วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา ตอนที่ ๑๐ จรรยาข้อที่ ๑๘-๑๙

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”  วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑


ตอนที่ ๑๐
จรรยาข้อที่ ๑๘-๑๙

     “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๑๘
การเฝ้าบ้านเมื่อเวลานายไม่อยู่

ปัญหามักเกิดขึ้นในเวลาที่นายไม่อยู่
อย่าประพฤติตนดั่งคำโบราณว่า “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง”
พึงระแวงภัยที่น่าระแวง พึงระวังภัยที่ควรระวัง
แล้วหาทางป้องกันแก้ไขไว้แต่แรก
ทั้งภัยคนร้าย ภัยธรรมชาติ ภัยต่อทรัพย์สินเงินทอง
ภัยต่ออาคารสถานที่ ภัยต่อเกียรติยศชื่อเสียง
ภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ
และภัยจากความประมาทของคนในบ้านเรือน

 

๑๘. การเฝ้าบ้านเมื่อเวลานายไม่อยู่

    นายท่านไม่อยู่ จะไปราชการก็ดี ฤๅการงานส่วนตัวของท่านก็ดี อันซึ่งแรมคืนแรมวันนั้น ถ้าในราชการเราก็ต้องรักษาหน้าที่ของเราโดยถี่ถ้วน และกวดขันเข้าให้มาก ถ้าเป็นการบ้านก็ต้องระวังดูแลหน้าที่ของเรา และคำสั่งของท่านไว้โดยมั่นคงอย่าเผอเรอ กลางค่ำกลางคืนก็อย่า      เที่ยวเตร่พลอยเฮฮาไปกับเขา อย่าให้เป็นเช่นเขากล่าวว่า “แมวไม่อยู่ หนูคนอง” นั้นเลยเป็น     อันขาด ต้องระวังรักษาบ้านช่องของท่านโดยดี

    แม้ระหว่างท่านไม่อยู่นี้ ญาติหรือมิตร์อันใดที่จะมาพักอาศรัยอยู่ด้วย เราต้องพิจารณา  กิริยาอาการให้ดี ถ้าจำเป็นหรือควรจึงรับ รับแล้วก็ต้องร่ำเรียนนายผู้หญิง ฤๅผู้สำเร็จเด็ดขาด   ในบ้านเรือนเสียก่อน อนุญาตแล้วจึงรับ อย่าให้มามีเหตุขึ้นในระหว่างท่านไม่อยู่นั้นร้ายกาจมาก

    ฤๅผู้คนแปลกปลอมไปมาในบ้านท่าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเราก็ดี เราก็ต้องตรวจตราดูแลสังเกตสังกาดูด้วย เห็นท่าทางไม่ชอบกล ฤๅไม่สมควรด้วยอย่างใด เราก็ควรร่ำเรียนท่านผู้หญิง ฤๅท่านผู้สำเร็จการบ้านให้ทราบเรื่องโดยเร็ว ในเหตุร้ายฤๅไม่สมควรนั้น ๆ จึงจะนับว่าเรามีความกตัญญู ซื่อตรง และสามารถในตำแหน่งหน้าที่บ่าวอันดี

   สรุปเนื้อหาตอนนี้คือ “ให้ระแวงในสิ่งที่ควรระแวง แล้วระวังป้องกันภัยที่น่าระแวงนั้น ก่อนมันจะมาถึง” เรื่องการระวังดูแลรักษาบ้านเรือนให้ดีระหว่างที่นายไม่อยู่นี้ เป็นเรื่องของความมีน้ำใจ เป็นสามัญสำนึกที่เราพึงทำเอง โดยไม่ต้องให้มีใครมาสั่ง บางคนปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลบ้านช่องหรือที่ทำงานให้ดีเมื่อนายไม่อยู่ เพราะถือว่านายไม่สั่ง พอถูกผู้ใหญ่ตำหนิก็โกรธ คนไม่มีน้ำใจและเป็นคนประมาทอย่างนี้ เอาดีต่อไปได้ยาก 

    สำหรับหลวงพ่อเอง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกดีใจว่า แม้เราจะไม่เคยอ่านหนังสือ        เล่มนี้มาก่อน แต่ในอดีตก็เคยปฏิบัติเช่นว่านี้มาแล้วโดยตลอด ที่วัดนี้ถ้าหากหลวงพ่อธัมมชโยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ หลวงพ่อจะเบาใจ เพราะท่านก็รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ส่วนเรามีหน้าที่อะไรที่ต้องรับผิดชอบก็ทำไป หน้าที่อื่น ๆ นั้น หลวงพี่รูปอื่น อุบาสก อุบาสิกา แต่ละคนที่ได้รับหน้าที่มาแต่ละแผนกก็ดูแลอยู่แล้ว ทุกคนขึ้นตรงต่อหลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อไม่ค่อยกังวลอะไร เว้นไว้เสียแต่ว่าวันไหนหลวงพ่อธัมมชโยไม่อยู่ ออกไปธุระนอกวัด อาจพาหมู่คณะไปปฏิบัติธรรมตามธรรมอุทยานต่าง ๆ จะเป็นกี่วันก็ตาม ถ้าไม่จนใจจริง ๆ หลวงพ่อจะไม่ออกจากวัดเด็ดขาด เพราะเผื่อว่าใครมีธุระมาหาท่านไม่เจอก็ยังพบหลวงพ่อแทน หรือแม้ภาระบางอย่างจะรับไม่ได้ทั้งหมดก็ตามที แต่รับรู้ไว้บ้างก็ยังดี และถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน จะได้หาทางโทรศัพท์ติดต่อกับท่าน

    ในเวลากลางคืนก่อนนอน จะดึกดื่นค่อนคืนอย่างไรก็ตาม หลวงพ่อจะตรวจวัดเสียก่อน     สักรอบสองรอบ ไปดูพระที่อยู่ธุดงค์ ดูบ้านพักคนงาน เรือนอุบาสก ฯลฯ ว่าอยู่กันอย่างไร ปิดประตู หน้าต่าง ปิดไฟ ปิดน้ำ เรียบร้อยไหม ถ้าเห็นเรียบร้อยไม่มีอะไรผิดปกติจึงกลับกุฏิจำวัด ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่าเราขาดตกบกพร่องในหน้าที่ไป หากมีใครมาขอพักค้างคืนที่วัด ถ้าไม่รู้จักมักคุ้นเลย        ก็จำเป็นต้องส่งไปปักกลดอยู่ตามที่ที่เขาปักกลดกัน ไม่ให้เข้าไปพักค้างภายในเรือนพักของอุบาสกหรืออุบาสิกา เพราะเหตุว่าเราไม่รู้หัวนอนปลายเท้าของเขา แม้เขาจะอ้างว่าเป็นญาติ เป็นเพื่อนสนิท หรือเป็นผู้มีพระคุณอะไรกับใครมาก่อนก็ตาม ถ้าเราไม่เคยทราบเรื่องนี้เลย ก็ต้องถือว่า      เขาคือประชาชนคนหนึ่งที่มาวัดเท่านั้น 

    พวกเราเป็นฆราวาส ไปอยู่บ้านใคร สังกัดหน่วยงานไหนก็ตาม ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่อยู่แล้ว ทำอย่างนี้จะไม่พลาด ผู้เขียนหนังสือจรรยาบ่าวนี้ ถึงกับย้ำเอาไว้เลยว่า ถ้าจำเป็นหรือควรจึงรับ แล้วต้องร่ำเรียนนายผู้หญิงหรือภรรยาของท่านให้รับรู้เอาไว้อีกทอดหนึ่งด้วย เมื่อท่านรับรู้ไว้แล้ว เผื่อว่ามีอะไรน่าระแวงสงสัย ให้เราไปหาข้อมูลมาอีก เราจะได้ไปจัดการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องคอยจับตาดูไว้ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรแทรกแซงเข้ามา แม้ไม่มีใครอยู่เลย เราก็ยังรับมือได้พอสมควร เรื่องที่จะเสียหายมากก็จะเสียหายน้อยหรือไม่เสียหายเลย อย่างนี้เรียกว่า รู้ใจเจ้านายและไว้ใจได้

 

๑๙
เมื่อเวลาไปไหนกับนาย อย่าพลัดกับนาย

การพลัดกับนายในระหว่างการทำงาน
มิเพียงแต่มีผลกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายต่องานเท่านั้น
ยังกระทบกระเทือนถึงชื่อเสียงของหน่วยงาน
และความไว้วางใจในการทำงานอีกด้วย
ความรู้จักสังเกตบุคลิกของนาย สถานที่ที่ไป จำนวนสมาชิกที่ไป
การเก็บรักษาสิ่งของสำคัญที่ต้องใช้ ต้องอาศัยความหูไวตาไว
และจิตใจที่หนักแน่น เพื่อความราบรื่นในการทำงานของส่วนรวม

 

๑๙. เมื่อเวลาไปไหนกับนาย อย่าพลัดกับนาย

  ติดหน้าตามหลังนายไปราชการและไปที่ประชุมใด ๆ ก็ดี ซึ่งเป็นที่ประชุมชนคนพลุกพล่านนั้น ถ้าบ่าวไม่เอื้อเฟื้อแล้ว ย่อมจะพลัดกันหลงกันกับนาย ทำให้ได้ความลำบาก ต้องค้นหากาหล จะต้องการอะไรที่บ่าวถือไปก็ไม่ได้ จะกลับฤๅจะไปไหนต่อไปก็ย่อมขัดข้อง ทำให้เสียการ เสียประโยชน์ไปก็มีเป็นที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น บ่าวควรต้องระวังนาย อย่าเพลินซ้ายเหม่อขวาปล่อยสติจนเผลอ ให้ตั้งใจระวังอย่าให้พลัดกับนายไปได้ และเมื่อนายเข้าไปในที่ใด เราคอยอยู่ในที่ใด     ก็ต้องคอยสำรวจตรวจตราและดูผู้คนเข้าออกที่แห่งนั้น ว่านายจะออกมาหรือยัง อย่าเผอเรอ       เซ่อเซอะให้แคล้วคลาดกับนายไปได้

    ถ้าที่นั้นเป็นที่คนพลุกพล่านสับสน เราควรจะสังเกตตอนเบื้องบนอันที่จะเห็นได้ง่าย คือ นายเรามัวเงาขาวดำและซวดทรงสูงต่ำอย่างไร เราก็ต้องเพ่งหมายดูอย่างนั้นเรื่อยไป ถ้าท่าน     ใส่หมวก หมวกที่ใส่นั้นอย่างไร ก็ดูอย่างนั้นเรื่อยไป ก็คงจะสังเกตพบได้ง่าย เมื่อประเมินพบเครื่องหมายตามสังเกตได้แล้ว จึงลดแลลงมาสังเกตดูหน้าเอาเป็นแน่อีกชั้นหนึ่ง ก็คงจะพบได้ง่าย ดีกว่าดูอย่างตะลุยอันไม่มีหลัก

    ถ้ามืดหรือห่างไกลที่ดูหน้าไม่ถนัด เราก็ควรสังเกตกิริยาท่าทางที่ท่านเดินก็คงรู้ได้ว่า          ใช่ฤๅไม่  ธรรมดาเดินมาแต่ไกล ฤๅมืดสักหน่อยนั้น ดูหน้าไม่พอที่จะจำได้เลย ต้องดูกิริยาท่าทางที่เดินก็คงจะรู้ได้ว่าใครเป็นแน่ คนที่เราคุ้นเคยรู้จักชัดเจนนั้น สังเกตดังนี้ไม่ใคร่จะผิดเลย

    เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่าเวลาไปไหนที่มีผู้คนมาก ๆ ก็อาจเกิดการพลัดหลงกันได้ บางทีเราก็เคยพลัดกับพ่อแม่ กับเพื่อนฝูง พอเดินเบียดเสียดกันเข้า เหลียวกลับมาอีกที อ้าว! หายไปไหนก็ไม่รู้แล้ว ถ้าเป็นเรื่องเที่ยวเตร่ไม่ได้ไปเรื่องงานสำคัญก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นการติดตามไปในหน้าที่การงานหรือราชการแล้ว เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา เพราะถ้าเราเป็นคนไม่รอบคอบแล้ว ก็อาจพลัดหลงกับนายได้ ต้องยุ่งยากค้นหากันให้โกลาหล การงานก็อาจเสียหายได้

    หลวงพ่อมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต คราวนั้นไปกับเพื่อน ๆ ตามอาจารย์ไปประชุม คนหนึ่งถือกล้อง เราถือฟิล์ม ส่วนอีกคนหอบเอกสารไป ก็พากันเดินตามอาจารย์ไปเข้าลิฟต์ โดยลืมถามไปว่าจะไปชั้นไหน เผอิญคนมาก พออาจารย์เข้าไปในลิฟต์ ประตูก็ปิด  พวกเราอยู่ข้างล่าง ไม่รู้ว่าอาจารย์ขึ้นไปชั้นไหน ก็เดาสุ่มขึ้นลิฟต์ไป เลยพลัดกัน กว่าจะเจอกันก็ใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมง ผลสุดท้ายเรื่องที่อาจารย์จะนำไปรายงานก็ไม่ได้รายงาน เพราะเอกสารติดอยู่ที่ เพื่อนคนหนึ่ง พอเจอคนถือเอกสารนั้นแล้ว จะไปธุระเรื่องอื่นต่อ จำเป็นต้องใช้กล้อง กล้องก็ไปอยู่ที่เพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งพลัดหลงกันไปคนละทาง วันนั้นไม่ได้งานอะไรเลย อย่างนี้นับเป็นอุทาหรณ์    ที่ดีว่า อย่าถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ทำให้ขาดความสังเกตสังกา เพราะอาจเกิดเรื่องเสียหายขึ้นได้

    หลวงพ่อทำมาจนเป็นนิสัยโดยไม่ต้องมีใครสอน ว่าจะไปไหนก็ตาม ก่อนขึ้นรถลงเรือจะมองปราด จำเอาไว้ว่า ใครแต่งตัวชุดอะไร ไปกันกี่คน ต้องนับให้แน่นอนเลย ดังนั้นเวลาจะไปไหนกับหมู่คณะ ส่วนมากจะได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้เป็นหัวหน้าทีมดูแลไปทุกครั้ง หรือบางทีมีผู้ใหญ่กว่าไปด้วย เรามีอาวุโสไม่พอ ผู้ใหญ่มักจะมอบหมายให้เก็บข้าวของที่สำคัญ ๆ เอาไว้

    ตลอดทางหลวงพ่อจะมีใจจดจ่อกับหัวหน้าทีม ทำให้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อผู้ใหญ่    เหลียวหลังกลับมาเพื่อไหว้วานใครสักคนละก็ มักจะเห็นหลวงพ่อเป็นคนแรกทุกทีไป ก็เลยได้รับความไว้วางใจอย่างนี้ตลอดมา แต่บางทีก็อึดอัดเหมือนกัน ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจ จะมองเรา    ว่าเป็นตัวประจบประแจงเอาหน้ากับเจ้านาย เรื่องนี้ต้องทำหูหนัก ๆ และทำใจให้หนักแน่นเข้าไว้ เพราะโดนแน่ แต่ว่าเราต้องถามตัวเองว่าทำไปด้วยเหตุผลอะไร นี่ไม่ใช่การประจบประแจง แต่เป็นลักษณะของการเอาการเอางาน เพราะฉะนั้นใครจะตำหนิอย่างไรก็อย่าเอามาเป็นอารมณ์.. 

 


         (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๔ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล