วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก

ข้อคิดรอบตัว

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

วิสาขบูชา วันสำคัญของโลก    

 

วันวิสาขบูชาสำคัญอย่างไร?


    เราคงทราบกันว่าวันวิสาขบูชา คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะถามว่าวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ก็ต้องบอกว่า วันวิสาขบูชาถือว่าเป็น      วันพระพุทธเจ้า และสำหรับชาวพุทธถือว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้า           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา


    ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันวิสาขบูชา หรือ Vesak Day เป็นวันสำคัญของโลกคงเนื่องด้วย ๒ สาเหตุ คือ


     ๑. เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือเป็นจำนวนมากศาสนาหนึ่งในโลก 


    ๒. เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ดังจะเห็นว่าในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไม่เคยมีสงครามศาสนาเลย เพราะว่าพระองค์ไม่ทรงสรรเสริญการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ถ้าไปฆ่าคนก็ต้องตกนรก ไปทำร้ายเขา เราก็บาป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีแรงจูงใจใด ๆ ให้ชาวพุทธไปทำร้ายบุคคลอื่น พระพุทธองค์ทรง     แก้ปัญหาด้วยความสงบและเอาชนะด้วยความดี คือ ให้อดทนและทำดีไปเรื่อย ๆ สุดท้าย         เมื่อความดีของเราเต็มที่ ความจริงก็จะปรากฏ ถือเป็นการพิสูจน์ความจริงด้วยความสงบเย็น อย่างนี้ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่าง แล้วชาวพุทธทั้งหมดก็ถือตามแนวที่พระองค์ทรงสอนไว้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งความสงบเย็น 


    ในยุคปัจจุบันความขัดแย้งในเรื่องลัทธิการเมืองเริ่มจะหมดสมัยแล้ว แต่ที่น่าห่วงคือความ ขัดแย้งเรื่องความเชื่อ เรื่องศาสนา ซึ่งแรงขึ้นมา อย่างที่เราเห็นความรุนแรงในหลาย ๆ พื้นที่       ทั่วโลก แต่พอหันมาดูศาสนาพุทธ ไม่มีปัญหากับใครเลย สหประชาชาติคงจะเห็นว่า สมควรเชิดชูพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นแบบอย่างแห่งความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน 


    มีคนต่างชาติบางคนเคยนับถือศาสนาอื่น แต่พอได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนา แห่งความไม่เบียดเบียน เขากล่าวว่า ข้อนี้เพียงข้อเดียวก็เพียงพอแล้วที่ทำให้เขาหันมานับถือพระพุทธศาสนา นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรภาคภูมิใจ และในวันวิสาขบูชาให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมทำความดีตามหลักทาน ศีล และภาวนา เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ 

 

ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร?


    มี ๒ อย่าง อย่างแรก เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ ไปวัด ไปเวียนเทียน ไหว้พระ ทำบุญ      ไปวัดไหนก็ได้ใกล้ ๆ บ้าน ที่มีการสอนธรรมะและสอนให้ทำความดี ให้เราได้ศึกษาธรรมะจริง ๆ อย่างที่สอง ที่ถือเป็นแก่นคือ ในวันวิสาขบูชาควรจะได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งใจฝึกสมาธิปฏิบัติธรรม  

 

เวียนเทียนเพื่ออะไร?


    การเวียนเทียนเป็นการเวียนประทักษิณ คือ เวียนขวา ได้แก่เอาแขนขวาเข้าใกล้สิ่งที่เราจะเวียนเทียน เช่น เวียนประทักษิณรอบโบสถ์ คือเอาแขนขวาเข้าใกล้โบสถ์ เป็นการแสดงความเคารพ อย่างสูงสุด ๓ รอบ เวียนประทักษิณสิ่งใดคือการแสดงความเคารพสิ่งนั้น ฉะนั้นการสวดมนต์ และเวียนประทักษิณรอบโบสถ์ ๓ รอบ คือการแสดงความเคารพต่อโบสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นเขตพุทธาวาส เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า และการจุดเทียนคือการบูชาด้วยแสงสว่าง เพราะในวันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เราก็เลยจุดโคมประทีปเพื่อเป็นการบูชาด้วยแสงสว่างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา แต่ถ้าจุดธูปคือบูชาด้วยของหอม 

 

วัดควรประกอบพิธีกรรมแบบไหนเพื่อเป็นการดึงศรัทธาชาวพุทธ?


