วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ โครงการวิจัยสืบค้นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธองค์ ณ ประเทศศรีลังกา

เรื่องเด่น

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 



 

      ปัจจุบันคำสอนในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมายหลายนิกายด้วยกัน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่า การตีความคำสอนจากบุคคลที่ไม่ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมจนเข้าถึง “ปฏิเวธ” ภายใน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คำสอนของพระพุทธองค์ ถูกตีความไปตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเพียงแค่ช่วงระยะเวลา ๔๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน คำสอนในพระพุทธศาสนาก็มีเพิ่มขึ้นถึง ๑๘ นิกายแล้ว

        สำหรับวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นความรู้ดั้งเดิมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ยอมสละชีวิตเป็นเดิมพันจนกระทั่งค้นพบ ให้หวนคืนมาสู่โลกอีกครั้งนั้น ยังต้องการหลักฐานเพิ่มเติมในเชิงปริยัติเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงการพระพุทธศาสนาในระดับสากลมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการค้นหาหลักฐานจากคัมภีร์โบราณต่าง ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ทั่วโลก ที่มีความถูกต้องตรงกันทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ เพื่อที่จะนำมายืนยันถึงความมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกาย อันจะนำไปสู่การยอมรับในแวดวงวิชาการที่เป็นสากล ซึ่งจะมีผลต่อการรวมพุทธบุตรทั่วโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ คำสอนดั้งเดิมที่เป็นเอกภาพ และสามารถนำมาสั่งสอนเผยแผ่เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก ได้อย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต

        ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระเดชพระคุณ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ประธานมูลนิธิธรรมกาย จึงได้สถาปนา “สถาบันวิจัยธรรมชัยระหว่างประเทศ, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์” (Dhammachai International Research Institute, Australia and New Zealand) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า DIRI โดยได้มอบหมายให้พระปลัด สุธรรม สุธัมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทำหน้าที่ในการนำหมู่คณะไปค้นหา และศึกษาวิจัยหลักฐานโบราณทางพระพุทธศาสนา รวมถึงทำข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เป็นต้น

 


         สำหรับความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง DIRI ได้เข้าไปทำการศึกษาวิจัยถึงคำสอนดั้งเดิม ณ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีหลักฐานในคัมภีร์มหาวงศ์ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังลังกาทวีปนี้ ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา พระปลัดสุธรรม สุธัมโม และทีมงานได้เดินทางไปยังประเทศศรีลังกาเพื่อเข้าพบประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของศรีลังกา เพื่อรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการขอเข้ามาทำการวิจัยสืบค้นคำสอนดั้งเดิม ซึ่งทางรัฐบาลศรีลังกาได้ช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี พร้อมกับได้รับความร่วมมือ จากพระอาจารย์อนุรุทธเถระ เลขาธิการยุวพุทธสงฆ์โลก และพระอาจารย์ธัมมรักขิตตะ พระกัลยาณมิตรชาวศรีลังกา ที่เคยมาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกาย ได้ช่วยประสานงานกับหัวหน้าหน่วยงาน สถาบัน และเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลานทางพระพุทธศาสนาไว้ถึง ๒๘ แห่ง ซึ่งบางแห่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่นับพันปี เช่น วัดมิหินตเล เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นวัดที่พระอรหันต์มหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรกในศรีลังกา เป็นต้น

 

 

