อุปัตถัมภกกรรม

วันที่ 26 สค. พ.ศ.2558

 

 อุปัตถัมภกกรรม

 ความหมายของอุปัตถัมภกกรรม

            อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูกรรมอื่น คือการเข้าไปค้ำชูกรรมของสัตว์ทั้งหลายที่ไปเกิดในภูมิต่างๆ ให้ได้รับความทุกข์และความสุขตามสมควรแก่กรรมของตน

 

ลักษณะของอุปัตถัมภกกรรม

            จากความหมายข้างต้นจึงอาจจะเปรียบอุปัตถัมภกกรรมเป็นเสมือนวีรบุรุษที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ให้มีแต่ความสุข หรือเป็นเสมือนผู้ร้ายที่คอยซ้ำเติมและทำให้มนุษย์เดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะอุปัตถัมภกกรรมมีหน้าที่ช่วยอุปถัมภ์สนับสนุนชนกกรรม คือ สนับสนุนสัตว์ทั้งหลายที่ไปเกิดในภูมิต่างๆ ให้ได้รับความทุกข์และความสุขตามสมควรแก่กรรมของตน ถ้าชนกกรรมแต่งให้สัตว์เกิดมาดี อุปัตถัมภกกรรมก็จะสนับสนุนให้ดียิ่งขึ้นไป แต่ถ้าชนกกรรมแต่งสัตว์ให้เกิดมาไม่ดี อุปัตถัมภกกรรมก็จะสนับสนุนหรือซ้ำเติมให้สัตว์นั้นย่ำแย่ หรือทุกข์ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

            อุปัตถัมภกกรรมมี 2 ฝ่าย คือ อุปัตถัมภกกรรมฝ่ายอกุศล และอุปัตถัมภกกรรมฝ่ายกุศลอุปัตถัมภกกรรมฝ่ายอกุศลจะทำหน้าที่อุปถัมภ์กรรมที่เป็นอกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป โดยจะทำหน้าที่บันดาลให้เจ้าของกรรมประสบกับความวิบัติ พบกับอุปสรรคความขัดข้องในชีวิตอยู่เสมอ มีความอาภัพอับโชค ตลอดชีวิต ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

 

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายอกุศลกรรม

ปรโลกของเศรษฐีผู้ตระหนี่3)

            ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า อานันทเศรษฐี เป็นผู้มีความตระหนี่แรงกล้า ไม่ทำทาน และไม่รักษาศีล แม้จะมีทรัพย์สมบัติมากมายแต่เป็นคนที่มากด้วยความโลภ หาทรัพย์ได้มาเท่าใดก็เก็บรักษาไว้ ไม่ยอมใช้จ่ายสิ่งใดเกินความจำเป็น แม้เรื่องอาหารการกินก็กินแต่เพียงเล็กน้อย กินของไม่ประณีตราคาถูก เพราะกลัวทรัพย์จะหมด ยิ่งนับวันก็ยิ่งโลภและตระหนี่มากขึ้น

            ทุก 15 วัน เศรษฐีจะเรียกลูกหลานและหมู่ญาติมาประชุมและให้โอวาทว่า สมบัติของตนที่มีอยู่ 80 โกฏินี้ อย่าได้คิดว่าเป็นของมาก ดังนั้นจึงไม่ควรจะนำออกให้ใครๆ เป็นต้นว่า ยาจกขอทาน และสมณะโล้นทั้งหลาย เพราะให้แล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆ มีแต่ความสิ้นเปลืองไปแห่งทรัพย์ ไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ และต้องหาทรัพย์มาเพิ่มเติมให้มากขึ้นเรื่อยๆ การใช้จ่ายทรัพย์แม้ครั้งละเล็กน้อย ก็จะนำไปสู่ภาวะแห่งความเป็นข้าของผู้อื่น เพราะทรัพย์จะต้องหมดไปในวันหนึ่ง

 

            เขาเพียรตอกย้ำพร่ำสอนลูกหลานและหมู่ญาติเช่นนี้อยู่เนืองๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้เสียชีวิตลง ก่อนที่จะเสียชีวิต จิตของเขาถูกความตระหนี่ครอบงำนึกหวงแหนทรัพย์สมบัติ เมื่อตายลงชนกกรรมจึงนำเขาไปปฏิสนธิในครรภ์ของหญิงขอทานที่มีความเป็นอยู่อย่างยากไร้ มิเพียงเท่านั้น อุปัตถัมภกกรรมยังส่งผลให้ขอทานทั้งหลายในหมู่บ้านขอทานจัณฑาลที่เขาไปปฏิสนธินั้นอดอยากยากจนหนักยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะทำสิ่งใดก็เกิดความขัดข้องทุกครั้ง ขอทานเหล่านั้นจึงหารือกันว่า แต่ก่อนพวกเราไม่เคยเป็นเช่นนี้ แม้ว่าจะมีความขัดสนปราศจากลาภผลในบางครั้งก็เป็นแต่ผู้ใดผู้หนึ่ง มิได้ขัดสนกันทุกคน แต่มาบัดนี้ พวกเราต่างพากันขัดสนมีความลำบากปราศจากลาภกันถ้วนหน้า ความรักใคร่สามัคคีที่เคยมีก็กลับกลายเป็นความขัดเคืองใจกัน ชะรอยจะมีคนกาลกิณีบังเกิดขึ้นในหมู่ของเรา

            เมื่อเหล่าขอทานหารือกันแล้ว จึงตกลงกันว่าให้หาผู้เป็นกาลกิณี โดยแบ่งขอทานออกเป็นกลุ่มๆ หากว่าคนกาลกิณีอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มนั้นก็จะได้รับความลำบากขัดสน และกลุ่มใดที่ไม่มีผู้เป็นกาลกิณี ก็จะไม่ขัดสนยากไร้ลาภผล พวกเขาใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อค้นหาบุคคลผู้เป็นกาลกิณี ในที่สุดก็ทราบว่าหญิงขอทานที่อดีตอานันทเศรษฐีไปปฏิสนธิในครรภ์นั้นเป็นคนกาลกิณี จึงขับไล่นางออกไปจากหมู่ ซึ่งเมื่อนางออกไปความเป็นอยู่ของเหล่าขอทานจัณฑาลก็ดีขึ้นเหมือนดังแต่ก่อน

 

            เมื่อหญิงจัณฑาลนั้นแยกออกไปจากหมู่ นางก็มีความเป็นอยู่ที่ยากเย็นแสนเข็ญ ซัดเซพเนจร ประสบกับความยากลำบากยากแค้นยิ่งนัก ต่อมานางได้คลอดทารกเพศชายออกมา ทารกนั้นมีรูปร่างอัปลักษณ์หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวเหลือประมาณ แต่นางก็สู้อุตส่าห์เลี้ยงทารกนั้นมาด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งเขาโตพอที่จะหาเลี้ยงชีพเองได้ นางจึงมอบกะลาเก่าใบหนึ่งให้ลูกไว้ขอทานเลี้ยงชีวิต เพราะหากว่าอยู่ด้วยกันก็จะลำบากยากไร้ด้วยกันทั้งคู่

            เมื่อแยกจากแม่ก็ออกขอทานเลี้ยงชีวิตไปในถิ่นที่ต่างๆ จนวันหนึ่งเดินทางมาถึงบ้านอันเป็นที่อยู่ของตนเมื่อครั้งเป็นเศรษฐี เกิดระลึกได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นบ้านของตน จึงเดินเข้าไปในบ้านนั้น พวกคนทั้งหลายที่อยู่ในบ้านเห็นเขามีรูปร่างอัปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัวจึงพากันขับไล่ทุบตีจนกระทั่งเขาสลบหมดสติไป

 

            ในขณะนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาทางนั้น ทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงบอกแก่คนทั้งหลายว่าเด็กขอทานที่ถูกทุบตีสลบอยู่นั้น คืออานันทเศรษฐีกลับชาติมาเกิด เศรษฐีผู้เป็นเจ้าของบ้านและเป็นลูกชายของอานันทเศรษฐีไม่เชื่อ พระพุทธองค์จึงตรัสให้ขอทานนั้นเล่าอดีตชาติของตนครั้งเป็น อานันทเศรษฐี และให้นำไปขุดขุมทรัพย์ที่เขาแอบฝังไว้โดยไม่มีใครเคยล่วงรู้ เมื่อพิสูจน์ได้ดังนั้น ลูกชายอานันทเศรษฐีจึงเชื่อที่พระพุทธองค์ตรัส เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และเชื่อเรื่องกรรมนับแต่บัดนั้น

            อกุศลกรรม คือความตระหนี่ที่อานันทเศรษฐีกระทำไว้ได้กลายเป็นอุปัตถัมภกกรรมที่ส่งเสริมให้เขาได้รับความลำบากมากในชาติปัจจุบันที่เกิดมา

            ส่วนอุปัตถัมภกกรรมฝ่ายกุศลจะทำหน้าที่อุปถัมภ์กรรมที่เป็นกุศลให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อให้เจ้าของกรรมดีนั้นประสบกับความสุขความเจริญในชีวิตตลอดไป ดังเช่นกรณีศึกษาในเรื่องดังต่อไปนี้

 

 กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายกุศลกรรม

บุพกรรมของพระอนุรุทธเถระ4)

            พระอนุรุทธเถระท่านเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล เป็นหนึ่งในอสิติมหาสาวก คือ พระสาวกผู้ใหญ่ระดับแนวหน้าในจำนวน 80 รูป ซึ่งท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีจักษุทิพย์ กล่าวกันว่าเว้นแต่เวลาฉันเท่านั้น ตลอดเวลานอกนั้นท่านจะเจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเสด็จดับขันธปรินิพพานอยู่นั้น ท่านได้ใช้ทิพยจักษุตรวจดูขั้นตอนต่างๆ ในการเข้าฌานระหว่างที่จะปรินิพพานของพระพุทธองค์

            พระอนุรุทธะมีศักดิ์เป็นพุทธอนุชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโอรสของเจ้าศากยะพระนามว่า อมิโตทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นพระปิตุลา(อา)ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีพระเชษฐาร่วมอุทรคือเจ้าศากยะมหานาม ท่านเป็นผู้มีบุญมากเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ขณะที่ยังครองเรือนอยู่นั้นมีความสะดวกสบายเป็นอันมาก ไม่เคยประสบกับความลำบาก หรือความไม่สมปรารถนาเลย ไม่รู้จักคำว่าไม่มี

 

            ครั้งหนึ่งในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ท่านได้เล่นกับเหล่าสหาย โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้แพ้จะต้องนำขนมมาให้แก่เหล่าสหาย ซึ่งท่านมักแพ้อยู่เนืองๆ จึงบอกบริวารให้ไปทูลพระมารดาให้ทำขนมไปถวาย ครั้งหนึ่งพระมารดาให้บริวารไปบอกท่านว่าขนมไม่มี แต่ด้วยเหตุที่ท่านมีชีวิตที่มีความสะดวกสบายมาตลอด ไม่เคยรู้จักคำว่าไม่มี จึงเข้าใจว่า ที่พระมารดาบอกว่าขนมไม่มีนั้นเป็นชื่อขนม จึงให้บริวารไปนำขนมที่ชื่อไม่มีนั้นมา พระมารดาทรงคิดจะสอนท่านจึงนำถาดทองปิดถาดทองเปล่าส่งไปให้ท่าน เมื่อท่านเปิดฝาภาชนะนั้นดูปรากฏขนมมีรสชาติโอชาอยู่เต็มถาด ทั้งนี้เป็นด้วยเทวานุภาพอันเกิดจากบุญของท่าน

            ครั้งหนึ่งท่านสนทนากับเหล่าศากยกุมาร โดยสนทนาถึงกำเนิดของข้าว กุมารท่านหนึ่งกล่าวว่า ข้าวเกิดแต่นา ท่านหนึ่งว่าเกิดแต่ยุ้งฉาง ท่านหนึ่งว่าเกิดแต่หม้อข้าว ทั้งนี้เป็นเพราะกุมารเหล่านั้นเคยเห็นชนทั้งหลายประกอบการงานที่เกี่ยวกับข้าว ส่วนกุมารอนุรุทธะไม่เคยเห็นชนทั้งหลายประกอบการงานจะเห็นข้าวก็ต่อเมื่อตั้งอยู่เบื้องพระพักตร์ จึงกล่าวว่าข้าวเกิดแต่จาน เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม พระบิดาพระมารดาได้สร้างปราสาท 3 หลัง ให้ท่านอยู่ตลอด 3 ฤดู และบำรุงบำเรอด้วยดนตรีมีสตรีประโคม

 

            ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเสด็จมาเยือนกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพุทธบิดาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาได้ประชุมเหล่าเจ้าศากยะ โดยให้แต่ละตระกูลส่งกุมารในตระกูลออกบวช ท่านได้ออกบวชตามในคราวนั้นด้วย ได้เรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และภายหลังพระพุทธองค์ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าเป็นภิกษุสาวกผู้มีทิพยจักขุ

            สำหรับบุพกรรมของท่าน ที่ทำให้ได้รับผลบุญเช่นนี้ เพราะว่าในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้ไปฟังธรรมของพระพุทธองค์พร้อมกับมหาชนทั้งหลาย ในครั้งนั้น พระบรมศาสดาได้สถาปนาภิกษุผู้มีทิพยจักษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ท่านเห็นดังนั้นจึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้างจึงเข้าไปทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุหนึ่งแสนเพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวาย มหาทานเป็นเวลาถึง 7 วัน ในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าเนื้อดี ประณีตแด่พระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า ที่ทำสักการะนี้เพราะปรารถนาเป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ซึ่งพระบรมศาสดาทรงตรวจดูในอนาคต ทรงทราบว่าความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ จึงตรัสกับเขาว่า

“    ในที่สุดแสนกัปในอนาคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จักอุบัติขึ้น เขาจักมีชื่อว่า อนุรุทธะ เป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุ”

            ตลอดชีวิตของท่านประกอบแต่กุศลกรรม เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว มหาชนได้สร้างเจดีย์ทองสูง 7 โยชน์ ท่านได้ทำประทีปบูชาเจดีย์ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดย่อม เป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อพระองคŒปรินิพพานแล้ว ได้มีการสร้างเจดีย์สูง 1 โยชน์ ท่านได้สร้างภาชนะสำริดเป็นอันมาก บรรจุเนยใสจนเต็ม วางไส้ตะเกียงเว้นระยะองคุลีหนึ่งๆ ในท่ามกลาง แล้วจุดไฟขึ้นรอบเจดีย์โดยให้ขอบปากจดขอบปาก และสร้างภาชนะสำริดขนาดใหญ่ ใส่เนยใสเต็ม จุดไส้ตะเกียงพันดวง แล้วเทินภาชนะนั้นเดินเวียนรอบเจดีย์ตลอดคืนจนกระทั่งรุ่งสาง

 

            สมัยหนึ่งไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ท่านได้เกิดในตระกูลคนเข็ญใจ เป็นคนหาบหญ้า มีชื่อว่า อันนภาระ อาศัยสุมนเศรษฐีอยู่ ได้มีโอกาสถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อุปริฏฐะ ซึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ด้วยอำนาจแห่งบุญนี้ ทำให้ขุมทรัพย์จำนวนมากเกิดขึ้นแก่ท่าน และพระราชาได้มอบฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีแก่ท่าน โดยมีชื่อว่า ธนเศรษฐี จากนั้นท่านได้ประกอบกุศลธรรมตลอดชีวิต ละจากภพนั้นได้เวียนว่ายอยู่แต่ในเทวภูมิและมนุษยภูมิเป็นเวลานาน จนกระทั่งมาเกิดในตระกูลเจ้าศากยะนามว่า อนุรุทธะ ในสมัยพุทธกาลนี้

            กุศลกรรมที่พระอนุรุทธเถระกระทำไว้ตลอดชีวิตในอดีตชาติ จึงเป็นอุปัตถัมภกกรรมที่คอยสนับสนุนให้ท่านมาเกิดในตระกูลสูงและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ที่เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านทิพยจักขุ

 

 

-------------------------------------------------------------------

3) เรื่องอานนทเศรษฐี, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 41 หน้า 182.
4) ประวัติพระอนุรุทธเถระ, อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่ม 32 หน้า 304.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016481832663218 Mins