    กิจกรรมที่จะชักชวนสาธุชนได้ง่าย คือ ชวนไปเวียนเทียน ไหว้พระ ซึ่งแม้เป็นเปลือกก็มีความสำคัญ เพราะแก่นก็ต้องอาศัยเปลือกมาหุ้มไว้ แต่เมื่อไปถึงวัดเวียนเทียนเสร็จแล้ว ก็ชวนฟังเทศน์สักครึ่งชั่วโมง และนั่งสมาธิต่อสักครึ่งชั่วโมง เป็นต้น อย่างนี้ได้ประโยชน์ คนจะรู้สึกว่าไปเวียนเทียน ไหว้พระ ทำบุญ และยังได้ศึกษาธรรมะด้วย

 

ผู้คนในปัจจุบันนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติได้มากหรือน้อยกว่าเดิม?


    ในบ้านเมืองเราคนเข้าวัดน้อยลง คนบวชน้อยลง แต่ถ้ามองไปในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนหันมาศึกษาพระพุทธศาสนากันเยอะมาก เป็นสิบ ๆ ล้านคน เขาศึกษาหาข้อมูลในหนังสือ หาจากเว็บไซต์ แชร์ข้อมูล และนั่งสมาธิทุกวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  คนเหล่านี้เป็นคนผิวขาวที่มีพื้นฐานเดิมมาจากศาสนาอื่น แต่กลับหันมาสนใจพระพุทธศาสนา เพราะเขาบอกว่าเป็นคำสอนที่เยี่ยมยอดมาก ฉะนั้นแสดงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ายังทันสมัยอยู่ตลอด 


    แม้ประเทศที่เศรษฐกิจ ความรู้ เทคโนโลยีก้าวหน้าไปกว่าเรา เขายังยอมรับคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ทำไมเมืองไทยคนจึงยังห่างวัด แสดงว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำสอน เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น “อกาลิโก” ไม่ขึ้นกับกาล ทันสมัยเสมอ เป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิต ทุกคนแต่ปัญหาเกิดจากองค์กรพุทธปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทัน คือแต่ก่อนเราเป็นสังคมเกษตร วัดคือศูนย์กลางของหมู่บ้าน ใครเดินทางไกลผ่านมาไม่มีญาติแถวนั้นก็ไปนอนพักที่วัด มีงานสังสรรค์ก็ไปจัดที่วัด มีเรื่องทะเลาะกันก็ให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสตัดสินให้ โรงเรียนก็อยู่ที่วัด ทุกอย่างไปรวมกันที่วัดหมด ฉะนั้นแม้พระอยู่ที่วัดเฉย ๆ คนก็ไปวัด เพราะวัดคือศูนย์รวมของชุมชน


    แต่พอเป็นสังคมอุตสาหกรรม คนไปเรียนหนังสือในเมืองบ้าง ทำงานในเมืองบ้าง มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้น แต่วัดยังมีลักษณะเหมือนเดิมอยู่ พระสงฆ์ก็ยังเหมือนเดิม บางครอบครัวย้ายมาจากอีสาน เหนือ หรือใต้ มาทำงานในกรุงเทพฯ มาอยู่ใกล้ ๆ วัด แต่เขาก็ไม่รู้จัก               เจ้าอาวาส บางทีอยู่มา ๕ ปี ยังไม่รู้ว่าเจ้าอาวาสชื่ออะไร นี่คือเรื่องจริง จังหวะของชีวิตก็เปลี่ยนไป อาชีพการงานทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ยิ่งตอนนี้จากยุคอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ยุคข้อมูล            ข่าวสาร มีโรงภาพยนตร์ มีสถานเริงรมย์ สถานบันเทิงต่าง ๆ มีเรื่องมาดึงคนให้ห่างวัดมากมาย หน้าที่ของวัดในแง่ของการเป็นศูนย์รวมชุมชนจึงลดไป เหลือแต่หน้าที่ดั้งเดิมจริง ๆ คือการสอนธรรมะ 


    ที่จริงพระท่านก็งงเหมือนกันที่เมื่อก่อนมีคนไปวัดมากมาย แต่ตอนนี้คนน้อยลง ๆ เริ่มห่างวัด ห่างไกลศาสนา ที่จริงเป็นเพราะว่าวัดปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทัน เลยเกิดความเหินห่างกับชุมชน คนไปวัดก็เคอะ ๆ เขิน ๆ เด็กเจอพระก็ไม่รู้จะไหว้อย่างไร จะพูดอย่างไร ก็เลยไม่เอาดีกว่า บางคนเจอพระ เห็นท่านแทนตัวเองว่าอาตมา ก็เลยเรียกตัวเองว่าอาตมาบ้าง ผิด ๆ ถูก ๆ เลยไม่กล้าเข้าวัด


    สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วคำสอนไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่องค์กรพุทธเปลี่ยนตามไม่ทัน ยิ่งมาถึงยุคข้อมูลข่าวสาร ยิ่งตามไม่ทันใหญ่ ในเมื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา เราต้องปรับรูปแบบการเผยแผ่ใหม่ เพื่อให้คนเข้าวัด จะนั่งอยู่ที่วัดเฉย ๆ รอคนเข้าวัดไม่ได้แล้ว คนจะมาบวชน้อยลง เข้าวัดปฏิบัติธรรมน้อยลงไปเรื่อย ๆ คนจะห่างวัด อีกหน่อยชาวพุทธก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ เหลือชาวพุทธแค่ในทะเบียนบ้าน แต่ในต่างประเทศที่ศาสนาพุทธเจริญขึ้น ๆ เพราะเขามามุ่งตรงเนื้อหา คือ คำสอน 


    ดังนั้น องค์กรพุทธจะต้องลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อดึงคนเข้าวัด ให้เขามาสัมผัสคำสอน       ได้สัมผัสแล้วเขาจะพบว่า บวชแล้วได้อะไรบ้าง คนมาบวชแล้วต้องให้เขาได้ฝึกตัวด้วย ได้ปฏิบัติด้วย อย่างที่เราเคยจัดปฏิบัติธรรมให้คณะครูและนักเรียน ปรากฏว่าทุกคนยอมรับว่าไม่เคยรู้ว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีขนาดนี้ ฟังเทศน์ ๓ ชั่วโมงไม่มีหลับเลย ตื่นตาตื่นใจ และขอให้ไปสอนที่โรงเรียนต่อด้วย เพราะครูที่มาแค่ ๕ – ๖ ท่าน อยากให้ทั้งโรงเรียนได้ฟังเหมือนกัน กลายเป็นว่าธรรมะเป็นของดี แต่เขาไม่รู้ เหมือนใกล้เกลือกินด่าง 


    เพราะฉะนั้น การจัดบวชพระเป็นแสนรูป อบรมอุบาสิกาแก้ว ๕๐๐,๐๐๐ คน หรือล้านคน ก็คือการรวมคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินเพื่อชวนคนเข้าวัด เพราะในยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้าทำเล็ก ๆ ไม่มีพลัง แต่ถ้ารวมกันเป็นเครือข่าย แล้วช่วยกันทำเป็นแคมเปญใหญ่ จัดประชาสัมพันธ์ออกไป แล้วก็รณรงค์ จะกลายเป็นกระแสปลุกสังคมขึ้นมาได้ นี่เป็นคำตอบว่าทำไมต้องบวชพระครั้งละแสนรูป ทำไมต้องอบรมอุบาสิกาแก้ว ๓ – ๕ แสนคน แต่ตอนนี้คณะสงฆ์เริ่มตื่นตัวแล้ว ร่วมมือกันทำทั้งประเทศ แล้วพระหลาย ๆ รูป ก็ใช้สื่อสารมวลชนให้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่ แนวโน้มเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้น เราจะต้องช่วยกันพลิกสถานการณ์กลับให้ได้ 


