ธาตุรับ 6 ธาตุ

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2558

 

ธาตุรับ 6 ธาตุ 

1.จักขุธาตุ

            เป็นธาตุแท้อันที่ 1 ที่มีหน้าที่รับสี องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาท คือ ประสาทตามีสัณฐานใสขนาดเท่าศีรษะเล็น ตั้งอยู่ใจกลางตาสามารถรับสีต่างๆ ได้ เมื่อแสงสว่างสะท้อนจากสีส่งมากระทบทำให้สำเร็จการเห็นได้ จักขุธาตุนี้เป็นรูปธรรมมีสภาพแตกสลายอยู่เสมอ ประสาทตาที่ดีใช้ประกอบการเห็น รูปภาพสีต่างๆ ได้อยู่นี้ เพราะอาศัยสันตติของจักขุประสาทซึ่งเกิดดับติดต่อกันไม่ขาดสายเพราะกรรมยังไม่สิ้น

 

2.โสตธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่รับเสียง องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาท คือ ประสาทหู มีรูปร่างสัณฐานคล้ายวงแหวน มีขนสีแดงขึ้นอยู่โดยรอบ สำหรับรับเสียงเท่านั้น มีสภาพแตกดับอยู่เสมอ ในขณะใดมีเสียงกระทบแล้วก็จะแตกดับไป แต่กรรมยังไม่สิ้นยังเป็นปัจจัยให้โสตประสาท เกิดอีก เกิดแล้วหมดอายุก็ดับไปอีก ถ้าขาดการพิจารณาให้เห็นภาพตามความเป็นจริงแล้วก็จะเกิดอุปาทาน แต่ถ้ามีสติปัญญาไม่ใส่ใจอุปาทานก็เกิดไม่ได้

 

3.ฆานธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่รับกลิ่น องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาท ประสาทจมูกมีธรรมชาติใสสำหรับรับกลิ่น มีสัณฐานคล้ายกีบเท้าแพะเรียงกันอยู่ในรูจมูก ทำหน้าที่รับให้ฆานวิญญาณ รู้กลิ่นได้ ฆานธาตุมีลักษณะแตกสลายและเกิดขึ้นเพราะมีกรรมเป็นปัจจัยส่งผล

 

4.ชิวหาธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่รับรสให้สำเร็จการลิ้มรส องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาท ประสาทลิ้มรสมีรูปร่างสัณฐานใสเหมือนกลีบบัววางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในเวลารับประทานอาหารเข้าไป รสก็จะปรากฏที่นั่น ชิวหาธาตุมีสภาพแตกสลายอยู่เสมอ เมื่อรสอาศัยน้ำเป็นสื่อไปกระทบประสาทลิ้น เมื่อประสาทลิ้นรับรสแล้วก็จะแตกดับไป กรรมเป็นปัจจัยให้ประสาทลิ้นเกิดขึ้น

 

5.กายธาตุ

            เป็นรูปธรรม มีหน้าที่รับสัมผัสโผฏฐัพพะที่มากระทบกาย องค์ธรรมได้แก่ กายปสาท มีรูปร่างสัณฐานคล้ายใยสำลีที่แผ่บางๆ แล้วซับน้ำมันซ้อนกันหลายๆ ชั้น สำหรับรับเครื่องกระทบ เช่น ความร้อนหนาว เป็นต้น เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณ ตั้งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย เว้นแต่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ไม่มีประสาทและที่กระดูก มีลักษณะแตกดับตามธรรมชาติโดยอาศัยกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เมื่อเกิดขึ้นรับสัมผัสแล้วแตกทำลายไป อำนาจกรรมปรุงแต่งให้เกิดขึ้นอีก ก็แตกทำลายไปอีก เป็นเช่นนี้และจะเป็นไปอีกตลอดเวลา ถ้าไม่เห็นแจ้งในกายธาตุตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะมีอุปาทานยึดถือว่ากาย ของเรา เป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

6.มโนธาตุ

            เป็นนามธรรม ที่น้อมไปหาอารมณ์ทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีหน้าที่รับอารมณ์และพิจารณาอารมณ์ทางทวารทั้งห้า องค์ธรรมได้แก่ อเหตุกจิต 3 ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต 2 ดวง ที่รับรู้อารมณ์ที่ดีเป็นผลของบุญดวงหนึ่ง ที่รับรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเป็นผลของบาปดวงหนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง เป็นจิตที่พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร ทั้ง 3 ดวงนี้ต่างรับและพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์อยู่เสมอมิได้ขาดระยะ

มีสภาพเกิดและดับอยู่เสมอ กล่าวคือ เมื่ออารมณ์ทั้ง 5 มากระทบประสาททั้ง 5 คู่ ทาง ปัญจทวาราวัชชนจิตก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์ทั้ง 5 นั้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คือพิจารณาสี เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สัมปฏิจฉนจิตเป็นจิตที่รับอารมณ์ทั้ง 5 ต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตทั้ง 5

ถ้าจักขุวิญญาณเห็นรู้แล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรู้รูปต่อไป

ถ้าโสตวิญญาณได้ยินเสียงแล้ว สัมปฏิจฉนจิตรับรู้เสียงต่อไป

ถ้าฆานวิญญาณรับรู้กลิ่นแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรู้กลิ่นต่อไป

ถ้าชิวหาวิญญาณรู้รสแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรู้รสต่อไป

ถ้ากายวิญญาณรู้สึกสัมผัสแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรู้สัมผัสต่อไป

เมื่อมโนธาตุเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีญาณเข้าไปรู้แจ้งตามความเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้มีอุปาทานยึดถือธาตุใจว่าเราคิด เราพิจารณา เรารับรู้อารมณ์ เป็นต้น จมอยู่ภายใต้อวิชชา ความมืดมนอนธการไม่รู้ตามความเป็นจริง ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความทุกข์ไม่รู้จบ

 

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012622992197673 Mins