถฌานอยู่ในกลาง ดวงตติยฌาน เป็นลำดับขึ้นไป

 

            ฌานเหล่านี้เมื่อไม่เสื่อม แล้วแตกกายทำลายขันธ์ อายตนะของรูปพรหมก็ดึงดูดเป็น ชั้นๆ ไป พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา นี่ ปฐมฌานดึงดูด ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา นี่ทุติยฌานดึงดูด ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา นี่ตติยฌานดึงดูด เวหัปผลา อสัญญีสัตตา นี่จตุตถฌานดึงดูดไปติดอยู่ในรูปพรหม อายตนะรูปพรหมดึงดูดไปทางอื่นไม่ได้ อายตนะเหล่านี้ไม่ยอมเด็ดขาด มีกำลังกว่า

 

          ถ้าว่าสูงขึ้นไปกว่านี้ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่อายตนะของอรูปพรหม ได้อรูปฌาน ดวงโตเท่ากัน แต่ว่าอากาสา-นัญจายตนะก็กลมขนาดเดียวกัน วิญญาณัญจายตนะก็กลมขนาดเดียวกัน แต่ว่าละเอียดกว่าอากิญจัญญายตนะก็กลมขนาดเดียวกัน เนวสัญญานาสัญญายตนะก็กลมขนาดเดียวกัน แต่ว่าไม่กลมรอบตัวนะ กลมๆ อย่างเดียวกับรูปฌาน นี่เมื่อได้อรูปฌานไม่เสื่อม แตกกายทำลายขันธ์ อรูปพรหมดึงดูดไปเกิดอื่นไม่ได้เด็ดขาด อยู่ในอรูปภพนี่แหละ ออกจากภพนี้ไม่ได้

 

              นี่อายตนะดึงดูดอย่างนี้นะ ถูกอายตนะดึงดูดอย่างนี้ เขาเรียกว่าโลกายตนะที่กล่าวแล้วนี้โลกายตนะทั้งนั้น โลกันต์โน่น โน่นก็เป็นโลกายตนะ อเวจีตลอดถึง เนวสัญญานา สัญญายตนะขอบภพข้างบน นี่โลกายตนะดึงดูดไปไม่ได้ หลุดไปไม่พ้น”10) จากข้างต้นจะทำให้เรารู้ว่า อายตนะ 12 นั้นมีโทษมากเพราะดึงดูดสรรพสัตว์ให้ถูกขังไว้ ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแนะนำเราให้ค้นหาธัมมายตนะ คือ อายตนนิพพาน ที่จะพาเราให้พ้นไปจากสังสารวัฏนี้

 

2. สละความยินดีในอายตนะ 6 แล้วให้ทานได้บุญมาก

            พระมงคลเทพมุนีได้แนะนำให้เราทำใจให้ออกจากอายตนะเหล่านั้น ซึ่งมีโทษมาก ในขั้นต้นในการให้ทาน ถ้าต้องการอานิสงส์มากก็ต้องสละความยินดีในอายตนะ 6 ท่านกล่าวเอาไว้ว่า

“    ทานในพระปรมัตถ์ 6 คือ

            มีอายตนะ 6 คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถอนความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ออกเสียได้ สละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้เสียได้ก่อนเราเกิดมาเขาก็ยินดีกันอยู่อย่างนี้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กำลังที่เราเกิดมาเขาก็ยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้ ครั้นเราจะตายเขาก็ยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อย่างนี้เหมือนกัน ความยินดีเหล่านี้ หากถอนอารมณ์ออกเสียได้ ไม่ให้มาเสียดแทงเราได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ของชาวโลก ไม่ใช่อารมณ์ของธรรม ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง นี่เขาเรียกว่า ให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่ เป็นทางไปแห่งพระนิพพานโดยแท้ และเป็นทานอันยิ่งใหญ่ทางปรมัตถ์”11)

 

3. สละโลกายตนะเข้าหาธัมมายตนะ

            พระมงคลเทพมุนีได้แนะนำให้สละความยินดีในอายตนะ 12 เหล่านั้นเสีย เพราะเป็นทางมาของโลภะ โทสะ โมหะ การสละความยินดีเหล่านั้น ก็ใช้หลักการเดิมคือการทำใจให้หยุดนิ่ง แล้วแสวงหาธัมมายตนะคือพระนิพพานนั้น

“    ราคะ โทสะ โมหะเกิดมาจากจักขุบ้าง รูปบ้าง ความรู้ทางจักขุบ้าง ความสัมผัสทางจักขุบ้าง มันเกิดมาทางนี้ต้องแก้ไขทางนี้ แก้ไขทางอื่นไม่ได้ ต้องแก้ไขทาง ตา หู จมูก สิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบถูกต้องอายตนะทั้ง 6 นั้น

ให้ทำใจให้หยุด หยุดเสียอันเดียวเท่านั้นดับหมด พอหยุดได้เสีย ก็เบื่อหน่าย

เบื่อหน่ายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

เบื่อหน่ายในทางความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เบื่อหน่ายในการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เบื่อหน่ายหมดต้องทำใจให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊ก ใสเหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หยุดนิ่งหยุดทีเดียว พอหยุดก็รู้ว่าใจของเราหยุดแล้ว ที่ว่าใจหยุดก็เข้ากลางของกลาง นิ่งอยู่ที่เดียว กลางของกลางๆ ๆ ไม่ถอย แล้วเข้ากลางของกลาง หนักเข้าไป พอใจหยุดก็เข้ากลางของกลาง ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนไม่ไป กลางของกลางหนักขึ้นทุกทีไม่มีถอยออก กลางของกลางหนักขึ้น พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นั่นเป็นดวงปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน”

 

             ดังที่กล่าวเรื่องอายตนะมาแล้ว นักศึกษาจะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงเมื่อแยกชีวิตนี้ออกเป็นอายตนะต่างๆ แล้ว ย่อมเห็นว่าไม่มีตัวตน มีเพียงรูปกับนาม ดังนั้นเราจึงควรแสวงหาแก่นสารของชีวิตที่แท้จริง ไม่ไปใส่ใจเรื่องรูปนามนี้จนยึดติดมากเกินไป และตั้งใจปฏิบัติจนไปรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเองต่อไป

------------------------------------------------------------

8) เอกสารรวบรวมพระธรรมเทศนา (พระเทพมงคลมุนี), กรุงเทพฯ : อาคารทวีสินคอมเพล็กซ์, 2539 หน้า 771.
9) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนพับลิชชิ่ง, 2537 หน้า 157.
10) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนพับลิชชิ่ง, 2537 หน้า 503-506.
11) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนพับลิชชิ่ง, 2537 หน้า 358-395

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0050656159718831 Mins