วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ชาวพุทธแท้ ผู้ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙

 





 


        เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ พุทธมามะกาติ โน สังโฆ ธาเรตุฯ

        ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้วกับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอันสูงสุด ขอพระสงฆ์โปรดจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

        พุทธศาสนิกชน คือผู้มีศรัทธายึดเอาพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ความเป็นชาวพุทธนั้นมีใช่เพียง แค่การระบุไว้ในทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่ต้องยึดถือด้วยใจ และประกาศตนเปล่งวาจาขอเป็นพุทธมามกะ ชาวพุทธแท้ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือทำหน้าที่เป็นกองเสบียงให้พระศาสนา สนับสนุนพุทธบุตร ให้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวก เหมือนดังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ทุ่มเททำหน้าที่เป็นกองเสบียง ช่วยสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ตราบกระทั่งถึงปัจจุบัน

 



 

อนาถบิณฑิกเศรษฐี กองเสบียงหัวใจไม่เกี่ยง

        ๑ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น เป็นต้นแบบของอุบาสกผู้ทำหน้าที่กองเสบียง โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไข ตั้งแต่ยอมเอาเงินมาปูเรียงเคียงกันเพื่อ ซื้อที่ดินสร้างวัดเชตวันซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมเป็นเงิน ๕๔ โกฏิ นอกจากนี้ ท่านยังทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรชักชวนหมู่ญาติ และเพื่อนที่ทำการค้าด้วยกันให้มานับถือพระพุทธ-ศาสนา จนเข้าถึงธรรมกันอีกมากมาย

        กิจวัตรของท่านนั้น ตอนเช้าจะถวายภัตตาหาร แด่ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเป็นประจำ จัดตั้งอาหารหวาน คาวใส่บาตรพระไม่เคยขาด ช่วงบ่ายจะหาน้ำปานะ ไปถวายพระ และตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ ขณะเดียวกัน ท่านจะหาโอกาสไปดูแลภิกษุที่ป่วยไข้ ถ้ารูปไหนอาพาธก็จะหาหมอดีมาช่วยรักษา รูปไหน จะต้องเดินธุดงค์ไปแสวงหาที่วิเวก ก็มักจะถวายเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ท่านไม่เคยเดินมือเปล่าเข้าวัดเลย ถ้าไม่ถือภัตตาหารก็ถือน้ำปานะ ไปถวายพระเสมอ

        ในเวลาเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด แต่ใจท่านไม่ได้ตกต่ำตามไปด้วย ยังคงถวายทานตามปกติ อาหารที่นำมาถวายพระสงฆ์นั้นแม้เป็นเพียงข้าวปลายเกวียนกับน้ำต้มผักกาดดอง ท่านก็นำมาถวาย ด้วยใจที่อิ่มบุญ แม้เทวดาบอกให้ท่านเลิกทำทาน แทนที่ท่านจะปฏิบัติตาม กลับขับไล่เทวดาให้ออก จากซุ้มประตูบ้าน เพราะท่านเชื่อมั่นในพุทธานุภาพ เมื่อใจของท่านอยู่ในบุญ เชื่อคุณของพระรัตนตรัย ในที่สุดบุญก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อนที่เคยโกงเงินท่านไปก็เอาเงินมาคืน ธุรกิจการค้ากลับฟื้นขึ้นมาใหม่ กลายเป็นคนรวยกว่าเดิม เมื่อท่านละโลกไปแล้วก็ได้ไปเสวยบุญอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต รุ่งเรือง ด้วยทิพยวิมานและทิพยบริวารมากมาย

 




          นอกจากนี้ ยังมีนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ทำหน้าที่เป็นกองเสบียงจนตลอดชีวิต นางยอมขายเครื่องประดับชื่อ "มหาลดาปสาธน์" ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องประดับที่แพงที่สุดในโลก เพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินและสร้างวัดบุพพาราม ที่พระภิกษุสามารถอยู่ พำนักได้ ๑,๐๐๐ รูป อุบาสิกาวิสาขาได้ทำหน้าที่สนับสนุนงานเผยแผ่พระศาสนาในทุกด้าน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ นางก็จะคอยหาทางแก้ไข นางขอพร ๘ ประการจากพระพุทธเจ้าเพื่อให้ภิกษุสงฆ์บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบาย ยอมให้ลูกชายออกบวชในพระศาสนา จนกล่าวได้ว่าเป็น "โยมแม่" ของพระทั้งวัดกันเลยทีเดียว ด้วยบุญกุศลที่นางได้ทำจนตลอดชีวิต ทำให้ได้ไปเสวยทิพยสมบัติ ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

        เราจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาจะดำรงมั่นอยู่ได้อย่างยาวนาน นอกจากการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ของพระภิกษุสงฆ์แล้ว อุบาสกอุบาสิกาซึ่งเป็นดุจช้างเท้าหลังก็ต้องรวม พลังกันทำหน้าที่เป็นกองเสบียง คอยสนับสนุนงาน เผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี จะต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้เป็นที่พึ่งของชาวโลกตลอดไป

 



 

หน้าที่ชาวพุทธแท้

        ๑. ฟังธรรม สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องรู้ คือ ศึกษาพุทธประวัติ จะได้รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร เพื่อให้เกิดศรัทธาและมีปัญญาในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ศึกษาหลักธรรม เช่น ฆราวาสธรรม และกฎแห่งกรรม จะทำให้เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง เมื่อรู้ว่าคำสอนดีอย่างไร แล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือลงมือปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งสรุปเป็นสูตรหลักของชีวิต คือ ละชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส ศึกษาวิถีชาวพุทธ เพื่อการดำเนีนชีวิตที่ถูกต้อง ศึกษาหลักในการบำเพ็ญบุญและพิธีกรรม ทางศาสนา เช่น วันพระ วันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น

        ๒. เผยแผ่ธรรมะหรือขยายความรู้ สิ่งดี ๆ ที่ เกิดจากการปฏิบัติไม่ควรเก็บไว้เฉย ๆ แต่ต้องนำไปประกาศให้ชาวโลกได้รู้ด้วย ต้องมีหัวใจของยอดกัลยาณมิตรในการสร้างคนให้เป็นคนดี จะอาศัยพระภิกษุทำหน้าที่เผยแผ่อย่างเดียวไม่ได้ ฝ่ายบ้านและวัดจะต้องทำงานประสานกัน พระพุทธ ศาสนาจึงจะเจริญรุ่งเรือง เช่น ชาวพุทธต้องแสดงตนเป็นพุทธมามกะที่ดี เพื่อให้ผู้อื่นได้พิสูจน์ผลการ ปฏิบัติตามคำสอนว่าดีจริง จนเกิดความเลื่อมใสและอยากประพฤติปฏิบัติตาม

        ๓. ทำนุบำรุงและปกป้องพระศาสนา เรา ชาวพุทธแท้ต้องไม่นิ่งดูดาย ดังที่คุณครูไม่ใหญ่ได้สอนพวกเราไว้ว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง ..แล้วก็ลุย" โดยต้องตั้งใจรักษาสมบัติของพระศาสนา อันได้แก่

        คำสอนของพระพุทธองค์ ต้องรักษาให้มั่น อย่าให้ใครมาบิดเบือนได้ นำความรู้ความเข้าใจใน ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาเป็นเกราะป้องกันภัย ให้พระศาสนา

        ศาสนวัตถุและศาสนบุคคล ต้องช่วยกันดูแล วัดวาอารามอันเป็นแหล่งคำสอน และอุปัฏฐากดูแล พุทธบุตร สนับสนุนงานพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง

        สรุปได้ว่า หน้าที่ของชาวพุทธ คือ เข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญ และสนับสนุนงานพระศาสนา

        เมื่อชาวพุทธปฏิบัติตามหลักการนี้ได้ ความเป็นชาวพุทธแท้ก็จะบังเกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้มีศรัทธา ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เข้าใจกฎแห่งการกระทำ ไม่งมงายในโชคลาง จะมีตถาคตโพธิสัทธา ตั้งมั่น ไม่ถือมงคลตื่นข่าวในสิ่งที่ถือกันว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้มีโอกาสตักตวงบุญในพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ ละโลกแล้วก็มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป เราจะได้ชื่อว่าเป็นดุจช้างเท้าหลังที่ทรงพลัง ในการช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เป็นที่พึ่งของชาวโลก สืบไป

        ...ชนเหล่าใดมีสติส่งไปถึงพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยดีในกาล ทุกเมื่อ...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 86 ธันวาคม ปี2552

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล