วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ แรง !!!

คำสอนหลวงปู่สู่โลกปัจจุบัน

เรื่อง : มาตา

 

แรง !!!

          คำว่า แรง หรือ Force มีความหมายที่พอจะอธิบายอย่างง่าย ๆ ได้ว่า หมายถึง สิ่งที่ไปกระทำต่อวัตถุ แล้วทำให้วัตถุนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ เปลี่ยนขนาดหรือรูปร่าง

          แรง มีหน่วยเป็น นิวตัน (N) ที่ตั้งขึ้นตามนามสกุลของเซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลก

          แรงที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์มีอยู่ ๔ ชนิด คือ แรงโน้มถ่วงของโลก แรงแม่เหล็ก แรงไฟฟ้า และแรงจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่ในทางพุทธศาสตร์ แรงที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์มากที่สุด ก็คือ แรงกรรม ซึ่งแยกออกเป็น ๒ ประเภทหลัก ๆ คือ แรงบาปและแรงบุญ

 

 

          “แรงบาป” เกิดจากการทำบาป ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่า หากใครทำบาปก็จะต้องได้รับผลบาปเป็นการตอบแทน ไม่ว่าบาปเล็ก บาปน้อย หรือบาปใหญ่ บาปทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ และหากใครกระทำอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นบาปหนักที่สุด ก็จะมีแรงสะท้อนกลับมาอย่างมหันต์เลยทีเดียว ดังเช่นกรณีของพระเทวทัต ที่ประทุษร้ายพระบรมศาสดาจนกระทั่งห้อพระโลหิต ก็โดนแรงกรรมกระทำเสียจนไม่อาจรักษาสภาพความเป็นพระภิกษุไว้ได้ ต้องกลายไปเป็นสัตว์นรกในอเวจีมหานรกอันร้อนระอุ

          ในทางกลับกัน “แรงบุญ” ก็เกิดจากการสร้างบุญสร้างกุศล และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้สร้างบุญได้เช่นกัน ดังเรื่องราวมากมายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

          ในที่นี้จะขอกล่าวถึงบุญที่ถือว่า “แรง” ชนิดหนึ่ง คือบุญจากการทำสังฆทาน ซึ่งเป็นทานที่ถวายแด่คณะสงฆ์ โดยไม่เฉพาะเจาะจงพระภิกษุรูปใด ที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เคยบอกไว้ว่า หากใครปรารถนาจะได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้มุ่งถวายพระสงฆ์

          “...ที่เราตั้งใจบริจาคทานบัดนี้ บริจาคทานอยู่ในสงฆ์ บางท่านมีทานเล็กน้อย เข้าไปถวายองค์โน้น ถวายองค์นี้นั้น ทำให้ผลน้อยลงไป ถ้าทำให้ผลมาก มีน้อยเดียวก็ช่าง ผลไม้หน่อย กล้วยใบก็ช่าง มุ่งถวายพระสงฆ์ซิ

          ถวายพระสงฆ์น่ะถวายอย่างไร? เพราะว่าในหมดทั้งสากลโลกมีเท่านั้น ก็ขอถวายในสงฆ์ หรือไม่ฉะนั้นตั้งใจอยู่ว่า ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเป็นพระอรหันต์ ผู้หนึ่งผู้ใดจะประพฤติตัวให้เป็นพระอรหัตอรหันต์ต่อไป เป็นอายุพระศาสนา หมดทั้งสกลพุทธศาสนา จงรับทานของข้าพุทธเจ้าเถิด

          ถ้าว่าเห็นองค์หนึ่งองค์ใดที่เป็นสามเณรก็ช่าง เป็นภิกษุก็ช่าง รูปพรรณสัณฐานเป็นชนิดใดก็ช่าง โอ ท่านองค์นี้ ๆ เป็นอรหัตอรหันต์ละ ท่านองค์นี้แหละจะเป็นพระอรหัตอรหันต์ต่อไป ท่านองค์นี้แหละ เป็นอายุพระศาสนาละ ก็น้อมเคารพสักการะด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทีเดียว แล้วก็ถวายทานนั้นไป ทานนั้นก็ตกเป็นสังฆทานแท้ ๆ ได้ชื่อว่าถวายทานในสงฆ์แท้ ๆ นี้แหละ มีของเล็กน้อยให้ถวายฉลาดอย่างนี้

          ถ้าฉลาดอย่างนี้ก็เอาตัวรอดได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา...”

          ส่วนอานิสงส์ของสังฆทานมีมากน้อยเพียงใดนั้น มาลองดูกันว่า ท่านกล่าวไว้อย่างไร

          “...เมื่อจะให้รำพันอานิสงส์กถาของสังฆทาน เวลาไม่จุพอ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งไม่ตรัสเรื่องอื่นเลย มาในมนุษย์โลกมาตรัสเทศนาอานิสงส์ของสังฆทานอย่างนี้แหละ ไม่ได้ว่าเรื่องอื่นละ จนตลอดชีวิตของพระพุทธเจ้าไม่หมด เรื่องอานิสงส์ของสังฆทานไม่หมด มีมากนักทีเดียว เป็นอายุของพระศาสนา...”

          นอกจากนี้ หลวงปู่ยังเคยกล่าวเปรียบเทียบบุญกฐินกับบุญผ้าป่า ซึ่งจัดเป็นสังฆทานทั้งคู่ เอาไว้ว่า

          “...การทอดกฐินนั้น มีอานิสงส์มากกว่าการทอดผ้าป่า จะคุ้มอาบัติของภิกษุได้ ๕ สิกขาบท ส่วนผ้าป่านั้น คุ้มโทษของสิกขาบท ๕ นี้ไม่ได้ กฐินนั้นแหละเป็นแง่สำคัญกว่าผ้าป่านั้น...”

          และเคยกล่าวถึงอานิสงส์ของผ้าป่าไว้อย่างชัดเจนว่า

          “...วันนี้ไม่ใช่ได้นิด ๆ หน่อย ๆ มาทอดผ้าป่านี้นะ คนหนึ่ง ๆ นั่น วัดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดพันวา เป็นดวงใสขนาดพันวา เขามีธรรมกาย เขาเห็นทั้งนั้นแหละ ขนาดพันวา วัดผ่าเส้นศูนย์กลางขนาดพันวา กลมรอบตัวเรียบเหมือนหน้ากระจกเชียว นั่นแหละบุญมาติดอยู่กลางตัวทุกคน ๆ ๆ ไป แต่หย่อนบ้าง บางคนก็ถึง ๙๐๐ วา บางคนก็ถึง ๘๐๐ วา ๗๐๐ วา ๖๐๐ วา ๕๐๐ วา (อย่างน้อย) ๕๐๐ วา ต้องได้ทุกคนเหมือนกันหมด...”

          ขนาดทอดผ้าป่ายังได้บุญมากขนาดนี้ แล้วทอดกฐิน ซึ่งท่านบอกว่า “มีอานิสงส์มากกว่าการทอดผ้าป่า” จะได้บุญขนาดไหน

          นอกจากนี้ท่านยังเมตตาสอนวิธีที่จะเก็บเกี่ยวบุญให้ได้มากที่สุดไว้ว่า

          “...มาทอดกฐินได้บุญเป็นก่ายเป็นกองอย่างนี้แหละ ถ้ากระทบกระเทือนสิ่งที่ไม่ชอบใจ เอาเข้าแล้ว ไปด่าไปว่าเขาเข้าแล้ว ไปค่อนไปแคะเข้าแล้ว เอาบาปใส่ตัวเข้าแล้ว ไม่รู้ตัวกัน ได้บุญเป็นกองสองกอง ไม่เอาใจไปจดอยู่ที่บุญเสียแล้ว เอาไปใช้สิ่งอื่นเสียแล้ว บุญนะ เอาบาปมาทับถมหมด เอาไปใช้ไม่ได้เลย...”

          วันทอดกฐิน ๖ พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ หากใครตั้งใจเอาบุญอย่างเต็มที่ เตรียมตัวนั่งสมาธิ มาเป็นอย่างดี และรักษาใจให้นิ่ง ๆ ไม่ให้กระทบกระเทือน ทั้งก่อนทำบุญ ขณะทำบุญ และหลังทำบุญ แล้วหมั่นตรึกระลึกถึงบุญอยู่เสมอ ๆ ขอบอกว่า บุญที่ได้นั้น แรง !!! แรงพอที่จะกระทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นในปัจจุบันชาติเลยทีเดียว

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล