วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย... ก้าวไกลสู่เวทีโลก

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 


พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย...
ก้าวไกลสู่เวทีโลก


    พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ สืบทอดผ่านการสวดทรงจำโดยเหล่าพุทธสาวก และจารจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกลงในคัมภีร์ใบลาน เมื่อครั้งกระทำสังคายนา ครั้งที่ ๕ ราว ๆ ปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ  ณ อาโลกเลณสถาน ประเทศศรีลังกา

 

 ผ่านกาลเวลามา ๒,๐๐๐ กว่าปี ปัจจุบันมีคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีหลายฉบับทั้งรูปแบบหนังสือและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่เป็นพระไตรปิฎกสายจารีตที่ใช้คัมภีร์เฉพาะสายของตนเป็นข้อมูลในการจัดทำสืบต่อกันมา มีเพียงพระไตรปิฎกฉบับสมาคมบาลีปกรณ์  (PTS) ฉบับเดียวเท่านั้น           ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระไตรปิฎกฉบับวิชาการ” เพราะใช้คัมภีร์ใบลานจากหลายสายจารีตมาเป็นข้อมูล โดยไม่ได้ยึดเฉพาะสายจารีตใดจารีตหนึ่งเหมือนฉบับอื่น ๆ แต่พระไตรปิฎกฉบับนี้จัดทำขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งในสมัยนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การรวบรวมใบลานจำนวนมากยังเป็นไปได้ยาก ขาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ๆ อีกทั้งตำรับตำรา พจนานุกรมด้านบาลีก็ยังมีไม่เพียงพอ เป็นต้น จนปัจจุบันคัมภีร์ใบลานเริ่มผุกร่อนสูญหายไปตามเวลา อีกทั้งยังมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการในวงการบาลีโลก อยากให้มีการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้เสร็จสมบูรณ์อย่างแท้จริง การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ  จึงมีความสำคัญและเป็นความจำเป็นทั้งแก่วงการวิชาการและวงการพระพุทธศาสนา

 


พระไตรปิฎกฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ (PTS)
อักษรโรมัน

 

พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
อักษรไทย

 

พระไตรปิฎกฉบับพุทธชยันตี
อักษรสิงหล

 

พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติ 
อักษรพม่า

 

พระไตรปิฎกฉบับลาวรัฐ
อักษรลาว

 

พระไตรปิฎกฉบับกัมพูชา
อักษรขอม

 

    โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย จึงมุ่งมั่นที่จะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ         ที่สมบูรณ์ขึ้น โดยเริ่มจากการบันทึกภาพถ่ายคัมภีร์สายจารีตที่สำคัญอย่างสิงหล พม่า ขอม     ธรรม และมอญ จำนวนหลายพันคัมภีร์ เก็บเข้าระบบเป็นข้อมูลดิจิทัล จากนั้นคณะนักวิชาการจะทำการคัดเลือกตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณจากคัมภีร์ใบลานหลายพันฉบับให้เหลือเพียงสายละ ๓-๕ ฉบับ เพื่อคัดตัวแทนคัมภีร์ชุดที่ดีที่สุดของสายจารีตนั้น ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ทำให้สามารถเชื่อมโยงความเหมือนและความแตกต่างข้ามสายจารีตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และในที่สุดผลงานแห่งความภาคภูมิใจ คือ คัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่มสาธิต ก็เสร็จสมบูรณ์และเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา และขณะนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการจัดทำให้ครบ             ทั้ง ๔๕ เล่ม ทั้งรูปแบบหนังสือและอิเล็กทรอนิกส์

 

    ภาพคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกบาลีฉบับเก่าแก่ที่สุดของแต่ละสายอักษร ที่โครงการนำมาใช้      ในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการ ยิ่งคัมภีร์ใบลานมีความเก่าแก่เท่าไร ยิ่งเข้าใกล้คำสอนดั้งเดิมมากขึ้นเท่านั้น

 

คัมภีร์ใบลานอักษรธรรม ยมกะ (อภิธรรมเล่มที่ ๖)
พ.ศ. ๒๐๔๐ อายุ ๕๑๗ ปี -วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง ประเทศไทย

 

คัมภีร์ใบลานอักษรขอม ทีฆนิกาย (มหาวรรค)
สมัยอยุธยา ช่วงปี พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐ -สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

 

คัมภีร์ใบลานอักษรพม่า อังคุตรนิกาย (เอกาทสกนิบาต)
พ.ศ. ๒๑๘๓ อายุ ๓๗๔ ปี -ห้องสมุดวิจัย มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนาแห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์

 

คัมภีร์ใบลานอักษรมอญ ทีฆนิกาย (สีลขันธวรรค)
สมัยรัชกาลที่ ๔ ช่วงปี พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑ -สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

 

คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล ทีฆนิกาย (สีลขันธวรรค)
พ.ศ. ๒๒๘๗ อายุ ๒๗๐ ปี -ริดีวิหาร เมืองคุรุเนกาลา (Rid?viharaya in Kurunegala) ประเทศศรีลังกา

 

คัมภีร์ใบลานอักษรมอญพม่า พระวินัย (จูฬวรรค)
พ.ศ. ๒๓๑๓ อายุ ๒๔๔ ปี -ห้องสมุดวิจัย มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนาแห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์

 

ดร.อเล็กซานเดอร์ วีน  (Dr. Alexander Wynne) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ

 

    และเมื่อวันที่ ๑๘-๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ดร.อเล็กซานเดอร์ วีน  (Dr. Alexander Wynne) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย ได้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง การจัดทำพระ-ไตรปิฎกฉบับวิชาการ ณ วัดพระธรรมกาย  (The Critical Edition of the Pali canon    being prepared at Wat Phra Dhammakaya) ในงานประชุมพุทธศาสตร์นานาชาติ (IABS) ครั้งที่ ๑๗ จัดโดยมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งถือเป็นงานประชุมวิชาการด้านพุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุก ๆ ๓ ปี มีนักวิชาการ  ด้านพุทธศาสตร์เดินทางไปนำเสนอผลงานวิชาการของตนในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจ มีทั้งการบรรยายห้องรวมและการจัดเสวนา   กลุ่มย่อย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๕๐๐ คน นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ตัวแทนของโครงการได้นำ     ผลงานแห่งความภาคภูมิใจออกสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง

 

 

    การบรรยายนี้ชี้ให้นักวิชาการทั่วโลกเห็นว่า การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับวิชาการที่ใครหลายคนมองว่าเกินกำลังที่จะทำให้สำเร็จลงได้ แต่ด้วย   ความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่โครงการและผู้ที่มีส่วนสนับสนุนทุกคน ได้แสดงให้ทั่วโลกประจักษ์แล้วว่า เราทำได้จริง จากนี้ พระไตรปิฎกฉบับธรรมชัย   ผลงานแห่งความภาคภูมิใจจะเป็นประหนึ่ง          ธรรมเจดีย์ที่เก็บบันทึกพระธรรมคำสอนดั้งเดิม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งอ้างอิงที่สำคัญสำหรับให้นักวิชาการทั่วโลกเข้ามาศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต..

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๔ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล