วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ อโศกมหาราช...

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

 


อโศกมหาราช...

ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา

และความขัดแย้งกับศาสนาพราหณ์หลังพุทธปรินิพพาน

 

 

 

 

   พระเจ้าอโศกมหาราช คือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์โลกจารึกไว้ว่า เป็นผู้ที่สามารถแผ่ขยายพระราชอำนาจทางการเมืองการปกครองไปพร้อม ๆ กับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา


   พระเจ้าอโศกเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสารและพระนางศิริธัมมาแห่งราชวงศ์เมารยะ ขณะที่พระเจ้าพินทุสารใกล้จะสวรรคตนั้น ทรงประกาศยกราชสมบัติให้แก่พระเจ้าอโศก แต่พระเชษฐาต่างพระมารดาไม่พอพระทัย จึงทรงไปชักชวนพระอนุชาอีก๙๘ พระองค์ ยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ แต่พระเจ้าอโศกทรงสังหารเสียทั้งหมด พร้อมทั้งทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป


   เมื่อพระเจ้าอโศกเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ทรงประหารขุนนางและข้าราชการ ๕๐๐ คน ที่กระด้างกระเดื่องด้วยพระองค์เอง และใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามพระราช-บัญชาก็ทรงสั่งให้ฆ่าเสีย ภายหลังเมื่อทอดพระเนตรเห็นกิริยาอาการอันน่าเลื่อมใสของสามเณรนิโครธ จึงทรงนิมนต์สามเณรให้มาฉันภัตตาหารและแสดงธรรม เมื่อพระองค์ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ต่อมายังทรงได้ฟังธรรมจากพระสมุทรเถระ และทรงส่งพระราชหฤทัยตามพระธรรมเทศนาจนเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ทำให้ทรงยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นและทรงเปลี่ยนเป็นผู้มีความเมตตากรุณาอย่างยิ่งรับสั่งให้เลิกสถานทัณฑกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวกันว่ามีลักษณะเหมือนจำลองขุมนรกมาไว้บนโลกมนุษย์ นอกจากนี้ยังทรงบำรุงพระพุทธศาสนาโดยการสร้างพระสถูปเจดีย์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถึง ๙๖ โกฏิ อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓และทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาถึง ๙ สาย ทรงสร้างมหาวิหารถวายพระสงฆ์ถึง ๘๔,๐๐๐ แห่ง


   นอกจากนี้ ในจารึกพระเจ้าอโศก ศิลาจารึกฉบับที่ ๕ ยังจารึกข้อความไว้ว่า เมื่อพระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ได้ ๒๖ พรรษา ทรงออกประกาศห้ามฆ่าสัตว์หลากหลายชนิด อาทิเช่น นกชนิดต่าง ๆ ค้างคาว มดแดง เต่าเล็กปลาไม่มีกระดูก กบ กระต่าย กวางเร็ว วัวตอนสัตว์ที่อาศัยหากินในเรือน แรด นกพิราบ และสัตว์ ๔ เท้า ที่มิใช่สัตว์ใช้งานและมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมูที่กำลังมีท้อง กำลังให้นมอยู่ และลูกอ่อนของสัตว์ที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ฯลฯ


  ศ.ดร.อมร รักษาสัตย์ กล่าวถึงพระเจ้าอโศกไว้ว่า ทรงให้การคุ้มครองสัตว์ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ต่าง ๆ และมีพระบรม-ราชโองการให้เลิกฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญอย่างเด็ดขาด แม้พระองค์เองก็ทรงงดการเสวยเนื้อสัตว์ การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญของพระเจ้าอโศกปรากฏในศิลาจารึกหลายฉบับ เช่น ศิลาจารึกฉบับที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๑๑ เป็นต้น


   การสั่งห้ามฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญอันเป็นหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์นี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศาสนาพราหมณ์ระส่ำระสายเพราะการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญถือเป็นพิธีกรรมอันสำคัญในศาสนาพราหมณ์มาช้านานและเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนที่ต้องการจะทำลายผลประโยชน์และลาภสักการะโดยการใช้กฎหมายบ้านเมืองมาบังคับ ส่งผลให้ประชาชนผู้มีศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ไม่สามารถแสดงความเป็นศาสนิกของตนเองได้อย่างเต็มที่ แม้นักบวชของศาสนาพราหมณ์จะออกมาโต้แย้ง แต่ด้วยพระราชอำนาจ การโต้แย้งต่าง ๆ จึงไม่สัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน และยังทรงสอนให้แต่ละคนปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาของตนอย่างเคร่งครัดและมิให้ดูหมิ่นหรือเบียดเบียนศาสนาอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นหากพระเจ้าอโศกมีพระราชประสงค์ที่จะสนับสนุนพระพุทธศาสนาแต่
เพียงฝ่ายเดียวแน่นอนว่าศาสนาพราหมณ์ก็คงจะสูญหายไปตั้งแต่ในยุคนั้น


   ต่อมา หลังจากพระเจ้าอโศกสวรรคตได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุน่าจะมาจากพระราชอำนาจที่ข่มอำนาจของลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เอาไว้ในรัชสมัยของพระองค์ก่อให้เกิดความขัดแย้งสะสม อีกทั้งเมื่อสิ้นพระเจ้าอโศกแล้ว เกิดการกบฏโดยพราหมณ์ ชื่อ “ปุษยมิตร” ต่อมามีการก่อตั้งราชวงศ์ศุงคะขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ท่ามกลางการสู้รบอันดุเดือดการกวาดล้างพระพุทธศาสนากลายมาเป็นกุญแจสำคัญในการทำลายความมั่นคงและความจงรักภักดีต่อราชวงศ์เมารยะ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาถูกลดบทบาทและความสำคัญลงจนกระทั่งถูกทำลายลงในที่สุด


   ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ยังมีมุมมองที่น่าสนใจอยู่อีกมาก ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน www.doumaster.net ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในรายวิชาพระพุทธ-ศาสนาเถรวาท (BD 211 103) หลักสูตรพุทธ-ศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนีย..


   ที่มา : พระธรา กิตฺติธโร, บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย


   รับสมัครนักศึกษาใหม่ DOU หลักสูตรปริญญาตรี ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ หลกั สูตรปริญญาโท ตั้งแต่วันนี้ถึงวันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๕๕๗ สนใจติดต่อ โทร. ๐๒-๙๐๑-๑๐๑๓ หรือ www.dou.us

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล