สมุทัยอริยสัจ

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2558

 สมุทัยอริยสัจ

            สมุทัยอริยสัจนี้ เรียกเต็มว่า ทุกขสมุทัย แปลว่า การเกิดขึ้นของทุกข์ หรือเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความจริงเหตุแห่งทุกข์นั้นมีมาก เช่น ความจน ความเจ็บ ความโง่เขลา เป็นต้น แต่เป็นปลายเหตุหรือตอนปลายของเหตุ ส่วนเหตุขั้นมูลฐานจริงๆ นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ประการหนึ่ง คือ ตัณหา

ตัณหา คือ ความดิ้นรนทะยานอยาก ทรงจำแนกออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกามคุณ ความใคร่ในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ทำให้จิตใจดิ้นรนแส่หา เมื่อได้แล้วก็ติดอยู่ สยบอยู่ พัวพัน อาลัยอยู่ และปรารถนาจะได้กามคุณที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ตัณหายิ่งโหมแรงขึ้นเหมือนไปได้เชื้อ ก่อความกระวนกระวายใจกระทบกระเทือนใจทำให้ใจกังวลไร้ความสงบ

2 ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็น คือ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเป็นแล้วทะยานอยากไปเรื่อยๆ ถ้ากล่าวถึง ความอยาก อย่างชาวโลก ความอยากชนิดนี้ ทำให้คนทะเยอทะยานอาจก้าวหน้าในการงานอาชีพได้มาก แต่ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า ในความทะเยอทะยานนั้นมีความทุกข์ความร้อนใจแฝงเร้นอยู่ด้วย ถ้าถึงกับต้องยื้อแย่งกับผู้อื่นก็เป็นการสร้างศัตรูรอบตัว ต้องมีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ บางคราวอาจต้องถึงใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ก่อเวรก่อกรรมกันต่อไปไม่สิ้นสุด อนึ่ง ความอยาก เป็นใหญ่ของคนบางคนได้นำพลเมืองไปตายเสียจำนวนแสนจำนวนล้าน ก่อความกระทบกระเทือนทุกข์ยากให้แก่สังคมตลอดถึงโลก และเป็นผลร้ายอันยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปีเหมือนระลอกคลื่น ซึ่งส่งต่อๆ กันไป

3.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ ความอยากในทางผลักในทางลบ ความที่มีลักษณะอึดอัด ระอิดระอา ความอยากที่เจือด้วยโทสะ เช่น อยากด่าคน อยากทำร้าย อยากทำลายอะไรๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยความชิงชัง ความอยากชนิดนี้ก่อความทุกข์ในรูปของ ความอึดอัด คับแค้นใจ ทุรนทุราย เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงแห่งโทสะ ริษยา พยาบาท เป็นต้น

            ตัณหาทั้ง 3 แบบนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ส่วนตัวบุคคล และเป็นมูลเหตุของอาชญากรรมและภัยต่างๆ ในสังคมมากมาย นอกจากทุกข์ในปัจจุบันแล้ว ตัณหายังเป็นสาเหตุให้บุคคลต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป การเกิดย่อยๆ ก็ต้อง แก่เจ็บและตายบ่อยๆ ย่อมหมายถึงต้องทุกข์บ่อยๆ ด้วย ตัณหา 3 ตามทัศนะของพระมงคลเทพมุนี พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร)ได้ให้ความหมายแตกต่างไปจากทางปริยัติ โดยท่านมีทัศนะดังนี้

กามตัณหา หมายถึง ความอยากได้ รูป รส กลิ่นเสียงสัมผัสในกามภพ ท่านอธิบายไว้ว่า

กามตัณหา อยากได้กาม อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส นั่นเอง เจ้าถึงต้องมาเกิด เออ… อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ไปตีรันฟันแทงกันป่นปี้ รบรา ฆ่าฟันกัน ยับเยินเปินทีเดียว เพราะอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร เห็นชัดๆ อย่างนี้ อ้อ…อ้ายนี่เองเป็นเหตุให้เกิดกามตัณหานี่เอง อ้อนี่ อายตนะของกามตัณหาทั้งนั้น ในอบายภูมิทั้ง 4 เปรต นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เหล่านี้ มนุษย์ สวรรค์ 6 ชั้น นี่กามตัณหาทั้งนั้น อ้ายกามนี่เองเป็นตัวสำคัญ เป็นเหตุ อ้ายนี้สำคัญนัก

ภวตัณหา หมายถึง ความทะเยอทะยานอยากในรูปภพ ท่านอธิบายไว้ว่า

รูปพรหม 16 ชั้น พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาสัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา รูปพรหม 16 ชั้น นี่เป็นภวตัณหา อ้ายนี่อยากได้รูปฌานที่เราดำเนินมานั่นเอง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อ้ายนี่เป็นรูปพรหม อ้ายภวตัณหานี่เองเป็นเหตุให้เกิดในรูปภพทั้ง 16 ชั้น

วิภวตัณหา หมายถึง ความทะเยอทะยานอยากในอรูปภพ ท่านอธิบายไว้ว่า

            อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานา-สัญญายตนฌาน อ้ายนี่ให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อ้ายนี่ติดอ้าย 8 ดวงนี่เอง เมื่อไปติดเข้าแล้ว มันชื่นมื่นมันสบายนัก กามภพสู้ไม่ได้ มันสบายเหลือเกิน มันสุขเหลือเกิน ปฐมฌานก็สุขเพียงเท่านั้น ทุติยฌานก็สุขหนักขึ้นไป ตติยฌานสุขหนักขึ้นไป จตุตถฌานสุขหนักขึ้นไป อากาสานัญจายตน-ฌาน วิญญาณัญจายตนฌานสุขยิ่งขึ้นไป อากิญจัญญายตนฌานสุขหนักขึ้นไป เนวสัญญานาสัญญายตนฌานสุขหนักขึ้นไป มันพิลึกกึกการละ มันยิ่งใหญ่ไพศาลทีเดียว นี่ฝ่ายอรูปพรหมทั้ง 4 ชั้นนี่ วิภวตัณหา6)

            ในทัศนะของพระมงคลเทพมุนีนั้น มุ่งหมายเอาตัณหาที่เป็นไปในภพ 3 ที่ทำให้มนุษย์ติดอยู่กับตัณหาเป็นชั้นๆ ไป ในชั้นของกามภพ เป็นสุขอย่างหยาบที่ให้ทุกข์มากกว่าภพที่สูงขึ้นไป แต่เมื่อหลุดจากกามภพที่มีทุกข์เผ็ดร้อน ก้าวเข้าสู่รูปภพของพวกพรหม นั่นก็มีทุกข์น้อยลง เสวยสุขจากรูปฌานที่มีความประณีตกว่า แต่ก็ยังมีทุกข์ ก้าวพ้นจากรูปภพนั้นไปถึงอรูปภพซึ่งมีความสุขประณีตจนพวกพรหมเป็นจำนวนมากมีความเข้าใจว่าเป็นพระนิพพาน แต่แม้กระนั้นที่นั่นก็ยังมีความทุกข์อยู่ ความทุกข์อันเกิดจากตัณหา 3 นี้ ได้มีแล้วแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายตามลำดับของภพ

------------------------------------------------------------

6) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ(พระมงคลเทพมุนี), กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2539, หน้า 174.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063373327255249 Mins