ความหมายของอายตนะ

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2558

 

ความหมายของอายตนะ

อายตนะ มีความหมาย 3 นัย คือ

1.อายตนะ หมายความว่า ธรรมที่มีสภาพคล้ายกับว่ามีความพยายามเพื่อยังผลของตนให้เกิดขึ้น เช่น จักขายตนะกับรูป เป็นเหตุให้การเห็นเกิดขึ้น การเห็นจัดเป็นผล เป็นต้น

2.อายตนะ หมายความว่า ธรรมที่ทำซึ่งจิตและเจตสิกให้กว้างขวางเจริญขึ้น

3.อายตนะ1) หมายถึง อวัยวะที่ต่อระหว่างจิตกับอารมณ์

            นัยที่ 1 อายตนะ มีความหมายว่า ธรรมใดที่มีสภาพคล้ายกับยังผลของตนให้เกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่า อายตนะ (อายตนะภายในมี 6 และอายตนะภายนอกมี 6) เช่น ตากับสีเป็นอายตนะคู่ที่ 1 กระทบกัน จักขุปสาทคือประสาทตากับรูปารมณ์ คือ สีต่างๆ กระทบกันแล้ว ก็ยังสภาพเห็นให้เกิดขึ้น สภาพเห็นนั้นเป็นผลเกิดขึ้น สีกับตากระทบกันการเห็นก็เกิดขึ้น ฉะนั้นประสาทตากับสีซึ่งเป็นอายตนะ มีสภาพคล้ายกับยังผลของตนให้เกิดขึ้นเพราะว่า ตากับสีนั้นที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้มีความขวนขวายพยายามจะให้เกิดการเห็นแต่อย่างใด มันเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่ว่าเมื่อสีกระทบตาแล้วมันก็เกิดการเห็นขึ้น มีสภาพคล้ายๆ กับจะยังผลให้เกิดขึ้น ผลของตนให้เกิดขึ้นระหว่างตาก็คือสภาพเห็น นั่นเป็นผลเกิดขึ้น

            นัยที่ 2 ความหมายของคำว่าอายตนะอีกประการหนึ่ง ก็คือ กระทำซึ่งจิตและเจตสิก2) นั้นให้กว้างขวางเจริญขึ้น ก็หมายความว่า เมื่ออายตนะภายในและภายนอกกระทบกันแล้วจะทำให้วิถีจิตเกิดขึ้น ในวิถีหนึ่งก็จะมีจิตเกิดขึ้นหลายชนิด จิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง เกิดขึ้นหลายๆ ชนิด แล้ววิถีจิตนี้เกิดขึ้นวนเวียนหลายๆ รอบ ฉะนั้นจิตก็เกิดขึ้นมากมาย เมื่ออายตนะกระทบกัน เรียกว่าอายตนะนั้นเป็นธรรมชาติที่ยังให้จิตเจตสิกนั้น กว้างขวางเจริญขึ้น พูดถึงจิตแล้วก็ต้องรวมเจตสิกด้วย เพราะมันเกิดร่วมกัน อีกลักษณะหนึ่ง คือ เมื่อวิถีจิต เกิดขึ้นวนเวียนหลายๆ รอบนั้น ในวิถีจิตหนึ่งนั้นก็เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ฉะนั้นกุศล อกุศล เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ มากขึ้น มันก็จะมีกำลังมากขึ้น สำเร็จเป็นสุจริต ทุจริตต่างๆ ได้ เป็นกายสุจริต-ทุจริต วจีสุจริต-ทุจริต มโนสุจริต-ทุจริต เรียกว่าอายตนะทำให้กุศล อกุศลกว้างขวางเจริญขึ้น

            นัยที่ 3 อายตนะ3) เป็นแดนติดต่อ ให้จิตหรือวิญญาณกับอารมณ์คือสิ่งเร้าได้ติดต่อกันแล้วสำเร็จเป็นการเห็น การได้ยิน เป็นต้น

 

------------------------------------------------------------


1) พันเอก ปิ่น มุทุกันต์, ประมวลศัพท์ศาสนา, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, หน้า 703.
2) เจตสิก หมายถึง อารมณ์ที่เกิดกับจิต.
3) บรรจบ บรรณรุจิ, กระบวนธรรมเพื่อความเข้าใจชีวิตในปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2535 หน้า 49.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0061436692873637 Mins