วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ "อานุภาพของทิศ ๖"( ตอนที่ ๓)

 

            ทิศ ๖ มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ คือ เป็นที่มาของนิสัยใจคอ เป็นที่มาของ ความเก่งความดี เป็นที่มาของความสุขความเจริญ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าใคร จะได้มาง่ายๆ ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ของทิศ ๖ ดังนี้

            ประการที่ ๑ ผู้ที่อยู่ตรงกลางปฏิบัติตัวตามหน้าที่ที่มีประจำทิศได้ครบถ้วน


            ประการที่ ๒ ทิศทั้ง ๖ ที่อยู่รอบข้างต่างก็ปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ตามหน้าที่ประจำทิศของตน

            ส่วนวิธีที่จะปฏิบัติตัวตามหน้าที่ประจำทิศ ให้ได้อย่างสมบูรณ์ เราต้องรู้เสียก่อนว่า หน้าที่ประจำ ของแต่ละทิศตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้นั้น พระองค์ทรงแทรกศีลธรรมเอาไว้อย่างไรบ้าง

            ในเบื้องต้นเราลองมาดู ๓ ทิศใหญ่ คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา และทิศเบื้องบน ซึ่งจัดว่าเป็นทิศที่สำคัญ เพราะคนเราจะมีนิสัยใจคอที่ดี มีความเก่งความดี มีความสุขความเจริญ ก็เพราะได้มาจาก ๓ ทิศนี้ก่อนเลย

            เริ่มตั้งแต่วันที่เราคลอดออกมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติหน้าที่ประจำทิศของท่านอย่างดี เราก็รอดตัว แต่ถ้าหากท่านไม่สนใจในหน้าที่ของตัวเอง แล้วจับเราใส่ถุงโยนลงถังขยะ ชีวิตของเราก็จบกัน

             หรือแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องมีคุณพ่อคุณแม่คอย ประคบประหงมเลี้ยงดู

             พอโตขึ้นมาหน่อย เข้าโรงเรียนอนุบาล ก็ได้คุณครูมาคอยช่วยดูแล อบรมสั่งสอนให้

             รวมทั้งหลวงพ่อหลวงปู่ที่วัดข้างบ้าน เวลาบิณฑบาตผ่านมา ท่านอาจจะเทศน์ให้เราฟังโดยตรง หรือเทศน์ให้คุณพ่อคุณแม่ เทศน์ให้คุณครูที่โรงเรียนฟัง แล้วทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูก็นำสิ่งเหล่านั้น มาอบรมสั่งสอนเราอีกทีหนึ่ง

             เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใน ๓ ทิศใหญ่นี้ ปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ก็เป็นการยากที่เรา จะได้นิสัยใจ คอที่ดีๆ ได้ความเก่งความดี ความมีศักยภาพ รวมทั้งความสุขความเจริญ

             อีกทั้งโอกาสที่จะทำให้เราพลาดพลั้ง ไปทำบาปอกุศล จนต้องไปสู่อบาย ได้รับทุกข์ทรมาน แสนสาหัส ก็มีมากขึ้น

             แต่คุณพ่อคุณแม่เอง ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์ หรือไม่เพราะถ้าลูกเป็น คนไม่ดีก็ฟ้องว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังบกพร่องในหน้าที่

             หรือเป็นครูแล้วมีลูกศิษย์เกเร ก็ฟ้องว่า คุณครูทำหน้าที่บกพร่อง

             เช่นเดียวกัน พระภิกษุที่อยู่วัดใกล้ๆ กับสถานที่ที่เด็กยกพวกตีกันเสมอ ก็ฟ้องว่าท่านปฏิบัติหน้าที่ บกพร่อง เด็กแถวนั้นถึงได้ชอบยกพวกตีกัน

             เมื่อมองกันแบบนี้ ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า มีความสำนึกในการรับผิดชอบ ร่วมกันขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

             เพราะหน้าที่ประจำของบุคคลในแต่ละทิศนั้น พระพุทธองค์ทรงแฝงศีลธรรม ทรงแฝงวิธีกำจัด อวิชชา หรือความไม่รู้เอาไว้ด้วย จึงมีผลทำให้ผู้ที่ถูกหล่อหลอมจากทิศ ๖ ที่ดีเกิดความสำนึกใน การ รับผิดชอบดังนี้

             ๑. มีความสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเอง
          
             ๒. มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
            
            ๓. มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
          
             ๔. มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
            
            เพราะฉะนั้น หน้าที่ประจำทิศ ๖ จึงเป็นบทฝึกคนที่ทำให้เกิดความสำนึก ในการ รับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เองที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินศีลธรรม ว่าตัวของเราและทิศ ๖ ได้ทำหน้าที่ของตน สมบูรณ์แล้วหรือไม่


หน้าที่ประจำของแต่ละทิศ

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดหน้าที่ของเราอันพึงปฏิบัติต่อทิศ ๖ และหน้าที่ของทิศ ๖ อันพึงปฏิบัติต่อตัวเรา ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันดังนี้

             ๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา

                        หน้าที่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก คือ

                        ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

                        ๒. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี

                         ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา

                         ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้

                         ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันควร

                        หน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ คือ

                         ๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ

                         ๒. ช่วยทำการงานของท่าน

                         ๓. ดำรงวงศ์ตระกูล

                         ๔. ประพฤติตนให้เป็นที่ผู้สมควรแก่การรับมรดก

                         ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

             หน้าที่เหล่านี้พระพุทธองค์ทรง ให้ไว้โดยหลักการ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้อง นำไปคิดกันต่อว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ตามหลักการนั้นอย่างไร เพื่อให้ขอบเขต แห่งความรับผิดชอบ เหมาะสมกับบุคคลในแต่ละวัย

             ยกตัวอย่าง หน้าที่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ในข้อที่ว่า " ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว "

             ถ้าลูกกำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องคอยสอดส่องดูแล ว่าลูกจะไปทำความชั่ว อะไรได้บ้างเพื่อจะได้รีบห้ามหรือหาทางป้องกันเสียก่อน เช่น

             ๑. ถ้าลูกบี้มด ตบยุง ซึ่งเป็นการฆ่าสัตว์ ต้องรีบห้าม

             ๒. ถ้าลูกเริ่มขโมยเงิน เริ่มไปแย่งของเพื่อน อย่าปล่อยปละละเลย

             ๓. เด็กอาจจะยังไม่ประพฤติผิดในกาม แต่ผู้ปกครองบางคนชอบไปเขียนคิ้วทาปากให้ หรือจับแต่งตัวโชว์สะดือ พอโตขึ้นแกก็จะไม่มีความละอาย เนื่องจากมีความเคยชินมาตั้งแต่เด็กๆ

             ๔. ถ้าลูกพูดโกหก พูดคำหยาบ คุณพ่อคุณแม่ต้องห้าม

             แล้วยังต้องคอยดูต่อไปอีกว่า ลูกจะทำความชั่วอะไรได้บ้าง ถ้าลูกเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ และอยู่มหาวิทยาลัย

             ในทำนองเดียวกัน การทำความดีในแต่ละระดับชั้นการศึกษา แต่ละวัย ลูกจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าพ่อแม่คิดเตรียมไว้ให้พร้อมทุกทิศทุกทางอย่างนี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้ลูกดี แต่ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ ก็มีสิทธิ์จะได้ลูกที่ไม่ดีเช่นกัน

             ตัวอย่างหน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ในหัวข้อที่ว่า "ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ"

             ถ้าหากจะรอให้ลูกโตขึ้นมา แล้วคิดกลับมาเลี้ยงดูพ่อแม่เอง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ต้องฝึกกันตั้งแต ่วัยอนุบาล เช่น การยกอาหารไปให้คุณปู่คุณย่าของลูก ซึ่งก็คือให้ คุณพ่อคุณแม่ของเรา ให้ลูกเห็นอยู่ทุกวัน แล้วค่อยๆ สอนให้ลูกยกอาหารไปให้คุณปู่คุณย่าบ้าง โดยเริ่มจากการให้ช่วยยก ถ้วยน้ำปลา ให้ยกจานเปล่าไปก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวลูกจะยกอาหารไปหกหล่น หรือเททิ้งเสียหมด จะอดกินกัน

             หรือเวลาคุณพ่อคุณแม่ของเราป่วยไข้ ถึงเวลาก็เช็ดเนื้อเช็ดตัว อาบน้ำอาบท่าให้ท่าน ลูกอยู่ชั้นอนุบาลก็เรียกมาช่วยกันได้ เช่น ลูกเอ๊ย ไปหยิบผ้าเช็ดตัวมา ไปเอานั่นมา ไปเอานี่มา เดี๋ยวพ่อกับแม่ จะอาบน้ำให้ปู่ให้ย่า ให้ตาให้ยาย แล้วก็ทำให้ลูกดู

             สิ่งเหล่านี้คือการปูพื้นฐานว่าต่อไปลูกจะเลี้ยงดูเรา เพราะแกได้เห็นแล้วว่า คุณพ่อคุณแม่ทำกับคุณปู่คุณย่าอย่างไร อีกหน่อยแกก็จะทำกับคุณพ่อคุณแม่อย่างนั้นบ้าง

             แต่ถ้าไม่ฝึกกันให้ดีตั้งแต่เล็กๆ ปล่อยให้ไปเรียนรู้เอาเองตอนโต ชาติหน้าบ่ายๆ ลูกก็ไม่ทำอย่างที่เราต้องการ แล้วจะมาน้อยอกน้อยใจว่า ตั้งแต่แต่งงานไป ไม่รู้จักพ่อ ไม่รู้จักแม่เลย ดีแต่จะไปเอาใจสามี ดีแต่จะไปเอาใจภรรยาของตัวเองเท่านั้น

             และถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ ครอบครัวส่วนมากจะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว คือ ปู่ย่าตายายไม่ได้อยู่ด้วยก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นอะไรที่ลูกพอมาช่วยเราได้ ก็ต้องฝึกให้แกทำให้เป็น

             สมมุติว่า ถ้าเราตายไปวันนี้ ลูกของเราก็จะสามารถช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง หรือลุงป้า น้าอา ช่วยเอาไปเลี้ยง เขาก็จะได้เบาแรง เพราะลูกของเราเป็นเด็กน่ารัก

             เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ต้องมองภาพเหล่านี้ให้ไกลๆ จะได้ไม่ผิดหวังตลอดไป สำหรับหน้าที่ประจำของแต่ละทิศที่เหลือ เราคงต้องมาดูกันในคราวต่อไป 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล