แบบแผนความประพฤติในการใช้-รักษาเสนาสนะ

วันที่ 16 มิย. พ.ศ.2563

บทฝึกเสนาสนวัตรเพื่อการเข้าถึงธรรม

วัตถุประสงค์ : 
  เพื่อฝึกการถือธรรมเป็นใหญ่ในการดำเนินชีวิตผ่านการปฎิบัติเสนาสนวัตรให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย

คุณประโยชน์: 
๑. ดูเเลสมบัติส่วนตัวเป็น
๒. ดูเเลสมบัติวัดเป็น
๓. เห็นคุณค่าสมบัติวัด
๔. รักวัดเป็น
๕. รักชื่อเสียงวัดเป็น
๖. รักพระพุทธศาสนาเป็น


แบบแผนความประพฤติในการใช้-รักษาเสนาสนะ

๑. หลักธรรมที่ต้องตรึกระลึกปฏิบัติตลอดเวลาเป็นนิจ

=> ๑. มีสัมมาทิฏฐิ : สอนตนเองว่าการปฏิบัติเสนาสนวัตรอย่างมีสติสัมปะชัญญะ มีความสังเกตพิจารณาและทำด้วยความสำรวมเป็นกรรมดี มีผลดีจริง หรือทำอย่างมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นกรรมดี มีผลดีจริง

=> ๒. มีสติสัมปชัญญะ : เอาใจกลับเข้ามาไว้ในตัว กลางตัวเป็นนิจ จะได้ไม่เครียด ไม่ดูถูกงานที่ทำ

=> ๓. สังเกตพิจารณา : สังเกตเพื่อได้ข้อมูลความจริงของ พื้นที่บุคคล ทิศทางลม ดินฟ้าอากาศ ที่วางของ สิ่งของที่จะขนออกมา  แล้วนำข้อมูลมาพิจารณาเทียบกับหลักพระธรรมวินัยก่อนปฏิบัติเสนาสนวัตร

=> ๔. ปฏิบัติด้วยความสำรวม : เตือนตนเองให้ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผนพระวินัย ด้วยความสำรวมกาย วาจา อาชีพ ใจ ทั้งก่อน ขณะ และหลังปฏิบัติ

๒.สังเกตพิจารณาด้วยใจที่อยู่ในตัว กลางตัวเป็นนิจ

             การสังเกตพื้นที่ บุคคล ดินฟ้าอากาศ ที่วางของ สิ่งของที่จะขนออก เป็นการฝึกสัมมาสังกัปปะ คือ คิดให้ถูก คิดให้รอบคอบ ก่อนทำงานใดๆ ทุกครั้งไป อีกทั้งฝึกความช่างสังเกตทุกชนิดให้ชำนาญ ฝึกวางแผนการทำงานให้เป็น อันเป็นทางมาแห่งปัญญา

=> ๒.๑ สังเกตพิจารณาพื้นที่ ว่ามีลักษณะพื้นที่เป็นอย่างไร เรียบ ขรุขระ สูง ต่ำ น้ำท่วมถึงหรือไม่ ไฟไหม้ง่ายหรือไม่ มีเสาไฟฟ้าแรงสูง หรือไม่ มีพืช สัตว์ หญ้า ขยะมีพิษหรือไม่มีพิษ เป็นที่อยู่ของสัตว์ร้าย หรือไม่ มีต้นไม้ที่อาจจะกีดขวางและก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จะได้ระวังป้องกันอันตรายแก่ตนเอง ผู้อื่น สัตว์ สิ่งของ และที่สำคัญเป็นข้อมูล  ในการปรับปรุงพื้นที่และบริเวณวัดในภายภาคหน้าให้เหมาะสมควรแก่การอยู่อาศัย การทำงาน และการบรรลุธรรม

=> ๒.๒ สังเกตพิจารณาบุคคล ที่อยู่บริเวณนั้นมีหรือไม่ เป็นใครมีภิกษุป่วยอยู่บริเวณนั้นหรือไม่ เป็นมิตรแท้หรือมิตรเทียม ขโมย ขี้ยา คนต่างศาสนา บุคคลนั้นกำลังทำอะไร ป้องกันการกระทบกระทั่งกัน เป็นการให้ความเคารพเกรงใจต่อกัน ย่อมเป็นประโยชน์ต่อ ๑) การคัดคนเข้า ๒) การคัดคนออก ๓) การฝึกคนให้ทำงานด้วยความรับผิดชอบตรงตามหน้าที่เพื่อพัฒนาวัดสืบไป

เพราะการอยู่กับคนกับพระ  ต้องอยู่ด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

=> ๒.๓ สังเกตทิศทางลม ดินฟ้าอากาศ อยู่เหนือลมหรือใต้ลมช่องทางพายุ แดด ฝน ฝุ่น เพื่อไม่ก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น การทำความสะอาดจะได้ง่าย ป้องกันการติดเชื้อโรค การสังเกตสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งนับวันจะมีความแปรปรวนมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม พายุกระหน่ำ ฤดูกาลแปรปรวน สึนามิ รวมทั้งมลภาวะทางเทคโนโลยี อีกด้วย

=> ๒.๔ สังเกตพิจารณาที่วางสิ่งของที่ขนออกมา โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ คือ
๑) เห็นได้ชัด
๒) ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ สัตว์ร้าย ผู้ไม่หวังดี
๓) สะอาด หากไม่สะอาดจึงทำความสะอาดก่อน
๔) มีพื้นที่เพียงพอที่จะวางของและไม่กีดขวางทางเดิน

=> ๒.๕ สังเกตพิจารณาสิ่งของที่จะขนออก โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ คือ
๑) เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เช่น พระพุทธรูป ให้ขนออกก่อน
๒) เป็นของสำคัญประจำตนที่มีโอกาสชำรุดเสียหายง่าย ขนออกก่อน เช่น บาตร จีวร เป็นต้น
๓) ของที่อยู่บนขนออกก่อน ของที่อยู่ล่างขนออกภายหลัง
๔) เป็นของที่ต้องเก็บเข้ามาภายหลัง ให้ขนออกก่อน เช่น บาตร จีวร ฟูก หมอน ส่วนของที่จะต้องขนกลับเข้ามาก่อน ให้นำออกภายหลัง เช่น ตู้ เตียง ตั่ง เขียงรองขาเตียง
๕) สังเกต จดจำ ทำเครื่องหมายตำแหน่งสิ่งของที่ขนออก

๓.ปฏิบัติด้วยความสำรวมกาย วาจา ใจ เป็นนิจ
มีความสำรวมกาย วาจา ใจ มีสติกำกับทุกขั้นตอนที่ปฏิบัติ ดังนี้

=> ๓.๑ การขนของออกไปที่ควร

๑) ขนของออกไปตามลำดับที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการสังเกตพิจารณา ถ้าเป็นสิ่งของที่มีตำแหน่งการวางแน่นอนต้องจำตำแหน่ง ทำเครื่องหมายไว้ เช่น พระพุทธรูป เครื่องลาดพื้น

๒) ระมัดระวังสิ่งของไม่ให้เกิดการกระแทก กระทบ ครูดสี ถ้าเป็นของหนักไม่ควรลาก ให้ช่วยกันยก แต่ถ้าจำเป็นต้องลากให้มีวัสดุรองก่อนจะลาก เช่น ผ้าหนา ๆ นิ่ม ๆ พึงสังเกตพิจารณาว่าสิ่งของใดพึงยก พึงลาก จึงทำคนเดียว หรือต้องช่วยกันทำ

ทั้งนี้เพื่อการทำความสะอาดง่าย ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม เป็นการฝึกนิสัย หยิบ จับ วางสิ่งของให้นุ่มนวล ทะนุถนอม อันเป็นเหตุให้สมบัติไม่วิบัติ จิตใจก็จะนุ่มนวลควรแก่การงาน เป็นการฝึกความประพฤติสงบเสงี่ยมโสรัจจะ

=> ๓.๒ การวางของที่ขนออก

๑) วางของเป็นหมวดหมู่ตามความสำคัญ 

 เป็นของสิริมงคล เช่น พระพุทธรูป หนังสือธรรมะ 
 เป็นของสูง เช่น บาตร จีวร 
 เป็นของต่ำ เช่น รองเท้า ไม้กวาด

๒) วางเป็นลำดับตามความหนักเบา เป็นหมวดหมู่ ของเบาวางบนของหนัก

๓) วางของไม่กระแทก ไม่โยน ไม่เกิดการชำรุดเสียหาย การฝึกวางของเป็นการจัดระเบียบความคิด ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน

=> ๓.๓ การทำความสะอาด

๓.๓.๑ สังเกตพื้นที่

๑) พื้นที่ที่จะทำความสะอาดอยู่บริเวณใด

๒) พื้นที่นั้นมีความสะอาด สกปรก ลักษณะความสกปรกเป็นแบบใด อยู่ตำแหน่งใด เพื่อเลือกวัสดุอุปกรณ์หรือน้ำยาทำความสะอาด และวิธีการทำความสะอาดให้เหมาะสม

๓) ความปลอดภัย พื้นที่นั้นจะพึงมีอุบัติเหตุ หรืออันตรายอะไรขณะทำความสะอาดหรือไม่

๓.๓.๒ ลำดับและวิธีการทำความสะอาด

๑) พึงกวาดหยากไย่จากเพดานลงมาก่อน แล้วนำไปทิ้งเพราะหยากไยเป็นที่อยู่ของแมงมุมซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์อื่นเข้ามา และหยากไยเป็นตัวดักฝุ่น มีผลต่อสุขภาพ การกวาดจากบนลงล่าง เพื่อไม่ต้องทำความสะอาดซ้ำซ้อน ฯลฯ

๒) เช็ดกรอบประตู หน้าต่างและมุมห้อง เพื่อทำความสะอาดให้ทั่วทุกซอกทุกมุม

๓) ถ้าฝา-พื้น ขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด เพราะรา นอกจากเป็นอันตรายต่อวัตถุนั้น ยังเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากเข้าไปในร่างกาย

๔) กวาด เช็ด ถู พื้น โดยไม่ให้ฝุ่นกลบวิหาร เพราะในฝุ่นละอองมีเชื้อโรคอาจมีสปอร์ของเชื้อราปะปนอยู่ด้วย หากเข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

๕) ไม่พึงเคาะที่นอน ที่นั่ง ใกล้ภิกษุ ใกล้วิหาร ใกล้น้ำฉัน น้ำใช้ หรือที่เหนือลม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนฝุ่นละออง เชื้อโรค

๖) เครื่องลาดพื้นพึงผึ่งแดด เคาะ ปัด ขนกลับไปที่เดิม การผึ่งแดด เพื่อกำจัดไรฝุ่น การเคาะ ปัด เพื่อไล่ฝุ่นละออง ขณะทำต้องไม่ ทำความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

๗) เขียงรอง คือ ไม้แผ่นรองขาเตียง พึงผึ่งแดดในที่ควร เช็ดขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ผึ่งแดด เพื่อกำจัดเชื้อโรค เช็ดเพื่อขจัดคราบสกปรกและฝุ่นละออง

๘) เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดดในที่ควร คืออยู่ใต้ลม ขัดสี เคาะ ยก เตียงต่ำๆ อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

๙) ฟูกคือที่นอนยัดด้วยนุ่นหรือสำลี และหมอน พึงตากไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง เคาะ ปัดให้สะอาดแล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

๑๐) ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงตากในที่ควรสลัดให้สะอาด ขนกลับไปปูไว้ตามเดิม เพื่อป้องกันเชื้อโรค และรักษาความสะอาด

๑๑) กระโถน พนักอิง พึงตากไว้ที่ควร เช็ด ขนกลับไปตั้งไว้ตามเดิม เพื่อป้องกันเชื้อโรคและรักษาความสะอาด

๑๒) การเก็บบาตร มือข้างหนึ่งจับบาตร มืออีกข้างหนึ่ง ลูบพื้นที่ใต้เตียงหรือใต้ตั่งแล้วจึงเก็บบาตร อย่าเก็บบาตรบนพื้นที่ปราศจากเครื่องรองบาตร เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย รักษาความสะอาด ปลอดภัย จากสัตว์ร้ายและเชื้อโรค

๑๓) เมื่อจะเก็บจีวรที่นำออกมาจากเสนาสนะ พึงทำความสะอาดราวจีวร โดยเอามือข้างหนึ่ง ลูบราวจีวร หรือสายระเดียง การเก็บจีวร พึงทำชายจีวรไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างใน

๑๔) ถ้ามีลม ฝุ่น พัดมาทางใดให้ปิดหน้าต่างทางนั้น

๑๕) ถ้าฤดูหนาว กลางวันพึงเปิดหน้าต่าง เพื่อให้แดดเข้า กลางคืนพึงปิด เพื่อกันลมหนาว ถ้าฤดูร้อน กลางวันพึงปิดเพื่อกันแสงแดด กลางคืนพึงเปิด เพื่อระบายความร้อน และให้อากาศถ่ายเท

๑๖) ถ้าบริเวณซุ้มน้ำโรงฉัน โรงไฟวัจจกุฎีรก พึงปัดกวาดเสีย เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายฝุ่นละอองเชื้อโรคเป็นการรักษาความสะอาด

๑๗) ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ ไม่มี จึงหามาจัดตั้งไว้

๑๘) น้ำในห้องน้ำไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ชำระ

๑๙) ถ้าอยู่หลายรูปในวิหารหลังเดียวกัน เมื่อจะทำกิจใด พึงอาปุจฉา คือ ขออนุญาตกับภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงกระทำกิจต่อไปนี้ได้

๑๙.๑) การแนะนำชี้แจง
๑๙.๒) การสอบถาม
๑๙.๓) การสาธยายธรรม
๑๔.๔) การแสดงธรรม
๑๙.๕) การปิด-เปิดไฟ
๑๙.๖) การปิด-เปิดหน้าต่าง

              ณ ปัจจุบันนี้ กิจที่ต้องขออนุญาตภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า ได้แก่ การก่อสร้าง การปลูก-ตัดต้นไม้ การวาง-รื้อท่อประปาไฟฟ้า ทางระบายน้ำ ต่อเติม-ซ่อมแซมอาคาร การวางตัวกับเจ้าภาพ เพราะ ท่านอยู่มาก่อน ย่อมทราบที่มา-ที่ไป และเหตุผล เป็นการเคารพสิทธิ หน้าที่ผู้อยู่ก่อน บวชก่อน ซึ่งอาจเชี่ยวชาญธรรมะ มีประสบการณ์มาก หากวางตัวผิดต่อท่านอาจทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอด ความรู้ ความดี คุณธรรมจากท่าน อีกทั้งเป็นการฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเคารพต่อกัน ให้เกียรติต่อภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า
ฝึกมารยาทการอยู่ร่วมกัน จัดเป็นการกำจัดนิสัยเอาแต่ใจตัว ไม่คิดหน้าคิดหลัง ได้อย่างดียิ่ง

๒๐) ถ้าเดินจงกรมในที่จงกรมเดียวกับภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า พึงเดินคล้อยตามหลัง และไม่พึงกระทบกระทั่งพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า แม้ด้วยชายผ้าสังฆาฏิ

               การเดินคล้อยคือการเดินเยื้อง เพื่อไม่ให้เดินชนภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า และไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง

 

 

จากหนังสือ กวาดวัด กวาดใจ ไปนิพพาน  "เสนาสนวัตร"

โดย คุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011403322219849 Mins