    ในยุคปัจจุบันชีวิตคนวุ่นวายมาก เพราะข้อมูลข่าวสารมาก ทำให้คนยิ่งต้องการความ สงบใจ และต้องการธรรมะของพระพุทธเจ้ามากกว่ายุคสมัยใด ๆ  พิสูจน์จากประเทศที่พัฒนาไปก่อนเราอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่ชาวพุทธยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการอยู่ใกล้ ๆ ตัวนี้เอง เหมือนกับคนที่กำลังกระหายน้ำมาก มายืนอยู่ข้างโอ่งน้ำใบโต ๆ แล้ว ก็ยังบ่นว่าหิวน้ำ ๆ ก็เพราะเขามองไม่เห็นน้ำ 


    เพราะฉะนั้น ควรจะให้ทุกคนได้อาศัยพุทธธรรมนำความชุ่มเย็นมาสู่จิตใจของตัวเองและชุมชน ฉะนั้นองค์กรพุทธต้องจับมือกันทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แล้วเราจะพบว่า  จะพลิกกลับตาลปัตรเลย คนไทยจะมาเป็นชาวพุทธเต็มตัว มาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วสังคม   จะสงบร่มเย็น เราจะไม่ทะเลาะกัน ไม่ตีกัน ไม่ฆ่ากัน แต่จะทำความดีร่วมกัน ให้สมกับที่เราเป็นเมืองหลวงของพระพุทธศาสนาของโลก 

 

ภาพสาธุชนมาทำความดีเป็นหมื่นเป็นแสนเกิดประโยชน์ต่อผู้พบเห็นอย่างไรบ้าง?


    ภาพเหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากจะไปบ้าง เหมือนกีฬาโอลิมปิกที่คนไปดูเยอะ ๆ ก็ทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกอยากจะไปดูบ้าง อยากจะเล่นกีฬาบ้าง บางทีเห็นคอนเสิร์ตมีคนเยอะ ๆ ก็อยากจะไปดูบ้าง ภาพที่เห็นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ เพราะปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร กระแสมีความสำคัญมาก ต้องปลุกกระแสขึ้นมา ถ้าทุกวัดจัดงานวันวิสาขบูชาแบบเงียบ ๆ กันหมด อีกหน่อยก็อาจจะต้องเลิกจัด เพราะไม่มีคนไป แต่ถ้าจัดงานใหญ่ มีคนเยอะ พอใครเห็นคนเข้าวัดเยอะแยะ ก็มีความรู้สึกว่าเราต้องไปบ้าง ไม่ไปไม่ได้แล้ว เป็นแรงกระตุ้นและจูงใจให้คนทำความดี 


    สำหรับเราชาวพุทธ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติยกให้เป็นวันสำคัญของโลก สาธุชนบางประเทศยังตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ตรงกับเวลาปฏิบัติธรรมในประเทศไทย คือ ๐๙.๓๐ น. ซึ่งเวลาในต่างประเทศอาจจะเป็นเวลา ๐๓.๓๐ น. หลายคนต้องตื่นนอนแล้วขับรถไป ๒-๓ ชั่วโมง ท่ามกลางความมืด เพื่อจะไปสวดมนต์และปฏิบัติธรรมบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยู่ในเมืองไทยออกจากบ้านไม่นานก็ถึงวัดแล้ว ขอฝากชาวพุทธทุกคนว่า วิสาขบูชานี้ขอให้เข้าวัดกันทุกคน สะดวกที่ไหนไปที่นั่น ไปสวดมนต์ ไหว้พระ เวียนเทียน ทำความดี แล้วอย่าลืมศึกษาธรรมะและนั่งสมาธิด้วย หรือที่บ้านมีทีวีก็เปิดช่อง DMC ดู อย่างน้อยเราได้ศึกษาธรรมะบูชาพระพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชา และจากนี้ไปขอให้ทำอย่างนี้ทุกวัน แล้วชีวิตเราจะมีแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป..    

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล