มาคันทิยา ตอนที่ ๔

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2560

มาคันทิยา ตอนที่ ๔,วาไรตี้,บทความประจำวัน

 

              พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงเหล่านั้นว่า “การกำหนดอัตภาพ ซึ่งถูกไฟเผาอย่างนี้ของพวกเรา ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร อันมีส่วนสุดไม่ปรากฏแล้ว แม้พุทธญาณก็ไม่ทำได้โดยง่าย, ท่านทั้งหลายจงเป็น ผู้ไม่ประมาทเถิด.”

           หญิงเหล่านั้น เมื่อตำหนักถูกไฟไหม้อยู่, กำหนดใจ ถึงเวทนาปริคคหกัมมัฏฐาน(กัมมัฏฐาน มีอันกำหนด เวทนาเป็นอารมณ์.), บางพวกบรรลุผลที่ ๒, บางพวก บรรลุผลที่ ๓.

           ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาตใน ภายหลังแห่งภัต (หลังจากฉันข้าว),พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่โดยที่ใด เข้าไปเฝ้าโดยที่นั้น, ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นผู้นั่งแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่งแลได้กราบทูล คำนี้กับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ภายในนครของพระเจ้าอุเทน ผู้เสด็จไปสู่พระราชอุทยานถูกไฟไหม้แล้ว, หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุขละโลกเสียแล้ว, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คติของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร? สัมปรายภพเฉพาะ หน้าเป็นอย่างไร?”

        พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกา เหล่านี้ อุบาสิกาที่เป็นโสดาบันก็มี,เป็นสกทาคามีก็มี, เป็นอนาคามีก็มี, อุบาสิกาทั้งหมดนั้นไม่เป็นผู้ไร้ผล ในการทำกาละหรอกภิกษุทั้งหลาย.”

      พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรง เปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

“โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมปรากฏดุจรูปอันสมควร,

       คนพาลมีอุปธิกิเลสเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อมแล้ว

      จึงปรากฏดุจมีความเที่ยง, ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นอยู่”.

            ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงธรรมว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปในวัฏฏะ เป็นผู้ไม่ประมาทตลอดกาลเป็นนิตย์กระทำบุญกรรมก็มี, เป็นผู้มีความประมาทกระทำบาปกรรมก็มี, เหตุนั้น สัตว์ ผู้เที่ยวไปในวัฏฏะจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง.”

            พระราชาทรงสดับว่า ‘ข่าวว่า ตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้’, แม้เสด็จมาโดยเร็ว ก็ไม่ได้อาจจะ ทันถึงตำหนักที่ไฟยังไหม้อยู่, ครั้นเสด็จมาแล้ว ทรงให้ดับ ไฟตำหนักทรงเกิดโทมนัสเป็นอันมาก แวดล้อมด้วยหมู่ อำมาตย์ ประทับนั่งระลึกถึงพระคุณของพระนางสามาวดี ทรงพระดำริว่า ‘นี้เป็นการกระทำของใครหนอ?’ ดังนี้แล้ว ทรงทราบว่า ‘กรรมนี้ จะเป็นกรรมอันนางมาคันทิยาให้ ทำแล้ว’, ทรงพระดำริว่า ‘นางมาคันทิยานั้น ถ้าเรา ทำให้หวาดกลัวแล้วถาม ก็จะไม่บอก, เราจะค่อยๆ ถาม โดยอุบาย.’ จึงตรัสกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า“ผู้เจริญ ทั้งหลาย เมื่อก่อนจากตอนนี้ เราลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ก็เป็นผู้ระแวงสงสัยอยู่รอบข้างทีเดียว, นางสามาวดี แสวงหาแต่โทษเราเป็นนิตย์, นางก็ตายไปแล้ว, ก็บัดนี้ เราจะเย็นใจได้ละ, เราจะได้อยู่โดยความสุข”

         พวกอำมาตย์ทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ กรรมนี้อันใคร หนอแลทำแล้ว?”

         พระราชาตรัสตอบว่า “จะเป็นกรรม ที่ใคร ทำก็ตาม ก็ด้วยความรักในเรา.”

         พระนางมาคันทิยาทรงยืนเฝ้าอยู่ในที่ใกล้ ฟัง พระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า

“ใคร ๆ คนอื่นจะไม่อาจทำได้, พระเจ้าข้า กรรมนี้อันหม่อมฉันทำแล้ว, หม่อมฉัน สั่งอาให้ทำ.”

         พระราชาตรัสว่า “ชื่อว่าผู้มีความรักในเรา ยกไว้เสีย แต่เจ้า ย่อมไม่มี, เราพอใจ, พระเทวี เราจะให้พรแก่เจ้า, เจ้าจงให้เรียกหมู่ญาติของตนมา.”

        นางส่งข่าวไปแก่พวกญาติว่า ‘พระราชาทรงพอพระหฤทัย จะพระราชทานพรแก่เรา,จงมาเร็ว.’

        พระราชารับสั่งให้ทำสักการะใหญ่ แก่ญาติทั้งหลาย ของพระนางมาคันทิยา ซึ่งมาแล้วแม้พวกคนผู้มิใช่ญาติ ของพระนางมาคันทิยาเห็นสักการะนั้นแล้วก็ให้สินจ้าง กล่าวว่า “พวกเราเป็นญาติของพระนางมาคันทิยา” พากันมาแล้ว.

       พระราชารับสั่งให้จับคนเหล่านั้นทั้งหมดไว้ แล้วให้ขุดหลุมทั้งหลายประมาณแค่สะดือที่พระลานหลวงแล้ว ให้คนเหล่านั้น นั่งลงในหลุมเหล่านั้นเอาดินร่วนกลบให้เกลี่ยฟางไว้เบื้องบน แล้วจุดไฟ, ในเวลาที่หนังถูกไฟไหม้แล้ว, รับสั่งให้ไถด้วยไถเหล็กทั้งหลาย ให้ทำให้เป็นท่อน และหาท่อนมิได้ หรือเป็นชิ้นและหาชิ้นมิได้.

      พระราชารับสั่งให้เชือดเนื้อ จากสรีระของพระนางมาคันทิยา ตรงที่มีเนื้อล่ำๆ ด้วยมีดอันคมกริบแล้ว ให้ยกขึ้น สู่เตาไฟอันเดือดด้วยน้ำมัน ให้ทอดดุจขนมแล้ว ให้เคี้ยว กินเนื้อนั้นแล.

        ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรม ว่า “ความตายเช่นนี้ ของอุบาสิกาผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา อย่างนี้ ไม่สมควรเลยหนอ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.”

         พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ?”

        ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาว่า “กรรมอะไร อันหญิง เหล่านั้นทำไว้ในชาติก่อน พระเจ้าข้า?ขอพระองค์จงตรัส บอกแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว

      จึงทรงนำอดีตนิทานมาเล่าว่า

      ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ ในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้า๘ องค์ ฉันอยู่ใน พระราชวังเนืองนิตย์ หญิง ๕๐๐ คน ย่อมบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น.ในท่านเหล่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ไป สู่หิมวันตประเทศ อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในที่รกด้วยหญ้าแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ.

       ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปแล้ว, พระราชาทรงพาหญิงเหล่านั้นไป เพื่อทรงเล่นน้ำในแม่น้ำ. ณ สถานที่นั้น หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำตลอดวัน ขึ้นจากน้ำแล้ว ถูกความหนาวเบียดเบียน ใคร่จะผิงไฟ กล่าวกันว่า “ท่านทั้งหลาย พึงหาดูที่ก่อไฟของพวกเรา”, เที่ยวไปเที่ยว มาอยู่ เห็นที่รกด้วยหญ้า (ชัฏหญ้า) นั้น จึงยืนล้อมก่อไฟ แล้วด้วยสำคัญว่า ‘กองหญ้า’

       เมื่อหญ้าทั้งหลายไหม้แล้วก็ยุบลง, หญิงเหล่านั้นแล เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงกล่าวกันว่า “พวกเราแย่แล้ว ! พวกเราแย่แล้ว! พระปัจเจกพุทธเจ้าของพระราชาถูกไฟคลอก, พระราชาทรงทราบจะทำร้ายพวกเราถึงตาย, เราจะทำท่านให้ไหม้ทั้งหมด ”, ทุกคนนำฟืนมาจากที่โน้น ที่นี้ ทำให้เป็นกองในเบื้องบนแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น กองฟืนใหญ่ได้มีแล้ว.

        หญิงเหล่านั้นสุมฟืนนั้นแล้วหลีกไป ด้วยสำคัญว่า ‘บัดนี้ จะไหม้หมดละ’

       ครั้งแรก พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความจงใจ ก็ถูกกรรมติดตามแล้วในบัดนี้. ก็คนทั้งหลายแม้นำฟืน ๑,๐๐๐ เล่ม เกวียนมาสุมอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อจะทำพระปัจเจกพุทธเจ้าภายใน สมาบัติ แม้ ให้มีอาการสักว่าอุ่นได้. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ในวันที่ ๗ จึงได้ลุกขึ้นไปตามสบายแล้ว.

       หญิงเหล่านั้นไหม้ในนรกลิ้นหลายพันปี เพราะความที่กรรมนั้นอันตนทำไว้ แล้วไหม้แล้วในเรือนที่ถูกไฟไหม้ อยู่โดยทำนองนี้ ตลอด ๑๐๐ ชาติ ด้วยวิบากที่เหลือของกรรมนั้น. นี้เป็นบุรพกรรมของหญิงเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

          วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ถูกไฟไหม้แล้วในตำหนัก, พวกญาติของพระนางมาคันทิยาถูกจุดไฟ โดย มีฟางเป็นเชื้อไว้เบื้องบน แล้วทำลายด้วยไถเหล็ก, พระนางมาคันทิยาถูกทอดด้วยน้ำมันอันเดือดพล่าน, ในคนเหล่านั้น ใครหนอแล ชื่อว่าเป็นอยู่?, ใครชื่อว่าตายแล้ว?.”

         พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ?”

       เมื่อพวกภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ด้วยเรื่องนี้” ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าใดเหล่าหนึ่งประมาทแล้ว, คนเหล่านั้น แม้เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ชื่อว่าตายแล้ว โดยแท้; คนเหล่าใดไม่ประมาทไม่ประมาทแล้ว, คนเหล่านั้น แม้ตายแล้ว ก็ชื่อว่ายังคงเป็นอยู่, เพราะฉะนั้น พระนางมาคันทิยาจะเป็นอยู่ก็ตาม, ตายแล้วก็ตาม ก็ชื่อว่าตายแล้วทีเดียว หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข แม้ตายแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นอยู่นั่นเทียว; ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าผู้ไม่ ประมาทแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย” ดังนี้แล้ว ได้ภาษิต พระคาถาเหล่านี้ว่า

“ความไม่ประมาทเป็นเครื่องถึงอมตะ

ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ (ความตาย)

ผู้ไม่ประมาทแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย

ผู้ใดประมาทแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว;

บัณฑิตรู้ความนั่นโดยแปลกกันแล้ว

ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บันเทิงอยู่ในความไม่ประมาท

ยินดีในธรรมเป็นที่โคจรของพระอริยะทั้งหลาย,

บัณฑิตผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีความเพ่ง

มีความเพียรเป็นไปติดต่อ, บากบั่นมั่นเป็นนิตย์

เป็นนักปราชญ์ย่อมถูกต้องพระนิพพาน

     อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”

          ในที่สุดแห่งเทศนา คนเป็นอันมากได้เป็นพระอริยบุคคล มีโสดาบันเป็นต้น. เทศนาเป็นกถามีประโยชน์ แก่มหาชนดังนี้แล.

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0021271467208862 Mins