การทำหน้าที่ของอายตนะ

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2558

 

 การทำหน้าที่ของอายตนะ

            อายตนะ ทำให้เกิดความรู้ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน เมื่ออายตนะภายในซึ่งเป็นแดนรับรู้กระทบกับอารมณ์ คืออายตนะภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้ เรียกว่า เห็น หูกระทบเสียง เกิดความรู้ เรียกว่า ได้ยิน เป็นต้น ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้เรียกว่า วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง คือรู้อารมณ์ ดังนั้นจึงมีวิญญาณ 6 อย่างเท่ากับอายตนะ และอารมณ์ 6 คู่ คือ วิญญาณทางตา ได้แก่ เห็น วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ

 

สรุปได้ว่า อายตนะ 6 อารมณ์ 6 และวิญญาณ 6 มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ

1.จักขุ ตา เป็นแดนรับรู้รูป เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ-เห็น

2.โสตะ หู เป็นแดนรับรู้เสียง เกิดความรู้คือ โสตวิญญาณ-ได้ยิน

3.ฆานะ จมูก เป็นแดนรับรู้กลิ่น เกิดความรู้คือ ฆานวิญญาณ-ได้กลิ่น

4.ชิวหา ลิ้น เป็นแดนรับรู้รส เกิดความรู้คือ ชิวหาวิญญาณ-รู้รส

5.กาย กาย เป็นแดนรับรู้โผฏฐัพพะ เกิดความรู้คือ กายวิญญาณ-รู้สิ่งต้องกาย

6.มโน ใจ เป็นแดนรับรู้ธรรมารมณ์ เกิดความรู้คือ มโนวิญญาณ-รู้เรื่องในใจ

 

            การรับรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อวิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติวิญญาณจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน แต่ในบางกรณีก็ไม่เกิดการรับรู้ เช่น ถูกสัมผัสขณะหลับ หรือมองสิ่งต่างๆ ขณะเหม่อลอย จะไม่เกิดการรับรู้ใดๆ การรับรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ หรือสัมผัส แปลว่า การกระทบ หรือหมายความว่า การบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ

            เมื่อผัสสะเกิดขึ้น กระบวนการรับรู้ก็ดำเนินต่อไป เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น การจำหมาย การคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้นี้เรียกว่า เวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้นโดยเป็นสุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเวทนามีการเกิดตามช่องทางของอายตนะที่เกิดขึ้น เช่น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางหู เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดระดับเวทนาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ อทุกขมสุข หรือถ้าจัดให้ละเอียดลงไปอีกก็จะได้ 5 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา สามารถสรุปกระบวนการรับรู้ได้ดังนี้

กระบวนการรับรู้

อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ = สัมผัส → เวทนา

             ทางรับรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ความรู้ การรับรู้ เกิด ความรู้สึกต่ออารมณ์ อายตนะจึงมีความหมายในลักษณะที่ว่า เป็นธรรมที่มีสภาพคล้ายๆ กับพยายามเพื่อให้เกิดผลตามคุณสมบัติของตน เช่น อายตนะที่เรียกว่าตา กระทบหรือเชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่าสี จึงมีการเห็นสี อายตนะที่เรียกว่าหู เชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่าเสียง จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น อายตนะที่เรียกว่าจมูก เชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่ากลิ่น จึงมีการรู้กลิ่นเกิดขึ้น ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นเหตุให้มีผลเกิดขึ้น เช่น

จักขายตนะกับรูปายตนะ (เป็นเหตุ) การเห็น (เป็นผล)

โสตายตนะกับสัททายตนะ (เป็นเหตุ) การได้ยิน (เป็นผล)

ฆานายตนะกับคันธายตนะ (เป็นเหตุ) การได้กลิ่น (เป็นผล)

ชิวหายตนะกับรสายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้รส (เป็นผล)

กายายตนะกับโผฏฐัพพายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้สัมผัส (เป็นผล)

มนายตนะกับธัมมายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้เรื่องราวต่างๆ (เป็นผล)

 

            เหตุกับผลที่กล่าวมานี้ เป็นไปตามสภาวะ อายตนะต่างๆ เหล่านี้ มีการขวนขวาย พยายาม เพื่อให้ผลของตนเกิด สิ่งที่เชื่อมต่อเหล่านี้ ทำให้จิตและเจตสิกธรรมกว้างขวางเจริญขึ้น คือเมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า เกิดการรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ วิถีจิตต่างๆ มีจักขุทวาร วิถียอมเกิดขึ้น วิถีจิตนั้นเมื่อเกิด มิใช่เกิดเพียงวิถีเดียว แต่จะเกิดจำนวนนับไม่ถ้วน ในวิถีจิต หนึ่งๆ นั้น มีจิตหลายชนิดเกิดขึ้น ทั้งกุศลและอกุศล ทั้งวิบาก ทั้งกิริยา อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เรียกว่า จิต เจตสิก เจริญกว้างขึ้น

            นอกจากนี้ กุศลธรรม มีศรัทธา สติ ปัญญา อกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ เป็นต้น เมื่อเกิดในระยะแรกยังมีกำลังอ่อน แต่เมื่อวิถีจิตเกิดวนเวียนซ้ำหลายรอบเข้า กำลังแห่งกุศล และอกุศลเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งสำเร็จเป็นสุจริต ทุจริต ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่าจิต เจตสิกมีความเจริญกว้างขวางเพราะอาศัยการกระทบเชื่อมต่อของอายตนะภายใน ภายนอกนี้เอง

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010630011558533 Mins