ศีลเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2558

 

ศีลเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

      อานิสงส์ของการรักษาศีลเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล หมายความว่าใครรักษาศีลได้ครบบริบูรณ์ผู้นั้นย่อมได้รับอานิสงส์ดังกล่าวซึ่งเกิดผลเฉพาะตัวแก่ผู้ปฏิบัติแต่ถ้าบุคคลหมู่คณะใดเมืองใดประเทศใดพร้อมใจกันระมัดระวัง มิให้การรักษาศีลขาดตกบกพร่องอานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งแผ่นดิน เมืองนั้นประเทศนั้นจะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ประชาชนอยู่ดีกินดีกันทุกคน

      ในทำนองกลับกัน ถ้าเมืองใด ประเทศใด มีผู้นำทุศีล ซึ่งทั้งนี้ย่อมหมายถึงว่าประชาชนชาวเมืองทั้งหลายก็มีแนวโน้มเป็นผู้ทุศีลด้วยบ้านเมืองนั้นก็จะประสบทุพภิกขภัยคือความอดอยากยากแค้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้าด้วยดังมีเรื่องปรากฏในกุรุธรรมชาดก มีใจความโดยสังเขปดังต่อไปนี้

  ในอดีตกาลก่อนสมัยพุทธกาลเมื่อพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะผู้เป็นเจ้าเมืองแคว้นกุรุรัฐเสด็จสวรรคตแล้วพระราชโอรสจึงได้เสวยราชสมบัติแทนทรงพระนามว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะพระมหากษัตริย์องค์ใหม่นี้ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมและทรงรักษากุรุธรรม คือ ศีล5 อันเป็นธรรมเนียมของชาวกุรุรัฐเสมอมาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนชาวเมืองทั้งหลายต่างก็ยึดมั่นในกุรุธรรมหรือศีล5 เหมือนกันนอกจากนั้นพระองค์ยังได้สร้างโรงทานขึ้นในพระนครถึง 6 แห่งซึ่งแสดงถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดีมาก ส่วนเมืองทันตบุรี ซึ่งมีพระเจ้ากาลิงคราชเป็นกษัตริย์ปกครองและอยู่ไม่ห่างจากแคว้นกุรุรัฐนักชาวเมืองต่างอดอยากยากแค้นถูกโรคต่างๆรบกวนอยู่เสมอทั้งนี้เพราะเกิดฝนแล้งข้าวยากหมากแพงประชาชนจึงพากันเข้าไปร้องทุกข์อยู่ที่ประตูพระราชวังพระเจ้ากาลิงคราชจึงตรัสถามบรรดาราษฎรว่าเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเช่นนี้พระมหากษัตริย์แต่โบราณทรงมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรราษฎรทั้งหลายจึงกราบทูลว่ากษัตริย์ในครั้งนั้นจะทรงบริจาคทานและทรงถืออุโบสถศีลอยู่ในปราสาทตลอด 7 วัน ฝนจึงจะตก ราษฎรก็จะหว่านข้าว ดำกล้า ทำมาหากินได้

     พระเจ้ากาลิงคราชจึงทรงปฏิบัติตามคำกราบทูลของราษฎรแต่ฝนก็ยังไม่ตก พระองค์จึงทรงปรึกษาหารือกับบรรดาอำมาตย์ทั้งหลายบรรดาอำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลให้ขอพญาช้างเผือกมงคลจากพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะมาสู่ทันตบุรีฝนก็จะตกบริบูรณ์ พระเจ้ากาลิงคราชจึงโปรดให้หาพราหมณ์ 8 คน เดินทางไปกรุงอินทปัตถ์ แคว้นกุรุ ทูลขอพญาช้างเผือกต่อพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ ตามคำกราบทูลของเหล่าอำมาตย์พราหมณ์ทั้ง 8 คน จึงได้เดินทางไปขอช้างเผือกจากพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ พระองค์ก็ พระราชทานพญาช้างเผือกให้ด้วยความยินดีพราหมณ์จึงนำไปถวายพระเจ้ากาลิงคราชแต่ฝนก็ยังไม่ตก ตามความปรารถนา พระเจ้ากาลิงคราชจึงทรงปรึกษาหารือกับบรรดาอำมาตย์ เพื่อหาวิธีให้ฝนตกลงมาอีกหมู่อำมาตย์จึงกราบทูลว่า พระเจ้าธนัญชัยโกรพยะนั้นทรงรักษากุรุธรรม คือ ศีล 5 อยู่เป็นนิตย์ ฝนจึงตกลงมาในประเทศของพระองค์ทุกๆ15 วัน ควรจะโปรดให้นำพญาช้างเผือกไปถวายคืนแล้วทูลขอจารึกกุรุธรรม ลงในแผ่นทองมาถวายให้พระองค์ปฏิบัติถ้าทรงทำเช่นนี้แล้ว ฝนจึงจะตกในอาณาจักรของพระองค์

     พระเจ้ากาลิงคราชทรงสดับเช่นนั้นแล้วก็ทรงเห็นชอบจึงโปรดให้พราหมณ์ทั้ง 8 คน กับอำมาตย์เป็นราชทูตนำพญาช้างเผือกไปถวายคืน ณ กรุงอินทปัตถ์และถวายเครื่องบรรณาการพร้อมทั้งให้ทูลขอจารึก กุรุธรรมมาด้วยพราหมณ์และอำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้วก็กราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติตามรับสั่งเมื่อพราหมณ์และอำมาตย์ซึ่งเป็นราชทูตแห่งกรุงกาลิงคราชถวายพญาช้างเผือกและถวายเครื่องราชบรรณาการคืนแล้วจึงกราบทูลขอกุรุธรรมจากพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะแต่พระองค์ไม่ทรงพระราชทานให้เพราะทรงไม่แน่พระทัยว่ากุรุธรรมของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะเคยทรงแผลงพระศรลูกหนึ่งตกลงไปในสระน้ำทรงสงสัยว่าลูกศรนั้นอาจจะไปถูกปลาตัวใดตัวหนึ่งถึงแก่ความตายจึงทรงแนะนำให้หมู่พราหมณ์และอำมาตย์ไปทูลขอกุรุธรรมจากพระราชมารดาของพระองค์แต่บรรดาราชทูตก็ยืนยันว่าพระองค์ไม่มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ศีลคงไม่ขาดขอให้พระองค์พระราช-ทานกุรุธรรมให้ด้วยเถิด พระเจ้าธนัญชัยโกรพยะจึงทรงอนุญาตให้ราชทูตจารึกกุรุธรรมลงในแผ่นทองซึ่งก็คือ ศีล 5 นั้นเองเมื่อราชทูตจารึกกุรุธรรมทั้ง 5 ข้อแล้วก็ถวายบังคมลาไปเฝ้าพระราชมารดาของพระเจ้ากรุง อินทปัตถ์อีก พระนางก็ทรงสงสัยว่ากุรุธรรมของพระนางอาจจะไม่บริสุทธิ์เพราะได้เคยให้ของแก่ลูกสะใภ้ทั้งสองคนแต่ของมีมูลค่าไม่เท่ากันจึงไม่อยากให้กุรุธรรมแก่ราชทูต พวกราชทูตก็ทูลถวาย ความเห็นว่าไม่เป็นไร แล้วทูลขอจารึกกุรุธรรมของพระนางลงในแผ่นทองคำซึ่งมี 5 ข้อเหมือนกันจากนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระอัครมเหสีพระอัครมเหสีก็ตรัสว่าพระนางเองยังทรงสงสัยว่า กุรุธรรมของพระนางจะไม่บริสุทธิ์เพราะเคยเผลอจิตคิดไปว่าถ้าพระราชาสวรรคตแล้วพระนางได้ร่วมอภิเษกกับมหาอุปราชก็จะได้ดำรงตำแหน่ง อัครมเหสีอีกพวกราชทูตจึงกราบทูลว่าศีลของพระนางมิได้ด่างพร้อยแล้วทูลขอจดกุรุธรรมจากพระนางครั้นแล้วคณะราชทูตจึงไปกราบทูลขอจดกุรุธรรมจากมหาอุปราช มหาอุปราชก็ตรัสว่า พระองค์ ยังสงสัยว่ากุรุธรรมของพระองค์จะไม่บริสุทธิ์เพราะเคยทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หลงรอคอยเข้าเฝ้า พระองค์เก้อ ส่วนพวกบริวารก็ต้องทนเปียกฝนรอคอยอยู่ที่ประตูพระราชวังทั้งคืน แต่คณะราชทูตทูลว่า ไม่เป็นไร แล้วทูลขอจารึกกุรุธรรมของมหาอุปราชลงในแผ่นทองคำ คณะราชทูตจารึกเสร็จแล้ว ก็ทูลลาไปหาปุโรหิตาจารย์ ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ยังสงสัยว่าศีลของตน จะด่างพร้อย เพราะเคยมีจิตคิดอยากได้รถคันงาม ที่กษัตริย์เมืองอื่นส่งมาถวายพระราชา แต่ครั้นภาย หลังพระราชาพระราชทานรถคันนั้นให้ ปุโรหิตก็ไม่ยอมรับ ราชทูตทั้งหลายเห็นว่า การคิดโลภเพียงเท่านี้ ย่อมไม่ทำให้เสียศีล แล้วขอจารึกกุรุธรรมลงในแผ่นทองคำเหมือนดังที่ผ่านมา 

     ต่อจากนั้นราชทูตจึงพากันไปหาอำมาตย์ซึ่งทำหน้าที่รังวัดไร่นา อำมาตย์ผู้นั้นก็บอกว่า สงสัยว่าศีลข้อปาณาติบาตของตนจะขาดไป เพราะเคยไปวัดนาสุดเขตลงตรงรูปูแต่ไม่เห็นรอยปูปรากฏ จึงคิดว่าไม่มีปูอยู่ในรู ครั้นปักไม้ลงไปในรูก็ได้ยินเสียงปูร้องทำให้คิดว่าปูอาจจะตายบรรดาราชทูตจึงแย้งว่าอำมาตย์ไม่มีเจตนาจะฆ่าปูศีลของท่านจึงยังไม่ขาดและขอจดกุรุธรรมลงในแผ่นทองคำ

     ต่อจากนั้นคณะทูตได้ไปหานายสารถีนายสารถีก็สงสัยว่าศีลของตนจะไม่บริสุทธิ์เพราะเคยใช้แส้ตีม้าพวกราชทูตจึงคัดค้าน แล้วขอจดกุรุธรรม

    ครั้นแล้วคณะราชทูตได้ไปหามหาเศรษฐี มหาเศรษฐีก็สงสัยว่าศีลอทินนาทานของตนอาจจะเสียไปเพราะยังไม่ทันได้ถวายข้าวสาลีเป็นค่านาให้หลวงก็ให้คนใช้ผูกรวงข้าวเล่นพวกราชทูตได้คัดค้านว่าไม่เป็นไรแล้วขอจดกุรุธรรมเหมือนครั้งก่อนๆต่อมาคณะราชทูตจึงไปหาอำมาตย์ผู้ทำหน้าที่ตวงข้าวอำมาตย์ผู้นั้นก็คิดสงสัยว่าศีลของตนจะด่างพร้อยเพราะขณะที่ทำหน้าที่เป็นผู้ใส่ไม้สำหรับนับจำนวนข้าวเปลือกในขณะที่คนใช้ขนข้าวเปลือกบังเอิญฝนตกลงมาตนเองรีบหนีฝนเลยจำไม่ได้ว่าใส่ไม้เข้าไปในกองใดพวกราชทูตจึงได้คัดค้านและขอจารึกกุรุธรรมของอำมาตย์ไป

     ลำดับต่อไปคณะราชทูตก็ไปหานายประตู นายประตูจึงเล่าความสงสัยในกุรุธรรมของตนว่าวันหนึ่งใกล้เวลาที่จะปิดประตูพระนคร ตนได้ว่ากล่าวชายขัดสนผู้หนึ่งกับน้องสาวของชายผู้นั้นซึ่งกลับเข้าเมืองในเวลาเย็นมากตนได้กล่าวตู่ด้วยเข้าใจผิดว่าหญิงคนนั้นเป็นภรรยาของชายผู้นั้นพวกราชทูตจึงคัดค้านและขอจดกุรุธรรมของนายประตูเหมือนเช่นเคยถัดจากนั้นคณะราชทูตได้พากันไปหานางวัณณทาสี(หญิงงามเมือง)นางวัณณทาสีจึงกล่าวถึงความสงสัยในกุรุธรรมของนางว่าครั้งหนึ่งพระอินทร์เคยแปลงเพศเป็นชายหนุ่มมาหานางได้ให้ทรัพย์แก่นางไว้จำนวนหนึ่งและสัญญาว่าจะมาหานางอีกแต่แล้วพระอินทร์ก็หายไปเป็นเวลาถึง 3 ปี นางเฝ้า คอยโดยไม่ยอมรับสิ่งใดจากชายอื่นด้วยเกรงว่าศีลจะขาด

ครั้นนางยากจนลงจึงไปหาอำมาตย์ให้ตัดสินชี้ขาดว่าต่อแต่นี้ไปนางจะสามารถรับทรัพย์จากชายอื่นได้หรือยังครั้นตกค่ำลงในวันเดียวกันก็มีชายคนหนึ่งมาหานางทันใดนั้นพระอินทร์ก็แสดงพระองค์ให้ปรากฏนางจึงมิได้ติดต่อและรับทรัพย์จากชายผู้นั้น พระอินทร์จึงกลายเพศให้เป็นพระอินทร์ตามเดิมแล้วเหาะไปบนอากาศพลางกล่าวว่าเธอเป็นผู้รักษาสัตย์แล้วบันดาลให้ฝนแก้วตกลงมาเต็มบ้านของนางด้วยเหตุนี้นางวัณณทาสีจึงสงสัยว่าศีลของนางจะไม่บริสุทธิ์พวกราชทูตคัดค้านว่าไม่เป็นไรแล้วขอจดกุรุธรรมซึ่งได้รายละเอียดเหมือนที่จดมาจากทุกคน

เมื่อราชทูตจดกุรุธรรมของคนทั้ง 11 แล้วจึงนำไปถวายพระเจ้ากาลิงคราช กราบทูลเรื่องความสงสัยในศีล 5 ของคนเหล่านั้นให้ทรงทราบทุกประการพระเจ้ากาลิงคราชทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่งแล้วได้ทรงตั้งพระทัยรักษาศีล5ให้บริสุทธิ์นับแต่บัดนั้นฝ่ายพราหมณ์และอำมาตย์ทั้งหลายก็ตั้งใจรักษาศีลตามตลอดจนประชาชนทั่วแคว้นต่างชักชวนกันรักษาศีล ต่อมาฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร บริบูรณ์

จะเห็นว่าการรักษาศีลในระดับของมวลชนนั้นมีผลทำให้บรรยากาศของโลกดีขึ้น ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาลซึ่งจะมีผลต่อการทำเกษตรกรรมให้ได้ผลดี เศรษฐกิจของประเทศนั้น เมืองนั้นย่อมเกิดผลดีตามไปด้วย

แต่หากคนในบ้านเมืองใดไม่ประพฤติธรรมบ้านเมืองนั้นย่อมได้รับผลตรงกันข้ามดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในธัมมิกสูตร ว่า

”ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในสมัยใดพระราชาทั้งหลายประพฤติไม่เป็นธรรมในสมัยนั้นแม้ข้าราชการทั้งหลายก็พลอยประพฤติไม่เป็นธรรม เมื่อข้าราชการ ประพฤติไม่เป็นธรรม พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายก็ประพฤติไม่เป็นธรรม บ้าง…ชาวบ้านชาวเมืองก็ประพฤติไม่เป็นธรรมไปตามกัน ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ก็โคจรไม่สม่ำเสมอ ดาวนักษัตรทั้งหลายก็เดินไม่เที่ยงตรง คืนและวันก็เคลื่อนไป ครั้นคืนและวันเคลื่อนไป เดือนและปักษ์ก็คลาดไป ครั้นเดือนและปักษ์คลาดไป ฤดูและปีก็เคลื่อนไป ครั้นฤดูและปีเคลื่อนไปลมก็พัดผันแปรไปครั้นลมพัดผันแปรไปลมนอกทางก็พัดผิดทางครั้นลมนอกทางพัดผิดทางเทวดาทั้งหลายก็ปั่นป่วน ครั้นเทวดาทั้งหลายปั่นป่วนฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาลครั้นฝนไม่ตกตามฤดูกาลข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่ดีดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวที่สุกไม่ดีย่อมอายุสั้น ผิวพรรณก็ไม่งามกำลังก็ลดถอยและมีอาพาธมากŽ”

     จากตัวอย่างที่กล่าวมาย่อมแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ที่ส่งผลให้เห็นในชาติปัจจุบันทั้งต่อตนเอง คือ เป็นหลักประกันของชีวิต และต่อสังคมส่วนรวม ทำให้สังคมดีสิ่งแวดล้อมดีเศรษฐกิจก็ดีตามไปด้วย

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011763175328573 Mins