         คณะทำงานของ DIRI ใช้เวลา ๓ สัปดาห์ ในการตรวจสอบคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น พระสุตตันตปิฎก ที่เกี่ยวกับธรรมปฏิบัติ และผลการปฏิบัติธรรม พร้อมกับถ่ายภาพดิจิทัลคัมภีร์ใบลานไว้ รวมทั้งสิ้น ๔๔ ผูก จาก ๑๓ พระสูตรสำคัญ บางผูกมีเนื้อหา ๕๐๐ หน้า บางผูกมีประมาณ ๑,๐๐๐ หน้า ซึ่งได้ถ่ายภาพเอาไว้รวมทั้งสิ้นถึงหนึ่งหมื่นกว่าหน้า เพื่อทำการศึกษาและวิจัยในขั้นตอนต่อไป ซึ่งในเวลาต่อมาทีมงานของ DIRI ก็ได้เดินทางกลับไปยังประเทศศรีลังกาอีก ๒ ครั้ง และได้ทำการรวบรวมทีมพระภิกษุหนุ่มชาวศรีลังกา ที่เป็นผู้ทรงความรู้ทั้งภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาอินเดียโบราณ เพื่อช่วยในการอ่านและค้นคว้าพระคัมภีร์โบราณ ซึ่งในเบื้องต้นมีทั้งหมด ๑๐ รูปด้วยกัน ซึ่งเรียกกันว่า “พระดรีมทีม” โดยทาง DIRI ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถวายความรู้แด่ทุกรูป เกี่ยวกับการแปลอักษรสิงหลในคัมภีร์พุทธศาสนา ให้เป็นอักษรโรมันตามหลักสากล ทคนิคสำหรับการตรวจสอบคัมภีร์ใบลาน และการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการติดต่อสื่อสาร และการค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนา ซึ่งการสัมมนาทั้ง ๒ ครั้งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

         นอกจากนี้ พระปลัดสุธรรม สุธัมโม ยังได้สนองนโยบายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ที่ปรารถนาจะสร้างพระนักวิชาการ ที่รักการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการทำงานวิจัย ดังนั้น พระปลัดสุธรรม สุธัมโม จึงได้นิมนต์พระภิกษุหนุ่มทั้ง ๑๐ รูป มานั่งสมาธิร่วมกัน พร้อมกับวางแผนที่จะนิมนต์ทุกรูปเดินทางมาปฏิบัติธรรมระยะยาว
ที่ประเทศไทยในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างพุทธบุตรนักวิจัย ที่เพียบพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ให้เหมาะสมกับการแปลคำสอนดั้งเดิมอย่างแท้จริง

         นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยธรรมชัยระหว่างประเทศ, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยังได้ มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับทาง ผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยเคลานียา ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ถือกำเนิดมาจากศูนย์กลางการเรียนรู้ของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ และเป็นหนึ่งในสองของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้าน การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา มาอย่างยาวนาน ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคณาจารย์และคณะนักวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติทั่วโลก โดยพิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ ๑๒๕ ปี ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อบูชาธรรมผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และสืบสานมโนปณิธานของท่าน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก

 



        สำหรับบรรยากาศการเซ็นสัญญาในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเบิกบานและสมานฉันท์ โดยมี ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยเคลานียา และคณบดีทุกคณะ รวมทั้งหัวหน้าภาควิชาต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีกันอย่างพร้อมหน้า ซึ่งการเซ็นสัญญาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมคัมภีร์ใบลาน เก่าแก่ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศศรีลังกา โดยจะได้รับอนุญาตให้บันทึกหลักฐานทั้งหมดเป็นภาพถ่ายดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะแลกเปลี่ยน นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อร่วมมือกันทำงานในการสืบค้นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธองค์ต่อไป

        และเนื่องจากโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งจะช่วยให้นักวิชาการทั่วโลกสามารถค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ใบลานของศรีลังกาได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงทำให้เป็นที่ชื่นชมของบรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลกหลายท่าน อาทิเช่น ดร.มาร์ค อาร์รอน รวมถึงคณาจารย์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ของ มหาวิทยาลัยเคลานียาต่างก็พากันกล่าวขวัญถึง โครงการนี้ อีกทั้งยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อมวลชนของศรีลังกา ซึ่งมีนักข่าวทีวีถึง ๓ ช่อง เดินทางมาทำข่าวพิธีการเซ็นสัญญาในครั้งนี้อีกด้วย

        การวิจัยและสืบค้นคำสอนดั้งเดิมในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทาง DIRI จะได้เข้าไปสืบค้นหลักฐานจากคัมภีร์โบราณในดินแดนอันเก่าแก่อย่างประเทศศรีลังกา ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของ การศึกษาวิจัยคำสอนดั้งเดิม ที่มุ่งเน้นให้พุทธบุตรผู้เป็นนักวิจัย มีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ซึ่งจะเป็นการย้อนรอยกลับสู่ความรู้แจ้งภายใน ที่ได้เคยมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และกำลังรอคอยที่จะเปิดเผยสู่สายตาของนักวิชาการและชาวโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้…

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 86 ธันวาคม ปี2552

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล