กระบวนการดับวงจรปฏิจจสมุปบาท

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

กระบวนการดับวงจรปฏิจจสมุปบาท

            วงจรปฏิจจสุมปบาท คือ วงจรของสังสารวัฏที่เวียนวนไม่รู้จบ การเจริญวิปัสสนาก็เพื่อจะเรียนรู้การดับวงจรปฏิจจสมุปบาทนี้เสีย เพื่อจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป สำหรับกระบวนการในการดับวงจรปฏิจจสมุปบาท มีดังต่อไปนี้

1.ดับอวิชชาได้สิ้น สังขารจึงดับ

ดับอวิชชา หมายถึง การดับความไม่รู้ ดับความไม่รู้จริง ดับความไม่รู้แจ้ง แล้วจึงเกิดเป็นความรู้ ความรู้จริงความรู้แจ้ง เมื่อบุคคลสามารถดับความไม่รู้ คือ อวิชชา ได้แล้ว ความคิด ที่จะทำบาปย่อมไม่มี ความคิดทำบุญก็ไม่มี เพราะไม่มีสังขารความปรุงแต่ง

2.ดับสังขารได้ วิญญาณจึงดับ

ดับสังขาร หมายถึง ดับความคิดที่เป็นตัวปรุงแต่ง หมายเอาเจตนา คือ ความตั้งใจ ความจงใจ ซึ่งเป็นความคิดที่เป็นปรุงแต่ง ทั้งความคิดในทางที่ดี และความคิดในทางที่ชั่ว โดยปกติแล้วคนที่ยังมีอวิชชาหรือคนที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ย่อมคิดทำดีและทำชั่ว แต่คนที่ดับสังขารได้ แล้ว ไม่คิดทำทั้งดีและชั่ว คือ การไม่คิดทำดีเพื่อจะได้รับผลตอบแทน เช่น ทำดีเพื่อหวังจะได้ไปเกิดในสวรรค์ หวังให้ได้ลาภ เป็นต้น

3.ดับวิญญาณได้ นามรูปจึงดับ

ดับวิญญาณ หมายถึง ดับการรับรู้ต่างๆ ได้แก่ ดับวิญญาณ 6 คือ ดับการรับรู้ทางตา ดับการรับรู้ทางหู ดับการรับรู้ทางจมูก ดับการรับรู้ทางลิ้น ดับการรับรู้ทางกาย และดับการรับรู้ทางใจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ดับการเห็นรูป ดับการได้ยินเสียง ดับการดมกลิ่น ดับการรู้รส ดับการรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ดับความคิดต่างๆ ตามที่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ คือ ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม และได้สัมผัสถูกต้อง

4.ดับนามรูปได้ สฬายตนะจึงดับได้

ดับนามรูป หมายถึง ดับอาการของจิต และดับพฤติกรรมทางกาย วาจา ทั้งที่เป็นบุญและที่เป็นบาป

5.ดับสฬายตนะได้ ผัสสะจึงดับ

ดับสฬายตนะ หมายถึง ดับแดนติดต่อหรือทวารทั้ง 6 คือ ดับตามิให้เป็นแดนติดต่อกับรูป ดับหูมิให้เป็นแดนติดต่อกับเสียง ดับจมูกมิให้เป็นแดนติดต่อกับกลิ่น ดับลิ้นมิให้เป็นแดนติดต่อกับรส กับกายมิให้เป็นแดนติดต่อกับสิ่งสัมผัสทางกาย ดับใจมิให้เป็นแดนติดต่อกับสิ่งสัมผัสทางใจ

6.ดับผัสสะได้ เวทนาจึงดับ

ดับผัสสะ หมายถึง ดับการกระทบถูกต้องกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 คือ ดับการกระทบถูกต้องทางตากับการกระทบถูกต้องทางหู ดับการกระทบถูกต้องทางจมูก ดับการกระทบถูกต้องทางลิ้น ดับการกระทบถูกต้องทางกาย ดับการกระทบถูกต้องทางใจ

7.ดับเวทนาได้ ตัณหาจึงดับ

ดับเวทนา หมายถึง ดับความรู้สึกต่างๆ กล่าวคือ ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์ ได้แก่ รู้สึกเป็นกลางๆ หรือเฉยๆ

8.ดับตัณหาได้ อุปาทานจึงดับ

ดับตัณหา หมายถึง ดับความอยากต่างๆ คือ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ความอยากในกลิ่น ความอยากในรส ความอยากในสัมผัสทางกาย และความอยากในสิ่งสัมผัส

9.ดับอุปาทานได้ ภพจึงดับ

ดับอุปาทาน หมายถึง ดับความยึดมั่นต่างๆ ได้แก่ ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นไปในทางกายและทางใจ หรือยึดมั่นในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตา

10.ดับภพได้ ชาติจึงดับ

ดับภพ หมายถึง ดับกรรมภพ คือ ดับการกระทำกรรม จึงดับชาติ คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดไม่ได้ คือ ไม่เกิด ชรามรณะย่อมไม่มี เมื่อสามารถดับชาติได้อย่างนี้ก็ดับมรณะได้ รวมทั้งดับโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ ก็ดับลงได้ด้วย

เมื่อดับได้อย่างนี้ วงจรของปฏิจจสมุปบาทที่มีการสืบต่อมานานก็ขาดตอนลง วงจรของชีวิตไม่มีการสืบต่อ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก การเกิดในชาติปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นชาติสุดท้าย การดับวงจรของชีวิตหรือดับปฏิจจสมุปบาทได้ ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ จักไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

จากที่ได้นำเสนอวิธีดับวงจรชีวิตหรือวิธีดับปฏิจจสมุปบาท จะพบว่า เป็นการเริ่มต้นดับที่อวิชชาก่อน เมื่ออวิชชาดับไปแล้ว วิชชา(ความรู้แจ้ง) ก็เกิดขึ้นแทน วิธีดับปฏิจจสมุปบาทหรือปัจจยาการนี้ เป็นวิธีเดียวกันกับการดับตัณหาในอริยสัจ 4 เพราะเป็นปัจจัยเกิดสืบเนื่องมาตามลำดับ เมื่อสามารถดับอวิชชาได้ มีผลให้ดับตัณหาได้ด้วย

เมื่อกล่าวโดยสรุปคือ การทำลายพวกกิเลสวัฏ อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อกิเลสวัฏถูกทำลาย กรรมวัฏและวิปากวัฏ ก็ถูกทำลายไปโดยอัตโนมัติ เหมือนคนถอดหัวรถจักรออกแล้ว รถไฟทั้งขบวนก็เดินไม่ได้อีกฉะนั้น ดังนั้น ผู้บรรลุอรหัตเป็นพระอรหันต์จึงเกิดญาณขึ้น รู้ด้วยตนเองว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่มิได้มีอีกต่อไป จึงได้ชื่อว่า ปุญฺปาปปหีโน มีบุญและบาปอันละได้แล้ว การกระทำของท่านหลังจากเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่เรียกว่า กิริยาจิตฺตํ คือ สักแต่ว่าเป็นกิริยา

จากปฏิจจสมุปบาทที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ต้นตอแห่งความทุกข์(ทุกขสมุทัย) อยู่ที่ความไม่รู้แจ้งเห็นจริง(อวิชชา) นั่นเอง เพราะความไม่รู้แจ้งเห็นจริงนี้ ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความหลงผิดด้วยประการต่างๆ จนกระทั่งมาลงเอยที่ความทุกข์ทรมานในที่สุด

การทำลายอวิชชา โดยการทำความรู้แจ้งเห็นจริง(วิชชา) ให้เกิดขึ้น จะเป็นหนทางให้สามารถทำลายความเข้าใจผิดหลงผิดนั้นได้ กระทั่งสามารถทำลายความทุกข์ได้ในที่สุด เพื่อจะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงบังเกิดขึ้น ก็จะต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 แล้ว ในที่สุดก็จะพบความรู้แจ้งเห็นจริง คือ นิพพาน

การที่เราได้ศึกษาปฏิจจสมุปบาท ทำให้ได้เห็นภาพรวมของวงจรสังสารวัฏ และจะเห็นภาพรวมของวิปัสสนาภูมิทั้งหมดว่า ที่แท้จริงแล้วก็รวมลงในปฏิจจสมุปบาทนี้เอง ปฏิจจสมุป-บาทจึงถือเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา และเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาด้วยการเจริญ วิปัสสนา เพื่อให้รู้เห็นและเข้าใจวงจรนี้อย่างแท้

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0035184502601624 Mins