วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
หลวงพ่อทัตตชีโว


 

 

 

การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร ?

 


ANSWER
คำตอบ

 

    นิสัยชั่วเริ่มจากความผิดพลาดเล็กน้อย


    คนจะเลว จะชั่ว เมื่อเริ่มแรกมักไม่ได้ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว หนักหนาอันใด แต่มักเริ่มจาก              คุ้นเคยกับนิสัยบางอย่างที่ดูเหมือนไม่มีอะไรชั่ว แต่เมื่อทำไปแล้วภายหลังค่อยลุกลามกลายเป็นไม่ดี กลายเป็นชั่วไปในที่สุด  


    เท่าที่หลวงพ่อย่ำโลกมาถึงวันนี้ ๗๐ กว่าปีแล้ว สิ่งที่พบก็คือ นิสัยชั่วของคนเราเริ่มต้น      มาจาก ๒ สาเหตุ 


    สาเหตุแรก คือ ความสะเพร่า ไม่ละเอียดเท่าที่ควร ที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  


    สาเหตุที่สอง คือ ความไม่รู้ประมาณ ทั้งความไม่รู้ประมาณในการใช้ปัจจัย ๔ และ       ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในอาชีพการงาน 


    สิ่งเหล่านี้จะย้อนมาฆ่าตัวเอง ทำให้กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว           ในวันนี้ และกลายเป็นคนชั่วต่อไปในภายภาคหน้า 


    คนที่มีความมักง่าย สะเพร่าในตอนแรก แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นหายนะ ถ้าเราทำอะไรหยาบ ทำอะไรสะเพร่า หนัก ๆ เข้าจากทำงานหยาบ ทำงานสะเพร่า ก็กลายเป็นคนที่ใคร ๆ       ไม่ให้เครดิต ไม่ให้ความเชื่อถือ นอกจากไม่ให้ความเชื่อถือแล้ว ยังไม่ให้ความไว้วางใจด้วย       เพราะฉะนั้นเวลามีงานอะไรดี ๆ สำคัญ ๆ เขาก็ไม่กล้าให้เราทำ แม้ใจจริงเขาอยากให้เราทำงานด้วย อยากให้เราเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเขา แต่เราทำงานหยาบ ทำงานสะเพร่า ขืนให้ทำ เดี๋ยวงานใหญ่เสียหายหมด 


    แต่เราไม่รู้ตัวเองว่าเราเป็นคนสะเพร่า พอเขาไม่ใช้งาน เราอาจมีความรู้สึกว่า เขาเกรงว่าเราจะดีกว่า เขาอิจฉาเรา เราก็เลยไปโกรธไปแค้นเขา ที่จริงเราลืมดูตัวเอง ไม่ได้มองเข้ามาในตัวให้เห็นตามความจริง ก็เลยไปโกรธเขา แล้วเลยกลายเป็นจองเวรกับเขา กลายเป็นคู่แค้นคู่กัด       กับเขาไปโดยไม่รู้ตัว


    จากเรื่องเล็กน้อยที่ลุกลามจากความสะเพร่า มักง่าย ทำหยาบ ๆ ลวก ๆ หนักเข้าก็           เริ่มกลายเป็นความไม่รู้ประมาณ แล้วกลายเป็นความเลว ความชั่ว เรื่องแบบนี้มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยในทุกสังคม กรรมดีหรือกรรมชั่วของคนที่ทำอยู่เป็นประจำ ในที่สุดจะกลายเป็นนิสัยดีหรือนิสัยชั่ว กลายเป็นนิสัยละเอียดหรือนิสัยหยาบ กลายเป็นนิสัยประณีตหรือนิสัยสะเพร่า กลายเป็นคนนิสัยใจกว้างหรือนิสัยเห็นแก่ตัว


    นิสัยทั้งดีและไม่ดีนี้เกิดที่ไหน เกิดใน ๕ ห้องชีวิตของเรา คือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องอาหาร และห้องทำงาน ๕ ห้องชีวิตนี้ เป็นพื้นที่สำหรับทำกรรมของเรา ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว จนกลายเป็นนิสัยดีนิสัยชั่วติดตัวไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเพื่อเป็นอุทาหรณ์ถึงการเกิดนิสัยทั้งดีและร้ายในห้องต่าง ๆ เริ่มจากเรามาสังเกตพฤติกรรมโดยทั่วไปของคนเรา ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่ง   เข้านอนกัน 


    ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกจากห้องนอน ออกจากห้องนอนแล้วต้องไปห้องน้ำก่อน เสร็จภารกิจ     ที่ห้องน้ำก็ไปห้องครัวเพราะหิวแล้ว รับประทานอาหารจากห้องครัวห้องอาหารเสร็จเรียบร้อย       ก็จะแต่งตัว เสร็จแล้วก็ไปทำงาน ทำงานเสร็จแล้ว เลิกงานก็กลับบ้าน กลับบ้านก็มาเปลี่ยน       เครื่องแต่งตัว เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสร็จ หิวแล้วก็เข้าครัว เข้าครัวเสร็จเรียบร้อยก็อาบน้ำอาบท่า อาบน้ำเสร็จก็มืดแล้ว เพลียแล้วก็เข้าห้องนอน


    จากข้อสังเกตตลอดวันนี้เอง ทำให้เราพบว่านิสัยไม่ดีมาจากความมักง่ายในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง ยกตัวอย่างเช่น
    


    ๑. นิสัยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา 


    คนหนึ่งตื่นปุ๊บพับเก็บที่นอนหมอนมุ้งอย่างดี แล้วไปเข้าห้องน้ำ อีกคนหนึ่งก็เก็บเหมือนกัน แต่พับขยุ้มม้วน ๆ แล้วก็ซุกไว้ แค่เพียงการเก็บพับเครื่องนอนหลังการใช้ต่างกัน ก็เพาะนิสัยให้ต่างกันแล้ว 


    คนหนึ่งเก็บอย่างดี เพาะนิสัยประณีต คนนี้ไม่ว่าไปหยิบอะไร ก็จะหยิบทำด้วยความประณีตหมด แม้เข้าห้องน้ำก็ดูแลทำความสะอาด เข้าห้องครัวก็สะอาด แต่งเนื้อแต่งตัวสะอาดประณีต ไปทำงานก็สะอาดประณีต


    แต่คนที่สักแต่ว่าเก็บแบบขยุ้มส่ง ๆ ขนาดที่หลับที่นอนยังขยุ้ม สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยเหาหรือหมัดก็อาจมาอาศัยอยู่ได้ เมื่อเข้าห้องน้ำก็คงทำลวก ๆ เข้าห้องครัวก็ในทำนองเดียวกัน เมื่อเก็บที่หลับที่นอนไม่ประณีตพอ ห้องครัวก็จะทำความสะอาดไม่ประณีตพอ แค่น้ำตาลหยดหนึ่ง น้ำมันหยดหนึ่ง ก็เรียกมดมากินได้มาก ฉะนั้นเข้าครัวทีไรต้องมีมดตัวเล็ก ๆ แน่ เพราะว่ามักง่ายมาตั้งแต่พับเครื่องนอนแล้ว ห้องครัวที่มีมด แมลงสาบ เป็นความผิดของใคร ของมดหรือของเราที่เช็ดครัวไม่เกลี้ยง แล้วลงท้ายก็ต้องทำบาปฆ่ามดฆ่าแมลงอีก


    ถ้าห้องนอนห้องครัวไม่ประณีต บอกได้เลยว่า ในห้องน้ำก็คงขัดสีฉวีวรรณไม่สะอาด         ห้องแต่งตัวก็คงสะเพร่า เมื่อสะเพร่าตลอดทาง ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น การทำงานก็ไม่ประสบ    ความสำเร็จเต็มที่ เมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกหนึ่งก็น้อยอกน้อยใจ ว่าวาสนาเราไม่ดี หรือไม่อย่างนั้นก็คิดโทษเพื่อนร่วมงาน ว่าคงไปฟ้องเจ้านายอย่างนั้นอย่างนี้ คงร่วมมือ        เล่นงานเราแน่ กลายเป็นคิดเพาะศัตรูขึ้นมา หรืออาจกลายเป็นอิจฉาคนโน้นคนนี้ไปด้วย ว่าเริ่มงานมาพร้อมกันแต่แซงหน้าเราไปแล้ว 


    จะเห็นได้ว่า การกระทำผิดพลาดเบื้องต้น เริ่มจากเก็บที่นอนไม่เรียบร้อย กว่าจะรู้ตัวกลายเป็นเพาะศัตรู และคุ้นกับการทำกรรมชั่วมาตลอดทางเสียแล้ว

 

    ๒. นิสัยของคนนอนตื่นสายตลอดกาล 


    ตื่นแล้วมักไม่เก็บที่นอน ไปเข้าห้องน้ำก่อนแล้วกลับมานอนต่อ กว่าจะรู้ตัวอีกทีกลายเป็นคนตื่นสาย ตั้งแต่เป็นนักเรียนตื่นสาย ก็ไปโรงเรียนสาย พอไปทำงาน ก็ไปทำงานสาย คนไปสายมักจะต้องมีข้อแก้ตัวว่าทำไมจึงสาย ข้อแก้ตัวคือซ้อมโกหกทุกเช้า คนที่โกหกคือคนที่ไม่กล้าเผชิญความจริง เมื่อไม่กล้าเผชิญความจริง กำลังใจก็ถดถอยหดลงทุกวัน ๆ แล้วจะกลายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจในที่สุด


    การไม่เก็บที่นอน แต่ไปเข้าห้องน้ำก่อนแล้วกลับมานอนต่อ เป็นความผิดพลาดของการทำงานผิดขั้นตอน คือ ไม่กล้าตัดสินว่าเป็นเวลาที่ควรลุกจากที่นอน ไม่กล้าตัดใจว่าจะไม่กลับมานอนต่อแล้ว มีโทษแก่ชีวิตถึงตายทั้งเป็น ฉะนั้นถ้าอยากจะให้ตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถในการตัดสินและตัดใจ มีกำลังใจพร้อมบริบูรณ์ ต้องฝึกตั้งแต่ตื่นนอน พอลุกขึ้นจากที่นอนแล้ว      ต้องเก็บที่นอนก่อน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นไม่มีทางเลยที่จะเป็นผู้นำได้ แม้เป็นผู้ตามก็เป็นได้แค่ผู้ตาม      ชั้นเลว นิสัยเหล่านี้ คือนิสัยไม่เข้าท่า มักง่าย ขี้เกียจ สะเพร่า ขาดกำลังใจ นิสัยเหล่านี้คลานออกมาจากห้องนอน

 

    ๓. นิสัยไม่ถูกกันในหมู่พี่น้อง 


    ทั้งที่พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี ถึงเวลาก็เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เหมือนกันหมด ซื้อตุ๊กตาให้เหมือนกันหมด ข้าวปลาอาหารก็ให้เหมือนกันหมด แต่ว่าลูกไม่ถูกกัน ในที่สุดพบว่าสิ่งที่พลาดอยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือไม่แบ่งเวลาให้ลูกทำงานให้ดี หรือไม่กำหนดเวลาทำงานบ้านของลูกแต่ละคนให้ชัดเจน   เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลา ลูกก็เกี่ยงกันล้างห้องน้ำ เกี่ยงกันพับเครื่องนอน เกี่ยงกันแม้กินข้าว        ล้างจาน ที่เกี่ยงกันก็เพราะว่า มีคนรับใช้ทำทุกอย่างให้หมด ลูกตัวเองเลยทำอะไรไม่เป็น 


    วันที่ลูกตัวเองจะทะเลาะกัน คือวันที่คนรับใช้ไม่ได้มาทำงาน แล้วเขาจะต้องลงไปช่วยกันทำ แต่ทำไม่เป็นก็เลยเกี่ยงกัน การที่เกี่ยงกันบ่อย ๆ เข้า กลายเป็นว่าลูกกินใจกันเองแล้วหาเหตุไม่เจอ แท้ที่จริงก็คือ ไม่ได้ฝึกให้ช่วยตัวเองในการทำงานพื้นฐานตั้งแต่ต้น กลายเป็นฆ่าลูก


    ใครที่ลูกไม่ถูกกัน ก็อย่าคิดเดาว่าโน่นว่านี่ ลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ห้องนอน ห้องน้ำ         ห้องครัว ว่าพื้นฐานของงานเหล่านี้ลูกเราทำเป็นหรือไม่ ถ้าทำไม่เป็นมีแต่ตายกับตาย เพราะเมื่อไม่เคยทำงานขั้นพื้นฐาน ก็จะไม่ได้ฝึกความละเอียดลออ ไม่ได้ฝึกความช่างสังเกต นิสัยสะเพร่า           นิสัยมักง่าย นิสัยทำอะไรหยาบ ๆ ติดตัวไปเรียบร้อยแล้ว

 

    ๔. นิสัยลูกพูดจาไม่เพราะ


    มีกรณีตัวอย่าง บ้านนี้พ่อเขาพูดเพราะ แม่เขาก็พูดเพราะ แต่ลูกพูดไม่เพราะ ส่วนบ้านโน้นแม่พูดเพราะ พ่อก็พูดเพราะ แล้วลูกก็พูดเพราะ สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองบ้านนี้ก็คือ พ่อแม่      พูดเพราะ มีเหตุมีผล มีการศึกษาก็ดี แต่ลูกไปคนละทาง บ้านหนึ่งพูดเพราะ อีกบ้านพูดไม่เพราะ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่สองบ้านนี้มีต้นแบบที่ดี


    สาเหตุมาจากห้องอาหาร บ้านหนึ่งพ่อแม่พูดเพราะ ลูกก็พูดเพราะเหมือนกัน เพราะว่าเมื่อถึงเวลามื้ออาหารพ่อแม่ลูกกินข้าวพร้อมกัน โอกาสที่คนในบ้านจะเจอหน้าพร้อม ๆ กันมีห้องเดียว นั่นคือ ห้องอาหารห้องครัว ส่วนห้องนอนต่างคนต่างง่วง จะไปนอนแล้ว เจอกันก็ไม่อยากคุยกัน ในห้องน้ำก็ใช้ทีละคน ห้องแต่งตัวก็ไม่ใช่ ถ้าแต่งตัวเมื่อไรแสดงว่าเตรียมจะไปแล้ว ไม่ใช่เวลา     คุยกัน ยิ่งห้องทำงานต่างคนต่างไปทำงาน ดังนั้นคนในบ้านจะมีโอกาสพร้อมหน้าพร้อมตาและ         มีโอกาสคุยกันอยู่ที่เวลากินข้าวนั่นเอง


    เมื่ออยู่ด้วยกัน ร่วมโต๊ะอาหารกัน อย่างไรก็ต้องคุยกัน ถ้าคุยแล้วมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย คุยอะไรผิดพลาดอย่างไร พ่อแม่ตัดสินเลย เตือนเลย “นี่พูดอย่างนี้ไม่ถูกนะ” “พูดอย่างนี้เสียงดังไปนี่” “พูดอย่างนี้เจ้าอารมณ์นี่ แก้ไขนะ”


     ถ้าลูกกินข้าวด้วยกัน พ่อแม่จะเป็นกรรมการ จะเป็นครูฝึกพูด ฝึกตัดสิน แล้วครอบครัวนั้นก็จะมีความสุข สามารถที่จะตัดสินตัดใจในเรื่องอะไรต่อมิอะไรในเวลาทำงานต่อไปข้างหน้า        แต่ถ้าปล่อยให้ลูกกินข้าวลำพัง เวลาเถียงกัน ออกความเห็นกัน เตือนกันไม่ได้ เถียงกันก็เก่งในวงอาหาร ผลสุดท้ายไม่รักกันเท่าที่ควร พูดก็ไม่เพราะ ตัดสินก็ไม่ได้


    ห้องนี้จึงได้ชื่อว่า ห้องมหาประมาณ ประมาณในการกิน ประมาณในการใช้ ประมาณในการพูด ประมาณในการเตือน จะฝึกลูกให้ชมคนเป็น ก็ฝึกกันแถวนี้ จะติเพื่อก่อ ก็ต้องฝึกตรงนี้ ติเพื่อก่อเป็นเรื่องที่ต้องฝึก ฝึกตรงห้องครัวห้องอาหารนี่ดีที่สุด


    จากตัวอย่างที่ยกมา ๔ เรื่องนี้ เป็นหลักฐานให้เราเห็นชัดว่า ห้องทุกห้องและงานทุกอย่างที่ทำสามารถฝึกให้เป็นคนละเอียด เป็นคนช่างสังเกต เป็นคนขยัน รวมทั้งฝึกให้รู้จักประมาณก็ได้ ดังนั้นถ้าจะให้ลูกได้ดี ต้องมีครูกำกับทุกห้อง ถ้าใช้ห้องไม่เป็น นิสัยเสียก็มาจากห้องเหล่านี้           ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้เทคนิคในการสอน หรือคุณพ่อคุณแม่เองก็ยังทำไม่เป็น ก็ต้องหาครูมาสอนลูกให้ทำเป็น ถ้าหามาไม่ได้ อันตรายเกิดในบ้านเราแล้ว ลูกคู่นั้น ลูกคนนั้น พร้อมจะเป็นศัตรูกับพ่อแม่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอนาคตได้ เพราะเขาไม่ได้ครูดี


    ถ้าครอบครัวใดตระหนักและให้ความใส่ใจทำจริงกับการสร้างนิสัยดี กำจัดนิสัยชั่วจาก       ๕ ห้องแห่งชีวิต ลูกบ้านนั้นก็จะเป็นลูกแก้ว พ่อบ้านก็จะเป็นพ่อแก้ว แม่บ้านก็จะเป็นแม่แก้ว        แม้บ้านหลังนั้นก็เป็นดุจวิมานบนดินของทุกคนในครอบครัว..   

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล