ชีวิตคือรูปนาม

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2558

 

ชีวิตคือรูปนาม

            การมองเห็นสิ่งที่เป็นรูปนามนี้ ไม่ใช่จะเห็นได้ด้วยการพิจารณาธรรมดาตามที่เข้าใจ เพราะจะต้องเห็นตัวของรูปนามจริงๆ ว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร แต่ในการพิจารณาแบบสุตมย-ปัญญาและจินตามยปัญญาก็พอจะให้เข้าใจ ว่าโดยความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตของเรานั้น สามารถแบ่งแยกชีวิตออกเป็นได้ 2 ระดับ คือ

1) สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ

            ความจริงโดยสมมติ เรียกว่าสมมติสัจจะ เป็นความจริงที่ผู้คนในสังคมใดสังคมหนึ่งบัญญัติ สมมติ แต่งตั้ง วางกำหนดกฎเกณฑ์ ทำข้อตกลงยินยอมรับกัน มีขอบเขต มีกำหนด มีระยะเวลา ส่วนใหญ่แสดงออกด้วยการใช้ทั้งภาษาทางกาย ภาษาพูด ภาษาเขียน เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน

            ตัวอย่างเช่น เมื่อใครได้รับการตั้งชื่อว่าชื่อใด เมื่อมีผู้เรียกชื่อนั้นขึ้น ย่อมหมายความ ถึงคนผู้นั้น จะกำหนดเจาะจงไว้ จนตลอดระยะเวลาที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อใดที่ คนนั้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อตนเองเสียใหม่ ชื่อเดิมย่อมเป็นอันล้มเลิก ไม่ใช้อีกต่อไป

            ความจริงโดยสมมติ จึงเป็นสมมติโวหารที่ชาวโลกแต่งตั้ง บัญญัติขึ้น เป็นของไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่การวางกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมมนุษย์

 

2) ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยแท้

            ความจริงโดยแท้จริง เรียกว่าปรมัตถสัจจะ เป็นธรรมหรือธรรมชาติที่มีอยู่จริงตาม สภาวะลักษณะ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เช่นคำว่า คนŽ แต่ละชาติเรียกชื่อ ไม่เหมือนกัน ตามแต่สมมติโวหารที่ชาตินั้นๆ บัญญัติขึ้น แต่ลักษณะของคนที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ประการคือ ส่วนที่เป็นร่างกาย(รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ(นาม) จะไม่มี การเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะเป็นของคนชาติใด

  • ปรมัตถสัจจะ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ สภาวสัจจะ และอริยสัจจะ
  • สภาวสัจจะ เป็นความจริงแท้ ตามสภาวะของสรรพสิ่งต่างๆ นั้น ทั้งที่เป็นฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม
  • อริยสัจจะ คือธรรมที่เป็นจริงสำหรับพระอริยบุคคลโดยเฉพาะ ได้แก่ อริยสัจ 4 มี ทุกข์ เป็นต้น

 

เมื่อความจริงแบ่งออกได้หลายขั้นตอนดังกล่าวมาแล้ว ชีวิตของเราจึงอาจกล่าวถึงได้ 2 แบบ คือ

1. ตามความจริงระดับสมมติสัจจะ ซึ่งชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจและยินยอมรับรองกัน เราก็คือชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาในโลก มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ มีบิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้มีอุปการคุณอื่นๆ เกิดมาแล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามครรลองที่สังคมวางกำหนด กฎเกณฑ์ไว้ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ผู้ใดฉลาดย่อมเลือกดำเนินชีวิตในฝ่ายดี ทำหน้าที่ของตนในสังคมอย่างดีที่สุด เช่น

  • ในวัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียน แสวงหาความรู้ อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของผู้ใหญ่
  • ในวัยเติบโต ประกอบสัมมาอาชีพเป็นหลักฐาน ดำรงวงศ์สกุลให้เจริญรุ่งเรือง ประพฤติตนในคุณธรรมอันดีงาม ทำหน้าที่ต่างๆ ของตนให้ครบถ้วนบริบูรณ์ รวมทั้งหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัมพันธชนบุคคลอื่น
  • เมื่อเข้าใกล้วัยชรา เร่งสร้างกุศลให้มากกว่าวัยธรรมดาอื่นที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์สุขในชีวิตนี้ และสัมปรายภพ

2. ตามความจริงในระดับปรมัตถสัจจะ ซึ่งสามารถตอบได้เป็น 2 ระดับ คือ

  • ระดับที่หนึ่ง ยังตอบในฐานะ มีตัวเราŽ
  • ระดับที่สอง ในฐานะ ไม่มีแม้แต่ตัวเราŽ

ระดับที่หนึ่ง เมื่อยังคิดยึดถือว่ามีตัวเรา

            ในระดับนี้ควรทราบว่า ตราบใดที่เรายังมีกิเลสนอนเนื่อง ติดค้างอยู่ในสันดาน ตราบนั้น เราจะต้องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด โดยไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนที่จะต้องเกิดเป็นอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับผลของกรรมที่สั่งสมกระทำไว้ ขณะเมื่อได้เกิดในแต่ละครั้งๆ ภพ (ที่อยู่) ภูมิ (ที่เกิด) ที่จะต้องเวียนตายเวียนเกิด สำหรับผู้ยังมีกิเลส มีอยู่ด้วยกัน 31 แห่ง สถานที่ตั้ง 31 แห่งนี้ เป็นที่ที่เรามีสิทธิ์ทำให้ตัวเรา อุบัติบังเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุจากกรรมที่ตัวเราเองเป็นผู้ประกอบ เป็นปัจจัยเครื่องอุดหนุน นำส่งเราไปยังกำเนิดนั้นๆ ส่วนกรรม ชนิดใดนำส่งสู่ภพภูมิใด และที่นั้นๆ มีความเป็นอยู่ ทุกข์ สุข อย่างใด จะกล่าวในโอกาสต่อไป

 

ระดับที่สอง ในการตอบแบบปรมัตถสัจจะ ไม่มีตัวเราŽ

            ในการพูดระดับนี้ ขอยกเอาสิ่งของหลายๆ อย่างในโลกมาเป็นเครื่องอุปมาเปรียบเทียบ เช่น บ้านเมือง สถานก่อสร้าง ยานพาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราสมมติเรียกชื่อไว้ว่าชื่อนั้น ชื่อนี้ ความจริงที่แท้ สิ่งนั้นๆ ประกอบด้วยของบางอย่าง หรือหลายอย่าง นำมาประกอบรวมกันไว้ หากเราจับของเหล่านี้แยกออกเป็นส่วนๆ เป็นจำพวกๆ ไป ของที่ถูกแยกแล้วเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใด ที่เรียกได้ดังชื่อที่เราเรียกเมื่อของรวมกันอยู่ เช่น บ้าน เมื่อเราจับบ้านแยกออกดู จะพบว่าประกอบด้วยไม้ เหล็ก ปูน กระเบื้อง สี ฯลฯ ไม่มีสิ่งใดเรียกว่า บ้านŽ จนอย่างเดียว

            อุปมาข้างต้นเป็นฉันใด ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลของเรา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคือ ชีวิตเรา ประกอบด้วยสภาวธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ องค์ประกอบที่ทำให้เป็นรูปร่างกาย (รูปธรรม) และองค์ประกอบที่ทำให้เกิดเป็นฝ่ายจิตใจ (นามธรรม) เมื่อใดญาณปัญญาแก่กล้า พิจารณาแยกส่วนต่างๆ เหล่านี้ออก เมื่อนั้นย่อมสามารถละทิ้งคำว่า เราŽ ลงได้สิ้นเชิงเด็ดขาด ย่อมจะเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนว่า คำว่า เราŽ เกิดขึ้นเพราะความประจวบเหมาะของการผสมผสาน กลมกลืนกันระหว่างสิ่งต่างๆ อย่างไร และสิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่าในการยึดถืออย่างไร เมื่อเกิดปัญญาขึ้นถึงระดับนี้ ย่อมเป็นการยุติชีวิตมิให้วนเวียนเกิดตายในที่ 31 แห่งนั้นต่อไป

 

            จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการเจริญวิปัสสนามีอารมณ์ที่สำคัญอยู่ 6 อย่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญวิปัสสนา แต่ก่อนที่จะไปศึกษาสิ่งที่เป็นวิปัสสนาภูมิ มีสิ่งสำคัญ ที่นักศึกษาควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก่อนก็คือ ความเข้าใจในเรื่องของวงจรชีวิตในสังสารวัฏ เพราะเหตุที่ตัวเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เนื่องจากมีกิเลส กรรม วิบาก และภพภูมิรองรับอยู่ ถ้าตราบใดยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุธรรมแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดนี้ก็จะคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นใน การศึกษาวิปัสสนาภูมิจึงต้องศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตในเรื่องเหล่านี้ก่อน

 

            หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแผนผังชีวิตในสังสารวัฏแล้ว นักศึกษาจะมองเห็นภาพในการที่เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดหมุนเวียนไปในภพภูมิต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ตามอำนาจของกรรม ที่ตนได้กระทำไว้นั้น นับเป็นวัฏฏทุกข์อันยาวนานไม่มีวันสิ้นสุด การกระทำให้เลิกเกิดไม่มีใครทำให้กันได้ ตนเองจะต้องเป็นผู้กระทำให้ตนเอง สิ่งที่ต้องกระทำนั้น คือ การทำให้ตนเองเป็นผู้มีปัญญา เอาปัญญามาเป็นประดุจพาหนะพาตนเองไปให้พ้นจาก การเวียนว่ายตายเกิด

 

            ปัญญานี้เป็นปัญญาที่รู้พิเศษกว่าปกติ เป็นปัญญาที่ทำให้รู้แจ้งสภาวะปกติของรูปธรรม และนามธรรมทั้งปวง ปัญญานี้เป็นปัญญาในระดับภาวนามยปัญญา คือ รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง การรู้เห็นนี้ คือ เห็นในไตรลักษณ์และการรู้เห็นนี้มีภูมิของวิปัสสนา หรืออารมณ์ ที่จะเป็นฐานทำให้เกิดวิปัสสนา 6 อย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเป็นอันดับต่อไป

------------------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0040931820869446 Mins